Skip to main content
sharethis

 


หน้าปกหนังสือ “ขับเคลื่อนภายในขบวนการ” (Building a movement within the Movement) ที่สันนิบาตสตรีพม่าเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งกลุ่ม

วานนี้ (9 ธ.ค.) ที่ชายแดนไทย-พม่า มีการจัดกิจกรรมครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งสันนิบาตสตรีพม่า (Women’s League of Burma – WLB) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองหลักที่รวบรวมองค์กรสตรีในพม่าจากรัฐต่างๆ เข้าด้วยกัน สำหรับกิจกรรมในงานนอกจากการแสดงของนักศึกษาชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าแล้ว ในช่วงกล่าวสุนทรพจน์ด้วย โดย ลเว เอ นาง (Lway Aye Nang) จากองค์กรสตรีปะหล่อง (Palaung Women’s Organization – PWO) ในฐานะเลขาธิการทั่วไปของสันนิบาตสตรีพม่า ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ภูมิใจที่ผู้หญิงในพม่าเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และขอให้ร่วมกันสู้ต่อไปเพื่อให้พม่าเกิดสันติภาพและประชาธิปไตย

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาโดยตัวแทนจากองค์กรสตรีในพม่าๆ โดย ซีโพหร่า เส่ง (Zipporah Sein) อดีตเลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organization - KWO) กล่าวว่า การดำเนินงานของสันนิบาตสตรีพม่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว แต่ในกลุ่มการเมืองต่างๆ ผู้ชายยังมีบทบาทนำ ดังนั้นต้องทำให้บทบาทของผู้หญิงเป็นที่ยอมรับมากกว่านี้

แสงน้อง (Hseng Nong) อดีตเลขาธิการทั่วไปของสันนิบาตสตรีพม่า กล่าวว่า ก่อนที่จะมีสันนิบาตสตรีพม่า ผู้หญิงในพม่าและรัฐต่างๆ ก็รวมกลุ่มต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกันมาก่อนอยู่แล้ว ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของสันนิบาตสตรีพม่าขอให้ทุกคนต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในสังคมพม่า ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเรื่องอื่นๆ

มิซูพวินท์ (Mi Su Pwint) เลขาธิการทั่วไปของสหภาพสตรีพม่า (Burmese Women’s Union – BWU) กล่าวว่า ขอให้สันนิบาตสตรีพม่าสู้ต่อไป แม้ว่าจะเกิดประชาธิปไตยขึ้นในพม่าแล้ว กระนั้นก็ต้องสู้เพื่อผู้หญิงในพม่า และแม้จะไม่มีสันนิบาตสตรีพม่า ก็ขอให้สู้เพื่อสิทธิสตรีของผู้หญิงในพม่า

นอกจากนี้ สันนิบาตสตรีพม่าได้เผยแพร่หนังสือ “ขับเคลื่อนภายในขบวนการ” (Building a movement within the Movement) ซึ่งเป็นบันทึก 10 ปี กิจกรรมของสันนิบาตสตรีพม่า ที่รณรงค์ให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในพม่า ตอนหนึ่งของบทนำในหนังสือกล่าวว่า “หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของความเสมอภาคทางเพศในพม่าก็คือเผด็จการทหารยังมีอำนาจ อย่างไรก็ตามพวกเราเชื่อว่าความสัมฤทธิ์ผลของพวกเราคือการแพร่ขยายและสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวกการปฏิรูปการเมืองพม่า การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของสตรีภายในขบวนการเท่านั้นจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของฐานที่กว้างขวาง และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการมีสังคมที่สันติและมีความยุติธรรม”

“พวกเรายืนยันในฉันทามติของเราที่จะทำงานต่อต้านความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม และการกดขี่ใดๆ เราเชื่อมั่นว่าความพยายามทั้งมวลของเราจะสามารถทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ได้” ส่วนหนึ่งในบทนำของหนังสือระบุ

สำหรับสันนิบาตสตรีพม่า หรือ WLB เกิดขึ้นหลังจากที่องค์กรสตรีในรัฐต่างๆ ของพม่าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนพม่าด้านบังกลาเทศ อินเดีย และไทย ได้จัดการประชุมขึ้นสองครั้งในเชียงใหม่เมื่อปี 2541 และในวันที่ 7-9 เดือน ธ.ค. ปี 2542 โดยในวันที่ 9 ธ.ค. องค์กรสตรีเหล่านั้นได้รวบรวมองค์กรสตรีของชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า และองค์กรสตรีที่มีพื้นฐานทางการเมืองที่แตกต่างเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานเดียวกันภายใต้ชื่อ สันนิบาตสตรีพม่า หรือ WLB

สันนิบาตสตรีพม่ามีวิสัยทัศน์หลักคือต้องการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ สำหรับวัตถุประสงค์ของสันนิบาตสตรีพม่ามี 3 ข้อได้แก่ หนึ่ง สร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าให้กับสถานภาพของสตรี สอง สร้างการมีส่วนร่วมของสตรีในทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ และสาม สร้างความเข้าใจระหว่างชาติพันธุ์ซึ่งกันและกัน และมีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดองแห่งชาติในทุกระดับ

สำหรับองค์กรเป็นภาคีของสันนิบาตสตรีพม่า (WLB) ประกอบด้วย สหภาพสตรีพม่า (Burmese Women’s Union – BWU) สมาคมสตรีคะฉิ่น ประเทศไทย (Kachin Women's Association-Thailand - KWAT) องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women's Organization - KWO) องค์กรสตรีคะเรนนี (Karenni National Women's Organization - KNWO) องค์กรสิทธิมนุษยชนของสตรีกูกิ (Kuki Women's Human Rights Organization - KWHRO) องค์กรสตรีละหู่ (Lahu Women's Organization - LWO)

องค์กรสตรีปะหล่อง (Palaung Women's Organization - PWO) สหภาพสตรีปะโอ (Pa-O Women's Union - PWU) สหภาพสตรียะไข่ (Rakhaing Women's Union - RWU) เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Shan Women's Action Network - SWAN) สหภาพสตรีทวาย (Tavoy Women's Union - TWU) สันนิบาตสตรีรัฐชิน (Women’s League of Chinland) และ สมาคมสิทธิสตรีและสวัสดิการแห่งพม่า (Women's Rights and Welfare Association of Burma - WRWAB)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net