ย้ำคนงานต้องเน้น "การรวมตัว" ใช้กลไกระหว่างประเทศเสริม

(16 ธ.ค.52) นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวในการสัมมนาเพื่อประเมินผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานของรัฐบาล ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ว่า ขณะที่กลไกในการแก้ปัญหาแรงงานในระดับประเทศตอบสนองได้ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะภาครัฐ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หรือขบวนการแรงงานที่ยังแตกแยก  ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่แรงงาน ที่จะต้องรวมตัวกันให้ได้ก่อน อย่าหวังพึ่งรัฐหรือนายจ้าง ทั้งนี้ อยากให้คนงานตั้งเป้ากดดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ให้ได้ เพราะจะทำให้รัฐต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์กับคนงาน รวมถึงจะทำให้มีกลไกสากลที่มีส่วนในการตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นด่านแรกในการทำให้เข้าถึงกลไกสิทธิอื่นๆ ด้วย

นายศักดินา กล่าวต่อว่า ขณะนี้เศรษฐกิจทั้งโลกเชื่อมโยงกันเป็นโลกาภิวัตน์ ไทยเองก็มีทุนต่างชาติเข้ามา โดยทุนเหล่านั้นมักวิ่งหาที่ที่คนงานอ่อนแอเพื่อที่จะเอาเปรียบ ดังนั้น คนงานจะสู้เพียงลำพังไมได้ ต้องเอากลไกสากลเข้ามาช่วย เป็นเครื่องมือต่อสู้ให้ได้สิทธิ โดยกลไกเหล่านี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กลไกที่สร้างโดยองค์กรเอกชนและกลไกที่สร้างโดยองค์กรรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ

กลไกที่สร้างโดยองค์กรเอกชน ส่วนใหญ่เกิดในยุโรป เนื่องจากผู้บริโภคตื่นตัว ไม่ต้องการบริโภคสินค้าที่เอาเปรียบ ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือละเมิดสิทธิแรงงาน โดยจะมีสลากติดกำกับไว้ที่สินค้า กรณีนี้ ถ้าคนงานรู้ว่า บริษัทที่ตนเองผลิตสินค้าให้ มีจรรยาบรรณการค้าแบบใด  ก็จะสามารถนำไปอ้างอิงได้ 

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ ซึ่งคล้ายกับข้อตกลงระหว่างคนงานกับนายจ้างในโรงงาน แต่เป็นระดับระหว่างประเทศ นั่นคือไม่ว่าผลิตที่ไหนในโลกก็ต้องเคารพในหลักการเดียวกัน ถ้าพบว่ามีการละเมิด ก็สามารถฟ้องร้องไปที่บริษัทใหญ่ ให้ลงมาตรวจสอบได้

ส่วนกลไกที่สร้างโดยองค์กรรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญา ILO, มาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติ (UN Global Compact), แนวปฎิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines for MNEs) ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะให้การรับรองอนุสัญญา ILO เพียง 14 ฉบับ แต่คนงานก็สามารถร้องเรียนในเนื้อหาของฉบับที่ยังไม่ได้ให้การรับรองได้ ซึ่งเมื่อร้องเรียนไปแล้ว จะเป็นการบีบให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลต้องไปตอบคำถามแก่ ILO ด้วย 

นายศักดินา กล่าวเสริมว่า ขบวนการแรงงานในประเทศไทยยังไม่ค่อยเข้มแข็ง จึงต้องใช้เครืองมือที่มีอย่างหลากหลาย เพื่อให้คนงานได้ประโยชน์สูงสุด โดยกลไกเหล่านี้จะสามารถคุ้มครองคนงานที่อยู่นอกร่มเงาของการคุ้มครองตามระบบปกติด้วย นอกจากนี้ คนงานจะต้องทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานด้านนโยบายระดับชาติ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เพราะหากเคลื่อนไหวสำเร็จ จะมีผลต่อคนมหาศาล วันนี้ที่เรียกร้องแล้วไม่ได้ผล เกิดจากทั้งองค์กรที่รับผิดชอบและตัวคนงานเอง ดังนั้นคนงานจะต้องทำตัวเองให้เข้มแข็ง จึงจะสามารถฝ่าข้ามไปได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท