Skip to main content
sharethis

“ประธานสหภาพ ขสมก.” ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ร่วมกับสหภาพแรงงานเรือเดินทะเลพม่า (SUB) ตรวจเรือเดินทะเลที่จดทะเบียนไม่จำกัดสัญชาติ พบลูกเรือถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้ค่าจ้างตามสัญญา ความเป็นอยู่ขาดสุขอนามัย “ประธานสหภาพ ขสมก.” เผยไทยไม่มีสหภาพคนงานเรือเดินทะเล ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบง่าย 

 

ตามที่คณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ประเทศไทย) ITF –THAILAND และสหภาพแรงงานเรือเดินทะเลประเทศพม่า (Seafarear Union of Bruma - SUB) พร้อมกับนายคิม ผู้ตรวจเรือจากประเทศเกาหลีใต้ และนายมาร์คเดวิด จากประเทศญี่ปุ่น จัดทำการรณรงค์และตรวจเรือเดินทะเล“กำจัดระบบการจดทะเบียนเรือเดินทะเลโดยไม่จำกัดสัญชาติ” (FLAG OF CONVENIENCE SYSTEM + FOC) ระหว่าง วันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2552 ณ ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยการรณรงค์ดังกล่าวจัดทำพร้อมกันทั่วโลก เพื่อให้ทั่วโลกยอมรับและเห็นความสำคัญของการมีตัวกลางที่แท้จริง (CENUINE LINK) ในการเชื่อมโยงระหว่างสัญชาติ (ประเทศ) ที่เรือจดทะเบียนกับสัญชาติที่แท้จริงของเจ้าของเรือ
 
โดยการรณรงค์ดังกล่าว สาเหตุมาจากการที่เรือเดินทะเลโดยไม่จำกัดสัญชาติหรือ FOC จะจ้างแรงงานที่มีราคาถูก จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการต่ำสุด และไม่มีมาตรการความปลอดภัยอาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
 
โดยผลการตรวจเรือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ พบเรือชักธงประเทศปานามา 2 ลำ โดยเรือลำแรกได้ให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลการจ้างแรงงานตามข้อตกลง เรืออีกลำเจ้าของเรือเป็นสัญชาติประเทศญี่ปุ่น กัปตันเป็นคนสัญชาติประเทศพม่า ปฏิเสธให้ความร่วมมือในการตรวจเรือและไม่ยอมให้ข้อมูลการจ้างแรงงานใด ๆ และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี  พบเรือ FOC 1 ลำ เป็นเรือชักธงสัญชาติประเทศปานามา เจ้าของเรือเป็นคนสัญชาติเวียดนามและเป็นกัปตัน มีลูกจ้างเป็นคนสัญชาติอินเดียและญี่ปุ่น ผลการตรวจพบว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญาข้อตกลง ที่ตกลงจ่ายเดือนละ 1,500 เหรียญ US/คน จ่ายจริงเพียงเดือนละ 500 เหรียญ US/คน และทำงานเกินเวลาปกติ (8 ชม.) เป็นวันละไม่น้อยกว่า 12 ชม. โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลา (OT)
 
 
เผย 55 ปี ยังกดขี่แรงงานเหมือนเดิม
นายมาร์ค เดวิด ผู้ตรวจเรือจากประเทศญี่ปุ่นรายงานเพิ่มเติมว่า จากการทำกิจกรรมของ FOC – ITF 55 ปี ที่ผ่านมาพบว่าลูกจ้างบนเรือเดินทะเลจะถูกละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก เช่น ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา อาหารน้ำดื่มไม่สะอาดเพียงพอ ขาดสุขอนามัยและถูกเลิกจ้าง โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและถูกส่งกลับประเทศ โดยนายจ้างไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และจากรายงานของสหภาพแรงงานเรือเดินทะเลประเทศพม่า (SUB) พบว่ามีการซื้อขายเรือหรือการเปลี่ยนสัญชาติเรือบ่อยครั้งเจ้าของเรือคนใหม่จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะจ้างแรงงานต่อหรือไม่หากไม่จ้างต่อจะถูกส่งกลับประเทศ โดยบางคนไม่ได้รับค่าจ้างหรือค่าเสียหายใด ๆ
 
 
สนาน บญงอกชี้รัฐบาลของลูกจ้างไม่มีสิทธิช่วยเหลือ
นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน ITF – THAILAND เปิดเผยเพิ่มเติมว่าการตรวจแรงงานบนเรือเดินทะเลของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเป็นเรื่องที่ทำได้น้อยมาก อย่างเช่นในประเทศไทยไม่เคยเห็นมีการตรวจเรือแรงงานบนเรือด้วยซ้ำ เพราะเรือเดินทะเลจะใช้กฎหมายระเบียบข้อบังคับของประเทศที่เรือจดทะเบียนชักธง จึงเป็นเรื่องยากในการที่จะได้รับความร่วมมือ และในประเทศไทยสหภาพแรงงานของคนงานเรือเดินทะเลยังไม่มี จึงขาดองค์กรตรวจสอบทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบคนงานได้ง่าย อย่างไรก็ตามปัญหาการตรวจเรือและการที่นายจ้างเอารัดเอาเปรียบคนงานจะถูกรายงานไปยังสำนักงานเลขาธิการ ITF ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กรุงเดลี ประเทศอินเดีย และสำนักงานใหญ่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net