Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นอกจากเราจะพบเห็นชุมชนขนาดใหญ่ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดตามแนวพรมแดนอย่างตากหรือระนอง ในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างพังงาหรือภูเก็ต รวมทั้งในเขตอุตสาหกรรมของกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างเช่น สมุทรปราการหรือสมุทรสาครแล้ว ในเขตเมืองของกรุงเทพฯ ก็มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากทั้งหญิงและชายที่ทำงานตามบ้าน ร้านอาหารและทำงานก่อสร้าง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จึงถือเป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยอย่างแยกไม่ออก

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ ข้อเท็จจริงนี้กลับถูกละเลยในสังคมไทยและนโยบาย รวมทั้งมาตรการด้านความมั่นคงก็แสดงความลักลั่นกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ว่าแรงงานเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และช่วยไม่ให้ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของสินค้าไทยลดต่ำลงไปมากกว่าที่เป็น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แรงงานเหล่านี้ได้รับตอบแทนกลับเป็นค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม สภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ไม่ต่างจากทาส รวมทั้งมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว ไม่ว่าพวกเขาจะมีเอกสารรับรองการทำงานหรือไม่ก็ตาม

ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนได้เคยสัมผัสด้วยตนเอง พนักงานเสิร์ฟอาหารในเขตอำเภอแม่สอด จะได้รับค่าตอบแทนคิดเป็นรายเดือนเฉลี่ยประมาณ 800-1,000 บาท บางรายอาจจะได้ 700 หรือในบางกรณีอาจจะสูงถึง 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการและปัจจัยอื่นๆ อาทิเช่น ทักษะของคนงาน ความพึงพอใจและระดับของ "มนุษยธรรม" ของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณงานและผลกำไรที่คนงานเหล่านี้ผลิตขึ้น

ส่วนคนงานในโรงงานที่ผู้เขียนได้สอบถาม ส่วนใหญ่ตอบว่าได้รับค่าจ้างเฉลี่ยประมาณวันละ 70-80 บาท ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตากในปัจจุบัน คือ 151 บาทต่อวัน จะเห็นว่าแรงงานเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องพูดถึงจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เกินเวลาโดยไม่มีค่าชดเชย และการไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับนักธุรกิจ อาจมองว่าการแข่งขันในด้านอุปทานแรงงานนี้ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการและระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่ต้องการ!

วิธีคิดดังกล่าวแลดูสมเหตุผลและตรงกับหลักการของกลไกตลาด หรือ "มือที่มองไม่เห็น" ของ อดัม สมิท ที่มักถูกลดทอนลงเหลือเพียงใจความว่า "การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวในระดับปัจเจก ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับสังคม!"

ผู้ที่คุ้นเคยกับวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่บ้าง ก็อาจหยิบยกประโยคที่โด่งดังของสมิทจาก The Wealth of Nation มาเสริมว่า "ไม่ใช่เพราะความใจดีของพ่อค้าหมู คนหมักเบียร์หรือคนทำขนมปังหรอก ที่ทำให้เรามีอาหารเย็นรับประทาน แต่เป็นเพราะความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของคนเหล่านี้ต่างหาก พวกเราไม่ได้พูดถึงมนุษยธรรมกับพวกเขาแต่เป็นความรักตัวเอง และเราไม่เคยบอกกับพวกเขาให้มองถึงความจำเป็นของเรา แต่เป็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับ"

ในความเป็นจริง เราไม่สามารถทำความเข้าใจความคิดของอดัม สมิท อย่างถ่องแท้หากไม่ศึกษางานเขียนหลักของเขาสองเล่มควบคู่กัน เล่มแรก คือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nation (การศึกษาคุณลักษณะและสาเหตุของความมั่งคั่งของชาติ) หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า The Wealth of Nation ส่วนอีกเล่ม คือ The Theory of Moral Sentiments (ทฤษฎีของความรู้สึกทางศีลธรรม)

ขณะที่สมิทมุ่งเน้นถึงบทบาทของประโยชน์ส่วนตัวใน The Wealth of Nation ในฐานะพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในระดับจุลภาค และเขาพยายามฉายภาพให้เห็นกลไกการจัดระเบียบภายใน "ตลาด" ใน The Theory of Moral Sentiments เขากลับพูดถึงด้านที่ตรงกันข้ามของธรรมชาติมนุษย์ นั่นคือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและความรู้สึกร่วมของสังคม สำหรับสมิทแล้ว ประโยชน์ของชาติและปัจเจกบุคคลจะผสานกลมกลืนกัน เมื่อกลไกทั้งสองทำงานทำงานควบคู่กันไป

ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไป ในมโนทัศน์ของอดัม สมิท มนุษย์จึงไม่ได้เป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจที่หิวโหยและบริโภคได้ทุกอย่างแม้กระทั่งซากของเสีย หากแต่มนุษย์คือผู้ที่แสวงหาความสุขและสวัสดิการ ทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะสมาชิกของครอบครัว ของรัฐและของสังคมที่เป็นสุข ดังนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายหากคิดว่า "มือที่มองไม่เห็น" ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำงานของระบบเศรษฐกิจ

เมื่อระบบสังคมเป็นมากกว่าพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประโยชน์ส่วนตัว ยิ่งไปกว่านั้น ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น ความเชื่อมโยงระหว่างการตัดสินใจและกระทำในระดับปัจเจก ชุดของจริยธรรมในระดับสังคมและการทำงานของระบบเศรษฐกิจนั้นเชื่อมโยงและสัมพันธ์ส่งผลต่อกันเป็นโยงใย กระบวนการวางแผนและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ จึงไม่ได้เป็นทางเลือกระหว่างประโยชน์ส่วนตนหรือจริยธรรมในระดับสังคม แต่ต้องคำนึงถึงทั้งสองระดับควบคู่กันไป

การใช้เพียงวิธีคิดแบบกลไกตลาด ที่วางอยู่บนฐานของแนวความคิดเรื่องการแข่งขันหรือประโยชน์ส่วนตัวที่แยกส่วนและบิดเบี้ยวมากำหนดพฤติกรรมทางเศรษฐกิจนั้น กำลังทำให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนจำนวนมากในสังคมไทย และกำลังส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชังและความหวาดกลัว

มือของคนงานเหล่านี้ที่ฝืนทนทำงาน เพื่อให้คุณได้กอบโกยกำไรและได้บริโภคสินค้าราคาถูกต่างหาก ที่คุณน่าจะเหลือบตามองดูบ้าง!

 


..............................
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net