รายงาน: กรณีศึกษาว่าด้วยการต่อสู้ของคนงาน บ.โดนัลด์สัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รายงานจากการสังเกตการณ์การลุกขึ้นสู้ของแรงงาน บ.โดนัลด์สัน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยกลุ่มแรงงานพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก รวมถึงบทวิเคราะห์การต่อสู้ในการสร้างสรรค์หลักแรงงานสัมพันธ์ที่ดี

 
0 0 0
 
ลำดับเหตุการณ์
 
 
บริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ (ระยอง) เลขที่ 7/217 หมู่ที่ 6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง นายจ้างเป็นชาวสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด และมีผู้บริหารเป็นชาวสิงคโปร์ ทำกิจการเกี่ยวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิก์ และคอมพิวเตอร์ ส่งให้กับลูกค้าในประเทศ เช่น ซีเกท ฮิตาชิ ฟุจิตซึ และบริษัทในเครือสหยูเนี่ยนฯ บริษัทเปิดดำเนินกิจการเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากผลการดำเนินกิจการตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันมีผลประกอบการที่มีกำไรมาโดยตลอด แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานให้เห็นตลอดเวลา เช่นเมื่อต้นปี 2552 ได้มีการเลิกจ้างพนักงานโดยอ้างวิกฤติเศรษฐกิจจำนวน 170 คน ทั้งที่ในความเป็นจริงผลประกอบการของปี 2551 นั้นมีกำไรกว่าในรอบปีที่ผ่านมา (ดู: คนงาน บ.โดนัลด์สัน เรียกร้องนายจ้างเจรจา หลังผู้ชุมนุมถูกเลิกจ้าง จำนวน 396 คน) และมีการละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ เช่น
 
·   ลาป่วย 1 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ ถ้าไม่มีก็จะตัดค่าจ้าง
·   บังคับพนักงานทำงานล่วงเวลาวันหยุดและวันปกติ
·   ไม่จัดสถานที่ทำงานให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสมจนทำให้พนักงานที่ตั้งครรภ์ต้องแท้งบุตรและบริษัทฯ มิได้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
·   มีการประเมินผลการทำงานที่ไม่เป็นธรรม
·   กรณีที่ลากิจที่ไม่ได้รับค่าแรง ต้องมีหลักฐานมายืนยันทุกครั้ง
·   กรณีที่ลาป่วยต่อเนื่องจากวันหยุดวันอาทิตย์พนักงานก็จะถูกเรียกไปตักเตือนทั้งที่พนักงานนั้นป่วยจริง
·   วันพักร้อนซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับถูกหักทดแทนวันที่บริษัทเช็คสต๊อก
·   กำหนดเวลา เข้า-ออก การเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ต้องไม่เกินคนละ 10 นาที / ห้ามเกินวันละ 2 ครั้ง
·   กรณีการลาพักร้อนทำไมหัวหน้างานต้องมีการกำหนด วันลาให้พนักงานทุกครั้ง
·   กรณีการลาพักร้อน ทำไมต้องมีเหตุผลและหลักฐานมายืนยันทุกครั้ง
·   กรณีที่ไม่สบายและไม่ต้องการทำงานล่วงเวลา ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยันทุกครั้ง
·   กรณีที่ลืมนำบัตรพนักงานมา แต่มีหัวหน้างานเซ็นต์รับรองว่ามาทำงานจริง แต่ไม่ได้รับเบี้ยขยัน โดยบริษัทอ้างว่าเป็นความสะเพร่าของพนักงาน
·   กรณีบัตรพนักงานชำรุดต้องเสียค่าปรับทำบัตรใหม่ 200 บาท
·   หัวหน้างานใช้วาจาไม่สุภาพด่าพนักงานต่อหน้าพนักงานอื่น
·   มีการเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงาน Office กับพนักงานในขบวนการผลิต พนักงาน Office วันหยุดประจำสัปดาห์คือ วันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่พนักงานในขบวนการผลิตหยุดงานวันอาทิตย์วันเดียว
 
จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นประกอบกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บริหารพนักงานจำนวน 471 คนได้มีการรวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทในนามพนักงานเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 แต่บริษัทก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจากทางพนักงานจำนวน 13 ข้อ คือ
 

 
ข้อเรียกร้องของพนักงาน บริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด
ยื่นต่อบริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด
 
1.       โบนัสคงที่ 4 เดือน และบวกเพิ่มพิเศษอีกคนละ  20,000 บาท
2.       ขอทำงานวันเสาร์เว้นเสาร์
3.       ค่ากะจากเดิม 60 บาท ขอเพิ่มเป็น 100 บาท
4.       ค่าเช่าบ้านจากเดิม 1,000 บาท ขอเพิ่มเป็น 1,500 บาท
5.       ค่าข้าวจากเดิม 780 บาท ต่อเดือน ขอเพิ่มเป็น 1,000 บาท ต่อเดือน
6.       พักร้อนจ่ายครั้งเดียว ห้ามหักชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น
7.       ค่าข้าว โอที จากเดิม 30 บาท เพิ่มเป็น 50 บาท
8.       ห้ามเอาผิดกับพนักงานที่มีรายชื่อเรียกร้องไป ทั้งพนักงานประจำ และพนักงานที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน และไม่ถือว่าขาดงานหรือมีความผิดใด ๆ รวมทั้งไม่นำมาประเมินผลในการพิจารณาทดลองงาน
9.       ขอค่าแพลนในการทำงานแต่ละวัน (จ่ายเป็นเงินเดือน)
10.    ในกรณีที่ลืมบัตรพนักงานไม่เกิน 3 ครั้ง ห้ามหักเบี้ยขยัน
11.    ขอค่าสายตาในการส่องกล้อง
12.    โอทีในวันหยุดขอเพิ่มเป็น 2 แรง
13.    ในกรณีที่ลาป่วย 1วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ก็ได้
 
 
 
 
หลังจากที่นายจ้างไม่รับข้อเรียกร้องลูกจ้างได้ชุมนุมกันที่หน้าบริษัทฯ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา ต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ผู้แทนพนักงานได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างอีกครั้งในเวลาประมาณ 11.00 น. พร้อมกับพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยองแต่ก็ถูกปฏิเสธจากนายจ้าง
 
และต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ได้มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานที่มาร่วมชุมนุมหน้าบริษัทฯ จำนวน 396 คน โดยในจำนวนดังกล่าวมีพนักงานที่กำลังตั้งครรภ์ 5 คน สาเหตุที่บริษัทฯ เลิกจ้างอ้างว่าพนักงานดังกล่าวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวพนักงานเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางบริษัทฯ หลังจากนั้นพนักงานจึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เนื่องจากนายจ้างได้ปฏิเสธที่จะเจรจาข้อเรียกร้องของพนักงานและปิดประตูโรงงานไม่ให้พนักงานเข้าไปในบริษัทฯ ตั้งแต่กะกลางคืนของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา และพนักงานยังคงชุมนุมกันที่หน้าโรงงานตลอดมา
 
 
หนังสือประกาศเลิกจ้างพนักงาน 396 คน
     
ต่อมาวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2552 ที่มีรายชื่อถูกเลิกทั้งหมดยังคงชุมนุมอยู่ที่หน้าโรงงาน และทราบว่านายจ้างได้ประกาศปิดงานในกะกลางคืนของวันเสาร์ และประกาศงดการทำงานล่วงเวลาในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2552 และให้พนักงานทุกคนที่อยู่ในโรงงานมาทำงานในกะเช้ากะเดียวในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2552
 
ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ภายในบริษัทฯ ได้มีข่าวลือออกมาต่างๆ เช่น
 
  • มีการรวมกะเพื่อผลิตงานออกให้ได้
  • วันนี้รับ Subcontract จำนวน 80 คน ให้ขึ้นรถบริษัทไปทำงานได้เลย
  • ไม่มีการปลดคนท้องออกจากงาน
  • ผู้บริหารลงมาทำงานใน Line ผลิตเอง
  • Run งานโดยไม่ผ่านการ Inspection Pack งานส่งลูกค้าเลย
  • นำ พนักงาน Office เข้าไปทำงานใน Line ซึ่งยังไม่ผ่านการ Certificate
 
และในวันเดียวกันผู้แทนของพนักงานได้เข้าร้องเรียนต่อที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคุณพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง เพื่อขอความเป็นธรรม วันเดียวกันเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้แทนพนักงานได้แจ้งเป็นข้อพิพาทแรง งานไปยังพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยองเนื่องจากนายจ้างไม่จัดให้มีการเจรจากันภายใน 3วัน
 
