Skip to main content
sharethis

วานนี้ (7 ธ.ค.52) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จัดการเสวนา “หยุดไล่รื้อคนริมคลอง นำร่องออกโฉนดชุมชน บทพิสูจน์ผลงานผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว พร้อมแถลงข่าว “การแก้ปัญหาชุมชนแออัด และนโยบายการออกโฉนดชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร” โดยกรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยจะมีการเดินรณรงค์ และการชุมนุมของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในวันพฤหัสที่ 17 ธ.ค.52

 

จี้ “สุขุมพันธ์” หยุดไล่รื้อ พร้อมเร่งแก้ปัญหาที่ดินให้คนจน

ประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครด้วยการจัดการโฉนดชุมชน โดยยกตัวอย่างโฉนดชุมชนที่จัดทำบนที่ดินเช่าจากการรถไฟว่า จะมีรูปแบบเป็นการเช่าที่ดินแปลงใหญ่แล้วคณะกรรมการของชุมชนนำมาจัดสรรให้คนในชุมชนเท่าๆ กัน เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย โดยการจัดทำโฉนดชุมชนนี้จะป้องกันการซื้อขาย หรือเปลื่ยนมือของที่ดิน เพราะการดำเนินการต่างๆ กับที่ดินจะมีคณะกรรมการของชุมชนดูแล เพื่อให้คนจนได้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

แต่ปัจจุบันการจัดทำโฉนดชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน และในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ ในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ และที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แต่กลับมีนโยบายไล่รื้อคนจนให้ออกจากที่ดินสาธารณะ โดยการปักป้าย และออกหมายฟ้องขับไล่ชุมชนที่อยู่ริมคูคลอง ในขณะที่ได้มีการนำเสนอชุมชนริมคลอง จำนวน 3 พื้นที่ เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดโฉนดชุมชนกับรัฐบาล

ส่วนของเสนอต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เพื่อการแก้ปัญหาชุมชนแออัดในเขตเมือง นางประทินกล่าวว่า ต้องหยุดไล่รื้อชุมชน และการแก้ปัญหาของคนจนเมืองต้องเปิดโอกาศการมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหา อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าการพัฒนาไม่ใช่จะพัฒนาเฉพาะวัตถุแต่ควรพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย นอกจากนี้ในส่วนตัวของผู้ว่าฯ เองก็ควรลงไปรู้จัก ไปเห็นความเป็นจริงในชุมชน ซึ่งจะสร้างความเข้าใจวิถีชีวิตของคนจนเมืองมากยิ่งขึ้น สำหรับระยะยาวนั้นทางกรุงเทพฯ จะต้องมีนโยบายออกมารองรับการแก้ปัญหา

ด้านอรทัย จันทสา เครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่าการแก้ปัญหาที่ดินให้คนจน หน่วยงานรัฐต้องมีความต่อเนื่องในการประสานงาน และผู้รับผิดชอบโดยตรงต้องลงมาหาข้อมูลจากชุมชนชาวบ้านว่าต้องการอะไร แล้วนำไปปฏิบัติจริง ไม่ใช่ออกนโยบายมาแล้วไม่ทำตาม และในระหว่างที่มีการดำเนินการโฉนดชุมชนขอให้ชุมชนได้อยู่อย่างสงบ ไม่ให้มีการไล่ลื้อ และให้ชุมชนมีการปรับปรุงสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น

 

ชี้ คนไร้บ้านปัญหาสืบเนื่องจากการจัดการที่ดินของรัฐ

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่าแม้รัฐจะมีหน้าที่จัดการดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินของคนในสังคมอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาเรื่องที่ดินได้เลย ปรากฎการณ์ที่เห็นชัดเจนคือคนจนทั้งในเมืองและชนบทขาดแคลนไม่มีที่ดินเพื่อการทำอยู่ทำกิน ในส่วนคนจนในเมืองเองได้รวมตัวต่อสู้ในเรื่องที่ดินมายาวนานกว่า 10 ปี เพื่อเรียกร้องที่ดินคนละ 10 - 15 ตารางวา เพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ในเมืองได้

การที่ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ที่มีที่ดินเพียงไม่กี่ตารางวา ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างบ้านโดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารได้ ส่งผลให้บ้านไม่มีทะเบียนบ้าน และการจ่ายน้ำจ่ายไฟจะได้รับแบบชั่วคราว ซึ่งทำให้คนจนต้องเสียค่าน้ำค่าไฟแพงกว่าปกติ ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายโดยเขียนกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้กำหนดขนาดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการก่อสร้างอาคารในโครงการของคนจนที่มีเนื้อที่ขนาดเล็กใหม่อย่างเหมาะสม และมีสถานะทางกฎหมายรองรับ เพื่อให้สามารถขออนุญาติปลูกสร้างบ้านได้โดยเข้ากระบวนการตามกฎหมาย ได้รับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ตรงนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ที่อยู่อาศัยของคนจนมั่นคงได้ นอกจากนโยบายเรื่องที่ดิน

“เราประกาศกับสังคมตลอดเวลาว่า เราไม่ได้อยู่ในเมืองแบบเป็นตัวถ่วง เป็นขยะสังคม แต่คนจนเรามีคุณค่าที่จะทำให้การพัฒนาสังคมเมืองดำเนินต่อไปได้ ไม่ใช่มีแต่คนรวยฝ่ายเดียวที่สร้างความเจริญเติบโต สร้างสิ่งที่ดีให้คนในประเทศนี้ คนจนก็มีส่วนมากมายในฐานะแรงงานในเมือง เราก็ร่วมอยู่ในการพัฒนาด้วย เพราะฉะนั้นคุณต้องการแรงงาน ต้องการให้คนจนมีส่วนร่วมในการพัฒนา แล้วไม่ให้ที่อยู่อาศัย แล้วคนจนจะไปอยู่ที่ไหน” นพพรรณกล่าว

ในส่วนแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ของทางกรุงเทพฯ นพพรรณกล่าวว่า ขณะนี้เน้นถึงการปรับภูมิทัศน์สนามหลวงให้ดูดีสวยงาม แต่ในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การแก้ปัญหาคนไร้บ้านทั้งระยะสั้นและระยะยาวกลับยังไม่มี ทั้งนี้บอกได้เลยว่าการแก้ปัญหาคนจนทุกกลุ่มของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ยังไม่นโยบายที่ชัดเจน เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพปัญหา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
 
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยกล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อปี 2544 ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค และกลุ่มคนไร้บ้านได้ทำการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในที่สาธารณะ 13 จุดในกลุ่มเทพฯ ที่มีคนไร้บ้านเข้าไปอยู่อาศัย พบว่ามีจำนวน 620 คน แต่เมื่อทำงานต่อเนื่องมาเรื่อยๆ พบว่าปัจจุบันจำนวนคนจนในเมืองที่มาเป็นคนไร้บ้านมีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ช่วงวัยของคนที่มาใช้ชีวิตอย่างนี้ยังน้อยลงด้วย โดยมีเด็กและวัยรุ่นมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น ซึ่งปัญหาคนจนเหล่าเชื่อมโยงกับปัญหาการจัดการที่ดินของรัฐ

 

ฉะ "นโยบายที่ดิน" ไม่คืบ สะท้อนทั้งรัฐ-ผู้ว่าฯ ไม่จริงใจแก้ปัญหาให้คนจน

นพพรรณกล่าวต่อมาว่าการทำโฉนดชุมชนของประชาชนไม่ใช้สิ่งที่รัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์บัญญัติขึ้น แต่เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลมารับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการที่ดินด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการเรียกร้องและผลักดันจนรัฐบาลบัญญัติเป็นนโยบาย และมีการจัดทำเป็นระเบียบสำนักนายกเรื่องโฉนดชุมชนในปัจจุบัน คิดว่าความจริงรัฐบาลไม่ได้สนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าตาเนื้อหาของโฉนดชุมชนเป็นอย่างไร เพียงแต่ฟังตามที่ได้รับการนำเสนอ สุดท้ายร่างระเบียบสำนักนายกฯ จึงไม่ได้เป็นไปตามรูปธรรมที่ชาวบ้านเสนอ และยังมีหลายเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่

นอกจากนี้ ในส่วนที่ดินสาธารณะริมคลอง 3 ชุมชนที่มีการผลักดันเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนเพื่อแก้ปัญหาที่สาธารณะในเขตเมือง โดยมีการเสนอต่อรัฐบาลแล้ว เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ ในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ และที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง ที่มีถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน แต่ก็ไม่มีการแก้ปัญหาอะไร เหมือนเป็นการพิสูจน์เรื่องหนึ่งว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เพราะแม้อยู่ในพรรคเดียวกันแต่การรับลูกยังไม่มีให้เห็น

“เรื่องนี้ที่รัฐบาลทำเพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ คนจนส่วนใหญ่เป็นคนผลักดัน เพราะเห็นว่าไปที่ไหน พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้คนจนโดยรวมพูดถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องทำนิดหน่อย แต่ในที่สุด มันก็พิสูจน์ มาจนถึงวันนี้ก็หลายเดือนผ่านมาแล้วที่เจราจาเรื่องนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมความสำเร็จในเรื่องโฉนดชุมชน”

 

เผย "โฉนดชุมชน" ร่วมรัฐบาล – คปท.เหลว ไม่มีพื้นที่ไหนแก้ปัญหาได้เป็นรูปธรรม

ด้านพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวสรุปในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการ 7 ชุดถึงการทำงานของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ผ่านมาว่า 1.การทำงานระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกับรัฐบาลชุดนี้ในช่วงเวลา 9 เดือนไม่มีกรณีใดเลยในพื้นที่ที่แก้ปัญหาสำเร็จ 2.ระเบียบสำนักนายกที่ผ่านมติ ครม.และอยู่ในชั้นกฤษฎีกาแก้ไขปัญหาที่ดินไม่ได้จริง 3.ปฏิบัติการที่ทำมาในพื้นที่ 27 จังหวัด ตรงข้ามกับนโยบายโฉนดชุมชน และ4.รัฐบาลไม่มีเจตนารมณ์และความจริงใจที่แท้จริงจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินให้กับคนจนเพราะว่ายังไม่มีกลไกลไหนในการปฎิรูปที่ดิน ออกโฉนดชุมชนมาอย่างลอยๆ โดยไม่มีกลไกหรือเครื่องมือรองรับ

“ใน 9 เดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการ 7 ชุด ยังไม่มีชุดไหนที่แก้ไขปัญหาเชิงรูปธรรมได้ มันต้องถามรัฐบาลแล้วว่า ที่บอกว่าเรื่องที่ดินเป็นวาระแห่งชาติ เป็นวะระที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหา ในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า” พงษ์ทิพย์กล่าว

“หลายเรื่องอยากจะพูดว่าเป็นลักษณะการโปรยคำหวาน และหาเสียงกับประชาชน แต่ไม่ได้คิดที่จะมอบอำนาจในการจัดการที่ดินให้กับประชาชนจริงๆ ยังไม่ได้คิดว่าสิทธิที่อยู่บนพื้นดินควรเป็นของคนทำการผลิต ผู้ที่อาศัยหรือผู้ที่บุกเบิกมาก่อนจริงๆ แล้วรัฐบาลก็ยังไม่ได้คิดว่าหากจะแก้ไขปัญหาให้เกิดการรับรองสิทธิ หรือคนที่อยู่ ทำกินในชนบทจะอยู่ได้จะต้องมีกลไกลอะไรรองรับบ้าง ถ้าเราออกโฉนดชุมชนมา ไม่มีธนาคารที่ดิน ไม่มีเงินที่จะตั้งขึ้นมาซื้อที่ดิน ไม่มีการจัดตั้งสำนักงาน ไม่มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ อบต.ขึ้นมา งานพวกนี้จะเดินไม่ได้จริงๆ และคงต้องรอไปถึงรัฐบาลหน้า แล้วกลับมาพูดกันใหม่เรื่องนโยบายโฉนดชุมชนอีกรอบหนึ่ง เพราะรัฐบาลนี้อาจทำงานไม่ได้จริง”

ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกล่าวด้วยว่ากระบวนการล่าสุดของการทำโฉนดชุมชนขณะนี้อยู่ที่การทำพื้นที่นำร่อง โดยมี 18 จุดอยู่ในพื้นที่อุทยานซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติได้พูดชัดแล้วว่าจะไม่ให้ดำเนินการโฉนดชุมชน และในระเบียบสำนักนายกก็ระบุไว้ว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้หากเจ้าของไม่อนุญาติ อีกทั้งต้องเป็นการทำงานที่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ซึ่งทำให้หวั่นเกรงว่าพื้นที่นำร่องที่เสนอไปกว่า 30 จุดอาจเหลือเพียงไม่กี่จุดที่เข้าเกณฑ์

 

นักวิชาการชี้ปัญหา "ระเบียบสำนักนายก" ว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชน

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายตัวของที่ดินว่าเป็นเรื่องการจัดการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ แม้ปัจจุบันจะมีรัฐธรรมนูญที่พูดถึงการปฏิรูปที่ดิน แต่กฎหมายลูกที่จะมารองรับหลักการนั้นยังเป็นปัญหาอยู่ นอกจากนั้นการที่จะปล่อยให้ประชาชนต่อสู้ด้วยตัวเองภายใต้ภาวะกลไกตลาดคงเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการแทรกแซงของรัฐภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเรื่องปัจจัยการดำรงชีวิต เพื่อช่วยให้คนที่มีกำลังน้อยมีที่ดินทำอยู่ทำกินเป็นของตนเอง

การที่รัฐบาลมีความคิดเรื่องโฉนดชุมชนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การพูดถึงเรื่องโฉนดชุมชนโดดๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินได้ แต่ต้องอาศัยกลไกอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กองทุนธนาคารที่ดิน และมาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชนที่ผ่านครม.เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของกฤษฎีกาก็มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น ชาวชุมชนที่ได้รับสิทธิ์ในการทำโฉนดชุมชนต้องอยู่อาศัยในชุมชนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เมื่อมีการออกโฉนดชุมชนแล้วสามารถอยู่อาศัยได้ไม่เกิน 30 ปี และข้อกฎหมายที่มีอยู่เดิมซึ่งให้เช่าครั้งละไม่เกิน 5 ปี อีกทั้งยังให้เช่าเป็นรายบุคคล ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรมีการพุดคุยเพื่อปรับปรุง

 

ชาวบ้านโวย กทม.มุ่งไล่รื้อตอบสนองความต้องการ "คนรวย" ทำร้าย "คนจน"

หญิงตัวแทนชาวชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา กล่าวว่า ตอนนี้ชุมชนของตนถูกหมายไล่รื้อ โดยใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เนื่องจากถูกเจ้าของคอนโดมิเนียมไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานเขต กล่าวหาว่าบ้านชาวบ้านที่ได้ต่อเติมใหม่เป็นสองชั้น ไปบดบังทัศนียภาพของคนรวย ทำลายความเป็นส่วนตัว และเกรงว่าคนในชุมชนจะไปขโมยของ โดยทางคอนโดต้องการให้ชาวบ้านรื้อบ้านลงเหลือชั้นเดียวทั้งหมดซึ่งรวมทั้งที่ปลูกมาก่อนคอนโดมิเนียม ทั้งที่ชุมชนมีมาตั้งแต่ สน.ทองหล่อ ยังไม่ได้ก่อสร้าง ทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าทางคอนโดมีสิทธิอะไรมาไล่รือที่ชาวบ้านซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ของคอนโด เมื่อชาวบ้านได้สอบถามกับทางสำนักงานโยธาธิการก็ให้คำตอบไม่ได้ แต่กลับบอกให้ชาวบ้านอยู่เฉยๆ ไม่ไปรบกวนคนที่อาศัยในคอนโด ในขณะที่คนในคอนโดกลับสาดน้ำ โยนขยะมาทางชุมชนได้ แต่ชาวบ้านในชุมชนกลับต่อเติมบ้านตัวเองไม่ได้ ตรงนี้คือการอยู่อย่างไม่เป็นธรรม

ส่วนป้าปทุม หญิงวัย 70 ปี ชาวชุมชนโรงหวาย เรียกร้องให้ชาวเครือข่ายสลัม 4 ภาคทุกชุมชนเข้าร่วมแสดงพลัง ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ ออกมาให้ผู้ว่าฯ กทม.และสังคมเห็นความเป็นหนึ่งเดียว และกล่าวด้วยว่าคนจนเลือกผู้ว่ามาเพราะต้องการให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย แต่ผู้ว่าไม่สนับสนุนความเจริญของคนจน ไม่อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีของคนจน ตัวผู้ว่าฯ เองสมัยขณะหาเสียงบอกจะช่วยเหลือคนจนทุกอย่าง แต่ขณะนี้ได้รับเลือกตั้งแล้วกลับไม่ช่วย

 

คนจนเมืองนัดรวมพลเดินเท้าแสดงพลังครั้งใหญ่ 17 ธ.ค.นี้

ภายหลังการเสวนา คณะกรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้แถลงข่าวกิจกรรมที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสที่ 17 ธ.ค.52 โดยชาวบ้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนวนกว่า 700 คน จะทำการเดินรณรงค์และชุมนุมที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถาม ติดตามความชัดเจน ของนโยบายการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

นายพงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวในการแถลงข่าวว่า จากเวทีที่ได้มีพูดคุยถึงการทำงานของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนปัจจุบัน ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี ท่านผู้ว่าฯ ยังไม่ได้สร้างรูปธรรมการแก้ปัญหาของคนจนเมือง และขณะนี้การไล่รื้อที่ดินริมคูคลองกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่นโยบายของกรุงเทพฯ น่าจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล กรณีการออกโฉนดชุมชนให้ชุมชนเป็นผู้จัดการที่ดินด้วยตัวเอง และน่าจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง อีกทั้งที่ผ่านมายังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน แต่ปัจจุบันทางกรุงเทพฯ กลับยังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการดังกล่าวเลย นอกจากนี้ในเรื่องการผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้คนจนที่อยู่ในโครงการบ้านมั่นคงซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ก็ไม่ได้รับการตอบสนองทางกรุงเทพฯ สุดท้ายทางเครือข่ายจึงต้องการพบผู้ว่าฯ อย่างเป็นทางการเพื่อเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ ในการหาทางออกร่วมกัน

ส่วนข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม นายพงษ์อนันต์กล่าวว่า ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ต้องการให้เกิดคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครขึ้น โดยการทำงานจะไม่ได้เน้นเพียงแค่เรื่องโฉนดชุมชน แต่ปัญหาที่กรุงเทพฯ ดูแลอยู่ เช่น การไล่รือที่ดินสาธารณะริมคูคลอง การออกทะเบียนบ้าน การพัฒนาสธารณูปโภค ฯลฯ เพื่อลดปัญหาระหว่างชุมชนกับข้าราชการ รวมทั้งเจ้าของที่ดิน และมองอนาคตการพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ต่อไป

ทั้งนี้ ในระหว่างการตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามถึงคะแนนความพึงพอใจที่ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มีต่อการทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากคะแนนเต็มสิบ ซึ่งในห้องประชุมมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ตั้งแต่ 0-4 คะแนน ในส่วนผู้ที่ให้ 0 คะแนนให้เหตุผลว่า การทำงานที่ผ่านมาของผู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่มีผลงานที่ทำเพื่อคนจนเมือง และไม่เคยเหลียวแลปัญหาของพวกเขาเลย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีทะเบียนบ้านใน กทม.ทั้ง 50 เขต รวม 1,450 คน ในการประเมินผลงาน 9 เดือน การทำงานในตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พบว่าประชาชนร้อยละ 62 เห็นว่าสภาพโดยรวมของ กทม.ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงทั้งก่อนและหลังการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ สำหรับผลสำรวจความพึงพอใจพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจในผลงานด้านต่างๆ 5.03 คะแนนเมื่อเทียบกับผลการสำรวจการทำงานรอบ 5 เดือน พบว่าได้คะแนนเพิ่มขึ้น 0.5 คะแนน ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้ว่าฯ กทม. พบว่าได้คะแนนเฉลี่ย 5.33 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับผลสำรวจในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาพบว่าได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 0.06 คะแนน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net