Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ใครหลายอาจจะจดจำบทบาทหนึ่งในละครหลังข่าวที่เป็นสาวใช้จากบ้านนอกที่แสนซื่อและแสนเชยอย่าง แจ๋ว ได้เป็นอย่างดี ตัวละครที่แม้จะมีหน้าที่เพียงสร้างจุดเกาะเกี่ยวบนความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกแสนดีกับพระเอกรูปงาม ฐานะดี ชาติตระกูลสูงส่ง ให้มารักกันในตอนท้าย และทำให้ละครสนุกสนานครื้นเครงมากขึ้น
 
แต่จะมีสักกี่คนที่จะสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของละครหลังข่าวหรือหนังร่วมร่วมสมัย ในฐานะที่เป็นจดหมายเหตุที่คอยจดบันทึกเรื่องราวต่างๆของสังคมในยุคนั้นๆได้ว่า แจ๋วหายไปไหนและใครมาแทนที่เธอ
 
มะขิ่นคือตัวแทนผู้มาไกล เธอข้ามภูเขาสูง เดินฝ่าป่ารกชัฏ ตะลุยข้ามแม่น้ำสาละวินอย่างบากบั่น ก่อนจะข้ามพ้นพรมแดนฝั่งตะวันตกเพื่อมาครอบครองปรปักษ์บนพื้นที่สาธารณะที่เคยเป็นของแจ๋ว ที่กำลังเลือนหายไป จนใครๆ ก็พากันลืมแจ๋วกันหมด
 
การหายไปจากแจ๋วจากบทบาทสาวใช้นั้น ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า คนไทยมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อย สาวๆ จากชนบทก็ไม่ต้องมาคอยทำงานรับใช้ชนชั้นกลางในเมืองกรุงหรือเมืองใหญ่อีกต่อไป หรือนี่อาจใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งในแง่ของการพัฒนาชนบท
 
แต่บรรดา "มะขิ่น" ที่หนีทั้งภัยอดอยากและภัยจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารเข้ามาทำงานเป็นสาวใช้นั้น ไม่ได้ราบรื่นเหมือนกรณีของแจ๋ว เพราะอคติทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์คอยตีตราทางสังคมแก่มะขิ่นอยู่ตลอดว่า เธอเป็นมาจากพม่า ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยยกทัพบุกมาเผาบ้านเผาเมือง
 
ซ้ำร้ายที่ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกหัวต่างพากันเล่นพาดหัวประเด็นอคติที่ฝังรากลึก คอยผลิตซ้ำแทบทุกวันว่า มะขิ่นไว้ใจไม่ได้ มะขิ่นชอบยกเค้านายจ้าง หรือมะขิ่นก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์นายจ้าง นี่คือหลากหลายข้อกล่าวหาที่แจ่วแทบจะไม่ถูกกล่าวหามาก่อน
 
แต่หากจะพูดถึงความเป็นจริงแล้ว มะขิ่น ในบริบทของสังคมไทยอาจจะเป็น สาวไทใหญ่ สาวกะเหรี่ยง สาวคะฉิ่น สาวชิน สาวมอญ หรืออาจจะเป็นสาวพม่าแท้ๆ แต่ทุกชาติพันธุ์ของมะขิ่นก็ถูกสังคมไทยเรียกพวกเธอว่า สาวใช้พม่า แม้อาจจะถูกต้องหากจะพิจารณาถึงประเด็นของรัฐชาติในยุคสมัยใหม่ แต่อย่างน้อยประเด็นดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ว่า คนไทยยังขาดความเข้าใจต่อความหลากหลายทางชาติพันธืของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เพราะชาติพันธุ์ต่างๆที่พูดถึงข้างต้นนั้น ล้วนแล้วแต่มีภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และที่สำคัญทุกชาติพันธุ์ต่างพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองให้โดดเด่นอยู่เสมอมา
 
ตัวอย่างที่น่าจะอธิบายถึงปัญหาการขาดความเข้าใจของสังคมไทยต่อประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนคือ หนังไทยเรื่อง อิเตมิ: อีติ๋มตายแน่ ที่นางเอกของเรื่องเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าหนึ่งที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับของหลากหลายเผ่า แต่ตัวเองเป็นกะเหรี่ยงที่มีพ่อแม่เป็นเผ่าม้ง และมีชื่อว่า มะขิ่น
 
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มะขิ่นเป็นชื่อในภาษาพม่า มะ ใช้เป็นคำนำหน้าเด็กหญิงไปจนถึงผู้หญิงก่อนวัยกลางคนในภาษาพม่า ส่วนคำว่า ขิ่น ในภาษาพม่าหมายถึง ความน่ารักน่าชัง
 
และมะขิ่นหรือสาวผู้น่ารักน่าชังในสังคมไทยคงต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน กว่าที่พวกเธอจะพบความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเหมือนอย่างเช่นเดียวกับแจ๋ว ไม่จะเป็นกรณีที่เธอถูกคนไทยพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละมะขิ่นมากขึ้น และหรือคงจะดีไม่น้อย ถ้าหากว่าบรรดามะขิ่นได้กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดฝั่งตะวันตกด้วยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนอย่างแจ๋ว และเมื่อนั้น คงจะต้องมีตัวละครตัวใหม่ ที่เข้าสู่บทบาทเดิมๆที่ผลิตซ้ำความแตกต่างระหว่างชนชั้น ชาติพันธุ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net