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยองได้มีหนังสือถึงผู้แทนลูกจ้างเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13.00 น. ณ สำนักงานของนิคมอุตสหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง)
 
โดยในวันนี้ได้มีข่าวลือออกมา อีกเช่นเคย เช่น
 
  • มีการรับ  Subcontract เข้าทำงาน 60 คน ทำงานแค่ครึ่งวัน ก็ออกหมดเพราะไม่สามารถทำงานได้
  • ทางบริษัทฯ กลัวพนักงานที่ถูกเลิกจ้างที่ชุมนุมที่หน้าโรงงานถ้าได้กลับเข้าไปทำงานจะเข้าไปทำร้ายพนักงานที่ทำงานอยู่ข้างใน
 
ต่อมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 มีการเจรจากันตามนัดที่ทำการของนิคมอุตฯ อมตะซิตี้ (ระยอง) แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเลื่อนการเจรจาออกไปเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552
 
โดยหลังจากการเจรจายุติ ได้มีข่าวออกมาว่าบริษัทฯ ได้ประกาศโบนัสประจำปีให้กับพนักงานที่ไม่ออกมาร่วมชุมนุม วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ บริษัทประกาศโบนัสยังไม่ประกาศเป็นทางการ 2.6 เดือน พิเศษ 10,000 บาท และให้โบนัสพนักงานใหม่ที่ยังไม่ผ่านทดลองงาน 1 เดือน พิเศษ 10,000 บาท และข่าวลือจาก Engineer โดยตรงว่า ทางผู้บริหารใหญ่ Confirm ว่าจะไม่ให้ค่าชดเชยใดๆกับพนักงานของบริษัทโดนัลด์สันที่มีรายชื่อถูกเลิกจ้างทุกคน
 
ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ผู้แทนทั้งสองฝ่ายมาพบกันตามนัดแต่ผู้แทนฝ่ายนายจ้างปฏิเสธที่จะเจรจาในข้อเรียกร้องของพนักงาน โดยอ้างว่าได้เลิกจ้างพนักงานทุกคนตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 อย่างถูกต้องแล้วพร้อมทั้งนำประกาศมาชี้แจงให้พนักงานทราบ
 
 
และในเวลาเดียวกันผู้แทนบริษัทฯ ได้แจ้งว่าได้รับพนักงานเหมาค่าแรงจำนวน 200 คน มาทดแทนพนักงานในส่วนที่ถูกเลิกจ้างแล้ว หลังจากนั้นจึงยุติการเจรจา และมีข่าวลือต่างๆ เช่น
 
·   บริษัทบอกว่าพนักงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วไม่ยอมรับข้อเสนอที่ทางบริษัทยื่นข้อเสนอให้โบนัส 3 เดือน และบวกเพิ่มพิเศษอีกคนละ 2,000 บาท
  • พนักงานคนไหนสามารถชวนเพื่อนเข้ามาทำงานได้ ให้คนละ 500 บาท
  • นำแม่บ้านที่โรงอาหารเข้าไปทำงานใน Line การผลิตซึ่งยังไม่ผ่านการ Certificate
·   บริษัทได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าถ้าพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอยากกลับเข้าไปทำงานใหม่ให้ไปเขียนใบสมัครใหม่อีกรอบ
  • มีการให้คนท้องไปทำงานแทนคนที่ออกมาข้างนอก
 
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีการยื่นข้อเรียกร้องจนถึงปัจจุบัน ผู้แทนเจรจาของพนักงานทั้งหมดได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะหาข้อยุติร่วมกัน แต่กลับได้รับการปฏิเสธ และเพิกเฉยจากฝ่ายบริหาร และล่าสุดข้อเรียกร้องของลูกจ้างเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 มีเพียงสองประเด็นคือ
         1. ขอให้บริษัทฯ รับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในกรณีดังกล่าวทั้งหมดเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างและสวัสดิการที่ได้รับขณะเลิกจ้าง โดยให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมเช่นเดียวกับพนักงานที่ไม่ออกมาร่วมชุมนุมทุกประการ
         2. ห้ามมิให้บริษัทฯ กลั่นแกล้งการลงโทษหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่ร่วมลงรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของพนักงานบริษัทฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรม
 
ในวันเดียวกันหลังจากที่ผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้างกลับจากการเจรจาแล้วได้มีการเรียกประชุมผู้นำกลุ่มเพื่อแจ้งผลการเจรจา และกำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหวต่อไป ประมาณ 17.00 น. มีการเรียกประชุมหัวหน้ากลุ่มอีกครั้งเพื่อประเมินสถานการณ์ ผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานแต่ละกลุ่มเห็นสมควรให้มีการย้ายการชุมนุมจากบริเวณหน้าบริษัทฯ มาที่หน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ฯ (ระยอง) หลังจากนั้นจึงให้ทุกคนกลับไปเตรียมสัมภาระและของใช้ส่วนตัวและนัดรวมพลกันที่หน้าบริษัทฯ เวลา 21.00 น. ก่อนการเคลื่อนขบวน
 
เวลาประมาณ 23.00 น. พนักงานประมาณ 400 คนได้เคลื่อนขบวนด้วยรถยนต์มาที่หน้านิคมอมตะซิตี้ฯ (ระยอง) และจัดหาที่พักบริเวณด้านหน้านิคมกว่าจะได้นอนประมาณตีสองเนื่องจากเกิดปัญหาการไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ดูแลสถานที่ ตลอดระยะเวลาที่พนักงานทุกคนร่วมชุมนุมมาทุกคนอยู่ด้วยความสงบและปราศจากอาวุธตลอดไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือก่อความรำคาญให้กับผู้ใด เป็นการใช้สิทธ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธฯ”
 
ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 พนักงานประมาณ 400 คน ยังคงชุมนุมกันที่หน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้(ระยอง) และในวันเดียวกันได้มีการเจรจากันตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น.ถึง 19.00 น. แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด นายจ้างเพียงแต่รับข้อเสนอทั้งสองประเด็นของลูกจ้างไปพิจารณา โดยการเจรจาในครั้งนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง คุณพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง ได้เข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยด้วย และนายจ้างได้นำทนายความซึ่งบริษัทฯ จ้างมาโดยเฉพาะเข้าร่วมเจรจาด้วย และนัดเจรจากันอีกในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ได้มีการเจรจากันตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น.ถึง 23.00 น. ทั้งสองฝ่ายสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ โดยมีผลการเจรจาเป็นสองทางเลือกคือพนักงานที่ประสงค์จะกลับเข้าไปทำงานและพนักงานที่ไม่ประสงค์กลับเข้าไปทำงานอีก ดังนี้
 
บันทึกข้อตกลงหลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้
 
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 พนักงานที่ร่วมชุมนุมได้ไปแจ้งความประสงค์ตามความสมัครใจของแต่ละคนที่สำนักงานของอมตะซิตี้ (ระยอง) มีพนักงานที่แสดงความจำนงขอสมัครกลับเข้าทำงานประมาณกว่า 100 คน จากจำนวนพนักงานที่ออกมาร่วมชุมนุมกว่า 400 คน ส่วนพนักงานไม่สมัครใจที่จะกลับเข้าไปทำงาน พร้อมที่จะรับเงินช่วยเหลือและออกไปเพื่อหางานใหม่
 
0 0 0
 
บทวิเคราะห์จากการชุมนุม
 
จากการสังเกตการณ์การลุกขึ้นสู้ของแรงงาน บ. โดนัลด์สัน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยกลุ่มแรงงานพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก รวมถึงบทวิเคราะห์การโต้กลับจากนายจ้าง การละเมิดสิทธิของแรงงานอันเป็นกรณีศึกษาในอีกหลายที่ที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมในช่วงปลายปีนี้
 
ประเด็นผู้เข้าร่วมชุมนุม
 
จากการประเมินสถานการณ์การนัดชุมนุมเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เกิดขึ้น มีคำถามต่างๆ มากมายทั้งจากผู้ร่วมชุมนุมและผู้ที่ไปให้กำลังใจกับพนักงาน บริษัทโดนัลด์สัน(ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมยืนหยัดต่อสู้ตั้งแต่ค่ำ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 รวม สิบวันสิบคืน ที่ผ่านมานั้น พนักงานที่ร่วมชุมนุมเกือบทั้งหมดเป็นพนักงานหญิง ส่วนพนักงานที่เป็นชายหายไปไหนหมด ทีมงานในการเจรจาจึงได้วิเคราะห์จากผู้เข้าร่วมการชุมนุมสรุปได้ ดังนี้
 
ตารางเปรียบเทียบแสดงจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมและไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม
 
จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม
จำนวนผู้ไม่เข้าร่วมชุมนุม(ประมาณ)
 
ชาย
หญิง
 
ชาย
หญิง
พนักงาน Office
-
-
พนักงาน Office
40
140
นักงานแผนก QA
-
15
นักงานแผนก QA
-
10
พนักงานฝ่ายผลิต
14
367
พนักงานฝ่ายผลิต
-
8
หัวหน้างาน
-
-
หัวหน้างาน
3
15
พนักงาน Store
-
-
พนักงาน Store
30
-
Technical
-
-
Technical
30
-
พนักงานที่ท้อง
-
5
พนักงานที่ท้อง
-
25
รวม
14
387
รวม
103
198
รวมผู้เข้าร่วมชุมนุม
401
รวมผู้ไม่เข้าร่วมชุมนุม
301
 
หมายเหตุ: จากพนักงานทั้งหมด 702 คน
 
 
พบว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงจากฝ่ายผลิต ทั้งนี้จากผลการสอบถามพนักงานที่แสดงเจตนากลับเข้าไปทำงานส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าอายุมากแล้วถ้าไปหางานที่อื่น ก็คงหางานยากลำบากกว่าจะหางานใหม่ได้ ส่วนพนักงานที่ไม่ต้องการกลับเข้าไปทำงานต่อได้ให้เหตุผลว่า ถ้ากลับเข้าไปก็ยังคงถูกกดขี่ขุดรีด เหมือนเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ และค่าจ้างรวมทั้งสวัสดิการที่ได้รับก็ไม่ได้สูงมาก พนักงานส่วนใหญ่อายุงาน 3 -4 ปี ได้รับเงินเดือนเพียงประมาณ 5,000-6000 กว่าบาทเท่านั้นซึ่งถ้าไปสมัครงานที่อื่นก็คงได้ไม่แตกต่างกันมากนัก และที่สำคัญคือ ก่อนการทำข้อตกลง ผู้แทนของบริษัทฯ ได้บอกกับผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้างตรงๆ ว่าไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงานในบริษัทฯ และถ้ามีการทำงานล่วงเวลาต้องทำงานล่วงเวลาตลอดโดยไม่มีเงื่อนไข และห้ามทำผิดกฎระเบียบของบริษัทฯ
 
ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 พนักงานได้ไปตรวจสอบเงินค่าจ้างค้างจ่ายที่นายจ้างรับปากจะนำเข้าบัญชีให้ปรากฏว่าได้นำเข้าบัญชีให้บางส่วนเท่านั้นบางส่วนนำเข้าให้ล่าช้า และมีปัญหาอีกที่เป็นประเด็นสำคัญและถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการละเมิดสิทธิในอนุสัญญาหลักของ ILO ฉบับที่ 87 คือ เรื่องสิทธิในการรวมตัวกันเป็นองค์กรของคนงาน และฉบับที่ 98 คือสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐในการเจรจาต่อรองร่วมระหว่างบริษัทฯ และผู้แทนลูกจ้าง และยังเป็นการละเมิดหลักการในข้อตกลงของ “องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” (Organization for Economic Co-operation and Development -OECD Guide line)
 
และต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ได้รับการชี้แจงจากผู้บริหารของบริษัทฯ ว่ามิได้มีการส่งรายชื่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือสมัครใจออกจากบริษัท โดนัลด์สันฯ ไปให้กับบริษัทต่างๆ หรือบริษัทเหมาค่าแรงที่มีอยู่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แต่อย่างใด แต่จะย่างไรก็แล้วแต่ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดปัญหาทางด้านแรงงานสัมพันธ์ขึ้นในองค์กร ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานให้จบลงโดยเร็วที่สุด เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของแรงงานและเพื่อส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์อันดีในสถานประกอบการต่อไป
 
การละเมิดกฎหมายและอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
 
จากปัญหาต่างๆ การเลิกจ้างพนักงานบริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายจ้างมีเจตนาหรืออาจเป็นเพราะไมรู้ว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างสามารถกระทำได้ ตามความในมาตรา 77 และมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อนุสัญญาหลักฉบับที่ 87 และ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม การที่บริษัทฯ เลิกจ้างลูกจ้างในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นการเลิกจ้างดังกล่าวยังขัดต่อมาตรา 121,122, แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และยังเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 64 วรรคแรก คือ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่นฯ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท