Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะที่รัฐบาลในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปกำลังขะมักเขม้นกับการดำเนินงานตามนโยบายการรวมกันเข้า (social inclusion) เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรของนานาประเทศ รวมไปถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ประเทศไทยกำลังทำในทิศทางตรงกันข้ามคือกันแยก (social exclusion) คนไทยกลุ่มหนึ่งให้ออกไปจากความเป็น “คนไทย”

การกันแยกออกไปจากสังคมเป็นแนวคิดที่ใช้กันอย่างกว้างขวางสำหรับการวิเคราะห์และกำหนดนโยบาย ในกลุ่มสหภาพยุโรป เริ่มต้นใช้ครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ปี 1974 อ้างอิงถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยทางจิต เด็กๆ ที่ถูกล่วงละเมิด ต่อมาในปี 1980 เป็นต้นมา แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ความยากจนใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลถึงความไม่เท่าเทียมกันไปยังบุคคล ผู้ถูกกันแยกออกจากระบบเศรษฐกิจ ดังเช่น การตกงานในระยะยาว โอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากรแหล่งเงินกู้ และการขาดการติดต่อกับกลุ่มทางสังคม อันเนื่องมาจากไม่มีกิจกรรมทาง เศรษฐกิจ [1] อมาตยา เซน [2] ได้เสนอความเชื่อมโยงกันระหว่างการขาดความสามารถ (capability deprivation) ที่จะเข้าถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกล่าวคือ ความยากจนทำให้ไม่สามารถเข้าสู่การปฏิสัมพันธ์กับสังคมเพราะความอับอาย และไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง ทำให้กันแยกตัวเองออกจากสังคม เมื่อเขาไม่มีส่วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสังคม คนเหล่านี้จึงขาดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากนโยบายทางเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ด้วย เซนเสนอว่า ความยากจน การขาดความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร และการถูกกีดกันออกจากสังคมมีส่วนสัมพันธ์กัน

ปัจจุบันแนวคิดการกันแยกออกไปจากสังคม ถูกใช้ในประเทศต่างๆ (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สกอตแลนด์, นิวซีแลนด์, โรมาเนีย เป็นต้น) เพื่อกำหนดนโยบายให้เกิดความเท่าเทียมกัน และการรวมกันเป็นปึกแผ่น (social solidarity) โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ค้นหาผลกระทบจากนโยบายทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจทำให้คนบางกลุ่มถูกกันแยกออกไป เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึง หรือมีข้อจำกัด ในการได้รับประโยชน์จากนโยบาย (disadvantage) ได้อย่างเท่าเทียมกับกลุ่มอื่น สหภาพยุโรปแบ่งการกันแยกออกเป็น 3 ลักษณะ[3]

ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การเข้าไม่ถึงแหล่งที่มาของรายได้ และการขาดแคลนปัจจัยการผลิต

ในด้านสังคม คือ ความสูญเสียความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล กับสถาบันทางสังคม

ในด้านการเมือง คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพ เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น

โดยการกันแยกออกไปจากสังคมเกิดขึ้นได้ใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ [4]

1.การทำให้เป็นผู้เบี่ยงเบน แตกต่างจากบรรทัดฐาน หรือค่านิยมหลักของสังคม ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่ถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กล่าวคือมีความเบี่ยงเบน แปลกแยก ไม่ยอมรับให้เข้าพวก

2. การเลือกปฏิบัติ ในสังคมที่มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันต่างๆ เฉพาะด้าน ประชาชนจะต้องพึ่งพากับสถาบันที่มีความชำนาญการเฉพาะ เช่น กระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับ ตำรวจ อัยการ ศาล หรือการรักษาความมั่งคงที่เป็นหน้าที่เฉพาะของทหาร องค์กรเหล่านี้โดยหลักการแล้วต้องทำหน้าที่แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน แต่เมื่อมีการเลือกปฏิบัติไม่ทำหน้าที่ต่อคนบางกลุ่ม หรือทำหน้าที่ตอบสนองในทางที่แตกต่างกันต่อกลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการกันแยกกลุ่มบางกลุ่มออกไปจากการได้รับประโยชน์จากสถาบันเหล่านั้น

3. การผูกขาด โดยเฉพาะการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอยู่ตัวแทนผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ที่เป็นตัวแทนมีอำนาจตัดสินใจดำเนินนโยบาย กีดกันกลุ่มอื่นออกไปไม่ให้เข้ามามีส่วนตัดสินใจหรือดำเนินนโยบาย หรือการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของบางกลุ่ม โดยปิดกัน (Social closure) คนบางกลุ่มไว้ไม่ให้มีสิทธิมีเสียง ซึ่งสะท้อนจากการสร้างวัฒนธรรมหลักทางสังคม ระเบียบ กฎเกณฑ์ สำหรับในสังคมไทยเราอาจพิจารณาได้จาก กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบางกลุ่มและผลักอีกกลุ่มหนึ่งออกไปไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับระบบการเมือง

สำหรับในประเทศไทยได้ดำเนินการกันแยก “คนเสื้อแดง” ออกไปจากสังคมไทย โดยดำเนินการทั้ง 3 ลักษณะข้างต้น ซึ่งสังคมที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันในลักษณะนี้มักหลีกไม่พ้นความรุนแรง การแบ่งแยกดินแดน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา (ดังเช่นที่เกิดขึ้นใน เนปาล ดู Lawoti, 2007: 57-77 หรือกลุ่มประเทศในอัฟริกา ดู Douma, 2006: 59-69) [5]

ในความเห็นของผู้เขียนการกันแยกออกไปจากสังคม จะนำไปสู่ผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างน้อย 3 ประการด้วยกันคือ

1. การลุกขึ้นสู้ถึงที่สุด เพื่อให้ถูกนับรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของ การถวายฎีกา เพื่อต้องการให้ถูกนำรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังเช่นที่คนเสื้อแดงตัดพ้ออยู่เสมอว่า ตนเองไม่ใช่ลูก หรือเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก การ “ถวายฎีกา” ก็คือส่วนหนึ่งที่จะสร้างการยอมรับว่าตนเองมีความจงรักภักดี เชื่อมั่นในระบอบที่เรียกว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้นับรวมตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบนี้ หรือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ตัวแทนของตนเองได้กลับมาเป็นปากเป็นเสียง จะเห็นได้จากการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังคงเลือกตั้งพรรคการเมืองเก่าที่ตั้งขึ้นใหม่จากการที่เคยถูกยุบ หรือกรณีเลือกตั้งซ่อมที่สกลนครที่แสดงถึงความต้องให้ผู้แทนของพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบได้กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง

2. การสร้างความรุนแรงไม่อยู่ในบรรทัดฐาน เพราะกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติทางสังคม ถูกทำให้เป็นอื่น กล่าวคือเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้คนที่ไม่ถูกนับรวมไม่สามารถพึ่งพาได้ เพราะถูกสร้าง ผลิตขึ้นจากกลุ่มผู้ที่ถูกนับรวม การแสดงออกถึงความรุนแรงโดยแสดงพฤติกรรมในรูปแบบเดียวกันกับ พฤติกรรมที่เคยได้รับการยอมรับว่าสามารถกระทำได้โดยได้รับความคุ้มครองสิทธิจากองค์กรของรัฐ เป็นการร้องขอด้วยการกระทำเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ดังเช่น การปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในวันที่รัฐบาลพลังประชาชนจะเข้าไปแถลงนโยบาย และการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ – ทำเนียบรัฐบาล กับการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ชุมนุม อาเซียนซัมมิท พัทยา และการปิดถนนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ถนนดินแดง ในช่วงเดือน เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำให้ระเบียบทางสังคมที่ได้ให้การรับรองยอมรับพฤติกรรมก่อความวุ่นวาย ละเมิดระเบียบปฏิบัติทางสังคมว่าสามารถทำได้ เกิดการหยุดชะงักเพื่อหันกลับทบทวนความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรม และความเห็นสาธารณะที่กำลังถูกครอบงำ

3. ขั้นตอนสุดท้ายที่ยังไปไม่ถึง ได้แก่การสร้างสิ่งใหม่ขึ้นทดแทน เมื่อไม่สามารถพึ่งหวังกับระเบียบทางสังคมที่ถูกขจัดจากการจำกัดคนเสื้อแดงออกไปได้ สิ่งที่จะตามมาในอนาคตก็คือ การขีดเส้นอำนาจอธิปไตยใหม่ดังเช่น ที่เกิดขึ้นอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน นั่นหมายถึงการขีดเส้นกั้นพรมแดนใหม่ ระหว่างสี ซึ่งอันตรายและรุนแรงอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ยอมรับไม่ได้กับความเป็นสหพันธรัฐ

สิ่งที่ผู้มีอำนาจก่อนหน้านี้ (คณะรัฐประหาร) และผู้มีอำนาจในขณะนี้กำลังพยายามทำ คือทำสองเรื่องคู่ขนานกันไป คือ ทำให้เกิดการรวมกันเข้า (Inclusion) ของกลุ่มที่ต่อต้าน หรืออยู่ตรงข้ามกับฝ่ายเสื้อแดง โดยสร้างความหมายขึ้นชุดหนึ่งเป็นความหมายที่นับรวมกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยเข้ามาไว้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ด้วยวาทกรรม “ชาติ” กับ “สถาบัน” พระมหากษัตริย์ ภายใต้สัญลักษณ์สีเหลือง ขณะที่กันแยกสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปให้อยู่ภายใต้สัญลักษณ์สีแดง โดยดำเนินการทำใน 3 สิ่ง

1. การกันแยกออกไปจากระบบการเมือง

สิทธิการเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิในทางปฏิบัติต่างจากสิทธิตามกฎหมาย คนรากหญ้าไม่มีโอกาสเลือกตัวแทนของพวกเขา พรรคที่เขาเลือกถูกยุบ (ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคที่เคยอยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน) บุคคลที่เขาเคยเลือกถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และยัดเยียดระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ด้วยข้ออ้างการซื้อสิทธิ ขายเสียงในระบบการเลือกตั้งแบบเดิม (ที่ปัจจุบันการซื้อเสียงก็ไม่ได้หมดไป) ซึ่งเป็นการทำให้ 1 เสียงในระบอบประชาธิปไตยมีไม่เท่ากัน คือจำกัดสิทธิในการเลือกให้มีตัวเลือกน้อยลงอรรถประโยชน์ที่ได้รับจากการเลือกตั้งจึงแตกต่างกันอย่างมากสำหรับคนสองกลุ่ม (เสื้อเหลือง-เสื้อแดง) แม้ว่าจะคงไว้ซึ่งการให้สิทธิในการเลือกตั้ง (ต่างไปจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 ที่พรรคฝ่ายค้านตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 อดีต ส.ส. ที่ประชาชนเคยเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทน 111 คน ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง) โดยหวังเอาว่าจะทำให้ตัวแทนของคนเสื้อแดง (รากหญ้า) หมดสิ้นไป แต่ในทางปฏิบัติประชาชนยังคงรอคนเหล่านี้กลับมาและเลือกตัวแทนของ ส.ส. เหล่านี้ให้มาทำหน้าที่แทน การกันแยกออกไปจากระบบการเมืองไม่เพียงแต่ ทำให้ตัวแทนของคนเสื้อแดงที่เข้าสู่อำนาจทางการเมืองน้อยลงเท่านั้น แต่ยังดำเนินการต่อสถาบันอื่นๆ ในสังคมด้วย โดยการเปลี่ยนกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และการแต่งตั้งโยกย้ายโดยอำนาจบริหาร เป็นผลให้สัดส่วนของตัวแทนในสถาบันต่างๆ ที่มาจากประชาชนกลุ่มเสื้อแดงเปลี่ยนแปลงไป

2. การเลือกปฏิบัติในฐานะที่ไม่ใช่พลเมือง

หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552 เมื่อมีข่ายการนัดชุมนุมของคนเสื้อแดง รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีการชุมนุมตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 พร้อมกับข่าวให้ร้ายเพื่อกันแยกให้คนเสื้อแดงที่มาชุมนุม เป็นคนกลุ่มอื่นที่ไม่ถูกนับรวม ดังเช่น ให้สัมภาษณ์ของรองนายกฯ ว่ามีมีการนำชาวกัมพูชาเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย และพร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็ได้ทำให้คนเสื้อแดงถูกประณามหมิ่นเหยียดจากสังคมว่านอกจากจะเป็นผู้โง่เขลาที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเงินของทักษิณแล้ว ยังเป็น “โจรเสื้อแดง” ที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย เป็นการสร้างวาทกรรมที่แตกต่างระหว่าง พฤติกรรมลักษณะเดียวกันของคนเสื้อเหลืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักรบกู้ชาติ” ดังเช่นคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า “ผู้ชุมนุมพันธมิตร [ที่ยึดสนามบิน] ช่วยทำให้กระบวนการประชาธิปไตยก้าวไปข้างหน้า”

การให้ข่าวเช่นนี้เป็นการกันแยกให้การชุมนุมกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม บ่อนทำลาย กีดกันและกำจัดสิทธิ โดยการทำให้กลุ่มคนเสื้อแดง มีสถานะไม่แตกต่างไปจากผู้ไม่ประสงค์ดีต่อชาติ โดยเฉพาะการระบุว่านำแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางเข้ามาชุมนุมด้วย และคนเหล่านี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของไทย ซึ่งไม่ต่างจากคำกล่าวที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

3. การกันแยกออกไปจากสังคม

สิ่งที่รัฐบาลทำคือ สร้างเรื่องราวการบ่อนทำลายประเทศชาติ และสถาบัน โดยปราศจากประธานผู้กระทำ เช่น มีการขึ้นป้าย “ปกป้องสถาบัน” ตามหน่วยงานปกครองที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ทั่วประเทศ การจัดกิจกรรมร้องเพลงชาติเสริมสร้างความสามัคคี หรือป้ายประกาศต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติ กรณีนี้คือการ กล่าวหาโดยไม่ต้องเอ่ยนาม และทำให้คนเสื้อแดงกลายเป็นอื่น เป็นที่ไม่ต้องการของรัฐ-ชาติ ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้พื้นที่เกิดการแบ่งแยกระหว่างสี ทำให้ครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน เกิดความขัดแย้งและฝักฝ่าย ซึ่งไม่ได้สะท้อนความสามัคคีดังที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนทางนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการแต่อย่างใด ดังเช่นในเว็บไซท์ผู้จัดการซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคการเมืองใหม่ ระบุว่า [6]

“อยากเห็นคนไทยสั่งสอน “เสื้อแดง” ไม่รู้กาลเทศะ!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
8 ธันวาคม 2552 08:23 น.

... อย่างไรก็ดีมาถึงนาทีนี้เมื่อคนเสื้อแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ทักษิณ ชินวัตร ไม่สนใจบรรยากาศวันมหามงคล และความรู้สึกของคนไทยทั้งมวลทั่วประเทศยังดึงดันจะชุมนุมก็ไม่เป็นไร จะได้เห็นธาตุแท้ได้ชัดยิ่งกว่าเดิม

ขณะเดียวกันหากจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การดึงดันจัดการชุมนุมในวันที่ 10 ดังกล่าวหากมองอย่างผิวเผินก็อาจมองได้ว่าเป็นการรำลึกถึงรัฐธรรมนูญ แต่หากพิจารณาให้ลึกแล้วคนพวกนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงการ “เปลี่ยนแปลง” การปกครองใช่หรือไม่”

ข้อความทำนองนี้ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามเชื่อมโยงเพื่อกีดกันคนเสื้อแดงให้พ้นไปจากความผูกพันเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติ หรือกรณีข่าวผู้นำของคนเสื้อแดง อดีตนายกทักษิณ ที่ให้สัมภาษณ์กับไทม์ออนไลน์ว่ามีเนื้อหาหมิ่นจาบจ้วงสถาบัน ซึ่งเป็นการกันแยกให้ออกจากความเป็นคนไทยที่ต้องสังกัดกับสถาบันชาติ และกษัตริย์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงการที่คนไทยต้องสังกัดอยู่กับสถาบันได้แก่ สติ๊กเกอร์ท้ายรถที่เขียนว่า “เรารักในหลวง” ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นข้อความเปลี่ยนไปเป็น “คนไทยรักในหลวง” ข้อความลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไม่รักในหลวงก็ไม่ใช่คนไทย เป็นการกันแยกคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า “ไม่รัก” ให้ออกไปจากความเป็นคนไทย

ขั้นตอนสุดท้ายที่ยังไปไม่ถึง และรัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำคือ การกันแยกคนเสื้อแดงออกจากระบบเศรษฐกิจ ดังเช่น การไม่ได้รับบริการจากรัฐ-เอกชน การไม่รับเข้าทำงาน หรือการไม่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของคนเสื้อแดง (ความแตกต่างไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ บริการพื้นฐานจากรัฐ และการได้รับการคุ้มครองปกป้องมีช่องว่างมากอยู่แล้วระหว่างชนบท-เมือง) ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเชื่อมต่อจุดสุดท้าย และเมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองสี เหนือ-ใต้ และการกันแยกออกไปก็จะประสบผลสำเร็จสมบูรณ์

ทางออกสำหรับความขัดแย้งในวันนี้ผู้เขียนเห็นว่า จะต้องเลิกกันแยกกลุ่มคนเสื้อแดงออกไป และนับรวมเขาเข้ามาในฐานะที่เป็นคนไทย ซึ่งหากจะพิจารณาจากรายชื่อการถวายฎีกา 4 ล้านคนแล้วถือเป็นคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มีพลังอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับฟัง ทางออกพึงกระทำในเวลานี้ก็คือ การนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ใหม่ จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กติกา เพื่อคืนสิทธิทางการเมืองแก่กลุ่มคนทุกกลุ่ม [7] รวมทั้งพรรคการเมืองใหม่ก็จะได้รับสิทธินั้นด้วย

หรือมิฉะนั้นก็นำพรรคตัวแทนของคนเสื้อแดงซึ่งได้แก่พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรัฐรัฐบาล ยกร่างกติกาทางการเมืองขึ้นมาใหม่ (แก้รัฐธรรมนูญฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) จากนั้นก็ประกาศยุบสภาฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายลงมาแข่งขันกันภายใต้กติกาที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันในการยกร่าง

เชิงอรรถ

[1] Gore, Charles. (1955) Introduction: Markets, citizenship and social exclusion. In Gerry Rodgers, Charles Gore, and Jose Figueiredo. (Ed.) Social Exclusion: Rhetoric, Reality, Responses, pp1-42 (Geneva: International Institute for Labour Studies).
[2] Sen, Amartya. (2000) Social Exclusion Concept, Application, and Scrutiny. (Manila:
Asian Development Bank).
[3] Peace, Robin. (2001) Social Exclusion: A concept in Need of Definition?. Social Policy Journal of New Zealand . 16, pp.17-35.
[4] Silver, Hilary. (1995) Reconceptulizing social disadvantage: Three paradigms of social exclusion. In Gerry Rodgers, Charles Gore, and Jose Figueiredo. (Ed.) Social Exclusion: Rhetoric, Reality, Responses, pp.59-70 (Geneva: International Institute for Labour Studies).
[5] Lawoti, Mahendra. (2007) Political Exclusion and the Lack of Democratisation: Cross-National Evaluation of Nepali Institutions using a Majoritarian-Consensus Framework. Commonwealth & Comparative Politics. 45, pp.57-77.
Douma, Pyt. (2006) Poverty, relative deprivation and political exclusion as drivers of violent conflict in Sub Saharan Africa. Journal on Science and World Affairs. 2, pp.59-69.
[6] ผู้จัดการออนไลน์. อยากเห็นคนไทยสั่งสอน“เสื้อแดง”ไม่รู้กาลเทศะ!!. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8 ธันวาคม 2552, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000149299
[7] ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยที่ผ่านมา หากศาลฯ ไม่ตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด (111 คน) วันนี้จะไม่มีพรรคพลังประชาชน- พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมาก เพราะกลุ่มคนทั้ง 110 คน จะกระจายไปอยู่พรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องรวมกันต่อสู้โดยส่งตัวแทนเข้ามาลงรับเลือกตั้งเพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองของตนไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net