Skip to main content
sharethis
 
เรื่องโลกร้อนมักถูกมองว่าเป็นแฟชั่น ขณะที่บางส่วนกลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง การรณรงค์ตั้งแต่ระดับปัจเจกอย่างการใช้ถุงผ้า ไปจนถึงในระดับการกดดันเรียกร้องจากภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่ระดับนโยบายของนานาชาติ เป็นเรื่องที่มักจะผ่านหูผ่านตาเป็นประจำ และกลายเป็นข้อถกเถียงกันในเชิงสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมือง 
 
แต่ขณะเดียวกันเหล่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องทั้งหลายก็ยังไม่หยุดคิด ...มีความเป็นไปทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ไหมในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก
 
โดยเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ไลฟว์ไซเอนซ์ (Livescience) นำเสนอบทความจัดอันดับ 10 อันดับข้อเสนอการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ฟังดู 'บ้า'  (Top 10 Craziest Solutions to Global Warming) โดยส่วนใหญ่มักเป็นข้อเสนอที่มาจากนักวิทยาศาสตร์กับนักสิ่งแวดล้อม บางวิธีการก็มีการนำมาใช้จริงแล้ว ขณะที่บางวิธีการก็ดูห่าม ๆ ล้น ๆ ไปจนถึงเพ้อฝันราวเพิ่งตื่นจากนิยายวิทยาศาสตร์
 
มาดูกันดีกว่าว่าความคิดบ้าๆ (ในหลายๆ ความหมาย) ที่อาจกลายเป็นการจุดประกายอะไรใหม่ๆ ของพวกเขามีอะไรกันบ้าง
 
 
10 อันดับข้อเสนอการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ฟังดู 'บ้า'
 
ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหประชาชาติ 18 ธันวาคมนี้ เหล่าผู้นำโลกจะมาร่วมพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดในการทำให้พวกเราพ้นจากวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพวกเราต่างก็กำลังประสบปัญหาอยู่ในตอนนี้
 
มีหลายคนเคยเสนอแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาพวกมลภาวะทางน้ำ ปัญหาหมอกควัน การล้นเกินของขยะ รวมถึงภาวะโลกร้อน แหละนี่คือแนวทางแก้ไขปัญหาแบบบ้าๆ (หรืออย่างน้อยก็คือ "ฟังดูบ้าๆ") ในการจัดการกับปัญหาสภาพแวดล้อมโลกในปัจจุบัน
 
 
อันดับที่ 10 : แบนถุงพลาสติกและหลอดไฟ
อาจฟังดูหุนหันพลันแล่นไปหน่อย แต่ดูเหมือนรัฐซาน ฟรานซิสโก, ประเทศจีน, ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ดูจะสนใจแนวคิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นจีนบอกว่าตนอยากกำจัด "มลภาวะสีขาว" ให้หมดไปจากประเทศ ซึ่งหมายถึงถุงพลาสติกที่เกลื่อนอยู่ตามถนนและตามแหล่งน้ำ ขณะที่ออสเตรเลียก็หวังว่าจะตัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลังงานในครัวเรือนโดยการเลิกขายหลอดไฟที่กินพลังงาน
 
มาตรการดังกล่าวเริ่มได้รับแรงขับเคลื่อนสนับสนุนบ้างแล้ว จากการที่มีรัฐบาลในประเทศอื่นๆ ปรับมาตรการในการใช้ถุงที่สร้างขยะ และหลอดไฟที่ไม่คุ้มค่าด้านพลังงาน แต่คุณคงไม่ห่วงเรื่องว่าของในร้านคุณจะขายไม่ได้หรือเรื่องจะเอาแสงสว่างมาจากไหน เพราะมาตรการนี้ก็จะสนับสนุนหนทางใหม่อย่างการใช้ถุงกระดาษที่รีไซเคิลได้ หรือถุงผ้าที่ใช้ได้ซ้ำ รวมถึงการใช้หลอดฟลูออเรสเซนท์ ที่ประหยัดค่าไฟและประหยัดพลังงานมากกว่า
 
 
อันดับที่ 9 : พักอาศัยใต้ชายคาขยะ
ไม่ๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเลิกเอาขยะไปทิ้งทุกๆ สัปดาห์แล้วก็เริ่มต้นดำรงชีวิตอยู่กับกองภูเขาถุงห่อกับข้าวหรือกระดาษทิชชู่ใช้แล้ว แต่การอยู่ร่วมกับขยะในความหมายนี้คือการสร้างที่อยู่อาศัยจากวัตถุที่เป็นขยะ (เช่น กระจกแก้วรีไซเคิล, กากของเสียจากท่อระบายน้ำ, ขี้เถ้าจากเตาเผาถ่าน) อย่างผลงานที่เรียกว่า "บิตูบล็อกส์" จากวิศวกรมหาวิทยาลัยลีด ประเทศอังกฤษ ที่เป็นการนำของเสียดังกล่าวมาดัดแปลงใช้แทน "คอนกรีตบล็อก" เช่นที่ใช้ในการก่อสร้างทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่คิดค้นบอกว่า นอกจากจะเป็นการลดการทิ้งของเสียแล้ว ยังเป็นการประหยัดพลังงานมากกว่าการใช้คอนกรีตบล็อกด้วย
 
นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ก็เริ่มมีการเสนอให้ใช้ของเหลือทิ้งจากฟาร์มไก่ เช่น ขนไก่ เอามาผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
 
อันดับที่ 8 : ฝังคาร์บอน ไว้ใต้ผืนโลก
จากที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอให้เอาก๊าซเหล่านั้นไปปล่อยไว้ที่อื่น เช่น ให้ชั้นหินที่อุ้มน้ำซับไว้ ปล่อยในผืนดินชั้นถ่านหิน หรือตามแหล่งน้ำมันแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้จนหมดแล้ว (เคยมีการนำวิธีหลังสุดนี้มาใช้ในการกำจัดกากตะกอนด้วย) วิธีการก็คือต้องมีการวางการระบายก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์แยกต่างหากจากแหล่งปล่อย มีการบีบอัด และปล่อยลงสู่ใต้ดิน ซึ่งมันจะสามารถเก็บกักไว้ได้หลายพันปี
 
แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามในเรื่องค่าใช้จ่ายของวิธีการปล่อยก๊าซจากโรงงานลงสู่ใต้ดิน และกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มก็เป็นห่วงว่าจะเกิดการรั่วไหลของก๊าซจากผืนดินด้วย
 
 
อันดับที่ 7 : เลี้ยงหนอนไว้ในห้องครัว ให้ช่วยย่อยขยะเป็นปุ๋ยซะ!
หนอนสามารถนำมาใช้กับการกินเศษขยะจำพวกขอบแซนด์วิช หรือ แกนแอปเปิ้ล แล้วเปลี่ยนให้มันเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จากนั้นเราจะสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในสวนและตามต้นไม้บริเวณบ้านได้ มีคนงานในลอส แองเจลลิส ที่ปล่อยตัวหนอนไว้ในถังขยะพลาสติกในออฟฟิศของพวกเขาเพื่อคอยรีไซเคิลอาหารกลางวันที่พวกเขากินเหลือ
 
แต่ถ้าคุณไม่ห่ามพอจะเลี้ยงฟาร์มหนอนไว้ในห้องครัวล่ะก็ มีอีกวิธีที่เป็นวิธีการเก่าแก่...คือเอาถังไปไว้ในสวนหลังบ้านคุณ
 
 
อันดับที่ 6 : ปล่อยสารซัลเฟอร์ไปในอากาศ ให้จับรังสีจากดวงอาทิตย์...แต่ต้องรับฝนกรด!
มีความคิดที่ว่าละอองเหลวบางประเภท หรืออนุภาคเล็ก ๆ ในอากาศมีความสามารถในการทำให้ชั้นบรรยากาศเย็นลงได้ อนุภาคเหล่านี้จะไปจับกับการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์บางส่วนไว้แล้วปล่อยมันออกไปสู่นอกโลก
 
เราจะพบว่าโลกเย็นลงหลังจากภูเขาไฟระเบิด ซึ่งเป็นการปล่อยซัลเฟอร์หลายล้านตันไปสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์บางคนบอกให้เราเลียนแบบธรรมชาติด้วยการปล่อยสารซัลเฟอร์ไปสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อต้านกับภาวะโลกร้อน แต่มันจะทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือการเพิ่มปริมาณฝนกรด อีกปัญหาหนึ่งคือเราต้องคอยปล่อยซัลเฟอร์ไปในชั้นบรรยากาศอยู่เรื่อย ๆ เพื่อทำให้เกิดความเย็น ไม่เช่นนั้นแล้ว ภาวะโลกร้อนก็จะกลับมา
 
 
อันดับที่ 5 : ปลูกต้นไม้เทียมแสนต้น ที่ดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้จริงพันเท่า!
มีวิศวกรเสนอให้ปลูกต้นไม้ปลอม 100,000 ต้น ที่จะสามารถดูซับก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาแล้วต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ ต้นไม้เทียมที่ว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเครื่องจักรนั่นแหละ จะดูดซับคาร์บอนในอากาศผ่านฟิลเตอร์ และเก็บสะสมไว้ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิศวกรรมเครื่องกลบอกว่า ต้นแบบของต้นไม้เทียมนี้มีขนาดเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ของเรือ และสามารถจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริงที่มีขนาดเท่ากันถึงหลายพันครั้ง
 
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีชิ้นนี้ยังต้องอาศัยการพัฒนาเพิ่มเติม อย่างเรื่องระบบการควบคุมคาร์บอนที่ถูกเก็บอยู่ในตัวพวกมัน
 
 
อันดับที่ 4 : ปลูกสาหร่ายในมหาสมุทร ให้ดูดซึมคาร์บอนเสีย
เจมส์ เลิฟล็อค นักสิ่งแวดล้อมและนักประเมินอนาคต ผู้เคยเสนอข้อสมมุติฐานว่าโลกทำงานเสมือนอวัยวะขนาดใหญ่ (ที่เรียกว่าแนวคิด 'เกอา') ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาโลกร้อนในแบบของเขาเอาไว้ โดยการใช้ท่อในการทำให้น้ำลึกที่สะสมแร่ธาตุเอาไว้ถูกดูดขึ้นมาผสมกับน้ำบนพื้นผิว เพื่อหล่อเลี้ยงสาหร่ายซึ่งเป็นตัวที่ดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศและปล่อยทิ้งลงสู่ใต้ผืนทะเลลึกเมื่อมันตายลง
 
อย่างไรก็ตามเลิฟล็อคบอกว่า วิธีการนี้เสมือนเป็นแค่การใช้พลาสเตอร์ปิดแผลเท่านั้น เพราะอุณหภูมิจะยังคงสูงขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าเราจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วก็ตาม
 
 
อันดับที่ 3 : ทำให้เครื่องบิน บินต่ำลง แต่ต้องบินนานขึ้น!?
นอกจากการใช้น้ำมันและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว เครื่องบินก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการที่มันสร้างเมฆเทียมไปตามรายทาง โดยการทำให้ไอน้ำควบแน่น และเมฆเหล่านี้เองที่เป็นเสมือนฉนวน ทำให้โลกไม่สามารถปลดปล่อยความร้อนออกไปสู่ภายนอกได้
 
เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอให้เครื่องบิน บินต่ำลงกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดเมฆเทียมลดลง แต่ทว่า การให้เครื่องบินบินต่ำลงนั้นจะทำให้มันใช้เวลามากขึ้นในการไปถึงที่หมาย แถมยังต้องใช้น้ำมันมากขึ้นอีกต่างหาก แต่ทางกลุ่มที่เสนอเรื่องนี้บอกว่าถือว่ามันเป็นการแลกกับการที่จะเกิดเมฆเทียมน้อยลง และจะทำให้วิศวกรด้านการบินหันมาเน้นการคิดค้นเครื่องบินที่ประหยัดน้ำมันแม้จะบินในระดับการบินที่ต่ำ
 
 
อันดับที่ 2 : ถมธาตุเหล็กลงทะเล เพื่อกระตุ้นแพลงตอนดูดคาร์บอน
แพลงตอนน้ำที่ทำการสังเคราะห์แสงจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาผลิตอาหาร และเมื่อพวกมันตาย พวกมันก็จะจมลงสู่ใต้ท้องทะเลไปพร้อม ๆ กับคาร์บอนของพวกมัน จากการที่ธาตุเหล็กเป็นตัวที่กระตุ้นให้แพลงตอนพืชเติบโต ทำให้มีคนเสนอให้ใช้ธาตุเหล็กถมลงไปในส่วนหนึ่งของทะเลซึ่งจะทำให้พวกแพลงตอนเติบโตเป็นจำนวนมากจนสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พวกเราปล่อยออกมาได้
 
มีบริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามใช้วิธีการทิ้งธาตุเหล็กลงไปในทะเลเพื่อขายคาร์บอนเครดิต แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งคำถามว่า การทำให้แพลงตอนเติบโตเป็นจำนวนมากจะส่งผลต่อการสกัดก๊าซคาร์บอนได้ขนาดไหนกัน โดยยังมีนักสิ่งแวดล้อมบางคนเตือนด้วยว่าการทิ้งธาตุเหล็กลงทะเลอาจส่งผลกระทบกับระบบนิเวศของแหล่งน้ำด้วย
 
 
อันดับที่ 1 : แดดแรงนัก ก็สร้างแว่นตากันแดดให้โลกซะสิ!!!
นึกถึงตอนที่คุณไปเที่ยวชายหาดในวันแดดแรง จนรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์แผ่ทาบเต็มตัวคุณ คุณอาจพยายามกันสายตาของคุณด้วยแว่นกันแดดสักคู่ แล้วก็สวมหมวกสักใบ
 
แต่ดันมีนักวิทยาศาสตร์บางคนคิดทำอะไรแบบนี้เพื่อสู้กับโลกร้อนนี่สิ โดยการให้สร้างวงแหวนกันแสงอาทิตย์ (ดูคล้ายวงแหวนดาวเสาร์) หรือไม่ก็ยานอวกาศขนาดย่อมให้หมุนรอบโลกเสีย
 
จากไอเดียการกรองแสงให้โลกเช่นนี้แน่นอนว่าจะเป็นการลดการแผ่รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ลงแน่ ๆ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าสิ่งที่เปรียบเสมือนแว่นกันแดดโลกที่ว่านี้ ...คงต้องห้อยป้ายราคาเอาไว้เหยียบล้านล้านดอลล่าร์!
 
 
 
ที่มา
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net