ยังไม่จบ! แรงงานไทยที่ถูกลอยแพในลิเบียยังกลับบ้านไม่ครบ

 
7 ธ.ค. 52 นายสุทธิ สุโกศล จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่าสำนักงานจัดหางาน จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรมจัดหางาน พร้อมเดินทางไปช่วยเหลือแรงงานไทย จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกลอยแพในประเทศลิเบีย จำนวน 15 คน จากจำนวนแรงงานที่ถูกลอยแพทั้งหมด 150 คน หลัง ญาติได้เข้าร้องเรียนที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดว่า บริษัทนายจ้างที่ประเทศลิเบียไม่ยอมส่งแรงงานกลับประเทศ หลังหมดสัญญาจ้าง ทั้งที่แรงงานดังกล่าวเดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ทางบริษัทไม่รับผิดชอบในการขอทำวีซ่า ส่งแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ
 
โดยมีกำหนดจะเดินทางไปสอบข้อเท็จจริงในประเทศลิเบีย วันที่ 9-26 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางกรมการจัดหางานก็จะได้ใช้เงินกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่จะไปทำงานต่าง ประเทศเป็นตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับแรงงานดังกล่าวต่อไป
 
ยังไม่มีสามารถแก้ปัญหาได้หมด
เมื่อเดือนกรกฎาคม กลุ่มคนงานจาก จ.ร้อยเอ็ด ได้เข้าร้องเรียนกับกรมการจัดหางาน ว่าเป็นลูกจ้างของบริษัท หวัดดี เอ็นจิเนียริ่งคอนสตรัคชั่น มีนายณรงค์ ชุติกานนท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแทน และจัดส่งไปทำงานในนามบริษัท ยิ้ม ยิ้ม ที่ประเทศลิเบีย ทั้งนี้ คนงานไทยที่ไปด้วยกันมีจำนวน 620 คน แต่ทั้งหมดไม่ได้รับค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งขณะนี้ยังมีเพื่อนคนงานไทยอีก 600 คน ยังตกค้างอยู่ที่ลิเบีย โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีนายหน้าจัดหางานบริษัทหนึ่งเข้ามาติดต่อให้ไปทำงานรับเหมาก่อสร้างที่ประเทศลิเบีย โดยบอกว่ามีโครงการก่อสร้างบ้านจำนวนมาก ซึ่งบริษัทได้รับการคัดเลือกจากบริษัท ราวาวส์ ของผู้รับเหมาชาวลิเบียให้เป็นผู้จัดหาคนงาน
 
ทั้งนี้ ได้คิดค่าหัวกับแรงงานคนละ 1.3 แสนบาท โดยสัญญาว่าคนงานจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาท ถึง 1.3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งซึ่งมีตั้งแต่กรรมกร ช่างต่างๆ ไปจนถึงผู้จัดการ เมื่อทราบว่าถูกหลอกแล้ว คนงานก็ไปร้องเรียนที่สถานทูตไทยในลิเบีย ซึ่งสถานทูตได้ส่งอุปทูตมาดูแล
 
โดยในขณะนั้นเหลือคนงานกว่า 600 คน เหมือนถูกลอยแพ เพราะแคมป์งานอยู่ที่เมืองบราก ซึ่งห่างจากเมืองหลวงของลิเบียไปเกือบ 800 กิโลเมตร โดยมีแรงงานไทยหนีออกมาได้ 17 คน และได้มาร้องเรียนในครั้งนั้น และได้ทยอยกลับมา
 
โดยแรงงานที่ถูกหลอกเรียกร้องให้บริษัทจัดหางานรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นคือ 1.ค่าหัวที่เรียกเก็บไป 2.เงินล่วงเวลาในวันทำการปกติวันละ3 ชั่วโมง นับตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานจนถึงวันที่ถูกส่งตัวกลับ 3.ค่าจ้าง1 เดือนตามสัญญา นับแต่ที่ไม่ได้ทำงาน 4.ค่าเสียโอกาสเป็นเงินเดือนจำนวนคนละ 9 เดือน 5.ดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี
 
จากนั้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้ให้ข้อมูลความคืบหน้าให้การช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศลิเบีย ที่ประสบปัญหานายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยขอเดินทางกลับประเทศประมาณ 300 คน และได้มีการทยอยเดินทางกลับประเทศครั้งละ 5-10 คนบ้างแล้ว ส่วนเรื่องค่าจ้างที่ค้างจ่ายนั้นส่วนใหญ่เกิดจากนายจ้างในท้องถิ่น ซึ่งการจ่ายค่าจ้างของประเทศลิเบียต่างจากประเทศอื่นที่จะให้ค่าจ้าง 3-4 เดือนต่อครั้ง แม้สัญญาจะระบุไว้ชัดเจนว่าต้องจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนก็ตาม หากจะให้ประเทศไทยไปบังคับหรือใช้อำนาจต่อรองคงลำบากเพราะประเทศลิเบียมีกฎหมายที่เขาต้องถือปฏิบัติ ทั้งนี้ ในการช่วยเหลือแรงงานไทยเหล่านั้น
 
โดยกรมการจัดหางานก็ได้มีการประสานกับสถานทูตไทยในประเทศลิเบีย เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือให้นายจ้างจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้าง เมื่อไม่มีการเข้าไปทวงถามนายจ้างก็ละเมิดไม่ยอมจ่ายค่าแรงดังนั้นจึงต้องมีการติดตามการจ่ายค่าแรงอย่างใกล้ชิด หากนายจ้างยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างคงต้องมีการฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
 
จากนั้นในวันที่ 7 ต.. นายสมศักดิ์ ทองเอี่ยม ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายสมศักดิ์ คล้ายอยู่วงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสิทธิกรรมกรไทย พร้อมตัวแทนญาติแรงงานไทย 151 คน ที่ยังติดค้างอยู่ที่ประเทศลิเบีย จำนวน 20 คน ได้ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือคนไทยที่ไปขายแรงงานอยู่ แต่บริษัทเกิดขาดสภาพคล่องทางการเงินไม่สามารถจ้างแรงงานต่อได้ทำให้คนไทย ทั้ง 151 คน ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ โดยในวันที่ 15 ตุลาคม เครือข่ายจะไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนหนังสือให้ช่วยเหลือต่อไป
 
ต่อมาในวันที่ 8 ต.ค. นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศและรักษาการโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสบปัญหาดังกล่าว ดังนี้
 
1. ตั้งแต่เดือน พ.ค. 52 เป็นต้นมา กระทรวงฯ ได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลีเพื่อดำเนินการ ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดต่อพูดคุยกับแรงงานไทยเพื่อรับทราบปัญหาและเจรจาเจรจากับบริษัทนายจ้างเพื่อให้รีบส่งแรงงานทั้งหมดกลับ แต่บริษัทนายจ้างไม่ให้ความร่วมมือ โดยกล่าวว่ามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถส่งแรงงานไทยทั้งหมดกลับในครั้งเดียวได้ ต้องทะยอยส่งกลับ ทั้งนี้ จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 52 บริษัทนายจ้าง ได้ส่งแรงงานไทยกลับเพียง 20 คน
 
2. เมื่อเดือน มิ.ย. 52 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสรรงบประมาณให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความเพื่อติดตามเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เจรจากับบริษัทนายจ้างเพื่อขอรับหนังสือเดินทางคืนให้กับแรงงานไทยทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการขอ Exit Visa สำหรับเดินทางออกจากประเทศลิเบีย
 
3. จากการประสานงานกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงแรงงานฯ ได้เห็นชอบในหลักการแล้วที่จะจัดสรรเงินจาก กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประสานงานและจัดส่งเจ้าหน้าที่ทั้งจากกระทรวงแรงงานฯ ในประเทศไทยและจากสำนักงานในซาอุดีอาระเบีย ไปให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งจัดซื้อตั๋วเครื่องบิน เพื่อนำแรงงานกลับประเทศไทย
 
4. พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ได้ประสานไปยังบริษัทจัดหางานซึ่งเป็นผู้จัดส่งแรงงานไทยดังกล่าวไปลิเบีย ให้ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย
 
ส่งมาม่าและปลากระป๋องไปช่วย
โดยความช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศลิเบียกว่า 150 คนนั้น หน่วยงานรัฐได้เงินช่วยเหลือ เป็นค่าอาหาร เพื่อดำรงชีพก่อนเดินทางกลับประเทศไทยแล้วคนละ 550 ดีน่า หรือ ประมาณ 1,500 บาท รวมถึงเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้จัดส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำนวน 25 ลัง พร้อมปลากระป๋อง 15 หีบ ที่ได้รับมอบจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแรงงาน
 
ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ให้ข้อมูลว่า มีแรงงานไทยจำนวน 115 คน อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของลิเบีย ในการทำวีซ่าขาออก และคาดว่าจะทยอยเดินทางกลับประเทศไทยได้ครบกว่า 150 คน ในตุลาคมหลังจากเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจำนวน 4 คน เดินทางไปลิเบีย เพื่อพาแรงงานกลับประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่าขาออก และค่าตั๋วเครื่องบิน สถานทูตไทยประจำลิเบีย ได้สำรองจ่ายก่อน จากนั้นจะเรียกเก็บคืนจากนายจ้างลิเบียภายหลัง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท