Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เลื่อนพิธีถวายสัตย์ฯ 2 ธ.ค. ของทหารรักษาพระองค์"

เป็นข่าวพาดหัวที่ดิฉันฟังผ่านวิทยุในรายการข่าวเช้าของคลื่น 95.75 ในภูมิภาคของดิฉันขณะขับรถไปส่งลูกๆ ที่โรงเรียนในอำเภอใกล้ๆ ซึ่งใช้เวลาราวยี่สิบนาทีก็ถึง

ดิฉันเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรายการข่าวเช้าก็ว่าได้เพราะการฟังข่าวสรุปเฮดไลน์ของหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวันสำคัญของสถานีดังกล่าวทำให้ดิฉันสามารถปฏิบัติหน้าที่แม่และผู้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองได้ไปพร้อมๆ กัน

และ...นี่เองคือแรงบันดาลใจสำหรับบทความชิ้นนี้ของดิฉันในครั้งนี้....

ภาพการเดินสวนสนามของทหารสี่เหล่าทัพ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งที่ดิฉันยังเป็นนักข่าวสารคดีตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เป็นภาพที่ยังติดตรึงในความประทับใจไม่รู้ลืม ณ เวลานั้นมีทั้งอารมณ์ตื่นเต้น ตื่นตา ตื้นตันที่เหล่าทหารแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวของเราเนื่องในวโรกาสวันพ่อแห่งชาติซึ่งจะจัดขึ้นในทุกๆ ปี ถ้าจำไม่ผิดปีนั้นจัดขึ้นวันที่ 3 ธันวาคม

ภาพเหล่านั้นล่วงเลยมาถึงสิบปีแล้วแต่ยังมีวาระบางอย่างเร้นลับอยู่ในห้วงคิดเสมอมา

ณ วันนี้ ตัวดิฉันเองเติบโตขึ้นได้เรียนรู้โลกและสังคม ได้เห็นการเมืองการปกครองไทยในหลายแง่หลายมุมมากขึ้น ลองผิดลองถูกในการคิดวิเคราะห์และแปรความมาก็มาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในใจของดิฉันนั่นคือความภูมิใจ

ดิฉันภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกทหารค่ะ แม้พ่อจะเป็นเพียงทหารชั้นประทวนก็ตามที แต่สิ่งที่พ่อให้กับฉันกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองยืนหยัดอยู่บนโลกนี้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดๆ นั่นคือ “ความซื่อสัตย์” ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ความตรงไปตรงมาต่อความรู้สึกนึกคิดการพูด การแสดงออกตลอดจนความจริงจังจริงใจต่อมิตรภาพและความสัมพันธ์กับผู้คน ตลอดจนสะท้อนออกมาเป็นงานเขียนที่บอกเล่าตัวตนอย่างชัดเจน บางเรื่องราวที่ดิฉันเขียนอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือไม่ถูกใจใครหรือกลุ่มคนใดๆ ก็ตาม แต่ดิฉันก็มั่นใจว่าดิฉันแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่อยู่บนจุดยืนแห่งเสรีภาพอันไร้ขีดจำกัด ตลอดจนก็ไม่ได้สะท้อนเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกเสียจากเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นจริงๆ ในสังคมไทย บางโอกาสก็สะท้อนมุมมองของชาวบ้านตามตะเข็บประเทศให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงปัญหาที่พวกเขากำลังประสบอยู่

ขอย้อนกลับมาเรื่อง “พ่อ” ค่ะ พ่อของดิฉันเป็นทหารประชาธิปไตยนะคะ มิใช่ทหารการเมือง

ดิฉันขอถือวิสาสะหยิบคำว่า “ทหารประชาธิปไตย” กับ “ทหารการเมือง” ของคุณวาสนา นาน่วม (เจ้าของหนังสือลับลวงพราง2) มาใช้ด้วยความเคารพในงานเขียนของพี่เขาค่ะ

เพราะคำสองคำนี้ทำให้เห็นจิตภาพของทหารสองกลุ่มในสังคมไทยเด่นชัดขึ้นมากขึ้น ณ เวลานี้

ทั้งนี้ตัวดิฉันเองต้องชื่นชมงานเขียนของคุณวาสนาเล่มนี้มากๆ เลยที่ทำให้ดิฉันรู้จัก “ทหาร” มากขึ้น

เหนืออื่นใดดิฉันก็อยากจะยกนิ้วให้กับงานเขียนเล่มนี้ไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นงานเขียนที่เป็นตัวของตัวเอง มีจิตวิญญาณของสื่อมวลชนอันเปี่ยมล้น (ซี่งปัจจุบันมีสื่อที่เป็นอย่างคุณวาสนาน้อยจริงๆ) มันใช่ในความรู้สึก และมันใช่ตามทฤษฎีว่าด้วยจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่ดิฉันได้ร่ำเรียนมาในมหาวิทยาลัยแถวๆ ตลาดสามย่านซึ่งปัจจุบันตลาดเก่าแห่งนี้ถูกทุบทิ้งไปเหลือแต่อดีตที่น่าจดจำ

“ลับ ลวง พราง” เป็นหนังสือที่ควรค่าที่จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในด้านบวกมากที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยอ่านงานของสื่อมวลชนคนอื่นๆ มาบ้าง

เรื่องราวของหนังสือเล่มดังกล่าวทำให้ดิฉันย้อนกลับมาคิดถึง “พ่อ” ค่ะ ใช่แล้วพ่อของดิฉันเป็นทหารประชาธิปไตย พ่อเป็นทหารที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองที่เอื้อประโยชน์และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกๆ กลุ่มในพื้นที่ขวานทองนี้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมไม่ผูกขาดอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พ่อของดิฉันไม่ใช่ทหารการเมืองแน่นอนค่ะ เพราะท่านเป็นเพียงทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา และแน่นอนว่าพ่อย่อมไม่ใช่ทหารการเมืองเป็นแน่ เพราะท่านไม่เคยร่วมอยู่ในคณะรัฐประหารยึดอำนาจ (หรือ coup d’etat ในภาษาฝรั่งเศส) จากรัฐบาลของใคร เหนืออื่นใดก็คงไม่ใหญ่พอที่จะอาศัยอำนาจทางการเมืองใต่เต้าสู่ฝันอันสูงสุดของคนมีสีได้เพราะกว่าจะได้ยศเรืออากาศตรีก็ปาเข้าไปเมื่อเกษียณอายุแล้วเมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็รักและภูมิใจในตัวพ่อมากๆ พ่อคือฮีโร่ของดิฉัน เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็คือวีรบุรุษประชาธิปไตยคือตัวอย่างของทหารประชาธิปไตยใจเกินร้อย ซึ่งยอมสละคราบเครื่องแบบและตำแน่งสูงสุดทางการทหาร(ผบ.ทบ) ด้วยการลาออกจากราชการและตำแหน่งเพื่อออกมาก่อตั้ง “พรรคความหวังใหม่” พรรคการเมืองที่มาแรงแซงโค้งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ “บิ๊กจิ๋ว” ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2540 ดิฉันยังจำได้ดี เพราะเป็นปีที่จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และตัวเองก็ได้เข้าฟังการอภิปรายของท่าน ถ่ายรูปและทำข่าวของทหารหัวใจประชาธิปไตยท่านนี้

นี่คือการเข้าสู่การเมืองของทหารคนหนึ่งที่ดิฉันมองว่าสมศักดิ์ศรีที่สุด มีเกียรติเสียยิ่งกว่าการใช้กำลังอาวุธมายึดอำนาจคนอื่น แล้วอ้างว่าทำเพื่อชาติ ผลสุดท้ายก็เห็นไปถึงไส้ถึงพุงว่าเขาทำโดยมีนัยยะแฝงเร้นเช่นไร

“พรรคมาตุภูมิ” คือ พรรคการเมืองที่นำหรือจัดตั้งโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งได้ประกาศตัวเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ได้ซ่องเตรียมการมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นประธาน คมช.เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งได้ยึดอำนาจจากอดีตนายกฯทักษิณสำเร็จ นับถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไปสามปีแล้ว

ในวันที่ท่านเปิดตัวพรรคการเมืองของท่านออกมาก็ทำให้ถึงบางอ้อ ดิฉันเห็นภาพต่างของทหารการเมืองและทหารประชาธิปไตยอย่างแจ่มชัดถึงขั้นเข้ากระดูกดำเลยทีเดียว

ดิฉันร้องออกมาดังๆ เลยว่า “อ๋อ...อย่างนี้นี่เอง” ที่ทำมาทั้งหมดเขาหวังผลอะไรกันแน่ ท่านต้องการอะไร รักชาติ รักตัวเอง รักประชาธิปไตย หรือหวงแหนอำนาจที่ต้องการรักษาเอาไว้เฉพาะกลุ่มของท่านกันแน่

ในทางกลับกันดิฉันกลับเชื่อมั่นว่าในประเทศไทยเรามีทหารประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนมาก เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นรออยู่ในซอกหลืบเล็กๆ หลายๆ แห่ง รอโอกาสที่จะแสดงพลังประชาธิปไตยกันอย่างจริงจังภายใต้เงื่อนไขการเมืองแบบใหม่ๆ ที่ให้โอกาสผู้คนทุกหมู่เหล่าหลากอาชีพ ทุกภูมิภาคได้มีพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องย้อนกลับมามองกันใหม่ที่โครงสร้างการเมืองการปกครองไทยกันอย่างจริงจัง กำหนดรู้ให้ได้ว่าอะไรคือจุดบอด และอะไรคือเท้าที่ราน้ำอยู่ของการปกครองของไทยที่ไม่สามารถทำให้ทหารประชาธิปไตยเสียงดังกว่าทหารการเมือง ทั้งๆ ที่มีจำนวนมาก และก้าวหน้ากว่าในเรื่องประโยชน์ส่วนร่วม

ก่อนเขียนบทความชิ้นนี้ดิฉันได้โทรไปคุยกับอดีตหัวหน้าข่าวของดิฉันคือ “พี่จำลอง” (จำลอง บุญสอง บรรณาธิการหน้าท่องเที่ยว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ในปัจจุบัน)

ดิฉันถามพี่จำลองว่าบทความการเมืองที่แกเขียนทุกๆ วันศุกร์ครั้งนี้จะเขียนเรื่องอะไร แกก็เล่าให้ฟังประสาลูกน้องกับหัวหน้าที่คุ้นเคยว่าเขียนถึงนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งก็คือ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่ดิฉันชื่นชมและติดตามผลงานมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ สื่อ

ส่วนหนึ่งแกสะท้อนให้ฟังว่า “ปรกติ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรม NGO หรือนักข่าวโดยส่วนใหญ่ล้วนมีทัศนะที่ล้าหลัง ไม่เป็นปฏิกิริยาก็เป็นปฏิรูป อาจารย์นิธิหลุดออกมาจากวงจรอุบาทว์ทางปัญญาของปัญญาชนได้ ก็ต้องขอแสดงความนับถือเป็นอย่างยิ่ง”

งานเขียนคอลัมน์ “พินิจการเมือง” ในโพสต์ทูเดย์โดยจำลอง บุญสองตลอดหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนปัญหาประเทศเวลานี้คือปัญหาอำนาจอธิปไตยยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง หากต้องการความชอบธรรมทางการเมืองก็ต้อง “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ให้ประชาชนกลับมามีอำนาจจริงๆ

ดิฉันก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับหัวหน้าข่าวในอดีตของดิฉัน เพราะจะว่าไปท่านก็เปรียบเสมือนครูคนแรกในภาคสนามแห่งการเป็นนักสื่อสารมวลชน (นอกเหนือจากที่พี่จำลองก็เป็นทั้งรุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาหนังสือพิมพ์ สถาบันที่กล่อมเกลาจิตวิญญาณสื่อมวลชนที่ดีให้กับดิฉันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว)

พี่จำลองให้วิทยาทานแก่ดิฉันมากมายเริ่มตั้งแต่การเขียนสารคดีต่างๆ โดยฝึกด้วยการปฏิบัติจริง ทั้งถ่ายรูปและเขียนเรื่องเอง ตลอดจนสอนเรื่องลัทธิการเมืองต่างๆ ในโลกนี้ และที่สำคัญก็คือ “ลัทธิประชาธิปไตย” ลัทธิการเมืองที่ประเทศที่รักในเสรีภาพทั้งหลายเขาเป็นกันและใฝ่ฝันอยากจะทำให้เกิดขึ้นในประเทศของตน

เช่นเดียวกับประเทศไทยในเวลานี้ที่หลายๆ ภาคส่วนของคนในสังคมไม่ว่าเสื้อสีใดๆ ก็ตามที นักคิด นักเขียน นักวิชาการ กวีหลายๆ ท่านก็มุ่งประเด็นมาคบคิดแก้ปัญหาประชาชาติร่วมกัน สุดแท้แต่ว่าใครหรือกลุ่มใดจะอ้างทฤษฎีไหนก็เท่านั้น เหนืออื่นใดก็คือการมุ่งมั่นใน “จุดยืน” เช่นไร

ถ้าเป็นจุดยืนส่วนรวม จุดยืนเพื่อประชาชนทุกๆ องคาพยพในบริบทสังคมไทยก็ คือการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงน่าจะเป็นคำตอบสำหรับวิกฤติบ้านเมืองในคราวนี้

ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คือ คอนเซ็ปต์ของคำปฏิญาณตนของทหารทุกๆ เหล่าทัพจะต้องพิทักษ์ยึดถือให้มั่น ตลอดจนหัวใจสำคัญที่ทำให้ปวงชนชาวไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้

หากแต่ความขลังของถ้อยความที่เหล่าทหารหาญถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์ในหลวงนั้น ดิฉันคิดว่าอยู่ที่จิตสำนึกค่ะ มิใช่ความพร้อมเพรียงกันในการพูดและเดินแถว หรือแม้กระทั่งเดินสวนสนามที่งดงามเพียงเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องประกอบรวมกันทั้งหมดถึงจะสมบูรณ์แบบจริงๆ

ดิฉันมิบังอาจไปกล่าวหาทหารท่านใดโดยเฉพาะ เพียงแต่อยากเสนอมุมมองอีกสักแพร่งก็เท่านั้น เพราะดิฉันเชื่อว่าการกระทำย่อมสำคัญกว่าการพูดท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง

ดิฉันรักทหารประชาธิปไตยทุกคนนะคะอย่าเข้าใจเป็นอื่น ทั้งนี้ดิฉันก็อยากเห็นความสมานฉันท์ของทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทย

สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้มันเลี่ยงไม่ได้แล้วค่ะที่เราจะต้องหันมามองเรื่องประโยชน์สูงสุดของประชาชน ภายใต้การปกครองที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข สมานฉันท์ รู้รักสามัคคีคือทางออกของความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยเวลานี้ค่ะ

หมดเวลา “โยนบาป” และหาคนผิดค่ะ “ให้อภัย” แล้วร่วมกันจับมือสร้างประชาธิปไตยที่กินได้สัมผัสได้กันเสียที เลิกแบ่งขั้วกันได้แล้ว มองให้เห็นคู่ขัดแย้งที่ตรงไปตรงมาที่สุด แก้ปัญหาชาติ แก้ปัญหาประชาชน ด้วยเห็นประโยชน์สูงสุดของคนทุกหมู่เหล่า แล้วเมื่อนั้น “ปัญหาประชาชาติ” ก็จะแก้ตกไปโดยปริยาย

ท้ายนี้ดิฉันของยืนหยัดชัดๆ อีกสักครั้งค่ะ ว่าดิฉันรักพ่อ ดิฉันรักทหารและรักประชนที่มีหัวใจประชาธิปไตยอันเต็มเปี่ยมทุกๆ ท่านค่ะ

ดิฉันเชื่อด้วยใจบริสุทธิ์และหัวใจที่เต็มเปี่ยมว่าการเมืองการปกครองที่เราฝันถึงมันไม่ไกลเกินเอื้อมหรอกค่ะ เพราะสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพมันมีแต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น เพียงแต่ว่าวันนี้เราพร้อมและจริงใจพอหรือไม่ที่จะสร้างให้มันเกิดขึ้นจริงๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net