เวียงจันทน์ที่ผันแปร: สายน้ำแห่งความหลัง มนต์ขลังที่ไม่หวนคืน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
            

ภารกิจหลัก

เมื่ออาจารย์นักสังคมศาสตร์ผู้อาวุโสเสนอว่าให้ไปเจอกันที่เวียงจันทน์เพื่อพบกับนักวิจัยลาวหลังจากที่โทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาเรื่องแนวทางการทำงานวิจัยชุมชน จึงไม่ลังเลที่จะเดินทางเพียงลำพัง การไปเวียงจันทน์คราวนี้จึงแตกต่างจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่ไปในฐานะแม่ค้าขายผ้าไหมไนท์บาร์ซ่าและนักท่องเที่ยว คราวก่อนเดินทางด้วยเรือที่ท่าเสด็จ หนองคาย คราวนี้เดินทางผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จึงสะดวกรวดเร็ว จากอุบลฯเวลา 8 โมงตรง ถึงอุดรฯ 3 โมงตรง ถึงสถานีหนองคายราว 4 โมงเย็น เมื่อคนรถตะโกนว่าใครจะข้ามฝั่งให้ลงตรงนี้ จึงต้องลงอย่างงง ๆ มองเห็นรถสามล้อสกายแล็ปรออยู่หลายคัน แม่ค้าสาวคนหนึ่งเร่งให้สามล้อไปส่งเธอที่ด่านพร้อมควักพาสปอร์ตออกมา ท่าทางบอกให้รู้ว่าเธอเดินทางประจำ จึงนั่งรถไปคันเดียวกับเธอในขณะที่รถสกายแล็ปจอดให้เราที่ทำบัตรผ่านทางที่บริษัททัวร์ข้างทางราคา 120 แม่ค้าลาวคนนั้นใจดีให้เบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ เธอชื่อฝ้าย เธอบอกว่าเธอข้ามมาฝั่งไทยเดือนละครั้ง เรานั่งรถมาจากอุดรธานีด้วยกัน สัมภาระ 2 ถุงใหญ่ของเธอบอกให้รู้ว่าเธอเป็นลูกค้าบริษัทสหพัฒน์....

ไปเวียงจันทน์คราวก่อนยังจำรสชาติเฝอได้ดี...จำได้ว่าเป็นเส้นใหญ่ที่นึ่งไม่สุก เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวดิบไม่ประทับใจ อาหารแต่ละมื้อในขณะนั้น ราคาไม่แพง สามคนสามพัน(กีบ) นอนโรงแรมสันติภาพ เป็นห้องสวีท อาคารเก่ายุคฝรั่งเศส มีอ่างอาบน้ำด้วย ราคาเมื่อคิดเป็นเงินไทยไม่กี่ร้อย เราซึ่งเป็นนักศึกษาสามารถจ่ายได้ จำไม่ได้ว่าอยู่ริมโขงหรือเปล่า การเดินทางเข้าไปในประเทศลาวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ห้ามเอากล้องถ่ายรูปเข้าไป แต่กระนั้นเราก็แอบนำเข้าไปทั้งสองครั้ง แต่ไปคราวนี้ไม่มีกล้องอะไรติดตัวไปเลย นักวิจัยที่ทำงานกับคนจน...เป็นอย่างนี้เสมอ

การข้ามไปเวียงจันทน์ครั้งแรก ไปเช้าเย็นกลับ ในยุคที่ผ้าลาว “บูม” ด่านที่ท่าเสด็จ หนองคายนั้นมีผ้าลาวเก่า ๆ สวย ๆ กองอยู่เป็นภูเขา ภาษาเหนือเรียกว่าม่อนดอย ม่อนดอยเล็ก ๆ คือผ้าที่ข้ามมาจากฝั่งลาว กองใหญ่ขนาดนั้นจริงๆ ไม่ใช่ร้านเดียว...มีอยู่หลายร้าน ราคาถูกกว่าไนท์บาร์ซ่าที่เชียงใหม่มากนัก เมื่อไปถึงเชียงใหม่แล้วราคาจะแพงกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว ลูกค้าคือญี่ปุ่นและฝรั่ง ทำเอานักสะสมผ้าสมัครเล่นตาโตเป็นแถบๆ

เพื่อนที่ใช้นามปากกาว่า เสือจร...หนุ่มหนองคาย ศิษย์ก้นหม้อของพี่พจ...พจนา จันทรสันติ (นักเขียนแห่งยุคสมัยที่ปัจจุบันนักศึกษาคงจะไม่รู้จัก) บอกว่า ที่ฝั่งโน้นมีอีกเพียบ เขาเป็นหนุ่มอีสานที่ข้ามไปข้ามมา การข้ามไปเวียงจันทน์สมัยนั้นต้องให้ญาติที่อยู่เวียงจันทน์มาเซ็นต์รับรอง จึงข้ามไปได้ เราสี่คนที่เป็นนักศึกษาข้ามไปเพื่อซื้อผ้ามาขายที่เชียงใหม่ ว่าที่วิศวกรหนุ่ม ว่าที่ปลัดหนุ่มจากรั้วรามฯ และอนาคตอาจารย์สาวสองคน หุ้นส่วนทั้งหมดมีเงินราวสองหมื่น ไม่น้อยสำหรับนักธุรกิจอิมพอร์ตมือใหม่และราคาทองบาทละสามพันสมัยนั้น เราพักค้างคืนที่บ้านเสือจรที่ท่าเสด็จ ก่อนข้ามไปในตอนเช้า (เป็นครั้งแรกที่เขาพาหญิงสาวของเขาไปปรากฏตัวพร้อม ๆ กับการเริ่มต้นของการกีดกันความรักของลูกชายคหบดีย่อยๆ เมืองหนองคายและนักศึกษาสาวน้อยตามคมผมยาวหากค่อนข้างจน) หากหุ้นส่วนธุรกิจและหุ้นส่วนชีวิตไม่เอวังลงเสียก่อน ป่านนี้ใครบางคนคงเป็นเจ้าของร้านแอนตีคที่กำลังฮิตในหมู่ไฮโซกันบ้างหละ ขณะนี้...เสือจรที่ธุดงค์เป็นครูบาตัดขาดทางโลกมุ่งทางธรรม...คนหนึ่งเป็นวิศวกรไฟฟ้า อีกสองคนเป็นครู เวลาของความรักสาวหนุ่มในวันนั้นยังหอมหวานอยู่ในความทรงจำ...วันไหลเรือไฟ...ออกพรรษาที่ริมโขงคืนเดือนเพ็ญ


ดื่มด่ำวัฒนธรรม...ย่ำเท้าก้าวไปในอดีต

เวลาเพียงวันเดียวที่เราตะเวนซื้อผ้าที่ตลาดขายผ้า ละลานตาสำหรับคนรักผ้าอย่างเราๆ ทั้งสี่คน วิศวกรหนุ่มได้ถ่ายรูปกับแม่ค้าขายผ้า ซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจเพราะกล้องถ่ายรูปเมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่เวียงจันทน์นั้นไม่ได้หากันง่าย ๆ เราได้ไปวัดธาตุหลวง วัดพระแก้ว (หากจำไม่ผิด) ระเบียงโบสถ์นั้นสวยติดตามาจนปัจจุบัน รวมทั้งภาพหนุ่มน้อยและสาวน้อยแรกรุ่นที่ระเบียงโบสถ์ ลานกว้างหน้าวัดธาตุหลวงนั้นเป็นลานดิน ภาพใครบางคนยืนเด่นอย่างนักท่องเที่ยว หน้าประตูชัยที่สาวน้อยผมม้าถักเปียเดียวไว้กลางหลังยืนถ่ายรูปคู่กับวิศวกรหนุ่มนั้นเป็นลานดิน มีเด็กหน้าตามอมแมมยืนมองเราถ่ายรูปและติดภาพมาด้วย ป่านนี้เด็กน้อยคนนั้นคงมีลูกเป็นโขลง ระหว่างทางที่เดินในเวียงจันทน์จะพบตำรวจที่มักเรียกหาเงินดอลลาร์จากนักท่องเที่ยว เสียดายที่ไม่ได้นำรูปถ่ายติดตัวไปตามหาแม่ค้าผ้าในตลาด ซึ่งตอนนี้ก็คงมีลูกเป็นโขลงเช่นกัน

การไปครั้งที่สองในปี 2532 ไม่ได้เที่ยวในเวียงจันทน์ แต่เราจ้างแท็กซี่ไปเขื่อนน้ำงึม ยังจำภาพของน้ำงึมที่ได้ว่าใสจนมองเห็นท่อนซุงข้างล่างเรียงราย ท่อนซุงที่เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักข่าวจากเนชั่นสุดสัปดาห์/วิทยากรที่มาอภิปรายเรื่องความสัมพันธ์ไทยเขมร ที่ราชภัฏฯ อุบลฯ บอกเราว่ามาเลเซียกำลังดำน้ำตัดไม้ที่นั่นอยู่ นั่นหมายความว่า มีไม้จำนวนมากที่จมอยู่ใต้เขื่อนในสมัยนั้น หลายๆ เขื่อนคงมีสภาพไม่ต่างกัน หรือการพยายามสร้างเขื่อนก็เช่นกัน เราคิดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นที่หากสร้าง...ชาวบ้านจะเต้นอย่างเสือ...เพราะหวงไม้สักทองผืนสุดท้ายของป่าแม่ยม ไปคราวนี้ไม่ได้มีเวลาไปตามหาโรงแรมสันติภาพที่ขณะนี้คงกลายเป็นโรงแรมหรูห้าดาวไปแล้ว ได้พักที่โรงแรมจันทปัญญาคืนละ 1,400 เศษๆ ก็หรูมาก ทำเอานักวิจัยเพื่อคนจนกระเป๋าฉีก

เนื่องจากว่าการไปคราวนี้ไปทำงาน อารมณ์อยากเที่ยวจึงไม่มี ขณะกำลังข้ามด่าน โทรถามอาจารย์ซึ่งกำลังจะออกจากสนามบินเชียงใหม่ว่าจะให้นอนที่ไหน...เอาซะลูกศิษย์จนไปเลย เพราะเสียดายเงินซื้อผ้าไหม การเดินทางค่อนข้างยุ่งยากกว่าทางเรือ เมื่อทำใบผ่านแดนเสร็จรถสกายแล็ปคันเดิมกลับมารับไปส่งที่ด่านไทย เรียกเก็บเงิน 30 โดยไม่ให้ต่อรอง หากจะเดินก็ไม่ไกลนัก จากตรงนี้นั่งรถไปที่ด่านลาวอีก เสีย 20 บาท หากจำราคาไม่ผิด จากนั้นจึงข้ามสะพานมิตรภาพไทย- ลาว ราวสิบห้าหรือยี่สิบนาทีไปถึงด่านลาว...ตรงนี้ มีรถโดยสาร ซึ่งคราวหน้าจะไม่ยอมจ่ายเงินแพงอีก ความไม่คุ้นเคยกับเส้นทางทำให้เราต้องพึ่งรถแท็กซี่ ราคา 150 บาท เป็นรถฮุนได จำได้ว่าคราวก่อนนั้นต้องนั่งรถแท็กซี่เก่าๆ ฝุ่นคลุ้งกว่าจะถึงเวียงจันทน์ บนถนนลูกลังสีแดงจากชายแดนเข้ากำแพงนครเวียงจันทน์นั้น เหมือนชนบททั่วๆ ไป นานๆ จะเห็นบ้านคน

แต่ปัจจุบัน เต็มไปด้วยบ้าน หากไม่เห็นป้ายโฆษณาภาษาลาว เราอาจจะคิดว่าเป็นต่างจังหวัดในเมืองไทย คนขับบอกว่าตรงนี้เป็นชานเมือง ขณะนั้นห้าโมงเศษๆ ผู้คนกำลังขวักไขว่จอแจ ไม่มีร่องรอยของความล้าสมัยปรากฏแก่สายตาผู้มาเยือน แม้แต่บ้านเรือนก็สมัยใหม่ จนเข้าเขตกำแพงนคร คนขับไม่รู้ว่าโรงแรมจันทปัญญานั้นอยู่ไหน อาจารย์บอกว่าอยู่ข้างศูนย์วัฒนธรรม เพื่อความมั่นใจจึงโทรหานักวิจัยที่จะมาพบตามที่อยู่ที่อาจารย์บอกมา จึงถึงที่พัก...ขณะนี้สัญญาณของดีแทคเริ่มขึ้นหน้าจอว่าค้นหา ก่อนผ่านแดนและผ่านเข้ามาแล้วยังโทรหาพ่อได้อยู่ แต่ตอนนี้ว่างเปล่า

ความจริงคงมีที่พักที่ราคาต่ำกว่านี้รออยู่ เหมือนเชียงใหม่ หรือเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ แต่เพื่อความสะดวกในการนัดคุยงาน จึงตัดสินใจพักโรงแรมที่แพงที่สุดในชีวิต ข้างในเหมือนพอพักดีๆ ทั่วไป ในกรุงเทพฯ ตกแต่งแบบลาวใหม่...ไม่ได้ดื่มด่ำกลิ่นอายของลาวในอดีต หรือลาวยุคอาณานิคมดังโรงแรมสันติภาพ สิบชั่วโมงเต็มจากอุบลราชธานี โดยไม่ได้หยุดพักแม้แต่กินข้าว นอกจากข้าวและไข่ต้มตอนเช้าที่หอแล้ว ยังไม่มีอะไรตกถึงท้อง อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าไปหาอะไรกินริมของ...เฝอร้านคนจีนราคา(ฟังได้ว่า) 12 บาท เอาล่ะ....ก๋วยเตี๋ยวหมูเส้นเล็ก 1 ชาม เมื่ออิ่มจึงจ่ายแบงก์ 50 แม่ค้าทอนมาด้วยเงิน 500 กีบ 2 ใบ แล้วบอกว่าเงินนี้เท่ากับ 2 บาท...โอย...ลืมเช็คราคา นอกจากการไป “ต่างประเทศ” ทางด่าน แม่สาย โรงเกลือ หรือปาดังเบซาร์แล้ว ไม่เคยไป “ต่างประเทศ” ไกลขนาดนี้ งงเล็กน้อยที่รู้ว่าก๋วยเตี๋ยวราคา 48 บาท ค่าครองชีพที่เชียงใหม่ว่าแพงสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ที่นี่แพงกว่า เป็นก๋วยเตี๋ยวถ้วยแรกในชีวิตที่ราคาแพงขนาดนี้ หากแม่มีชีวิตอยู่คงเป็นลม เพราะสมัยสามสิบกว่าปีก่อนแม่ขายก๋วยเตี๋ยวให้นักเรียนชามเล็กละ 50 สตางค์ ใหญ่ 1 บาท พิเศษหกสลึง เมื่ออยู่ชั้น ป.5 ได้สตางค์ไปโรงเรียนวันละ 2 บาทห่อข้าวไปกิน นักเรียนบ้านนอกเดินทางโดยจักรยาน

เมืองท่องเที่ยวและเมืองชายแดน...ขณะเดินริมของ คิดไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องราวการมาลาวครั้งนี้อย่างไร คงต้องพูดภาษาโฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและมีนางแบบทำหน้าตกตะลึงสุด ๆ ว่า เวียงจันทน์เปี๊ยนไป๋ ๆ ๆ .

ตามประสาแม่ค้าผ้าไหม...ในความมืดสลัวของริมของก่อนคืนเพ็ญลอยกระทง แม่ค้าได้ผ้าไหมมาสี่ผืน ดูเหมือนจะกินไหมแทนข้าว..อิ่ม หากเมื่อก่อนจะมีคนมาช่วยเลือก แต่วันนี้ไม่มี..พยายามยามคิดเรื่องเขียน คิดไม่ออก ทุกครั้งที่เป็นเช่นนี้จะนึกถึงคำของนักปรัชญาการเมืองคนหนึ่งที่ว่า The idea comes when it wish, not when I wish. คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็น Nitche รำคาญที่ตัวเองเป็นนักเรียนการเมืองที่รู้เรื้องปรัชญาการเมืองน้อยเต็มที

จากริมของ เดินไปตามร้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะแวะเดินร้านแอนตีค..เหมือนย่านถนนท่าแพ เชียงใหม่ เป็นราคาที่ตั้งไว้สำหรับท่องเที่ยว วันดีคืนดีที่เดินเข้าไปในร้านผ้าไหมเก่า ๆ คนขายมักจะทักด้วยภาษาต่างประเทศก่อนเสมอ เพราะคนไทยไม่ค่อยเดินเข้าไป อย่างน้อยก็เป็นภาษาญี่ปุ่น... อดีตแม่ค้าไนท์บาร์ซ่ารู้ดีว่าราคาที่เรียกนั้นควรจะเท่าไร เรียกกันสูงๆ จนไม่รู้ว่าเท่าไรแน่ เมื่อยี่สิบปีที่แล้วของที่มาจาก “เวียนเทียน” สำหรับฝรั่งนั้นอเมซิ่งไม่น้อยเพราะเขาไม่สามารถเข้าไปในลาวได้ เหมือนที่เพื่อนฝรั่งไม่ข้ามไปแม่สายเพราะต้องเสียเงิน 1,000 ดอลลาร์ .. เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีเรื่องสนุกตอนเป็นแม่ค้าว่า คืนวันที่ 1 มกรา มีฝรั่งมาซื้อกระโปรงม้ง เพื่อนที่มาช่วยกันขายก็บอกราคาไป...ฝรั่งจึงต่อว่าทันทีว่า เมื่อวานไม่ได้บอกราคานี้...เธอก็มีอาการหน้าแตก คิดสักครู่นักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษจึงตอบไปว่า...It is a price of last year....มันเป็นราคาของปีที่แล้ว...รอดตัวไป นี่คือชีวิตนักศึกษาที่ต้องหาเงินเรียนในเมืองท่องเที่ยว

 

งานวัดธาตุหลวง

จากย่านช็อปปิ้ง...ไปงานประจำปีวัดธาตุหลวง ที่เสือจรเคยบอกว่า งานวัดธาตุแม่ค้าต้องเอากระสอบมาใส่ตังค์กีบ เพราะขายได้เป็นหลายแสนกีบ สามล้อสกายแล็ปคิดราคา 80 บาท เราให้แบงก์ 100 ไป แต่ทอนด้วยเงินกีบที่คนขับบอกว่าเท่ากับเงินยี่สิบบาท..ทำเอานักท่องเที่ยวเซ็งไม่น้อย เพราะต้องเสียเวลาคำนวณ

ลานวัดธาตุหลวงในค่ำคืนนี้กับยี่สิบปีก่อนต่างกันไกล พยายามมองว่ามุมไหนนะที่เคยมายืนถ่ายรูป ลานดินกว้างๆ ที่มีแม่ค้าหนุ่มสาวสามสี่คนและเด็กหน้าตามอมแมมยืนดูนักท่องเที่ยวถ่ายรูปอย่างแปลก ๆ บัดนี้ลานกว้างนี้กลายเป็นบล็อกปูพื้น..แน่นอนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่มีแหล่งสัมปทานอยู่ที่แก่งคอย สระบุรี ทั้งหมดเป็นหินที่ถูกระเบิดมาจากเขาหินปูนที่ส่งควันคลุ้งจนทำให้สระบุรีกลายเป็นขยะบุรี คลุ้งเสียจนคนที่นั่นเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ คลุ้งเสียจนอากาศแถว ๆ โรงเรียนอนุบาลทับกวาง อำเภอแก่งคอย มีฝุ่นเล็กๆ ไม่รู้กี่ไมครอน อาจจะเท่ากับขนาดไมครอนของแป้งยี่ห้อดังที่มีปู ไปรยา..เป็นนางแบบโฆษณา จากแก่งคอย...ปูนเดินทางมาไกลถึงที่นี่ จากความเจ็บป่วยของผู้คนเดินทางมาปูทับคลุมอดีตอันเก่าแก่ของอาณาจักรโบราณอันรุ่มรวยอารยะธรรมที่มีอายุ 450 ปี ของเมืองเวียงจันทน์

เสียงจากเครื่องขายเสียงจากลำโพงขนาดต่าง ๆ ระงมเซ็งแซ่ทั่วสารทิศ บูทขายกะทิมะพร้าวชาวเกาะ มีชายฉกรรจ์แต่งตัวเป็นชาวเกาะ(สมุย) ใส่โสร่งเขียวทาแป้งขาววอกเดินประดับบูท...มาจากกรุงเทพฯ ร้านของดัชมิลล์ นมเปรี้ยวรสชาติต่าง ๆ ขณะที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ ราคา 13 บาท ที่นี่ 20 บาท...มาจากกรุงเทพฯ น้ำมันพืชสารพัดชนิด...เสื้อผ้าแฟชั่นจากประตูน้ำ บูทไวตามิลค์ เครื่องดื่มสารพัดชนิด ไมโล โอวัลติน ยาสระผมชนิดต่างๆ บนเวทีบันเทิงมีโลโก้ของทุนข้ามชาติ รวมทั้ง ปตท.ปรากฏโดดเด่น ยกเว้นที่คนไทยเรียกว่า...เขยลาว หรือเบยลาว หรือเบียร์ลาว มีจุดขายซิมการ์ด อาโหล..ขายระบบ 3 G อยู่เป็นจุด ๆ เกลื่อนไปทั่วงาน เหมือนที่มีในบ้านเรา (ยกเว้นระบบ 3 G) เสียงบักอาโหลจากซุ้มต่างๆ ครึกครื้น แม่ค้าหาบเร่ข้างถนนที่ไม่ได้ไปอยู่ในบูท เป็นแม่ค้าเล็กๆ ที่ขายผลไม้ที่นำเข้าจากจีน ราคาพอๆ กับที่เมืองไทย 3 กิโลร้อย คิดว่าจะสื่อสารภาษากันง่ายๆ แต่พอเจอแม่ค้าชาวม้งที่พูดลาวได้นิดหน่อย พูดไทยแทบไม่เข้าใจ ยุ่งเหมือนกัน...เบยลาวราคา 22 บาท รสชาติจืดๆ ไม่อร่อย แต่เกือบเมา พอไม่เย็นแล้วก็ต้องวางกระป๋องทิ้ง ขยะ...มีเกลื่อนเมืองเหมือนเมืองท่องเที่ยวทั่วไป มองเห็นอนาคตภูเขาขยะเหมือนที่เชียงใหม่

เดินไปเรื่อยๆ เจอซุ้มขายของเหมือนงานกาชาดบ้านเรา ขายของที่ระลึกซีเกมส์ครั้งที่ 25 เดือนธันวานี้ นี่เป็นครั้งแรกที่ลาวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ผู้คนในเวียงจันทน์จึงคึกคักกับการเตรียมตัวรับนักท่องเที่ยว คงเหมือนที่คนปักกิ่งจีนต้อนรับโอลิมปิก ไม่ได้หมายความว่าคนลาวทั้งประเทศหรือคนจีนทั้งประเทศ ราคาพวงกุญแจ 52 บาท ในขณะที่ที่ตลาดเช้าราคา 50 บาทราคาเสื้อที่ระลึก 450 ปี 450 บาท หรือ 500 จำไม่ได้

ซุ้มขายผ้าลาวที่พยายามสอดส่ายสายตามองหาเพื่อหาเรื่องเสียตังค์อยู่อีกมุมหนึ่งที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน ริมทางเดินออก แม่ค้าพื้นบ้านจึงสู้แม่ค้าโลภาภิวัตน์จากกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยทำเลที่เหมาะแก่การลงทุนและค้ากำไรก็ถูกทุนใหญ่กว่าจับจองไปเรียบร้อยแล้ว สินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นหน้าขึ้นตาก็เห็นจะมีผ้าชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพสี ส่วนลายนั้นยังพอหาที่มีฝีมือได้บ้าง ที่ร้านขายผ้าในตลาดเช้าจะมีคนเอาผ้ามาส่งตามร้านขาประจำ ทำให้นึกถึงม้งหรือปกากะญอบนดอยที่เอาของมาเร่ขายให้แม่ค้าขาประจำที่ไนท์บาร์ซ่า เป็นราคาที่คนรับซื้อที่ไนท์บาร์ซ่าร์กำหนดราคาได้ว่าจะซื้อเท่าไร กฎเกณฑ์ของทุนทำงานอย่างเที่ยงธรรมราวการเต้นของหัวใจ คือคนกลางกำหนดราคาจากผู้ผลิตและกำหนดราคาจากผู้ซื้อ นี่คือพ่อค้าคนกลางของระบบทุนนิยมที่ครองโลก และกำลังแผ่ซ่านอยู่ในทุกอณูเนื้อของสังคมคอมมิวนิสต์ที่เกลียดทุนนิยมอย่างเข้ากระดูก เสียงแม่ค้าที่เวียงจันทน์สั่งแม่ค้าเคลื่อนที่ว่าให้ทอลายอะไรบ้าง... สินค้าวัฒนธรรมที่เจ้าของไม่เคยได้กำหนดอีกต่อไป เหมือนอาจารย์นิธิ วิเคราะห์ไม้แกะสลักที่หมู่บ้านถวายที่แกะสลักเพื่อตอบสนองตลาดญี่ปุ่นเกาหลี ความฝันที่จะมาเที่ยวท่องร่องรอยของคืนวันเก่า ๆ มลายหายไปสิ้น

อาจารย์คงมาถึงสนามบินแล้ว จึงเดินทางกลับ รู้สึกเหมือนเดินเที่ยวงานภูเขาทองที่จัดขึ้นระหว่างเทศกาลลอยกระทงไม่ผิด ยังคิดไม่ออกว่าจะบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้อย่างไร การเดินทางมาในครั้งนั้นยังไม่มีเครื่องมือทางความคิด มาคราวนี้พกพาเครื่องมือมาเต็มหัวใจ ความรู้สึกขณะนี้ต่างกันกลับตอนตอบรับนัดอาจารย์ หลายวันก่อน ตื่นเต้นที่จะกลับไปเหยียบย่ำร่องรอยที่เคยรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรม กลับไปเพื่อคิดถึงใครบางคนที่ไม่ได้พบกันนาน ใครบางคนที่บอกว่าอยากมาเป็นวิศวกรที่ลาว และเปิดร้านขายผ้าไหม...

 

นักวิจัยไทแดง

ที่ล็อบบี้ของโรงแรม...เตรียมกันว่าพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง นักวิจัยสังคมศาสตร์ตัวเล็ก ๆ ที่กำลังเดินตามรอยเท้าช้างกำลังหนักใจกับภารกิจที่รออยู่ข้างหน้า เรื่องราว และความเปลี่ยนแปลงข้างหน้า นักสังคมศาสตร์จะเขียนถึงอย่างไร คิดไม่ออกจริงๆ

คุณคำมั่น คือนักวิจัยที่อาจารย์มาพบ เขาเป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนโครงการเพื่อขอทุนขนาดเล็กของ RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กำลังให้ทุนวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมืองชายแดน การพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ การทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ อยากให้ทำวิจัยในเชิงเปรียบเทียบไทย-ลาว-เวียดนาม-เขมร ที่อาจารย์มีลูกศิษย์อยู่ทุกประเทศในย่านนี้ ไม่นับในจีน ที่ RCSD น่าจะเป็นศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนาในประเทศแถบลุ่มน้ำโขงได้ดีที่สุดในขณะนี้ ข้อเสนอการทำวิจัยของเขาคงน่าสนใจมากพอที่อาจารย์จะมาพบ

ตื่นเช้า...อาหารเช้าที่ไม่บุฟเฟ่เหมือนบ้านเรา ต้องติ๊กว่าจะกินอะไรบ้าง สาวเสริ์ฟจึงจะยกมาให้ เมนูเป็นภาษาอังกฤษ หาก “ติ๊กผิด” เหมือนคุณพานทองแท้ติ๊กเรื่องภาษีหุ้นละก็ อาจจะอดได้ อิ่มแล้ว...ยังไม่เห็นอาจารย์ลงมา จึงคิดว่าจะไปเดินตลาดเช้า... 8 โมงครึ่งแล้ว อาจารย์บอกว่าอย่าไปไกล เวียงจันทน์ตอนเช้าวุ่นวายไร้ระเบียบราวคนนอนดึก งัวเงียไม่สดใสอย่างที่วาดหวัง ถนนหนทางเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง บางแห่งทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่ที่รองรับการค้าให้ได้มากกว่าเดิม สิ่งที่ถูกทุบคงเป็นรากเหง้าของความเก่าที่ไม่อลังการณ์หรูหรารองรับฝรั่ง ฝรั่งมาดูอะไร มาดูอดีตของตนเอง มาดูความยิ่งใหญ่ของคนปารีเซียง มาเสพความเป็นตะวันออกกระมัง อาจารย์บอกว่าเวียงจันทน์ขณะนี้เหมือนพนมเปญเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่คงหมายถึงการตื่นตัวรองรับทุนโลกาภิวัฒน์กระมัง มีร้านที่เปิดตอนเช้า ลักษณะบอกให้รู้ว่าไม่ใช่สินค้าที่คนพื้นบ้านจะมาซื้อกิน รถไม่ขวักไขว่มากนัก แต่มีไม่น้อย คนขับแท็กซี่เมื่อวานบอกว่ารถโตโยต้าราคาเป็นล้านเพราะโดนบวกภาษี ส่วนใหญ่คนจะใช้ฮุนไดซึ่งถูกกว่าครึ่ง ขนาดอยู่เมืองไทยยังใช้ได้แค่จักรยานญี่ปุ่น...ที่นี่ฮอนด้าหรือยามาฮ่า เป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตไปเสียแล้ว

เราสงสัยว่าคนเวียงจันทน์อยู่ได้อย่างไรในขณะที่ราคาเฝอชามละ 48 บาท อาจารย์เล่าว่าเงินทุนที่เข้ามาในเมืองนี้ เป็นเงิน NGO เงินทุนที่เห็นนั้นเป็นเงินทุนต่างชาติ เศรษฐกิจในกลุ่มของคนต่างชาติรวมทั้งคนไทยจึงต่างจากเศรษฐกิจของคนพื้นเมืองกระมัง นักวิจัยยังคงมองหาประเด็นหรือกรอบความคิดในการทำวิจัยไม่พบ

ราว 9 โมง 22 นาที ชายคนหนึ่งกำลังตรงไปที่เคาน์เตอร์ อาจารย์จึงทักว่า คุณคำมั่นใช่ไหม...อาจารย์เก่งจริงๆ เขาแนะนำตัวเองว่าเป็นนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์สังคม เขาจบปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาจากเยอรมัน คนลาวที่ได้เรียนในต่างประเทศนั้นไม่ธรรมดา ความรู้สึกตรงนี้เปรียบเทียบกับตัวเองที่เป็นนักเรียนโรงเรียนวัด เขานำโครงร่างวิจัยมาให้อาจารย์ดูว่าเขาสนใจการทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง อาจารย์มีนัดตอนสิบโมงอีกที่หนึ่ง NGO คนหนึ่งมารอรับ ปล่อยให้เราคุยกับคุณคำมั่นที่ล็อบบี้ แล้วสั่งไว้ว่า ลองปรึกษากันดูว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร เราโล่งใจที่คุณคำมั่นสนใจทำวิจัยแถบลาวใต้ เพราะการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยร่วมกันระหว่างไทยและลาวจะง่ายกว่า เขาสนใจหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในเซกอง อัตตะปือ ซึ่งเป็นประตูเชื่อมไทย-ลาว-เวียดนาม ปากเซ เช่นการลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจนับแต่ปากเซเปิดตัวสู่โลกภายนอก มีจากรถอุบล-ปากเซ วิ่งพาคนมาเหยียบย่ำเยี่ยมชมความสวยอยู่ทุกวี่วัน เขาสนใจบทบาทของเวียดนาม การทำเหมือง การปลูกยางทองแดง ทอง อลูมิเนียม การปลูกยางพาราซึ่งเป็นการลงทุนโดยจีน การปลูกมันสำปะหลัง

ข้อเสนอของคุณคำมั่นน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ดูผลกระทบของชนเผ่า หญาเหิน ที่เดือดร้อนจากการทำเหมืองหรืออะไรสักอย่าง สิทธิมนุษยชนกับโลกาภิวัตน์ หากนำแนวคิดเรื่องความเป็นชายขอบมาใช้ที่นี่ไม่รู้ว่าจะใช้ได้ง่ายๆ อย่าง “ชาวเขา” หรือ คนจนในเมืองไทยหรือไม่ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ

อย่างในใบสมัครรับทุนของคุณคำมั่นที่เสนอต่อ RCSD เขาระบุไว้ว่าเป็นไทแดง และมีบ้านอยู่ซำเหนือ...เมืองที่มีผ้าทอสวยสุดๆ เมืองหนึ่งเพราะเวลาถามแม่ค้าผ้าว่าผ้าผืนนี้มาจากไหน ก็จะบอกว่ามาจากซำเหนือ (วันนี้ต้องเก็บวิญญาณแม่ค้าผ้าไหมไว้ก่อน) แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่พอจะทำวิจัยร่วมกันได้พอจะเห็นลางๆ เขาสนใจทำวิจัยในจำปาสักที่เขาบอกว่าเป็นเขตสัมปทานของนักลงทุน น่าจะเป็นจีน

อาจารย์กลับมาจากนัดเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงเศษ การจราจรคงไม่ยุ่งยากมากนัก น่าจะดีกว่าเชียงใหม่ ครูใหญ่กูรูของการวิจัยสังคมศาสตร์เริ่มตรวจการบ้าน คุณคำมั่นเสนอเรื่องที่เขาเตรียมมาก่อน ซึ่งมีความสนใจที่กว้างขวาง และสำคัญไปเสียทุกประเด็นในความเห็นของนักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา อาจารย์มีความเห็นว่าทำเรื่องเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เรื่องใหญ่ก็ไม่พ้นโลกาภิวัตน์ เรื่องที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์คือเส้นพรมแดนที่ไร้พรมแดน แรงงาน เงิน ทุน สินค้า ฯลฯ เป็นเรื่องที่ไหลอย่างไร้พรมแดน พรมแดนรัฐชาติที่ถูกสลายด้วยโลกาภิวัตน์นั้น แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีจริงหรือไม่ เขาค้นพบอะไรที่เป็นเงื่อนไขแทนพรมแดนเดิม อาจารย์บอกว่า “ทำ(วิจัยเพื่อ)ให้เห็นความทุกข์ยากของผู้คน” เหตุนี้กระมังลูกศิษย์ของอาจารย์จึงไม่เปลี่ยนชนชั้นเสียที

ดังนั้นประเด็นการทำการทำวิจัยร่วมกันจึงน่าจะอยู่ที่การเคลื่อนย้ายของสินค้า คน บนพรมแดนสองฟากฝั่ง อาจารย์เสนอว่า ลองดูว่าเส้นทางเดินของหวายมาจากไหน ไปไหน ดูสินค้าเป็นชนิด ๆ ท่าทางจะต้องกลับไปเป็นลูกน้องบริษัทกบในกะลากันละคราวนี้

เมื่อสองเดือนก่อนตามนักศึกษา ม.อุบลฯ ไปเก็บข้อมูลที่บริเวณช่องเม็ก ผู้ใหญ่บ้านพาเราไปชายแดน ไปยืนอยู่บนภู ยื่นมือไปฟากหนึ่งแล้วบอกว่า นี่เป็นเขตลาว-ปากเซ ยื่นมือมาอีกฟากหนึ่งแล้วบอกว่านี่เป็นเขตไทย-อุบลฯ ตรงนี้คือสันปันน้ำ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไม่เคยรู้ สันปันน้ำจึงคดไปคดมาตามเทือกเขา หากจะรู้ว่าตรงไหนเขตใครแน่อาจจะต้องมาตอนที่ฝนตกแล้วดูกันให้จะ ๆ ไปว่าน้ำไหลไปทางไหน สันภูนั้นปันน้ำให้ฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นคือเจ้าของดินแดน นี่คือสันปันน้ำของชาวบ้าน  ที่เขตแดนระหว่างช่องเม็ก-ปากเซหรือลาวตอนใต้ตรงนี้ เป็นจุดที่ชาวบ้านสองฝั่งโขงเดินไปมาหาสู่กันโดยไม่ใช้วีซ่า วีซ่าของชาวบ้านจึงอยู่ที่ปลายเท้าที่จะพาไปไกลขนาดไหน หลวงพ่อที่นั่นบอกว่า มันเป็นเส้นสมมติ เพราะไม่สามารถห้ามมิให้พี่น้อง- ผัวเมีย เพื่อนฝูงไปมาหาสู่กันได้...สิ่งเหล่านี้ท้าทายรัฐชาติของนักรัฐศาสตร์สิ้นดี

ดังนั้น ประเด็นที่นักวิจัยไทย-ลาวน่าจะทำร่วมกันได้คือ ความสัมพันธ์ของคนสองฟากฝั่งที่ไม่มีพรมแดน เป็นความสัมพันธ์ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน อย่างน้อยก็เป็นภาษา เมื่อตกลงแนวทางการทำงานร่วมกันในเบื้องต้นแล้ว อาจารย์จึงอยากให้ทั้งสองทำข้อเสนอการวิจัยมาให้ และนัดกันที่อุดรธานี ที่น่าจะสะดวกที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

 

อาหารมื้อเที่ยงที่แพงที่สุด

เรารับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านนางคำบาง เวียงจันทน์คงเป็นบ้านที่สองของอาจารย์ จะว่าไปนักวิจัยอย่างอาจารย์รู้จักไปแทบทุกที่ ทุกที่ไปอย่างคุ้นเคยเหมือนบ้าน เพียงแต่ไม่มีบ้านเล็กบ้านน้อยไว้เท่านั้น เป็นร้านที่ดูมีระดับที่สุดของเวียงจันทน์ มีคนญวนอยู่โต๊ะใหญ่ ท่าทางฐานะดี เราสามารถพบพวกเขาได้ทั่วไป และคนลาวบางคนก็สามารถพูดญวนได้ คงเหมือนคนไทยที่พูดกับคนลาวรู้เรื่องกระมัง

