Skip to main content
sharethis

 

30 พ.ย.52
ทางการพม่าเริ่มหาเสียงในรัฐชิน
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของพม่าเดินทางหาเสียงในเมืองทิดิม (Tidim) และในเมืองตองซาง (Tawnzang) ในรัฐชิน เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทางการพม่าเรียกร้องให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวสนับสนุนพรรคการเมืองจากฝั่งรัฐบาล และหลีกเลี่ยงการลงคะแนนเสียงให้กับกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและประเทศ
 
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อ การเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้านี้จะปราศจากความยุติธรรมและประชาชนจะไม่มีเสรีภาพ หลายคนเชื่อว่า แม้ชาวบ้านจะไม่เลือกพรรคจากฝั่งรัฐบาล แต่ทางการอาจเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงเป็นสนับสนุนรัฐบาลพม่าแทน (Khonumthung)
 
1 ธ.ค.52
การค้าอินเดีย – พม่า มีแนวโน้มพุ่งสูง 1 พันล้านในปีนี้

มูลค่าการลงทุนระหว่างอินเดียและพม่ามีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้และปีหน้า ขณะที่มูลค่าการค้าและการลงทุนในปี 2551 อยู่ที่ 951 ล้านดอลลาร์ โดยพม่าส่งออกไม้สัก ไม้ ข้าวโพด และเมล็ดพืชไปยังในอินเดียเป็นสินค้าหลัก และนำเข้าเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย และยารักษาโรคจากอินเดีย อย่างไรก็ตาม จีนและอินเดียยังคงเป็นมหาอำนาจคู่ค้าสำคัญของรัฐบาลพม่า โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์การเมืองในพม่าแต่อย่างใด (The Hindu Business Line)

3 ธ.ค.52
นักโทษในพม่าเสี่ยงติดเอดส์สูง

นักโทษในพม่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น หลังพบว่าแพทย์ในโรงพยาบาลในเรือนจำมักใช้เข็มฉีดยาอันเดียวร่วมกับนักโทษหลายคน โดยสมาคมเพื่อนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP รายงานก่อนหน้านี้ว่า มีนักโทษการเมืองจำนวน 10 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในคุก

นอกจากนี้ยังพบว่า เรือนจำยังขาดแคลนแพทย์และยารักษาโรค โดยเรือนจำอินเส่งซึ่งมีจำนวนนักโทษนับหมื่น แต่มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง 100 เตียงเท่านั้น ซึ่งสภาพความเป็นอยู่และสุขอนามัยของนักโทษในเรือนจำพม่าส่วนใหญ่ อยู่ในขั้นเลวร้าย นอกจากนี้ ยังพบว่า เชื้อเอชไอวีแพร่ระบาดมากในหมู่ชายรักชาย หญิงขายบริการ รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ (DVB)
 
4 ธ.ค.52

“แกมบารี” ถูกย้ายไปทำงานในดาร์ฟูร์

นายอิบราฮิม แกมบารี ผู้แทนพิเศษในการแก้ปัญหาพม่า ถูกโยกย้ายไปดูแลในเขตดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่จะถึงนี้ ตามคำสั่งของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านพม่าต่างผิดหวังกับการแก้ไขปัญหาในพม่า ของยูเอ็นและนายอิบราฮิม ที่ล้มเหลว ไม่สามารถนำตัวนายพลอาวุโสตานฉ่วย ผู้ก่ออาชญากรรมต่อประชาชนในพม่ามาลงโทษได้
 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มฝ่ายค้านพม่าคาดหวังว่าผู้แทนพิเศษพม่าคนใหม่จะทำงานอย่างมืออาชีพและเข้าใจสถานการณ์ในพม่าเป็นอย่างดี ทั้งนี้ นายอิบราฮิม แกมบารีขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนนายราซาลี อิสมาอิล อดีตทูตพิเศษยูเอ็นพม่าที่ตัดสินใจลาออกในปี 2547 หลังจากทำงานล้มเหลว (Irrawaddy)
 
7 ธ.ค.52
โจรขโมยทองมูลค่ากว่า 13 ล้านในมัณฑะเลย์

สร้อยข้อมือทองคำจำนวน 300 เส้นและแหวนเพชรอีก 36 วงมูลค่ากว่า 400 ล้านจั๊ต หรือราว 13 ล้านบาทได้หายไปจากร้านทองแห่งหนึ่งในภาคมัณฑะเลย์ มีรายงานว่า โจรรายนี้ได้ลงมืออย่างแนบเนียนโดยไม่ทิ้งร่องรอยหรือหลักฐานไว้เลย ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ปล้นร้านทองในมัณฑะเลย์ครั้งที่สองของปีนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งสืบหาตัวคนร้ายอย่างเร่งด่วน (DVB)
 
8 ธ.ค.52

หวั่นดีเคบีเอร่วมมือทหารพม่าทำผู้ลี้ภัยเพิ่ม

องค์กรไทยแลนด์ เบอร์มา บอร์เดอร์ คอนซอร์เตี้ยม (The Thailand Burma Border Consortium หรือ TBBC) ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย – พม่า ออกมาระบุว่า หากกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธหรือ ดีเคบีเอ ถ่ายโอนอำนาจเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force) ดีเคบีเออาจจะร่วมมือกับทหารพม่าโจมตีกองกำลังเคเอ็นยูตามชายแดนไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องรับภาระผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่จากทางภาคตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยงเพิ่มขึ้นอีกนับพัน

ด้านผลสำรวจของ TBBC เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า มีหมู่บ้านและที่พักพิงชั่วคราวกว่า 3,500 แห่ง ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี รัฐฉาน รัฐมอญ ภาคพะโค และในภาคตะนาวศรี ถูกทางกองทัพพม่ารื้อถอนทำลายและสั่งให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ขณะที่มีชุมชนของชาวบ้านกว่า 120 แห่งในพม่าถูกรื้อถอนทำลายในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2551 ถึงเดือนกรกฎาคมในปีนี้ด้วยเช่นกัน (Irrawaddy)

9 ธ.ค.52
เจ้าหน้าที่พม่าหารือซูจีอีกรอบ

นายอ่องจี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของพม่า ได้เข้าหารือกับนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีรอบใหม่ ซึ่งนับเป็นการหารือกันรอบที่สามนับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ นางซูจีและนายอ่องจีได้หารือกันเป็นเวลากว่า 45 นาที่ แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการหารือแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ นางซูจีได้เขียนจดหมายถึงนายพลอาวุโสตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าว่า เธอพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการผลักดันให้ล้มเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

ขณะที่สื่อท้องถิ่นของรัฐบาลกล่าวหาว่า นางซูจีไม่มีความจริงใจและไม่ซื่อสัตย์ในการร่วมมือกับรัฐบาล และมีความพยายามที่จะทำลายภาพพจน์ของรัฐบาลพม่า (BBC)
 
10 ธ.ค.52
พม่าติด 1 ใน 5 ประเทศที่คุกคามนักข่าวมากที่สุด

คณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองผู้สื่อข่าว ( Committee to Protect Journalists - CPJ) ออกมาเปิดเผยว่า พม่า จีน คิวบา อิหร่าน และประเทศเอริเทรีย เป็นประเทศที่จับกุมและเป็นอันตรายต่ออาชีพนักข่าวมากที่สุดในโลก

CPJ ยังได้มีการพูดถึงช่างภาพชาวพม่าคนหนึ่งที่ทำงานให้กับสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือสำนักข่าวดีวีบี ที่ถูกทางการพม่าสั่งจำคุกเป็นเวลา 15 ปี เนื่องจากถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเด็กกำพร้าในพื้นที่ประสบภัยนาร์กิส

ก่อนหน้านี้ ทางการพม่าสั่งจำคุกบล็อกเกอร์หนุ่มรายหนึ่งเป็นเวลา 12 ปี หลังโพสต์ข้อความล้อเลียนนายพลอาวุโสตานฉ่วยในเว็บบล็อกของเขา (DVB)
 
11 ธ.ค.52
ชาวพม่าสัญชาติอเมริกันอดอาหารประท้วง

นายยียีอ่อง (Nyi Nyi Aung) นักโทษชาวพม่าที่ถือสัญชาติอเมริกันซึ่งถูกจับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ได้อดอาหารประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปรับปรุงความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า จนถึงขณะนี้สุขภาพของนายยียีอ่องทรุดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ทางการยังไม่อนุญาตให้ทูตอเมริกันเข้าพบนายยียีอ่องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายยียีอ่องชายเคยเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมาก่อน ซึ่งเขาเดินทางเข้าพม่าเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของแม่ จนถูกทางการพม่าจับกุมตัว (เอเอฟพี)
 
14 ธ.ค.52
ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดชายแดนจีน – พม่า

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาดอีกรอบในเมืองลุ่ยลี่ของจีน ตรงข้ามกับเมืองหมู่เจ้ รัฐฉานตอนเหนือ โดยได้ระบาดในหมู่นักเรียนชั้นประถมในเมืองลุ่ยลี่จนทางการจีนต้องสั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลา 10 วัน นอกจากนี้สาธารณสุขจีนยังสั่งให้ประชาชนในพื้นที่ระมัดระวังป้องกันตัวเองจากไข้หวัดใหญ่

ในส่วนของโรงพยาบาลในเมืองหมู่เจ้ ฝั่งรัฐฉานเปิดเผยว่า ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในเมืองหมู่เจ้ ขณะที่มีการตรวจเช็คประชาชนที่เดินทางผ่านตรงด่านระหว่างชายแดนจีนและพม่านับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในพม่าจำนวน 64 คน แต่ยังไม่มีรายงานผู้ที่เสียชีวิต แต่อย่างใด (DVB)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net