Skip to main content
sharethis

วานนี้ (17 ธ.ค.2552) เวลาประมาณ 15.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีการแพร่กระจายของรังสีโคบอลท์-60 เมื่อปี 2543 พร้อมทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฏีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีคดีหมายเลขแดงที่ 1269/2547 ระหว่างนางสาวจิตราภรณ์  เจียรอุดมทรัพย์ กับพวกรวม 12 คน เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน จำเลย เรื่องละเมิดเรียกให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีจากแท่งโคบอลท์-60 เนื่องจากการทำละเมิดของจำเลยในฐานะเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 แต่ขาดความระมัดระวังในการใช้และจัดเก็บ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ได้รับสัมผัส

จากที่ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2552 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งบริษัทเจ้าของและผู้ให้สถานที่ จัดเก็บโดยให้ผู้บริหารทั้ง 2 บริษัท รับผิดเป็นการส่วนตัว และให้พวกจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเป็นจำนวน 12,676,942 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4 (ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 111,000 บาทให้โจทก์ที่ 4) ส่วนโจทก์อื่นๆ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 529,276 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 2-5 ไม่ต้องร่วมรับผิด

การยื่นฏีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ เนื่องจากโจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในบางประเด็น และมีหลายประเด็นที่เป็นสาระสำคัญอันควรได้รับการวินิจฉัย ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ต่อตัวโจทก์ แต่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตร่างกายของประชาชนในสังคมด้วย

โดยประเด็นสำคัญในฎีกาโดยสรุปคือ จำเลยที่ 2-4 ควรต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย และในส่วนค่าเสียหายที่ควรให้การชดเชยการขาดความสามารถในการประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต การกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เต็มตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ นอกจากนี้โจทย์ควรมีสิทธิ์เรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่หน่วยงานรัฐออกให้จากจำเลย เพราะการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นสวัสดิการที่รัฐให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ ไม่ใช่รัฐเข้ามาช่วยเหลือในฐานะตัวแทนของจำเลย เพื่อให้เป็นไปตามตามเจตนารมณ์ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนและหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

อนึ่ง เหตุการณ์การแพร่กระจายของรังสีโคบอลท์-60 เมื่อปี 2543 ที่บริเวณร้านรับซื้อของเก่าในซอยวัดมหาวงศ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีสาเหตุเนื่องจากการครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 โดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งชาติ (พปส.) ตามกฎหมาย และยังกระทำประมาทเลินเล่อไม่จัดเก็บเครื่องฉายดังกล่าวให้ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติฯ กำหนด โดยนำเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 ทิ้งไว้ในโรงรถเก่าของบริษัทกมลสุโกศล ตั้งอยู่ย่านพระโขนง ส่งผลให้มีคนภายนอกนำเอาชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสี คือ แท่งตะกั่วบรรจุสารโคบอลท์ ไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ก่อนมีการตัดแยกแท่งตะกั่วทำให้กัมมันตรังสีแพร่ออกมาในปริมาณสูงเป็นอันตรายแก่บุคคลที่ทำงานและพักอาศัยในร้านรับซื้อของเก่า และผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงซึ่งคือโจทก์ในคดีนี้

ทั้งนี้ ดคีดังกล่าวมี น.ส.จิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์, ด.ญ.ศศิกาญจน์ ทรงศรีพิพัฒน์, นางถวิล แซ่เจี่ย, นายเสถียร พันธุขันธ์ บิดานายนิพนธ์ พันธุขันธ์, นางนงค์ พันธุขันธ์ มารดานายนิพนธ์, น.ส.สุรีย์น้อย อยู่เจริญ, น.ส.จันทร์ทิพย์ เพชรรัตน์, น.ส.สมใจ แก้วประดับ, นายจิตร์เสน จันทร์สาขา, นายสนธยา สระประทุม, นายบุญถึง ศิลา และน.ส.พัฒนา ธรรมนิยม เป็นโจทก์ที่ 1-12 ตามลำดับ ยื่นฟ้องบริษัทกมลสุโกศล อิเลค ทริค จำกัด, บริษัท กมลสุโกศล จำกัด, นางกมลา สุโกศล กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ, น.ส.เลียบ เธียรประสิทธิ์ กรรมการบริษัทฯ และนายเชวง สุวรรณรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายเครื่องมือแพทย์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net