อาหารรสชาติอร่อย หนุ่มใหญ่ชาวไทแดงอย่างคุณคำมั่นถามว่าไม่กินส้มตำหรือ เราจึงสั่งส้มตำปลาร้า รู้ว่าอาจารย์ไม่กินแน่ อาหารที่นี่ส่วนใหญ่เป็นปลาชนิดต่างๆ คนไม่ชอบกินปลาจึงอยู่ยากสักหน่อย จึงสั่งหมูทอดมาด้วย ข้าวเหนียวที่เสริ์ฟเป็นข้าวเหนียวดำหรือข้าวกล่ำ อ่อนนุ่ม น่าจะเป็นข้าวใหม่ คิดถึงแม่ที่ถึงฤดูเวลาข้าวใหม่ออก จะหุงข้าวเหนียว ทอดปลา หากแม่อยู่...ได้แต่คิดว่าหากแม่อยู่...วันนี้จึงตั้งใจว่าสักวันจะต้องพาพ่อมาให้ได้ อย่างน้อยก็มาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยนี่แหละ

มื้อนี้อาจารย์จ่ายไปสองแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันกีบ นักวิจัยน้อยรีบจดลงสมุดทันที หากจำไม่ผิดสมัยนั้นราคาเงินบาทละ 18 กีบ แต่ค่าเงินของไทยและลาวขณะนั้นต่างกัน ตอนนี้โลกทุนนิยมเชื่อมราคาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันไปแล้ว ชะรอยอาจารย์คงจะเบื่อคำบ่นที่บอกว่าจากอุบลฯ-มาเวียงจันทน์ไม่ได้แวะกินข้าวเลย จึงสั่งให้เอาข้าวเหนียวที่เหลือกับหมูทอดใส่ถุงกินระหว่างทาง ส่วนคุณคำมั่นเอาปลาที่เหลือไปให้แมว...อาจารย์ยิ้มอย่างอารมณ์ดี

คุณคำมั่นและอาจารย์มาส่งที่ท่ารถเพื่อกลับท่าเดื่อ เรายังไม่แล้วใจ ขอไปดูผ้าไหมสักหน่อยเถิด จึงเดินตัดถนนไปตามคำบอกของคุณคำมั่น ไปพบห้างที่ทันสมัย หากเป็นบ้านเราก็สยามพารากอนเสียกระมัง แต่สยามที่นี่เท่ากับโบ๊เบ๊ เสื้อผ้าจากจีนบ้าง ไทยบ้าง ที่แบบลาวก็มี เป็นผ้าไหมที่แม่ญิงลาวใส่ ในใจคิดว่า นี่หรือตลาดเช้า...เมื่อมาครั้งก่อน จะมีอาคารหลังหนึ่งเขียนว่าห้างสรรพสินค้าลาว ในห้างนั้นมีผ้าไหมลาวมากมาย เดินวนอยู่สามชั้น ของแพงจนไม่กล้าซื้อ แต่ก็ได้ผ้าพันคอสีหมากสุกมาอีก เดินออกมาหาผลไม้ และหาน้ำกิน ราคาน้ำยี่ห้อหัวเสือ ขวดละ 15 บาท บ้านเราในร้านสะดวกซื้อจะประมาณ 8-10 บาท หากพ่อค้าน้ำดื่มอย่างพ่อมาเห็นต้องตกใจเป็นแน่ ผลไม้จีนปลอกใส่โฟมราคา 20 บาท นักท่องเที่ยวผู้หิวโหยสั่งสามไป 3 กล่องโฟม มะละกอ พลับจีน ส้มโอ จ่ายแบงก์ 1000 แม่ค้าบ่นว่าใหญ่เกินไป วงจรเศรษฐกิจของแม่ค้าหาบเร่ต่างจากวงจรเศรษฐกิจของร้านผ้าไหม ได้ช็อคโกแลตที่หลานชายบอกว่าไม่อร่อยเท่าอันที่มีถั่วข้างใน...ก็อันนั้นมันโรเชอร์นะลูก ลองชิมดูก็ไม่อร่อยจริงๆ แต่รูปทรงของช็อคโกแลตและแพคเกตสวยนั้นพอใช้ได้ ราคานั้นก็กล่องละ 50 บาท ความจริงก็สมราคา ส่วนรสชาดต้องชิมไปบ่นไป จนกว่าจะหมด

ในที่สุดแม่ค้าผลไม้ก็ชี้ช่องทางไปตลาดเช้าในเวลาเกือบเย็น นี่ไง...ร้านที่เคยมาสมัยวันวานยังหวานอยู่ เดินสำรวจอย่างรีบเร่ง ผ้าไหมมากมายหลากหลายชนิดล่อตายั่วใจ ผู้คนซบเซาเพราะใกล้ค่ำ ราวไนท์บาร์ซ่าร์ยามโลซีซั่น และแล้ว...ผ้าผืนสวยก็ปรากฏแก่สายตา และพบตำหนิของผ้าที่คนทั่วไปอาจไม่เห็น คือการจกที่ไม่สวย ปกติผ้าจกนั้นจะสามารถใช้ได้ทั้งสองด้าน จึงต่อรองราคาจนพ่อค้าถามว่าซื้อไปขายหรือ..เขาบอกว่าเขามาขายผ้าต่อจากพี่สาวเมื่อสิบกว่าปีก่อน กำลังจะปิดร้านไปงานแต่งหลานสาวที่ต่างจังหวัด จึงตอบไปว่าเจ้าสาวคงใส่ผ้าสวยนะ...เขายิ้ม ในที่สุดการซื้อขายก็เกิดขึ้นในราคาที่พอๆ กับข้าวร้านนางคำบาง

เมื่อสตางค์พร่องกระเป๋า จึงต้องรีบข้ามฝั่ง คราวนี้นั่งรถท่าเดื่อ การเดินทางไปลาวสิ้นสุดลงภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ทิ้งเวียงจันทน์ในอดีตให้เผชิญกับอนาคตที่เลือกไม่ได้ต่อไป สายน้ำ ความรัก ความหลัง และมนต์ขลังของนครอันเก่าแก่กำลังเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท