เบี้ยความพิการ : ความยั่งยืนของคนพิการไทย?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
กรอบคิดและนโยบายต่อคนพิการของรัฐไทยเป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องหลังการให้ความสนใจต่อคนพิการอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 2480 จนถึงปัจจุบัน ในอดีตความคิดของสังคมและรัฐไทยต่อคนพิการดูเหมือนจะเน้นหนักไปในด้านสังคมสงเคราะห์ ผ่านการจัดพื้นที่เฉพาะต่างๆ ให้กับคนพิการ อาทิ สถานสงเคราะห์คนพิการและโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เป็นต้น ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นการมองคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการดูแลพิเศษแตกต่างกับคนปกติในสังคม อย่างไรก็ดีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 ถึงต้นทศวรรษที่ 2530 นโยบายและกรอบคิดของรัฐไทยก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษาที่เริ่มมีการนำแนวคิดการจัดการเรียนร่วมระหว่างคนพิการกับคนปกติมาใช้ ด้านการประกอบอาชีพที่มีการสนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและการทำงานของคนพิการร่วมกับคนปกติมากขึ้น และด้านการดูแลฟื้นฟูคนพิการที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหลายนี้ได้สะท้อนให้เห็นกรอบการมองคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองและสามารถดำรงชีวิตอิสระได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม
 
นอกจากนี้ความเท่าเทียมทางสังคมและการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการยังเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ในปี พ.ศ. 2537 รวมถึงการบรรจุประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ.2550
 
กระนั้นก็ดีเมื่อไม่นานมานี้มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนแปลกใจอย่างมากกับนโยบายต่อคนพิการของรัฐไทย นั่นก็คือ การประกาศโครงการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยโครงการนี้จะดำเนินการสำรวจ จดทะเบียนและทำบัตรประจำตัวให้กับคนพิการทั่วประเทศ รวมถึงจะทำการจ่ายเบี้ยความพิการให้กับผู้ที่มีในทะเบียนคนพิการ ในอัตราเดือนละ 500 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2553 นโยบายการจดทะเบียนคนพิการและจ่ายเบี้ยความพิการดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ดำเนินตามกรอบ ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่นำมาใช้แทน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534
 
ความแปลกใจของผู้เขียนอยู่ที่ว่าความคิดและการดำเนินนโยบายของรัฐไทยต่อคนพิการที่ดูเหมือนจะมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนจากกรอบคิดแบบสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้ให้แต่เพียงอย่างเดียว มาสู่การเน้นให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการที่รัฐเป็นผู้คอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ แต่กลับต้องมากลับสู่กรอบเดิมแบบสวัสดิการอีกครั้งจากการจ่ายเบี้ยความพิการ
 
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าการจ่ายเบี้ยความพิการเป็นนโยบายที่สะท้อนให้เห็น “ความหวังดี” และ “ความสนใจ” ของรัฐบาลต่อคนพิการ หากแต่ในอีกมุมหนึ่งการจ่ายเบี้ยดังกล่าวก็ได้สะท้อนนัยทางสังคมในการมองคนพิการว่าเป็นกลุ่มคน “พิเศษ” ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยลำพังและมีความแตกต่างกับคนทั่วไปในสังคม
 
นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตและข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐและวิธีดำเนินการจ่ายเบี้ยความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นในสามประเด็นหลักด้วยกัน คือ
 
ประการแรก ปัจจุบันจำนวนคนพิการที่จดทะเบียนมีประมาณ 8 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของคนพิการทั่วประเทศที่มีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตคนพิการทั้งหมดจะได้รับการจดทะเบียน ในแง่นี้รัฐไทยจะต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 1 พันล้านบาท หรือปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาทในการจ่ายเบี้ยความพิการ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของคนพิการ ในความคิดเห็นของผู้เขียนคิดว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำมาสนับสนุนทางสังคมให้กับคนพิการด้านอื่นๆ ที่ให้ความยั่งยืนมากกว่าการจ่ายเบี้ยความพิการสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นงบสนับสนุนในการปรับปรุงการคมนาคม อาคารสถานสาธารณะสำหรับคนพิการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพของคนพิการ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะสิ่งเหล่านี้แม้จะถูกบรรจุใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 หากแต่ในปัจจุบันก็ยังมิได้มีการนำมาใช้อย่างจริงจังและทั่วถึง คนพิการจำนวนมากที่พยายามดำรงชีวิตอิสระต้องประสบปัญหาอุปสรรคมากมายจากการละเลยที่จะปรับปรุงการคมนาคมและอาคารสาธารณะ เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพที่คนพิการอีกจำนวนมากมีความต้องการการฝึกฝนอาชีพเพื่อที่พวกเขาจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอย่างอิสระได้ ในทางเดียวกันเงินจำนวนดังกล่าวแม้จะมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ หากแต่ในอนาคตหากมีวิกฤติทางการเงินเงินจำนวนนี้ก็อาจเป็นภาระและปัญหาสำหรับรัฐได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากรัฐตัดภาระโดยการงดการจ่ายเบี้ยความพิการ ในมุมหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่คนพิการหรือครอบครัวคนพิการที่พึ่งพิงเงินจำนวนนี้เป็นหลัก โดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านอื่นๆ อาจประสบปัญหาตามมาภายหลัง
 
ประการที่สอง ปัญหาหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินงานดังกล่าวก็คือการรับรอง “ความพิการ” ด้วยเครื่องมือและแบบประเมินทางการแพทย์ ซึ่งอาจมิได้เป็นปัญหาสำหรับกรณีของคนพิการทางกายที่ค่อนข้างแสดงความพิการให้เห็นอย่างชัดเจน หากแต่อาจจะเป็นปัญหาในกรณีของคนพิการทางสติปัญญาที่ยังไม่มีแบบประเมินหรือวิธีการคัดแยกที่ชัดเจน โดยเฉพาะคนพิการทางสติปัญญาในประเภทเกี่ยวกับการเรียนรู้ (Learning Disabilities - LD) และออสทิสติก ที่แทบจะมีพฤติกรรมเหมือนกับคนทั่วไปในสังคม นอกจากความซับซ้อนของการคัดกรองแล้ว ความซ้ำซ้อนในการจ่ายเบี้ยของกลุ่มคนต่างๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนนักในกรณีคนพิการสูงอายุที่ได้รับเบี้ยสูงอายุอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการจ่ายเบี้ยความพิการเพิ่มเติม จะเป็นการเบิกจ่ายที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่? และหากเมื่อรัฐเลือกที่จะจ่ายเบี้ยประเภทเดียวให้กับคนกลุ่มนี้ ปัญหาที่จะตามมาก็คือในมุมมองของคนพิการสูงอายุจะเป็นการเสียสิทธิในการรับเบี้ยที่จะได้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่?
 
ประการที่สาม ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งมีการจ่ายเบี้ยในลักษณะที่คล้ายคลึงกันให้กับคนพิการในพื้นที่อยู่แล้ว การจ่ายเบี้ยความพิการของรัฐที่เพิ่มเข้าไปจะเป็นการทับซ้อนกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่? และจะมีการจัดการอย่างไร? นอกจากนี้จากบทเรียนปัจจุบันที่องค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งไม่ยอมจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุตรงเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมส่วนอื่นก่อน ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเบี้ยความพิการด้วยหรือไม่? รัฐส่วนกลางหรือชุมชนควรจะต้องมีการจัดระบบตรวจสอบที่รัดกุมจากบทเรียนที่ผ่านมาหรือไม่? อย่างไร?
 
จากที่กล่าวมา คือ ข้อกังวลและช้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายจ่ายเบี้ยความพิการของผู้เขียนในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับความแปลกใจ แปลกใจตรงที่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความพยายามหลักประการหนึ่งของประเทศไทย คือ การลดขนาดและภาระของระบบราชการและรัฐบาลกลางทั้งด้านการเงินและการบริหาร แต่นโยบายที่ออกมาในช่วงหลังกลับสะท้อนให้เห็นการอุดหนุน และเพิ่มภาระทางการเงิน (ในโครงการที่ดูไม่ยั่งยืนนัก) ของรัฐต่อประชากรกลุ่มต่างๆ ซึ่งในครั้งหนึ่งรัฐไทยมีแนวคิดในการเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถยืนหยัดและดำรงชีวิตอิสระได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนพิการถือได้ว่าเป็นกรณีที่สำคัญอันหนึ่ง นี่ดูจะเป็นความขัดแย้งในตัวเองของประเทศไทยเช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น
 
 
 
*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "มุมมองบ้านสามย่าน" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท