ไทยติดอันดับ 24 ของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจก-โพลล์ชี้ประชาชนหนุนเร่งวิจัยพลังงานทดแทน

 
 
เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถาบันทรัพยากรโลกจัดอันดับประเทศต่างๆ ต่อกรณีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ จนส่งผลทำให้เกิดวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน จำนวนทั้งสิ้น 186 ประเทศ และอ้างอิงข้อมูลปี พ.ศ. 2548
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางสถาบันทรัพยากรโลกได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นลำดับ 24 โดยคิดเป็นปริมาณจำนวน 351.3 เมตริกตัน (1  เมตริกตัน เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม) หรือร้อยละ 0.93 ของการปล่อยทั้งโลก และถ้าคิดเป็นอัตราเฉลี่ยต่อประชากรคิดเป็น 5.6 ตัน อยู่ในอันดับที่ 71 ของโลก
สำหรับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่ โดยปล่อยด้วยจำนวนปริมาณมากถึง 7,219.2 เมตริกตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.12 ของการปล่อยทั้งโลก แซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่    2    ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วยจำนวนปริมาณ 6,963.8 เมตริกตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.44 ของการปล่อยทั้งโลก
 
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกนั้น ถ้าเทียบอัตราส่วนต่อประชากร ปรากฏว่า อยู่ในอันดับที่ 72 คือ เฉลี่ยแล้วประชากรแต่ละคนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงคนละ 5.5 ตันเท่านั้น ส่วนสหรัฐฯ ที่ปล่อยมากเป็นอันดับที่ 2 รองลงมานั้น ถ้าเปรียบเทียบตามอัตราส่วนของประชากรแล้ว อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก หรือเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 23.5 ตัน ขณะเดียวกันทางด้านผลการศึกษาวิจัยล่าสุด โดยคณะนักธรณีศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมานั้น ส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ โดยเป็นเหตุปัจจัยคิดเป็นร้อยละ 50 มากกว่าที่เคยประเมินก่อนหน้านั้นที่ร้อยละ 30 - 50 เท่านั้น
 
มีรายงานอีกว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี จะลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือภาวะโลกร้อน โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปใช้พัฒนา เทคโนโลยีด้านพลังงาน ให้มีศักยภาพลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการใช้พลังงานการทดแทนอื่นๆ จากธรรมชาติเพื่อช่วยภาวะโลกร้อน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ เป็นต้น กองทุนข้างต้นจะมีทั้งนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำและเงินอุดหนุนให้เปล่า โดยในเวลานี้ทางเอดีบีได้ใช้จัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการรับมือกับภาวะโลกร้อนไปแล้ว 1.7  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าเมื่อปี 2546 ที่ใช้งบ ประมาณไปทั้งสิ้น 230  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้คาดไว้ว่าจะใช้งบประมาณณสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 ในปี 2556
 
กรุงเทพโพลล์เผยทัศนะของประชาชนต่อปัญหาภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อประเทศไทย
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่องทัศนะของประชาชนต่อปัญหาภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อ ประเทศไทย เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 15 (cop15) ที่ประเทศเดนมาร์ก วันที่ 7-18 ธันวาคม 
ทั้งนี้ การสำรวจ ใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกสาขาอาชีพ ในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,113 คน
 
การสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทย โดยเชื่อว่าภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศแปรปรวน มีฤดูฝนยาวนาน อากาศหนาวสลับร้อน และในอนาคตอาจเป็นสาเหตุให้เกิดวันสิ้นโลกได้ถึงร้อยละ 79 เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ร้อยละ 21
 
วิธีที่ประชาชนตั้งใจจะทำมากที่สุดเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ได้แก่ ลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมร้อยละ 27.1  ช่วยปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ป่าไม้ร้อยละ 25.7 ลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ร้อยละ 22.7 เลือกใช้สินค้าที่มีฉลากประหยัดไฟร้อยละ 14.0 เลือกใช้ระบบขนส่งมวลชน เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้าร้อยละ 10.5
 
ส่วนความคิดเห็นต่อประเด็นที่ว่ารัฐบาลควรออกนโยบายหรือมาตรการที่เข้มงวดจริงจังมากขึ้นในการรับมือวิกฤตภาวะโลกร้อน นั้นเห็นด้วยร้อยละ 98.7 โดยในจำนวนนี้เห็นว่านโยบายหรือมาตรการที่รัฐควรประกาศใช้คือ ควบคุมคุณภาพโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร้อยละ 30.1 รณรงค์ลดการใช้พลังงาน ประหยัดไฟ ร้อยละ 24.9 พัฒนาการใช้พลังงานทดแทนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมร้อยละ 22.7 ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนร้อยละ 12.8ควบคุมจำนวนประชากรร้อยละ 4.5 สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ มีส่วนที่ไม่เห็นด้วยร้อยละ 1.3 โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ประชาชนต้องมีจิตสำนึกเอง เป็นการกำหนดข้อบังคับมากเกินไป และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
 
สำหรับองค์กรที่เห็นว่ามีบทบาทช่วยลดภาวะโลกร้อนน่าชื่นชมมากที่สุด 5 อันดับแรก (คำถามปลายเปิดให้ระบุเอง) ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน               
 
ดุสิตโพลหนุนรัฐจัดงบพัฒนาพลังงานทดแทน
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พพ. ได้รับทราบผลการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขต กทม.และปริมณฑล ที่มีต่อพลังงานทดแทน จากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต จำนวน 1,016แบบสอบถาม ซึ่งสามารถสรุปผลความคิดเห็นในหัวข้อที่สำคัญ ๆ ได้ดังนี้  ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อปัญหาราคาพลังงานของประเทศไทยว่าปัจจุบันมีความรุนแรงหรือไม่ ประชาชนตอบว่า มีความรุนแรงมาก สูงถึงร้อยละ 67.36 และปานกลางร้อยละ 30.05 ด้านประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เป็นอยู่มากน้อยเพียงไร ประชาชนตอบว่า ได้รับผลกระทบมากร้อยละ 44.56 และได้รับผลกระทบปานกลางร้อยละ 50.26 โดยมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบ
 
นอกจากนี้ ด้านการกำหนดว่าภาครัฐควรมีมาตรการ หรือแนวทางส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างไร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ร้อยละ 27.67 รองลงมาได้แก่ ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ร้อยละ 22.28 และภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนพลังงานทดแทนและการผลิตเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ร้อยละ 20.83
 
นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พพ. ในฐานะหน่วยงานหลักของกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของประชาชนตามโพลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้แผนพลังงานทดแทน 15 ปี ก็ได้กำหนดให้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งได้มีการระบุรายละเอียดในระดับแผนปฏิบัติการในพัฒนาเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การวิจัยพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพืชพลังงาน เป็นต้น ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะสามารถทำให้พลังงานทดแทน เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาวิกฤตราคาพลังงานที่เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท