Skip to main content
sharethis

ฉันไม่เชื่อทั้งรัฐบาลและเอดีบี แต่ฉันเชื่อในตัวฉันเองและชุมชนของเรา เมื่อมีการประชุมรัฐบาลและเอดีบีได้แต่รับปาก ฉันจะยอมเชื่อพวกเขาก็ต่อเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข”

 

มิงวันนาและมิงชินสองนักต่อสู้หญิงจากกัมพูชาได้เดินทางมายังเชียงใหม่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชะตากรรมของประชาชนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแร้นแค้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาขยายเส้นทางที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ทางหลวงหมายเลขหนึ่ง” หรือ Highway One อันเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เพื่อที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและเชื่อมร้อยระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นเข้า ไว้ด้วยกัน

 

 

โครงการทางหลวงหมายเลขหนึ่งของประเทศกัมพูชาเป็นโครงการพัฒนาแรกที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี ปล่อยเงินกู้ให้ด้วยเล็งเห็นถึงผลกำไรในอนาคต

 


มิ่ง ชิน และมิ่ง วันนา ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวโครงการ Highway One” ภาพโดย: โรงเรียนแม่น้ำโขง

 

เป้าหมายของโครงการนี้คือการขยายเส้นทางและปรับปรุงเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่คือ กรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินซิตี้

 

การพัฒนาถนนในประเทศกัมพูชาได้รับเงินกู้จากสองแหล่ง กล่าวคือ ช่วงระหว่างพนมเปญถึงเนียกเหลืองได้รับเงินกู้จากไจก้าของประเทศญี่ปุ่น ส่วนช่วงถนนระหว่างเนียกเหลืองถึงบาเว็ดชายแดนเขมร-เวียตนามซึ่งมีระยะทาง 105 กม.ได้รับเงินกู้จากเอดีบี โดยเอดีบีได้อนุมัติเงินกู้เพื่อการลงทุนจำนวน 40 ล้านดอลล่าร์ ตั้งแต่ปี พ.. 2541 และเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคมปี พ.. 2543 เป็นต้นมา

 


บางส่วนของถนนสายหลัก “
Highway One” ภาพโดย: รจนา อันน์ศิริ

 

ถนนเส้นนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในยุคอาณานิคมที่ฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันถนน ทรุดโทรมลงมากจึงมีโครงการพัฒนาถนนเกิดขึ้น แต่โครงการขยายถนนให้กว้าง 50 เมตร จำเป็นต้องอพยพโยกย้ายชุมชนที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมสองฝั่งถนนมานาน รวมจำนวนมากถึง 5,920 คน จาก 1,184 ครอบครัว

 

แน่นอนว่าพวกเขาโดยส่วนใหญ่ไม่เต็มใจอพยพแต่ไม่มีทางเลือก

 

ในปี 2538 เอดีบีได้ออกนโยบายเกี่ยวกับการอพยพที่มีหลักการว่าจะชดเชยความสูญเสียแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนโดยไม่จำกัดว่าคนเหล่านั้นจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร และต้องชดเชยให้พวกเขาคุ้มค่าพอๆ กับสิ่งที่เขาเคยมีมาก่อนโดยทำให้พวกเขาสามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตได้ในทันที ทั้งยังมีข้อกำหนดว่าแผนปฏิบัติการอพยพต้องผ่านความเห็นชอบจากเอดีบีก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดความเป็นธรรม รัฐบาลต้องทำการสำรวจประเมินระดับการครองชีพของชาวบ้านอย่างโปร่งใส ต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบและพวกเขาจะต้องรับรู้ข้อมูลอย่างเต็มที่ก่อนการดำเนินโครงการ และถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการอพยพแบบไม่เต็มใจ

 

ทว่าในทางปฏิบัติชุมชนที่ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับการดูแลตามนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยของเอดีบีดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลกัมพูชาจะต้องปฏิบัติตาม

 

แผนปฏิบัติการอพยพถูกแก้ไขจนผิดเพี้ยนไปจากหลักการของเอดีบีอย่างชัดเจน หน่วยงานของรัฐบาลกัมพูชาระบุว่าจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ถึงแม้จะขัดกับนโยบายของเอดีบี แต่เอดีบีก็อนุมัติให้แผนดังกล่าวให้ดำเนินการได้ในปี พ.. 2542 เป็นการอนุมัติอย่างเร่งรีบภายใต้การกดดันของรัฐบาลเวียตนามที่อ้างว่าต้องการเริ่มก่อสร้างโดยด่วน เพราะเสียเวลามากพอแล้วที่มัวแต่รอให้รัฐบาลกัมพูชาจัดทำแผนการอพยพ ขณะที่การทำแผนอพยพในส่วนของประเทศเวียตนามเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สะดุดติดขัด

 


สภาพความเป็นอยู่ความของชาวบ้านริมถนน” ภาพโดย: CD CAM




การตัดถนนด้วยข้ออ้างเพื่อการพัฒนา แท้ที่จริงมันกลับเป็นการตัดหนทางในการดำรงชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น ทางหลวงหมายเลขหนึ่ง ถนนที่เกิดจากแผนความร่วมมือในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก กลายเป็นเส้นทางสู่หายนะของชีวิตตชาวเขมรนับพัน

 

การอนุมัติแผนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเอดีบีละเมิดข้อกำหนดที่ตั้งขึ้นมาเอง เอดีบีไม่สามารถที่จะปัดความรับผิดชอบในข้อนี้ไปได้

 

นับตั้งแต่แผนการอพยพได้ผ่านความเห็นชอบจากเอดีบีจนถึงปัจจุบันรวมเวลาถึง 10 ปี ชาวบ้านต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส เมื่อโครงการพัฒนามาเคาะประตูหน้าบ้านของพวกเขา กลับทำให้พวกเขาเผชิญชะตากรรมที่ยากลำบาก จากการอพยพโยกย้ายบ้านเรือนซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายครอบครัวกลายเป็นคนไร้ที่ดิน ยากจนขัดสน ไม่มีงาน มีหนี้สินล้นพ้นตัว มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ นานา

 

บางคนรอคอยความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็เสียชีวิตไปก่อนจะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลของตนเอง

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net