Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล TLC เผยผลรายงานวิเคราะห์สถานการณ์เบื้องต้นแรงงานข้ามชาติฯ พบสัญญาณอันตรายเมื่อแรงงานข้ามชาติถูกนำมาผูกกับประเด็นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา กรณีห้ามแรงงานข้ามชาติร่วมม็อบเสื้อแดง ซึ่งอาจจะลามถึงการตีกรอบเรื่องสิทธิการเคลื่อนไหวของแรงงานข้ามชาติในอนาคต

 
18 ธ.ค. 52 - ฝ่ายงานกิจกรรมแรงงานข้ามชาติ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign : TLC) เปิดเผยถึงส่วนหนึ่งของรายงาน “วิเคราะห์สถานการเบื้องต้น เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์การทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ซึ่งเป็นการรวบรวมเอกสาร, มอนิเตอร์สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ รวมถึงสัมภาษณ์คนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย และประชาชนทั่วไป ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวางยุทธศาสตร์ในการทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ
 
โดยประเด็นที่หน้าสนใจประเด็นหนึ่งในรายงานฉบับนี้ คือประเด็นที่แรงงานข้ามชาติเริ่มถูกนำมาผูกประเด็นการเมือง โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากรัฐที่นำประเด็นความขัดแย้งไทยกัมพูชา ประเด็นการชุมนุมของคนเสื้อแดง มาเป็นเหตุผลในการปราบปรามและตีกรอบเสรีภาพของแรงงานข้ามชาติ
 
โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน (2552) ที่ผ่านมา ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับกัมพูชามีการขัดแย้งกัน ซึ่งเนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับ ฝ่ายกลุ่มการเมืองเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย รวมถึงการนำประเด็นที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชาที่มีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายหลัง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานกัมพูชา ทั้งการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย การโหมประโคมด้านสื่อถึงการให้ร้ายและผลักดันแรงงานกัมพูชาออกไป
 
.. กรณีความขัดแย้งกับรัฐบาลกัมพูชา ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาลประชาธิปัตย์ ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงภาคธุรกิจบางส่วน ได้สนองตอบนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง (……) โดยภายหลังไทยสั่งถอนทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศ กองทัพก็ได้ตรึงกำลังทหารชายแดนไทย-กัมพูชา และก็มีการสั่งการคุมเข้มแรงงานกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน โดยให้เหตุผลว่าแรงงานกัมพูชาอาจก่อเหตุรุนแรง ส่วนที่เชียงใหม่ตำรวจก็มีการกวาดจับขอทานกัมพูชาเพื่อส่งกลับประเทศ รวมถึงการออกมาให้ข่าวของ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น. 1 ที่ระบุว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เป็นช่วงมีงานมหกรรมต่าง ๆ เช่น งานออกร้านเพื่อนพึ่ง (ภา) งานศิลปาชีพ และงานวันพ่อ โดยที่ผ่านมามักจะมีกลุ่มคนต่างด้าวโดยเฉพาะชาวเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา มาก่อเหตุล้วงกระเป๋า ชิงทรัพย์ และลักทรัพย์ เพื่อป้องกันเหตุ จึงระดมกวาดล้าง และทำประวัติการต้องโทษ ตรวจสอบว่า ช่องทางการเข้าเมืองถูกต้องหรือไม่ จากนั้นก็ส่งตัวให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินคดีต่อไป (……) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการปลุกระดมจากหน่วยงานความมั่นคง สื่อของรัฐ สื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ช่วยกันสร้างภาพให้แรงงานจากกัมพูชาเลวร้ายมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นได้ชัดว่าเป็นการนำเอาแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชามาเป็นเหยื่อของเกมการเมือง ..”

ที่มา: จากส่วนหนึ่งจากรายงาน
 
ประเด็นนี้ได้สืบเนื่องต่อมาถึงการปลุกระดมของฝ่ายรัฐที่ว่ากลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ว่านำแรงงานข้ามชาติมาร่วมชุมนุมกดดันรัฐบาลด้วย ซึ่งทำให้องค์กรแรงงานข้ามชาติต้องออกแถลงการณ์ให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์การเมืองไทย
 
.. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้ระบุว่ามีรายงานว่าจะมีการนำคนกลุ่มอื่นมาร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดง ตนได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ ตนขอร้องว่าผู้ที่จัดการชุมนุมให้ระมัดระวัง อย่าปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่คนไทยมาร่วมชุมนุม เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องและไม่สามารควบคุมได้ อาจเข้ามาสร้างปัญหาโดยตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบุคคลที่จะเข้ามาชุมนุมให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น ตนขอฝากไปถึงกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่คนไทยและจะเข้ามาชุมนุมว่า การชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะประชาชนคนไทยเท่านั้น ที่จะแสดงการชุมนุมหรือประท้วงโดยสันติวิธีและสงบ แต่ถ้ามีคนต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องต้องถือว่าทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตนติดตามข่าวอยู่ตลอด ถ้าตรวจสอบแล้วพบก็จะสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาร่วมชุมนุม เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาปั่นป่วน ส่วนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้น ผู้ประกอบการต้องควบคุมและตักเตือนไม่ให้เข้ามาชุมนุมหากปล่อยปละและมี ลูกจ้างมาร่วมชุมนุมก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย เพราะถือว่าการชุมนุมไม่ใช่หน้าที่ของคนเหล่านั้น การให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของนายสุเทพในครั้งนี้ได้สร้างผลกระเทือนต่อสังคมโดนรวมและมีปฏิบัติการจากหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน รับลูกต่อการนำแรงงานข้ามชาติมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล (……)   ทั้งนี้ทำให้องค์กรแรงงานข้ามชาติต้องออกแถลงการณ์ให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์การเมืองไทย .. ”
ที่มา: จากส่วนหนึ่งจากรายงาน
 
 
ทั้งนี้ในรายงานระบุว่าจากกรณีที่ได้กล่าวไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติทำงานยากยิ่งขึ้น หากจะมีการเคลื่อนไหว ผลักดัน การออกนโยบายต่างๆ ของรัฐเพื่อความเป็นธรรมแก่แรงงานข้ามชาติในอนาคต ซึ่งการเดินขบวน การรวมกลุ่มเรียกร้องในปัจจุบันนี้ก็ถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างอยู่แล้ว อาจจะถูกกำจัดสิทธิ์มากขึ้นไปมากกว่าเดิมอีก หากฝ่ายรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นฝั่งใดได้ขึ้นมามีอำนาจในอนาคต แล้วนำประเด็นแรงงานข้ามชาติมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่นรัฐบาลปัจจุบันที่ได้สร้างบรรทัดฐานเอาไว้
 
อนึ่งรายงาน “วิเคราะห์สถานการเบื้องต้น เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์การทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ฉบับเต็ม จะเผยแพร่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net