Skip to main content
sharethis
 
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายดาโต๊ะ ซรี มูฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุลราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภริยาอย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 7 - 9 ธันวาคม 2552 นี้ น่าจะมีนัยยะสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเป็นที่จับตาของสื่อต่างประเทศ
 
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนนี้ หรือ เรียกกันสั้นๆว่า นายนาจิบ ราซัก เคยพูดถึงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ให้สัมภาษณ์ นายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ชื่อเรื่องว่า What does Najib Razak mean by 'autonomy' for the South? ถึงเรื่องการปกครองพิเศษ หรือ คำว่า Autonomy จนกลายเป็นเรื่องฮือฮาในประเทศไทยมาแล้ว
 
ครั้งนั้นนายนาจิบ ราซัก พูดว่า “สิ่งที่ผมและเรากำลังพูดกับพวกเขาคือการเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองพิเศษบางลักษณะ คุณอาจไม่ต้องการเรียกมันว่า Autonomy (การปกครองตนเอง หรือการปกครองพิเศษ) แต่อย่างน้อยที่สุด บางรูปลักษณะของมันเป็นอะไรที่มีสารัตถะและสำคัญสำหรับพวกเขา
 
ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องการศึกษา การเลือกสรรผู้นำท้องถิ่น การจัดจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาด้านศาสนา เหล่านี้คือสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา มันไม่ไปกระทบรัฐธรรมนูญอะไรเลย หรือแม้แต่ก้าวล่วงในเรื่องที่ว่าไทยปกครองประเทศกันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลสามารถขบคิดพิจารณาที่จะทำเพื่อประชาชนของตน
 
การเดินทางมาครั้งนี้ เป็นจังหวะก้าวที่เรื่องการปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการผลักดันในเรื่องการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยมากครั้งที่สุด หลังการจุดประเด็นเรื่อง “นครปัตตานี” โดยพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย
 
หากมองในมุมของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่จะต้องพานายราจิบ ราซัก เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 9 ธันวาคม 2552 นี้นั้น ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ในงานสัมมนา นายอภิสิทธิ์ พูดถึงเรื่องการปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในงานสัมมนาร่วมภาครัฐเอกชนว่าด้วย “ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน” ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไว้ด้วย
 
 
นายอภิสิทธิ์ พูดในการปาฐกถาครั้งนั้นว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ จนกลายเป็นเรื่องฮือฮา เพราะใช้คำว่า ออโตโนมี แปลเป็นไทยก็คือ การปกครองตนเอง
 
“จริงๆเราต้องบอกอย่างนี้ว่า ระบบของไทยในปัจจุบันมีการกระจายอำนาจเกิดขึ้นมาก เพราะฉะนั้นโครงสร้างองค์กรท้องถิ่นที่คนในท้องถิ่นในชุมชนมีสิทธิเลือกผู้บริหารท้องถิ่นอยู่แล้ว ความพิเศษของพื้นที่ในหลายๆ เรื่องเราก็ควรสนับสนุน เช่น การพัฒนาระบบความยุติธรรม รวมไปถึงการบริหาร การส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา อันนี้มีความต้องการพิเศษ การไปเปิดสำนักงานเดินทางที่จังหวัดยะลา การอำนวยความสะดวกด้านพิธีฮัจย์ได้ทำขึ้นมา โดยตรงนี้จะเรียกว่ามันมีความพิเศษ แต่ถ้าเวลาไปพูดว่าการปกครองพิเศษ กลัวว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมากกว่า”
 
พร้อมกันนี้นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาและการแก้ปัญหาภาคใต้ มุมมองของรัฐบาลไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายทหารและตำรวจจะเข้าไปดูแล แต่รัฐบาลจะมีมาตรการเสริมในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หัวใจในการแก้ปัญหา คือ การพัฒนากับการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการรื้อฟื้น ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อให้ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยร่างกฎหมายดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการไปแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า จะทำให้เกิดความชัดเจนในการบริหารงานแบบบูรณาการ และรัฐบาลยังมีเป้าหมายยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ และลดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลง
 
สำหรับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายนาจิบ ราซัก ครั้งนี้ นายนาจิบจะเข้าร่วมการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 4 กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความคุ้นเคยและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในด้านต่างๆ ที่ได้มีการหารือกันไว้ระหว่างการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย และระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 รวมถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 11 ซึ่งภายหลังหารือเสร็จสิ้นนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศจะแถลงข่าวร่วมกัน
 
นอกจากนี้ วันที่ 9 ธันวาคม นายกรัฐมนตรีไทย กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะเดินทางไป จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมในพิธีเปลี่ยนชื่อสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 เป็น สะพานมิตรภาพ และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการบริหารจัดการ บำรุงรักษา และใช้สะพานดังกล่าว ตลอดจนเยี่ยมชมโรงเรียน โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และการผลิตสินค้า OTOP เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net