เครือข่ายเพื่อนนักพัฒนารุ่นใหม่อีสานออกแถลงการณ์ผ่าทางตันเอ็นจีโออีสาน

 18 ธ.ค. 52 -เครือข่ายเพื่อนนักพัฒนารุ่นใหม่อีสานออกแถลงการณ์ “การผ่าทางตันความขัดแย้งทางสามแพร่งเอ็นจีโออีสาน ด้วยวิธีการเจรจาและสร้างการยอมรับจากทุกภาคส่วน” จากกรณีเรื่องการเมืองเรื่องทุนสนับสนุน ขององค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในกรณีของโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 

 
แถลงการณ์ฉบับที่ 1
การผ่าทางตันความขัดแย้งทางสามแพร่งเอ็นจีโออีสาน
ด้วยวิธีการเจรจาและสร้างการยอมรับจากทุกภาคส่วน
 
การเมืองเรื่องทุนสนับสนุน ขององค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในกรณีของโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาทันที เมื่อกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) และภาคี/เครือข่าย (17 โครงการ)ได้ทำหนังสือ ขอให้มีการทบทวนกระบวนการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะกระบวนการพิจารณาไม่ได้รับความเห็นชอบจากหลายฝายหากมองโลกในแง่ดี การทำหนังสือและเผยแพร่ต่อสาธารณะชนดังกล่าว ได้ท้าทายต่อการหาคุณภาพใหม่ในการจัดการปัญหาและผ่าทางตันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง
 
ปมประเด็นแห่งความขัดแย้งเรื่อง ทุนสนับสนุน จากพอช.ได้สั่นสะเทือนวงการภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในภาคอีสานเป็นอย่างยิ่งความขัดแย้งดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการต่อสู้ขับเคี่ยว กันอย่างเข้มข้นยังมีวาทกรรมคำพูดที่ร้อนแรงแฝงด้วยอารมณ์แห่งความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งล่อแหลมต่อการเป็นศึกสายเลือดระหว่างพี่น้องนักพัฒนาองค์กรเอกชนด้วยกันเอง อันเป็นผลสะท้อนจากภาพแห่งความขัดแย้งในอดีตที่ไม่เคยถูกคลี่ปมหรือถูกอธิบายให้เห็นถึงความเป็นธรรม ในกระบวนการพิจารณาโครงการที่ทุกฝ่ายยอมรับหรือแม้กระทั่งมีคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้พิจารณาโครงการ ความขัดแย้งนี้เป็นรอบปริร้าวของระบบการจัดการทุนสนับสนุนที่มีปัญหา ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในภาคอีสานเท่านั้นหากแต่ความขัดแย้งยังมีลักษณะกระจายตัวไปในทุกภาคของประเทศไทย ความขัดแย้งก็สลับซับซ้อนมากขึ้นแต่ที่ดูจะหนักหน่วงและกำลังกลายเป็นความขัดแย้งระดับตำนาน คือภาคอีสานโดยมีประเด็นที่น่าใจในการพิจารณาซึ่งพบว่าการไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาโครงการของ กสส.และภาคี/เครือข่ายในครั้งนี้ เพราะ กสส.และภาคี/เครือข่ายมี 5 ประเด็นคำถามหลัก ที่มีต่อ พอช.และ กลไก PRCภายใต้ กป.อพช.อีสาน ว่า
 
1.เพราะเหตุไดตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพิจารณาโครงการ จึงอยู่ในกลไก PRC ที่มี กป.อพช.อีสาน กุมสภาพอยู่เพียงฝ่ายเดียวโดยละเลยหลักการ มีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่นอกวงหรือไม่ใช่คนวงใน ของ กป.อพช.อีสาน?
 
2.กรรมการผู้ที่พิจารณามีแต่คนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการพิจารณา ด้วยหรือไม่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคณะกรรมการชุดอื่นในการพิจารณาบ้าง ?
 
3.ผู้ที่ได้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ภาคประชาสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะอะไร มีหลักเกณฑ์อะไร ทำไมที่อื่นไม่ได้บ้าง ?
 
4.โครงการของหน่วยงานที่ไม่เคยได้รับการพิจารณาจาก กลไก PRC ทั้งหลาย หรือโครงการที่ตกหล่นจากการพิจารณา ล้วนแต่มีคำถามที่อัดอั้นอยู่ข้างใน โดยที่กลไก PRC ไม่ได้ใส่ในการตอบคำถามนั้นอย่างจริงจังไม่ได้มีเหตุผลในเชิงตรรกะที่เที่ยงธรรมในการอธิบายคำอธิบายเชิงประจักษ์และน่าตลกขบขัน คือ “เราขอเช็คหน้าตักของคุณก่อน” ซึ่งไม่ใช่หลักการพิจารณาที่เป็นสากลเพราะล่อแหลมต่อการเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งหลักการนี้ก็เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หลักการนี้จึงสร้างปัญหาเพราะทำให้เกิดเป็นคำถามภายในตัวของมันเอง
 
5.บรรยากาศที่ กสส.และภาคี/เครือข่าย ตั้งคำถามและมีความกังขาอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่คำถามยังไม่ถูกอธิบายให้กระจ่างชัด คือเรายังไม่เข้าใจ แต่กระบวนการจัดการกับผู้ท้าทายต่อกลไก PRC ของ กป.อพช.อีสาน รายบุคคลก็เริ่มต้นขึ้นคนที่ตั้งคำถามถูกหมายหัวและขีดเส้นแดง ว่าเป็น กป.อพช.อีสานพันธุ์แท้พันธุ์ทาง หรือไม่เป็นพร้อมกันนั้น กป.อพช.อีสาน ยังได้จัดวางกฏเกณฑ์ใหม่ขึ้น ให้เกิดมี คนวงในและคนวงนอกขึ้น แบ่งเขาแบ่งเราจนเกิดบรรยากาศตึงเครียดอย่างยิ่ง การสร้างวัฒนธรรมลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดลักษณะผู้เชื่อฟังและไม่โต้แย้งจึงอยู่ในบู๊ลิ้มหรือไต้หล้าได้ผู้ที่มีคำถาม (แม้จะเป็นคำถามเชิงหลักการ)ก็จะถูกผลักใสให้เป็นคนนอกบู๊ลิ้มหรือ คนนอกด่าน และถูกจัดการในที่สุดการทำให้เกิดการแบ่งแยกเช่นนี้ไม่ต่างจากการทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมความเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง ความเป็นเขา ความเป็นเราหรืออาจจะเรียกว่าความอับจนทางปัญญา ถอยหลังเข้าคลอง ก็ว่าได้ซึ่งไม่น่าจะเกิดในวงการพัฒนาที่สะสมบทเรียนประสบการณ์การจัดการความขัดแย้งมานานร่วม 30 ปี
 
กระบวนการที่ทำให้เราแก้ไขปัญหาได้คือ การตั้งสติทบทวนตนเองหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ สมานฉันท์เท่าทันอารมณ์ทั้งในส่วนของกลไก PRC ของ กป.อพช.อีสาน กสส.และภาคีเครือข่ายแล้วเอาบทเรียนความขัดแย้งนี้ มาชี้นำการพัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลให้เป็นที่ยอมรับ กติกาของทุกฝ่าย หรือ ถ้าหากยังยอมรับในกระบวนการพิจารณาในแบบเดียวกันไม่ได้เครือข่ายเพื่อนนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เขียนโครงการของบประชาสังคมในครั้งนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้เกี่ยวข้องและ ผู้มีอำนาจใน พอช. ถึงประเด็นการผ่าทางตันแห่งความขัดแย้งครั้งนี้ ด้วยวิธีการกระจายความขัดแย้ง ดังนี้
 
1.กลไกการพิจารณา โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนภาคประชาสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องมีหลายช่องทาง มีหลายทางเลือก ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลไก PRC ของกป.อพช.อีสาน
 
2.กลไกคณะกรรมการทุกชุดต้องประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย เป็นที่ยอมรับหลักเกณฑ์
 ต้องถูกวางให้เป็นกลางโดยสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทุนขององค์กรภาคประชาสังคมขนาดเล็ก
 ที่ทำงานและปฏิบัติการในท้องถิ่นมีพื้นที่เป็นของตนเอง
 
3.ช่องทางการประชาสัมพันธ์ต้องเป็นไปอย่างกว้างขวาง รับรู้หลักเกณฑ์ร่วมกัน
 
4.การสร้างหลักเกณฑ์ของแต่ละคณะต้องมีอิสระ และ มีส่วนร่วมจากองค์กรภาคประชาสังคม
 
 
ทาง เครือข่ายเพื่อนนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคอีสาน เล็งเห็นและเข้าใจความอ่อนไหวของสถานการณ์นี้ว่าหาก พอช.วางตัวนิ่งเฉย ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาไม่มีความพยายามอย่างเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเครือข่ายฯเห็นว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะไม่มีเฉพาะ กสส. เท่านั้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนและเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เพราะหากมองให้เห็นความจริงก็จะพบว่า กสส. เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้น หากข้อเสนอนี้ไม่ได้ถูกดำเนินการใดๆเลยเรามั่นใจว่าจะเกิดการย้อนศรของสถานการณ์ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อม และกดดันต่อ พอช. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีการรวมกลุ่มของของผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมหลายกลุ่มมากขึ้นๆ และเป็นแรงพลังมหาศาลพุ่งตรงเข้าสู่พอช. ในฐานะผู้ให้ทุน และกลไก PRC ของ กป.อพช.อีสาน อย่างแน่นอนประการแรกคือ พอช. จะถูกตั้งคำถามและเป็นโจทย์ของสังคมในเรื่องหลักการ และ หน้าที่ขององค์กรเชื่อมประสานและการให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งจะเป็นปมขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานยากจะเยียวยาในอนาคตนอกจากนี้ ทาง เครือข่ายฯ จะกระทำทุกวิถีทางในการรณรงค์ให้สาธารณะชนผู้มีใจใฝ่ความเป็นธรรม รับรู้ทั้งแผ่นดิน โดยจะเปิดเผยทุกรายละเอียดที่เรามีข้อมูล และ ขับเคลื่อนงานทางการเมืองเพื่อทวงถามความเป็นธรรมดังกล่าวนี่คือ มาตรการที่พวกเราจะเพิ่มระดับความเข้มข้นในการขับเคลื่อนเชิงรูปธรรมต่อไป
 
ถึงแม้ว่า เครือข่ายเพื่อนนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคอีสาน จะวิเคราะห์และเห็นว่า การผ่าทางตันนี้จะทำได้ยากลำบากมาก เพราะจะมีอุปสรรคปัญหาในเรื่องแรงเสียดทานทางสังคมจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะ กลไก PRC ของกป.อพช.อีสาน แต่ยังมีความหวังว่าจะเห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ว่า กระบวนการแก้ไขปัญหา และลดความขัดแย้ง คือการเจรจาหาทางออกยุติปัญหา และจัดการความสัมพันธ์ใหม่ร่วมกันรวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความกล้าหาญในการผ่าทางตันและแสวงหาความเป็นพี่น้องร่วมกัน (ภราดรภาพ) ซึ่งจะเป็นคุณูปการทำให้วงการเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมปลดล็อค ผ่อนคลายบรรยากาศ คลายปมปัญหาที่ค้างคาใจรวมทั้งป้องกันความอ่อนแอขององค์กรพัฒนาเอกชนของภาคอีสานโดยรวม และป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจในอนาคต รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในความแตกต่างโดยมีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ร่วมกัน คือ การสร้างสังคมที่ดีงาม
 
การเสนอทางเลือกและทางออกนี้เป็นความคิดเห็นเชิงเหตุผล ของ เครือข่ายฯ ซึ่งคิดว่าเป็นการเสนอความคิดเห็น แบบ กลางๆไม่สุดโต่ง ซึ่งจะมีทั้งผู้ที่เห็นว่า ถูกจริต ไม่ถูกจริตผู้ที่ไม่เห็นด้วยผู้เกลียดชังเบื่อหน่ายไม่อยากคบหาสมาคม ก่นด่าด้วยอารมณ์ขื่นขมเพราะน้อยใจชื่นชมเพราะเห็นว่าเป็นความชอบธรรมของตนเองหรือ แม้กระทั่งหมั่นไส้อยากใช้ความรุนแรง ทาง เครือข่ายฯ ขอน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากทุกผู้คนทั้งสูงต่ำดำขาวยิ่งใหญ่หรือต้อยต่ำ คนยากจน หรือผู้มีฐานันดรศักดิ์ คุณจะเป็นเอ็นจีโอสายไหนก็แล้วแต่ผู้ชอบเราหรือไม่ชอบเรา รวมทั้งกป.อพช.อีสานพันธุ์แท้พันธุ์ทาง หรือไม่สังกัด กป.อพช.อีสานด้วยความเคารพทุกท่านทุกความคิดเห็นแต่ขอรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่มีปิยะวาจาและใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น
 
สุดท้ายสำหรับผู้นิยมชมชอบการจัดหมวดหมู่ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองว่าเราเป็น “เหลืองหรือแดง” ว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้ขอความกรุณาอย่าจัดประเภทพวกเราเลยเพราะการจัดประเภทของพวกเราไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด หรือ เกาไม่ถูกที่คัน พร้อมกันนั้นยังเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นการแก้ไขปัญหา เพราะปมความขัดแย้งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสีเหลืองสีแดงความนิยมชมชอบหรือความเชื่อทางการเมืองซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคลตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เกี่ยวกับสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องประเด็นหลักคือ เรื่องของหลักการที่เรามีคิดเห็นที่ ไม่ตรงกัน ซึ่งมีสิทธิเกิดได้เสมอในสังคมประชาธิปไตย หลักการที่เรายืนยันถึงความชอบธรรมของการต่อสู้ครั้งนี้ คือ
 
1.เราเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาคมนักพัฒนาภาคประชาสังคม ภาคอีสานและเสนอบทเรียนการผ่าทางตันการจัดการงบประมาณให้กับพอช. เพื่อแก้ไข
ปัญหาระยะยาวและเป็นข้อเสนอแนะเชิงป้องกันปัญหา
 
2.เราเรียกร้องให้เกิดกระบวนการที่เป็นธรรมอธิบายได้ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
 
ขอความกรุณา อย่าตัดตอนอย่าลิดรอน อย่าปฏิบัติต่อเรา2 มาตรฐาน ฟังเสียงของพวกเราบ้าง พร้อมกันนั้น เครือข่ายฯ ยินดีร่วม พูดจาปสาทะ แลกเปลี่ยน และปฏิบัติการร่วมกับผู้ใช้สติปัญญาแก้ไข ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ และ ใช้วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าในการนำเสนอความคิดเห็นของตนเอง อย่างตรงไปตรงมาเครือข่ายฯ หวังว่าปัญหาทางความคิดที่ไม่ตรงกันนี้จะได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจาก พอช. และ กลไก PRC กป.อพช.อีสาน อย่างเร่งด่วนเพื่อคงไว้ซึ่งเชื่อมั่นต่อกัน และการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่วงการอื่น
 
เครือข่ายเพื่อนนักพัฒนารุ่นใหม่อีสาน
18 ธันวาคม 2552
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท