Skip to main content
sharethis
 
“มาตรา 67 สิทธิที่เกิดขึ้นมันเป็นสิทธิเรียกร้องในเรื่องของกระบวนการ
มันไม่ได้เป็นสิทธิที่เป็นเรื่องในทางสารบัญญัติ
พอมันเป็นเรื่องของกระบวนการ คำถามมีอยู่อย่างเดียว
ถ้าคุณตีความ 67 วรรคสองเคร่งครัดเป๊ะมาก
คุณจะมีปัญหาทันทีว่ามันอาจจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอะไรไม่ได้เลย
ถ้าโครงการหรือกิจกรรมนั้นมีใครคนนึงยกขึ้นมา
ผู้คนที่เคลื่อนไหวพิทักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่า
โครงการหรือกิจกรรมนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน
แล้วยังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดว่าด้วยการรับฟังก่อนดำเนินโครงการ
เพราะฉะนั้นทำไม่ได้ อนุมัติไม่ได้ ทุกอย่างก็ชะงักหมด
นั่นคือวิธีการตีความที่ extreme มากๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง ในความเห็นผม”
 
 
ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้หน่วยงานของรัฐสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม 65 โครงการ จาก 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด ที่ถูกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก ฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐอนุมัติโดยไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้สั่งระงับทั้ง 76 โครงการ
 
กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่นสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงของการเมืองไทย แต่ยังไม่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ในแง่กฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายต่อหลายคนอยากฟังความเห็นของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชนที่เป็นตัวของตัวเองมาตลอด
 
 
 
ดุลยภาพแห่งสิทธิ
 
วรเจตน์บอกว่า เขามีความเห็นแย้งกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดในบางประเด็น ซึ่งก็เป็นความเห็นคล้ายกับอาจารย์อัครวิทย์ อุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เป็นเสียงข้างน้อย
 
ขอย้อนถามก่อนว่าคำสั่งศาลปกครองกลางกับศาลสูงต่างกันตรงไหน
“ไม่ต่างกัน โดยเนื้อหาตรงกัน เพียงแต่ศาลสูงเขากำหนดข้อยกเว้นไว้ชัดเจนกว่าศาลชั้นต้น แต่โดยเนื้อหาตรงกัน ต้องอ่านตรงที่เขาเขียนว่าศาลสูงเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นบางส่วน”
 
“คือเรื่องของเรื่อง คนฟ้องฟ้องให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งให้เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยอ้างว่าการอนุมัติโครงการก่อสร้างเหล่านั้นไม่เป็นไปมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ และในระหว่างนี้ก็ขอให้ศาลสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่มาบตาพุดจำนวน 76 โครงการไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ศาลปกครองชั้นต้นก็สั่งระงับโครงการเหล่านั้นไว้ตามคำขอ ยกเว้นบางโครงการที่ได้รับในอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญ 50 ใช้บังคับ รวมทั้งโครงการที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่รวมถึงการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ส่วนของศาลปกครองสูงสุดหลักคือระงับหมดเหมือนกัน แต่ศาลสูงเขียนข้อยกเว้นชัดเจนกว่า คือ ระบุเป็นรายโครงการไปเลย รวมแล้วก็เหลือระงับโครงการทั้งสิ้น 65 โครงการ
 
“ถ้าดูรายละเอียด ศาลชั้นต้นกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 คือหน่วยงานของรัฐ ระงับโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารหมายเลข 7 ท้ายคำฟ้องไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 50 โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดประเภทให้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่สั่งซ้อนอีกทีหนึ่งว่า ไม่นับการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง”
 
“ศาลชั้นต้นเขียนซับซ้อนมากเลยคือ 76 โครงการบอกให้ระงับหมด ยกเว้นโครงการที่ไม่ระงับคือ ได้ใบอนุญาตก่อนวันบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 และโครงการที่ไม่ได้กำหนดประเภทให้ทำรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม แต่ว่าถ้าโครงการที่ยกเว้นให้ทำไปก่อนได้เป็นโครงการที่ต้องดำเนินตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสองก็ต้องไปดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองอีก คือ ผมอ่านแล้วก็งงว่าตกลงจะระงับโครงการอันไหนบ้าง ศาลสูงแก้คำสั่งศาลชั้นต้นบางส่วนคือให้ระงับโครงการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว และยกเว้นโครงการที่ทำได้ กำหนดลงไปเป็นหมายเลข 11 โครงการ
 
เหตุผลชัดกว่าไหม
“เหตผลผมไม่คิดว่าชัดกว่า เขียนเนื้อหาสาระมากกว่า แต่ไม่คิดว่าเหตุผลชัดกว่า คือเรื่องนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องดูความเป็นมาว่ามาบตาพุดมีมานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลชาติชาย มาถึงปี 50 มีบทบัญญัติมาตรา 67 ขึ้นมา ที่เอามาสู้กันและพูดกันมาก”
 
“มาตรา 67 วรรคสอง เขียนไว้ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
 
“พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญไปเขียนลึกลงไป มากกว่ารัฐธรรมนูญทั่วไปที่ใช้กันเป็นสากล คือเรื่องอย่างนี้ความจริงไม่ควรอยู่ในชั้นรัฐธรรมนูญ ควรอยู่ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแต่บ้านเรา เวลาเขียนก็เขียนยาวทั้งนั้น ก็เอาไปใส่รัฐธรรมนูญ บอกว่าโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทำไม่ได้ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น 3 ประการ คือมีการศึกษาผลกระทบ มีการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย แล้วก็ฟังความเห็นขององค์การอิสระ”
 
“ปัญหาก็คือตัวบทมันไม่ชัดเจนว่าอย่างไร องค์การอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มันคือใครบ้าง เพราะฉะนั้นตัวข้อยกเว้นนี้จำเป็นต้องมีตัวกฎหมายกำหนดรายละเอียด มันถึงจะทำถูก ว่าโอเคก่อนจะอนุมัติต้องฟังหน่วยงานหรือองค์การอิสระองค์การนี้ ต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ฟังอย่างไร  ขั้นตอนเป็นอย่างไร ประชาพิจารณ์อย่างไร ต้องมีการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รูปแบบแบบไหน มันต้องการกฎหมายกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติ ซึ่งยังไม่มี กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน พระราชบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบางฉบับก็กำหนดกระบวนการขั้นตอนไว้บ้างเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ต้องการ ก็ต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 303 (1) ก็กำหนดให้คณะรัฐมนตรีไปดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถตรากฎหมายเรื่องดังกล่าวออกมาได้”
 
“ทีนี้คนฟ้องเขาฟ้องว่า 76 โครงการมันทำให้เกิดความเดือดร้อนกับชุมชน มีคนได้รับมลพิษ สารพิษ มีการเจ็บป่วย แล้วก็ไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ 67 วรรคสอง แล้วเขาบอกว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้มีผลใช้บังคับทันที ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย หมายความว่าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตาม 67 วรรคสองทันที นี่คือประเด็น ซึ่งศาลก็เห็นพ้องด้วย ศาลเลยบอกว่าการออกใบอนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรม จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วศาลก็เห็นว่าก่อเกิดมลพิษความเสียหายตามคำฟ้อง ศาลจึงสั่งให้ระงับเอาไว้”
 
“เรื่องนี้ความจริงมีปัญหาทางเทคนิคด้วย ในเรื่องวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ว่ามันเป็นเรื่องการทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง วิธีการที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทุเลาการบังคับ ไม่ถูกตามวิธีพิจารณา ซึ่ง อ.อัครวิทย์ได้เขียนความเห็นแย้งไว้ชัดเจน ไปอ่านดูได้ แต่ประเด็นนี้เป็นประเด็นเทคนิค เป็นประเด็นทางวิธีพิจารณา คนทั่วไปจะเข้าใจยาก ผมอาจไม่ต้องพูดก็ได้”
 
“ผมมีความเห็นเหมือน อ.อัครวิทย์ว่าเรื่องนี้ศาลชั้นต้นกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวไม่ตรงตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด ถ้าอธิบายความคือ การสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีอยู่ 2 แบบ อันหนึ่งคือการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง อีกอันก็คือการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ซึ่งเงื่อนไขไม่เหมือนกัน”
 
“คดีนี้คนฟ้องฟ้องขอให้เพิกถอนตัวการอนุญาต ส่วนที่มีการอนุญาตไปแล้ว มันก็เป็นคำสั่งทางปกครอง การฟ้องเพิกถอนและขอคุ้มครองชั่วคราว คือการขอให้ระงับการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเวลาศาลจะพิจารณา ศาลพิจารณาเงื่อนไขเรื่องการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง แต่ศาลไม่ได้ใช้อันนี้ ศาลไปเอาอีกอันหนึ่ง เรียกว่าการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ซึ่งมันไม่ตรง ศาลเอาอีกอันหนึ่งมาใช้ซึ่งมันไม่ตรงในทางหลักกฎหมาย ศาลมองว่าโอเคมันเกิดมลพิษขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ strict ก็มองว่าเอาการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวคือสั่งให้ระงับไปก่อน ซึ่งในทางวิธีพิจารณา ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่บัญญัติไว้”
 
อธิบายง่ายๆ ได้ไหมว่า สมมติมันพ่นควันพิษอยู่ทุกวันนี้แล้วมันคือการบรรเทาทุกข์ แต่นี่มันยังไม่ได้สร้าง
“อันนี้คือประเด็นที่ผมจะพูดต่อ แต่เวลาพูดเรื่องนี้เราต้องพูดให้ชัด เดี๋ยวนักอนุรักษ๋จะด่าเละเทะว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดได้ยังไง เขาอุตส่าห์มาพิทักษ์เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องคิดอย่างนี้ก่อนว่า concept ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้อยู่ที่การห้ามแตะต้องทรัพยากรธรรมชาตินะ เพราะเป็นไปไม่ได้ เราต้องมีชีวิตอยู่ มนุษย์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน มันอยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกับตัวสิ่งแวดล้อมมันไปด้วยกัน ให้มันได้ดุลกัน ดุลยภาพเป็นของสำคัญ คุณค่าที่มันไปด้วยกันทั้งสองส่วน แล้วในทางรัฐธรรมนูญมีสิทธิสองตัวในเรื่องนี้ คือเรื่องนี้เป็นความสัมพันธ์สามเส้า ด้านหนึ่งคือฝ่ายรัฐซึ่งเป็นคนกุมอำนาจรัฐ ด้านหนึ่งคือฝ่ายเอกชนผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนได้รับใบอนุญาต อีกด้านหนึ่งคือชาวบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรม ก็เป็นความสัมพันธ์ 3 เส้า”
 
“สิทธิที่เกี่ยวพันมันไม่ได้มีแต่ตัวสิทธิชุมชน หรือสิทธิของบุคคลในเรื่องการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว สิทธิอันนี้อยู่ในมาตรา 66-67 แต่ผู้ประกอบการก็มีสิทธิเหมือนกัน เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกสิทธิหนึ่ง คือ สิทธิในเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพตามมาตรา 43 ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็เป็นสิทธิซึ่งได้รับประกันอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นน้ำหนักทั้งสองอันนี้ต้องชั่งกันเวลาจะทำอะไร ให้มันไปด้วยกัน จะเอาสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมีคุณค่าตรงนี้ กฎหมายมหาชนมีคุณค่าสองด้านนี้อยู่ด้วยกัน”
 
“ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้มีการพูดอย่างละเอียด คือ ประเด็นเรื่องผู้มีอำนาจฟ้องคดี ศาลไม่ได้ชี้ให้ชัดว่าผู้ฟ้องคดีอย่างสมาคมต่อต้านภาวะโรคร้อน หรือสมาคมสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการตุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ เอาอำนาจฟ้องมาจากไหน แล้วผู้ฟ้องคดีที่เป็นปัจเจกบุคคลนั้นถือว่าเป็นบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนแล้วหรือไม่ จะถือว่าผู้ฟ้องคดีเหล่านี้เป็นชุมชนอันจะนับว่าเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างไร”
 
“เรื่องนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ระงับโครงการทั้งหมดเลย ทั้งๆที่บางโครงการยังไม่เริ่มเดินเครื่องจักร คือบางโครงการกำลังก่อสร้างอยู่ บางโครงการเป็นส่วนขยายมาจากของเดิม แต่ยังไม่เริ่มดำเนินการหรือเดินเครื่องจักร แต่เวลาฟ้องเขาฟ้องว่ามันมีมลพิษอะไรต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว แล้วก็ไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีอันใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ก็เกรงว่าจะเป็นปัญหาหมักหมมสะสมต่อไปอีก เพราะฉะนั้นควรจะระงับ นี่คือประเด็นที่เขาฟ้อง
 
 
“แต่ในทางกฎหมายเวลาจะระงับต้องดูแบบนี้ครับว่า เรื่องมันต้องสัมพันธ์กัน หมายความว่าการจะฟ้องขอให้ระงับกิจกรรมนี้ คุณต้องเห็นว่ามันต้องเป็นกิจกรรมที่มีผลโดยตรงทำให้เกิดมลพิษขึ้นมา ซึ่งเมื่อยังไม่เริ่มเดินเครื่องจักร มันก็เป็นไปไม่ได้ แปลว่ามลพิษที่มีการฟ้องเป็นของเดิม ถ้าจะให้ถูกก็คือคุณต้องระงับอันเดิม หมายถึงคุณต้องพิสูจน์ว่าของเดิมไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์มาตรฐานทางกฎหมายอะไร แล้วขอให้สั่งคุ้มครองชั่วคราวอันนั้น“
 
“ประเด็นตรงนี้เคลียร์ใช่ไหมครับว่า โครงการพวกนี้เป็นโครงการซึ่งกำลังเริ่มก่อสร้างเริ่มปรับปรุงเริ่มมีส่วนขยาย มันยังไม่ได้มีการเดินเครื่องจักร ถ้าอันไหนมีการเดินเครื่องจักรไปแล้ว โอเคอันนั้นอาจจะมีประเด็นก็ต้องพิสูจน์ต่อไปว่ามีความสัมพันธ์กันไหมระหว่างการประกอบอุตสาหกรรมอันนี้กับตัวมลพิษที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง อันนี้คือประเด็น ซึ่งข้อเท็จจริงอันนี้ไม่ปรากฏ ทั้งในคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้เห็นข้อเท็จจริงอันนี้ คือความเกี่ยวพันระหว่างโครงการแต่ละโครงการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะมันเป็นไปได้ที่โรงงานบางโรงงานก่อให้เกิดมลพิษ แต่อีกโรงไม่ได้ก่อ เพราะฉะนั้นเวลาคุณจะระงับ คุณไประงับแบบเหมารวมไม่ได้ คุณต้องแยกว่าอันไหนเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน นี่คือประเด็น ข้อเท็จจริงอันนี้ไม่พอ เพียงแต่โอเค เห็นว่ามีการเจ็บป่วยอยู่ การเจ็บป่วยเป็นมะเร็งมีอยู่จริง มีการฟ้องด้วยว่ามันลักลอบเอาขยะไปทิ้ง ซึ่งถ้ามีอยู่จริงคำถามก็คือแล้วมันเกี่ยวอะไรกับ 76 โครงการนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ไปจัดการไปจับกุมคนลักลอบ แต่ส่วนนี้มันเป็นคนละส่วนกัน ไม่เกี่ยวกัน”
 
“เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ในแง่นี้คือไม่ได้มีการแยกระหว่างการก่อสร้างกับการดำเนินกิจการ แล้วก็ไประงับ คือให้หยุด ความจริงถ้าศาลจะสั่งอาจทำได้ในแง่ที่ว่า โอเค คุณก็ก่อสร้างไป แต่เมื่อคุณจะดำเนินกิจการก็ต้องไปทำตามหลักเกณฑ์นะ อย่างต้องรับฟังความเห็นต้องฟังองค์การอิสระ ในชั้นที่จะเริ่มเดินเครื่องจักร อย่างนั้นโอเค มันจะได้สัดส่วนกัน แต่นี่ไปตัดตั้งแต่ตอนต้น”
 
“คิดง่ายๆ เหมือนกับเราใช้คอมพิวเตอร์ มันก็อาจมีโปรแกรมหลายโปรแกรม โปรแกรมบางตัวเป็นปัญหา เราก็ไม่ปิดคอมพิวเตอร์ทั้งหมดใช่ไหม เราก็ไม่ใช้โปรแกรมอันนั้น ซึ่งต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างสองส่วนนี้”
 
เขาอาจจะมองว่าถ้าปล่อยให้สร้างไปถึงที่สุดก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการ เพราะลงทุนไปแล้ว ให้หยุดตั้งแต่ตอนนี้ รอทั้งหมดเลยดีกว่า แต่ในแง่กฎหมายคือการไปจำกัดสิทธิทั้งที่เขายังไม่ทำความผิด ใช่หรือเปล่า
“อาจจะมองแบบนั้นก็พอมองได้ แต่ประเด็นเป็นแบบนี้ ปัญหาอันหนึ่งที่มีการเถียงกันแล้วไม่เคลียร์คือมาตรา 67 วรรคสอง มันพูดถึงโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ คำถามก็คือ 76 โครงการอยู่ในความหมายนี้หรือเปล่า”
 
“ซึ่งเขาสู้ไงว่ามันไม่เข้า บางอันเป็นโครงการบรรเทามลพิษ บางอันเป็นโครงการที่ไม่ได้ก่อมลพิษ หรือบางอันเป็นโครงการที่เขาเห็นว่ามลพิษอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เขาเห็นว่าไม่เข้าในความหมายอันนี้ไง ซึ่งมันเถียงกัน”
 
“อันแรกสุดเลยคือต้องมาดูด้วยว่ามันเข้าความหมายนี้หรือไม่ก่อน ถึงเข้าแล้วก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ ไม่ต้องพูดถึงไม่เข้าเลย ซึ่งก็มีบางอันที่ศาลยอมรับว่าไม่เข้าเลย ศาลถึงตัดออกไป อันที่ศาลสั่งให้ระงับก็ไม่ชัดนะ แต่ที่ศาลตัดออก 11 โครงการไม่เข้าแน่นอน มันเป็นเรื่องที่มุ่งควบคุมหรือบำบัดมลพิษหรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ไม่มีทางเข้า แต่ที่เหลือ 65 เขาก็เถียงว่าไม่เข้า มันไม่ใช่ ซึ่งอันนี้ต้องดูข้อเท็จจริง”
 
ถ้าเข้า เราบอกว่าหยุดก่อนได้ไหม หยุดก่อสร้างไว้ก่อนได้ไหม
“ถ้าเข้าเป็นไปได้ แต่จะถึงขนาดหยุดก่อสร้างเลยเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเรื่องดุลพินิจแล้วละครับ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามเด็ดขาด เขาเขียนว่าทำไม่ได้เว้นแต่.....  แปลว่าโครงการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนนี่ ทำได้นะ ถ้าศึกษาผลกระทบ มีการรับฟังความเห็น แล้วก็มีองค์การอิสระให้ความเห็น มันยังทำได้เลย ไม่ได้หมายถึงห้ามเด็ดขาด นึกออกไหม เพราะฉะนั้นมันมีที่ไม่เข้าเลยตั้งแต่แรก กับเข้า และเข้าก็ไม่ได้หมายถึงทำไม่ได้ เข้าแล้วมาทำตามกระบวนการนี้ก็อาจจะทำได้ นี่คือประเด็น”
 
“เพราะฉะนั้นจะบอกว่าสั่งให้เขาระงับโครงการเลยหรือเปล่ามันก็อาจเป็นปัญหา เพราะสมมติโครงการนี้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง แต่เขามีกระบวนการที่จะบำบัดกำจัดมลพิษ มันก็ทำได้”
 
ย้อนมามองมาตรา 67 อันดับแรกคือต้องตีความว่าเข้าตามความหมายนี้ไหม ซึ่งตัวนี้ศาลทั้งสองศาลไม่ได้ชี้?
“ศาลไม่ได้ชี้ เพราะศาลอาจมองว่ายังเป็นชั้นของการคุ้มครองชั่วคราวอยู่ ไม่ใช่ชั้นของการตัดสินคดีแต่ประเด็นคือในอีกด้านหนึ่งมันไปกระทบสิทธิของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วว่าให้เขาประกอบการ มันจะต้องชี้ในระดับหนึ่ง หมายความว่าศาลสั่งระงับสิทธิของบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสั่งระงับแบบนี้ก้าวล่วงสิทธิที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว เมื่อการสั่งระงับส่งผลต่อผู้ได้รับสิทธิ ศาลจึงต้องดูข้อเท็จจริงให้ชัด จะใช้คำฟ้องที่คลุมๆรวมๆของผู้ฟ้องคดีมาเป็นฐานในการสั่งระงับไม่ได้”
 
“ในส่วนของมาตรา 67 วรรคสอง เราต้องเข้าใจว่ามาตรานี้ต้องมีตัวกฎหมายออกมากำหนด ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด ศาลก็อาจต้องให้ความหมายในเบื้องต้นว่ามันคืออะไร แต่เรื่องนี้ ผมบอกคุณอย่างหนึ่งว่ามันเป็นเรื่องในทางบริหาร เพราะมันเป็นปัญหาเทคนิค คือการบอกว่ากิจกรรมนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเนี่ย แค่ไหน? เราสองคนซึ่งไม่ได้เป็นนักสิ่งแวดล้อมหรือนักวิทยาศาสตร์ เราตอบยาก เราไม่รู้ว่าปริมาณมลพิษแค่ไหนกระทบถึงขนาดรุนแรง มันต้องมีกฎเกณฑ์กำหนดขึ้นมา แล้วมันเป็นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่แน่นอนที่ผมพูดนี้ไม่ได้หมายความเลยเถิดถึงขนาดว่าเห็นมลพิษอยู่ต่อหน้าชัดๆ ไม่มีการควบคุมอะไรเลย ยังจะต้องถามผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น
 
ตุลาการก็ไม่รู้ 3 คน 7 คน ก็ไม่รู้?
“ไม่รู้หรอก เว้นแต่ว่ามันผิดพลาดชัดแจ้ง คนทั่วๆ ไปได้เห็น ถ้าอย่างนั้นโอเค แต่ถ้าเป็นเรื่องทางเทคนิค เช่นปริมาณสารที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศมีแค่ไหนอย่างไร ตัวนี้ต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาประเมิน มันเป็นเรื่องเทคนิคอยู่มาก”
 
 
ไม่สมควรแก่เหตุ
 
“มาตรา 67 จะต้องมีการไปทำกฎหมายออกมา ทีนี้บังเอิญเขาก็บอกว่ารัฐธรรมนูญมีผลบังคับทันที อันนี้เป็นข้อถกเถียงกันมากเลย เป็นเหมือนกับอริยสัจตอนนี้สำหรับหมู่นักเคลื่อนไหว ท่องกันเป็นสรณะว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้ได้ทันทีไม่ต้องรอกฎหมายมากำหนดรายละเอียด พูดอย่างนี้พวกนักเคลื่อนไหวเหม็นหน้าผมมากเลย คือกลายเป็นอริยสัจไป รัฐธรรมนูญนั้นเมื่อประกันสิทธิปุ๊บมีผลบังคับใช้ได้โดยตรงทันที”
 
“ผมอยากจะสะกิดให้เราคิดให้มากนิดนึงว่า ที่บอกว่ามีผลบังคับทันทีมันคืออะไร เวลาเราพูดถึงตัวสิทธิ เวลาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิขึ้นมา สิทธิบางสิทธิมันเป็นสิทธิซึ่งจะบังคับไม่ได้จนกว่าจะมีตัวกฎหมายกำหนดรายละเอียดวิธีการ อย่างเช่นรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คนชรามีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐ แปลว่าคนมีสิทธิเรียกร้อง คนชรา คนอายุ 60 ได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐ แต่ปัญหาว่ากระบวนการขั้นตอนคุณจะทำอย่างไร คุณต้องไปลงทะเบียนไหม คุณต้องมีองค์กรมาตรวจสอบไหม มีเหตุอันใดที่ทำให้คุณไม่อ้างอาจสิทธิดังกล่าวได้หรือไม่ ที่มันเป็นเรื่องรายละเอียดเพื่อบังคับการตามสิทธิ พวกนี้ต้องมี พรบ. บัญญัติรายละเอียดขึ้นมา ไม่งั้นบังคับการตามสิทธิไม่ได้”
 
วรเจตน์บอกว่าพูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่า 3 ปี 5 ปี กฎหมายไม่ออก ก็ไม่ต้องได้สิทธิเลย
 
“ในต่างประเทศบางประเทศ เวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดตัวสิทธิขึ้นมา แล้วฝ่ายนิติบัญญัติไม่ไปออกกฎหมายสักที นานช้าไม่ออกกฎหมายสักที ไม่กำหนดรายละเอียดสักที แล้วพอมีคนมาเรียกร้องสิทธิอันนี้รัฐบาลก็บอกว่ายังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียด เพราะฉะนั้นคุณก็ยังไม่ได้สิทธิอันนี้ เขาก็บอกว่าตีความอย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้นในบางกรณี ศาลก็จะเป็นคนวางหลักชั่วคราวไว้ก่อน ว่าโอเคในช่วงระหว่างที่ยังไม่มีตัวกฎหมายนี้ หลักการทั่วไปที่จะก่อให้เกิดสิทธิตัวนี้ฝ่ายบริหารควรจะต้องทำอะไร เพื่อทำให้สิทธิที่เรียกร้องในทางมหาชนมันเกิดผลขึ้นจริง มันก็คือตัวสิทธิในทางสารบัญญัติ”
 
“แต่ทีนี้ มาตรา 67 วรรคสองสิทธิที่เกิดขึ้นมันเป็นสิทธิเรียกร้องในเรื่องของกระบวนการมันไม่ได้เป็นสิทธิที่เป็นเรื่องในทางสารบัญญัติ พอมันเป็นเรื่องของกระบวนการ คำถามมีอยู่อย่างเดียว ถ้าคุณตีความ 67 วรรคสองเคร่งครัดเป๊ะมาก คุณจะมีปัญหาทันทีว่ามันอาจจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอะไรไม่ได้เลย ถ้าโครงการหรือกิจกรรมนั้นมีใครคน หนึ่งยกขึ้นมา ผู้คนที่เคลื่อนไหวพิทักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่า โครงการหรือกิจกรรมนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน แล้วยังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดว่าด้วยการรับฟังก่อนดำเนินโครงการ เพราะฉะนั้นทำไม่ได้ อนุมัติไม่ได้ ทุกอย่างก็ชะงักหมด นั่นคือวิธีการตีความที่ extreme มากๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง ในความเห็นผม”
 
“อันที่สองก็คือคุณก็ต้องมองในแง่ที่ว่า หนึ่งมันต้องมีประเด็นว่า โครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน มันหมายความว่าอะไร ในเบื้องต้น พอหมายความแบบนั้นแล้วก็มาดูต่อไปว่า แล้วกรณีแบบนี้มันจะทำได้หรือไม่ได้ ถ้ามีปัญหาเรื่องข้อยกเว้น ถามว่าตราบเท่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่ได้ทำตัวกฎหมายออกมา ฝ่ายบริหารจะออกใบอนุญาตไม่ได้เลยหรือเปล่า หรือต้องรอ นี่คือประเด็น”
 
“มันก็มีสองทาง ทางหนึ่งก็บอกว่าถ้ารอกฎหมายแบบนั้นจากฝ่ายนิติบัญญัติเลยมันจะช้า มันคงไม่ได้ มันอาจจะต้องให้มีการทำชั่วคราวไปให้ครบตามเงื่อนไขตรงนี้ไปก่อน ทำไปก่อนมีผลเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สิทธิอีกสิทธิหนึ่ง คือ สิทธิในเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพได้รับการคุ้มครองด้วย ส่วนทำถูกหรือทำไม่ถูก ที่สุดองคืกรตุลาการอาจจะต้องเข้าชี้ภายใต้ขอบเขตอำนาจในการวินิจฉัยคดีของตน เพราะจริงๆ ในรายละเอียดมันมีปัญหาเรื่ององค์การอิสระ เช่น ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม คือใคร มีกี่คน คำถามคือถ้าไม่มีพวกนี้อนุมัติอะไรไม่ได้เลยใช่ไหม นี่คือประเด็น ฝ่ายหนึ่งบอกอนุมัติอะไรไม่ได้เลย แต่ผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นแบบนั้น”
 
อาจารย์หมายความว่าเมื่อกฎหมายยังไม่ออกควรจะมีการวางหลักการคร่าวๆ แล้วทำไปก่อน
“ใช่ ถ้าถามผมนะ ผมเห็นอย่างนั้น ให้มันสอดรับกับตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนอันนี้มีส่วนหนึ่งที่ตัวฝ่ายบริหารยังไม่ได้ทำ คือมันอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น กำลังจะทำกฎหมาย เสร็จแล้วก็ออกกฎหมายไม่ได้เพราะว่าสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาเราก็เห็น มันเปลี่ยนรัฐบาลไปมา ก็เลยออกไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนตัวนี้”
 
“แต่คำถามก็คือว่ามันทำไม่ได้เลยหรือเปล่า มันตอบคำถามแบบนั้นไหมว่าถ้าไม่มีกฎหมายอันนี้คุณทำไม่ได้เลย กฤษฎีกาเขาก็พยายามตีความว่า มันก็อนุโลมปรับใช้โดยเทียบเคียง วางแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้มันเป็นไปได้ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมาย”
 
นักเคลื่อนไหวเขามองว่าไม่ควรออกเลย ที่ออกไปทั้ง 76 โครงการควรต้องหยุดหมด จนกว่ากฎหมายจะออก โดยไม่ต้องแยกแยะว่าเป็นโครงการอะไร
“ใช่ จำนวนหนึ่งมองอย่างนั้น และผมจะบอกให้ว่าการออกกฎหมายนี่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัตินะ มันไม่ใช่อำนาจของฝ่ายบริหารที่จะตัดสินใจ ฝ่ายบริหารเสนอกฎหมายได้ แต่บางทีมันก็ไปตกมันก็เถียงกันในทางกฎหมาย คำถามคือถ้าออกกฎหมายไม่ได้ล่ะ มันตก มันอะไรประมาณนี้ แล้วจะทำยังไง ก็คือดำเนินโครงการไม่ได้เลยหรือ”
 
“สมมติว่าเอาละผมออกใบอนุญาตโดยที่ผมพยายามตีความรัฐธรรมนูญ ทำตามรัฐธรรมนูญตัวนี้ แบบที่เป็นตัวระเบียบเป็นอะไรไปก่อนให้มันสอดรับกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนอาจจะมีคนเถียงว่าไม่ใช่ตัวกฎหมาย แต่มันเป็นเรื่องที่เป็นชั่วคราว เพราะจริงๆ มีบทเฉพาะกาลอยู่ในมาตรา 303  (1) กำหนดให้คณะรัฐมนตรีทำกฎหมายให้เสร็จ เพียงแต่ว่าตอนเขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนตรงนี้ว่าช่วงที่กฎหมายยังไม่เสร็จจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ มันก็เลยเถียงกัน”
 
“แต่จริงๆ ผมมองแบบนี้ว่า 76 โครงการหรืออาจจะเหลือ 65 โครงการตามคำสั่งศาลสูง ปัญหาอันแรกเลยก็คือว่า ที่ทำอยู่นี่มันยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอาจก่อผลกระทบรุนแรงไหม ศาลจะต้องดูในทางข้อเท็จจริงให้ชัดก่อนสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งอันนี้ไม่ปรากฏ ศาลดูรวมไป โดยเอาข้อเท็จจริงเรื่องมลพิษต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ไปบังคับ ส่วนหนึ่งเอามาเชื่อมโยงกับตัวนี้ โดยศาลอาจจะมองว่าให้ก่อสร้างต่อไปอาจจะยิ่งแก้ปัญหาได้ยากขึ้น ศาลมองตัวนั้น แต่ไม่ได้มองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนซึ่งเป็นผู้ประกอบการ หรืออาจจะมองแล้วแต่เห็นว่ามีน้ำหนักน้อย อย่างเช่น ระงับปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือจำนวนคนที่ทำงาน ที่เป็นแรงงาน ต้องว่างงานลง”
 
“ประเด็นของผมอยู่ตรงนี้ คือผมมีความเห็นว่า ระงับนี่อาจจะระงับได้ถ้าเห็นว่ามันทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคน แล้วมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งต้องพิสูจน์กัน”
 
พูดอย่างนี้ได้ไหมว่าถ้าเข้าความหมายตามมาตรา 67 ก็ระงับไปก่อนได้ แต่ให้มีการแยกแยะอันแรกก่อนว่าเข้าไม่เข้า
“แล้วถ้าเข้าต้องมาดูต่อไปอีก สมมติมันเข้าแล้ว เขาอาจจะไปทำให้มันเข้าข้อยกเว้นก็ได้นะ”
 
ศาลก็ต้องลงมาดูรายละเอียด
“ถูกต้อง ในด้านหนึ่งศาลจะต้องพิจารณาจะต้องวาง ฉะนั้นประเด็นอยู่ตรงนี้ว่าในชั้นนี้ในชั้นคุ้มครองชั่วคราว การสั่งระงับการก่อสร้างเลย ในความเห็นของผมมันเป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วน คือไม่พอสมควรแก่เหตุ ถ้าถามผมนะ เพราะว่าตัวโครงการมันอยู่ระหว่างก่อสร้างและยังไม่เดินเครื่องจักร พอไม่เดินเครื่องจักรมันกระทบกับชุมชนยังไง มันก่อให้เกิดมลพิษยังไง เว้นแต่จะบอกว่าเกิดมลพิษตอนก่อสร้าง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่กล่าวถึงเลย”
 
ศาลดูจากลักษณะโครงการหรือเปล่า เช่นที่แยกออกไปเป็นโครงการกำจัดมลพิษ
“อันนั้นแยกไป ที่เขาแยกไปมันชัดว่าไม่เข้าแน่นอน แต่ 65 ยังไม่ได้แยก เท่าที่ผมอ่านดูไม่มีการแยกเลย ไม่มีข้อเท็จจริงเลย”
 
65 นี้อาจจะแยกอีกก็ได้ว่ามีบางโครงการเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง หรือเสี่ยงน้อย
“ถ้าถามผม ผมรับได้มากก็คือตัวที่มันค่อนข้างชัด อันนี้ระงับได้ ถ้าไม่ปรากฏ สร้างได้ แต่พอจะเดินเครื่องจักรจะทำงาน เงื่อนไขต้องครบถ้วน คือต้องมีการฟังความเห็นอะไรเรียบร้อย แล้วก็เริ่มเดินเครื่องจักร แล้วคนที่เป็นผู้ประกอบการก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าตัวเองจะต้องทำให้อยู่ในมาตรฐานการคุมสิ่งแวดล้อมที่มีเหตุมีผลอธิบายได้ จะทำได้ไหม แต่ไประงับปัง ผมไม่เห็นด้วย”
 
“พูดง่ายๆ คือในแง่หนึ่งถ้าดูจากข้อเท็จจริง เวลาที่เราต้องตัดสินใจเราก็ต้องดูจากข้อเท็จจริง ซึ่งมันไม่พอ การกล่าวอ้างก็เป็นการกล่าวอ้างที่เป็นเรื่องโครงการอันเก่า คุณเอาไปฟ้องบรรเทาทุกข์อันเก่าได้ แล้วที่สำคัญก็ยังมีความพยายามที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย แปลว่ามีมาตรการที่จะกันอยู่ในระดับหนึ่งแล้วในทางกฎหมาย”
 
“มันอาจจะมีคนมองแบบนี้ว่า คำสั่งศาลปกครองอาจจะมีผลดีเป็นการส่งสัญญาณอย่างแรงต่อฝ่ายบริหารต่อผู้ประกอบการ ว่าจะต้องเป็นแบบนี้นะ ต้องทำให้เคร่งครัดแต่เราต้องเข้าใจว่าในเชิงของการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญ สิทธิไม่ได้ดูตัวเดียว โดยเฉพาะกรณีนี้สิทธิเป็นความสัมพันธ์ 3 เส้าและมีคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ใบอนุญาตที่ออกไป ผมจึงเรียกในทางวิชาการว่า คำสั่งทางปกครองที่มีผลสองทาง คือ อาจจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่กระทบกับอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักให้ได้ดุล นี่พูดถึงเฉพาะรัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นเท่านั้นนะ ยังไม่พูดถึงแรงงานที่ต้องตกงานจากการระงับการก่อสร้าง”
 
ถ้าอ่านตามคำสั่งศาล 65 โครงการที่เหลือ จะไปขอศาลเป็นรายๆ ได้ไหม สมมติเราเป็น 1 ใน 65 โครงการเราถือเอกสารไปขออุทธรณ์คำสั่ง ว่าไม่เข้าข่ายความหมายนี้ จะไม่มีสิทธิเลยหรือ จะต้องรอไปถึงไหน รอจนกฎหมายออกหรือ
“ผมเข้าใจว่าศาลก็ไม่ได้พูดชัดเรื่องรอกฎหมายเพราะศาลเองก็อาจคิดว่ากฎหมายไม่รู้จะออกเมื่อไหร่”
 
“มีคนบอกว่าศาลพยายามจะแยกแล้ว ว่าเข้าลักษณะโครงการที่ก่อผลกระทบรุนแรง โดยศาลพยายามจะดูเรื่องคาร์บอน แต่มันไม่ convince ผม เขาบอกว่าศาลพยายามจะแยกแล้วบอกว่าเข้า ซึ่งในแง่นี้เหมือนกับศาลบอกว่า 65 โครงการนี้เข้าตาม 67 วรรคสอง พอเขาตีว่าอย่างนี้ เขาก็บอกว่าเมื่อไม่มีการทำตามข้อยกเว้น มันก็น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นก็เบรกหมดทั้ง 65 ที่เหลือ 11 ปล่อย”
 
“ปัญหาคือ 65 มันมีลักษณะเป็นการประเมินเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องความเชี่ยวชาญในทางเทคนิคเฉพาะเรื่อง และมันต้องมีข้อเท็จจริง ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวโครงการกับตัวผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ศาลพยายามให้เหตุผลว่าอันนี้เป็นมาตรการป้องกัน ไม่ใช่มาตรการเยียวยา เพราะฉะนั้นทำไม่ได้เลย แต่ในทางกฎหมายต้องดูว่าอันนี้มันยังไม่เกิดผลขึ้นมา ก็น่าจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวอย่างที่บอกว่ามันยังไม่เดินเครื่องจักร ฉะนั้นคุณไปเบรกเอาตอนนั้นก็ได้ เพราะถึงตอนนั้นก็จะมีการทำกฎหมายรองรับพอดี พอมีกฎหมายรองรับก็ทำให้เข้าข้อยกเว้นไป แล้วก็อาจจะเข้าตามเกณฑ์ในทางกฎหมายเลย”
 
“ฉะนั้นตอนนี้ถ้าถามว่า บริษัทที่ประกอบกิจการ โรงงานพวกนี้ ไปขอศาลได้ไหม ก็คือไปยื่นคำร้องเข้าไปที่ศาลปกครองชั้นต้นได้ แต่ยื่นเข้าไปก็จะไม่ชนะ เพราะข้อเท็จจริง ยังไม่เปลี่ยน เขาจะต้องรอตัวกฎหมายกำหนดรายละเอียดของข้อยกเว้นตาม 67 วรรคสอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะออก”
 
เขาไม่ได้หมดสิทธิฟ้อง แต่ทำยังไงคำสั่งศาลก็มัดอยู่แล้ว
“คือมันไม่มีกฎหมายที่สภาออก เพราะศาลบอกว่าต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น มีองค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ เมื่อมันยังไม่มีกฎหมายตรงนี้ ยื่นเข้าไปก็ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงก็เหมือนเดิม”
 
ถึงแม้เขาจะไปแย้งข้อเท็จจริงว่าคาร์บอนต่ำกว่า
“ก็ศาลชี้ไปแล้วว่าของเขาอาจก่อให้เกิดผลกระทบ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาในแง่ของการประเมินด้วยส่วนหนึ่ง คือมันเป็นประเด็นในทางเทคนิคความเชี่ยวชาญที่ศาลอาจจะเข้ามาดูไม่ได้ทั้งหมด 100% หรอก”
 
เรื่องเทคนิคความเชี่ยวชาญต้องมีการไต่สวนใช่ไหม มีผู้เชี่ยวชาญมาแย้งกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องคุ้มครองชั่วคราวแล้ว
“ก็ต้องเป็นเรื่องในเนื้อหาของคดี ความจริงอันนี้ในชั้นตัดสินในเนื้อหาของคดี มันก็ต้องว่ากันอีกอย่างว่าเป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือในชั้นคุ้มครองชั่วคราวนี่ มันมีประเด็นว่าถ้าปล่อยต่อไปจะเสียหายจนยากแก่การเยียวยาหรือเปล่า ซึ่งในแง่นี้ผมเห็นว่ามันยังไม่เดินเครื่องจักร”
 
พูดอย่างนี้ได้ไหมว่าในกรณีที่ไม่ได้เป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและเป็นคำสั่งถึงที่สุด ศาลจะต้องมานั่งพิจารณาแต่ละโครงการ
“เข้าใจว่าน่าจะต้องดู ถ้าถึงอันนั้น มันต้องมีข้อเท็จจริง คือถ้าเถียงกันว่าเป็นโครงการที่เข้า 67 วรรคสองหรือไม่ ศาลจะต้องดู ว่าโครงการกิจกรรมอันไหนบ้างเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน มันไปรวมไม่ได้ ก็ต้องดูเป็นรายโครงการไป เพราะบางโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบ แต่ไม่รุนแรง บางโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงแต่เขาทำตามข้อยกเว้น”
 
“ปัญหาของเราตอนนี้มีอยู่ว่ามันไม่มีกฎหมายไง ถ้าถามความเห็นผม ผมเห็นว่าดูจากตัวบทเฉพาะกาล เพื่อให้การบังคับใช้สิทธิเป็นไปได้ทั้งในส่วนของการประกอบอาชีพและในส่วนสิทธิของบุคคลทั้งสองส่วน รัฐก็อาจต้องออกกำหนดระเบียบใช้ไปพลางก่อน หรือไม่อย่างนั้นศาลจะต้องทำ ต้องกำหนดเป็นเรื่องชั่วคราวว่าโอเค ฝ่ายบริหารจะต้องทำอะไร เช่นคุณต้องไปรับฟังความเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย คุณต้องประเมินผลกระทบสภาพแวดล้อม แล้วกำหนดว่าขนาดไหน ที่ศาลเห็นว่าได้เกณฑ์มาตรฐาน ที่ศาลจะพอใจ ไปก่อน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย”
 
ระหว่างนี้ก็ให้ก่อสร้างไป ถ้าใครเข้ากฎเกณฑ์ชั่วคราวนี้ก็ทำไปก่อน แต่ถ้ากฎหมายออกมาละเอียดกว่าล่ะ
“ก็ต้องทำตามนั้นภายใต้เงื่อนไขอันนี้”
 
“คืออย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าในต่างประเทศเวลาที่บังคับตามสิทธิ ถ้ายังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะปฏิบัติยังไง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการฟ้องเขาก็อาจจะอ้างว่าไม่มีกฎหมาย ศาลก็อาจบอกว่าโอเคถึงไม่มีกฎหมายแต่สิทธิเกิดแล้ว คุณก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางแบบนี้ชั่วคราวไปก่อน แล้วก็ไปรอกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกมา”
 
“ของเราในเรื่องนี้ศาลเหมือนกับบอกว่าต้องรอฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย เพราะฉะนั้นประเด็นที่เราคิดกันเวลานี้ที่มันเกิดความเสียหาย กี่แสนล้าน? คือรัฐบาลจะออกพระราชกำหนดไหม”
 
ออกพระราชกำหนดก็โดนค้านอีก
“ก็จะเป็นปัญหาแต่นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลซึ่งมีตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีข้อมูลต่างๆในมือ จะต้องพิจารณา และประเมินว่านี่ฉุกเฉินเร่งด่วน กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแล้ว มีเหตุเพียงพอที่จะออกพระราชกำหนดหรือไม่ แต่ถ้าออกมารัฐบาลก็จะโดนว่า…”
 
...ช่วยนายทุน
“ใช่ คือตอนนี้ก็มีประเด็นว่าจะเข้ามาตรา 184 หรือเปล่า ที่บอกว่าเป็นกรณีที่รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ แล้วก็เป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเสียหายมาก คนจะตกงานมาก เศรษฐกิจประเทศจะกระทบมาก”
 
นักอนุรักษ์เขาไม่กลัวคนตกงาน เขาบอกว่าโรงงานพวกนี้ใช้คนน้อย ใช้คนต่างถิ่น ไม่ใช่คนพื้นที่ มาแล้วก็ป่วย แล้วก็ปล่อยกลับต่างถิ่น
“ก็อาจจะจริง ด้านหนึ่งก็ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ผมเห็นด้วยนะ เรื่องสุขอนามัยของคนต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ กลไกการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมจึงต้องให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็อย่า extreme อย่าให้มันสุดขั้ว เพราะเรื่องมันมีอยู่สองด้าน”
 
 
Process ไม่ใช่เนื้อหา
 
ย้อนไปเรื่องหลักคุ้มครองชั่วคราว 2 อย่างอยากให้อาจารย์อธิบายอีกที
“คุ้มครองชั่วคราว 2 อย่าง ดูความเห็นแย้งของ อ.อัครวิทย์ รองประธานศาลปกครองสูงสุดก็ได้ คือการร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราว บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 66 แล้วก็มีระเบียบของศาล แยกลักษณะของการคุ้มครองชั่วคราวออกเป็น 2 ประเภท มีระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดกำหนดไว้ เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา”
 
“ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาความปกครอง พ.ศ.2543 กำหนดเอาไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง อันนี้คือข้อ 69 ถึงข้อ 74 ส่วนที่สองเป็นเรื่องการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ข้อ 75-77”
 
“ปัญหาคือเวลาที่จะขอคุ้มครองชั่วคราว มันต้องดูว่าการฟ้องคดีนี่ ประเภทคำฟ้องฟ้องแบบไหน ถ้าฟ้องขอให้เพิกถอนกฎ เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง อย่างนี้เวลาขอคุ้มครองชั่วคราวก็ต้องขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง อย่างเช่นมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ จะขอคุ้มครองชั่วคราวว่ายังไม่ให้ออก ให้ทำงานไปก่อน ก็ต้องขอตามเรื่องทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ถ้าเป็นการฟ้องคดีประเภทอื่น ฟ้องเรื่องละเมิด เจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิด ฟ้องเรื่องสัญญา ก็จะเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เงื่อนไขของ 2 อันนี้ต่างกัน มันไม่เหมือนกัน”
 
“ปัญหาคือคดีนี้ลักษณะของคดีมันฟ้องอะไร แล้วการขอมันเข้าอันไหน เรื่องนี้ลักษณะของคดีคือเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตที่หน่วยงานของรัฐได้ออกไป มันก็มีลักษณะเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนตัวคำสั่งทางปกครอง ว่าการออกใบอนุญาตนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราว ก็คือขอทุเลา เหมือนกับว่าเมื่อออกใบอนุญาตไปแล้ว ไอ้ดำเนินการก่อสร้างก็อย่าให้ดำเนินการก่อสร้าง อย่างนี้เรียกว่าทุเลาการบังคับ หน่วงผลตัวคำสั่ง เพราะคำสั่งเวลาออกไปให้ก่อสร้างก็ก่อสร้างได้ คนที่ไปฟ้องก็ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง แต่ระหว่างที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าคำสั่งชอบไม่ชอบ ในช่วงนี้ขอให้เบรกผลของคำสั่งไปก่อนเพราะคำสั่งน่าจะไม่ชอบ”
 
“เวลาที่ขอมันก็คือการขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ซึ่งก็จะมีเงื่อนไขอยู่ 3 ประการในการขอ เงื่อนไขอันแรกก็คือตัวคำสั่งทางปกครอง คือใบอนุญาตอันนี้ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย น่าจะนะครับ ยังไม่ถึงชั้นไม่ชอบ เพราะเป็นชั้นคุ้มครองชั่วคราวยังไม่ใช่ขั้นตัดสิน อันที่สองคือ การทำให้คำสั่งทางปกครองใช้บังคับต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง อันที่สามก็คือการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ต้องไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ ถึงจะทุเลาได้ นี่คือเงื่อนไขการทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ซึ่งตรงกับคดีนี้”
 
“ส่วนอีกอันเป็นเรื่องการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ซึ่งใช้ในคดีอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องของการฟ้องเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง เรื่องการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก็เอาเกณฑ์ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ หลักใหญ่ๆ ก็คือคำฟ้องต้องมีมูล ตัวจำเลยคือผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องตั้งใจกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดการผิดสัญญา ที่ทำให้ถูกฟ้องร้อง หรือว่าโจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย นั่นหมายความว่า ก็ต้องมีเหตุเพียงพอที่จะนำเอามาตรการหรือวิธีการคุ้มครองมาใช้ แล้วก็มาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ”
 
“ทีนี้กรณีนี้ถ้าจะสั่งโดยเหตุที่เขาฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง มันก็ต้องไปดู 3 ข้อกรณีของการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย, การให้คำสั่งใช้ต่อไปเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง แล้วก็การทุเลาต้องไม่เป็นอุปสรรค ....ซึ่งมันอาจจะไม่เข้า”
 
เพราะยังไม่ได้พิสูจน์เรื่องความเสียหายร้ายแรง?
“เพราะมันยังไม่ได้เดินเครื่องจักรไง”
 
แต่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า
“ที่บอกว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายนี่อาจจะพอฟังได้ เพราะเขาอาจจะอ้างว่ายังไม่มีกฎหมายกำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ แล้วคุณไปออกใบอนุญาต คุณไม่ทำตามข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง อันนี้อาจจะพอมองได้ แต่ปัญหาว่าทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือว่าจะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ อันนี้ดูจะเป็นปัญหา ในส่วนของการทุเลา”
 
“ข้อแรกมันก้ำกึ่ง คือจะว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่เชิงเพราะยังไม่มีกฎหมาย ถ้ามีแล้วน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สั่งได้ แต่นี่มันเหมือนกฎหมายยังไม่มี เขาถึงเชื่อมโยงไปยังรัฐธรรมนูญไง”
 
“คือเขาก็บอกว่ามันเกิดหน้าที่แล้ว ซึ่งเป็นปัญหาว่าฝ่ายบริหารจะทำอย่างไรในเมื่อยังไม่มีกฎหมาย
 
เหมือนที่เราเคยถกเรื่องรัฐธรรมนูญ 40 เขียนว่า ทั้งนี้ให้เป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ แล้วรัฐธรรมนูญ 50 ก็มาตัดออกหมด
 
“มันเป็นปัญหาอย่างที่ผมบอกไงว่า เวลาที่คุณมีสิทธิแล้วคุณบังคับการตามสิทธิ ในทางหลักการคือบางเรื่องต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดคุณถึงจะบังคับได้ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดให้บังคับ ศาลอาจจะต้องทำหน้าที่กำหนดคร่าวๆ เพื่อให้การใช้สิทธิของคนเป็นไปได้”
 
“แต่เรื่องนี้ 67 นี่มันเป็นเรื่องกระบวนการ มันเป็นเรื่อง process คือมันเป็นไปได้เลยว่าในที่สุดแล้วในทางเนื้อหามันไม่มีอะไรบกพร่องเลยนะ มันแค่ไม่ได้ทำตามแบบ มันเป็น formality ว่าคุณต้องฟังประชาชนต้องทำรายงาน ศึกษา แล้วฟังความเห็น สมมติโครงการพวกนี้มันทำแบบนี้ในที่สุด มันก็อาจจะเป็นไปได้ มันเป็นเรื่องในทางรูปแบบ”
 
“เอ้า ศึกษาประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โอเค ผมไปศึกษาประเมินผลกระทบ  แล้วบอกว่ามันไม่กระทบหรือไม่กระทบอย่างรุนแรง จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มันก็ต้องมีคนคัดค้านคนเห็นด้วย เอ้า ฟังแล้ว ให้องค์การอิสระประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนให้ความเห็นประกอบ เอ้า ฟังความเห็นประกอบ”
 
“มันเป็นเรื่องในทางรูปแบบ มันไม่ได้เป็นประเด็นในทางเนื้อหา”
 
มันไม่ได้บอกว่าให้กรรมการองค์การอิสระตัดสิน
“ใช่ บอกให้ความเห็นประกอบก่อน”
 
ถ้าเป็นให้กรรมการองค์การอิสระตัดสินมันเป็นเรื่องเนื้อหา
“มันก็ยังเป็นเรื่องกระบวนการ แต่เป็นกระบวนการที่ให้อำนาจตัดสินใจไปที่กรรมการหรือองค์การอิสระ อันนี้ก็เป็นเรื่องรูปแบบในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของผู้อนุมัติหรือขั้นตอนการให้ความเห็นชอบ จะบอกว่าไม่สำคัญเลยก็ไม่ได้ แต่โดยเนื้อหาของมาตรา 67 วรรคสองก็ยังให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้อนุมัติ องค์กรอิสระเพียงให้ความเห็น
 
ให้ความเห็นแล้วไม่ฟังก็ได้
“ถ้าหมายถึงว่าไม่ต้องเห็นตามความเห็นดังกล่าวก็คือใช่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าให้ความเห็นชอบ เขาบอกว่าให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ องค์การนี้ก็ให้ความเห็นไป จะไม่เห็นด้วยก็ให้ความเห็นไป แต่ที่สุดตัวหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นเป็นผู้พิจารณา มันเป็นขั้นตอนที่ต้องทำก่อนออกใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งตัวนี้ยังไม่มีกฎหมายเขียนไง ผมถึงบอกว่าไม่มีกฎหมายเขียนจะทำอย่างไร”
 
“เรื่องในทางขั้นตอนหรือกระบวนการนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าเป็นสาระสำคัญหรือไม่แล้ว บางทีแม้ทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ก็อาจจะแก้ไขเยียวยาความบกพร่องในภายหลังได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้อย่างใดก่อนมีคำสั่ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ผมกำลังจะบอกว่า การทำผิดขั้นตอนที่ไม่กระทบกับเนื้อหา บางครั้งระบบกฎหมายก็ยอมให้แก้ไขเยียวยาในภายหลังได้ หลักกฎหมายที่ผมพูดถึงนี้ก็ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41 ว่าด้วยการเยียวยาความบกพร่องของคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอาจจะยาวไปถ้าจะอธิบายในบริบทของการสัมภาษณ์นี้”
 
ถ้ายกตัวอย่างกฎหมายที่ไม่ใช่กระบวนการ เช่น คนพิการต้องได้รับการเลี้ยงดู เป็นเรื่องเนื้อหา
“ใช่เป็นเรื่องเนื้อหา แต่ถึงที่สุดรัฐอาจจะไปกำหนดว่าได้รับการเลี้ยงดูคุณต้องไปดำเนินการติดต่อที่หน่วยงานไหน มีหลักฐานอะไรมาบ้าง มีบัตรประชาชนอะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องที่กฎหมายต้องกำหนดรายละเอียด”
 
แต่สิทธิอันนั้นมันเกิดทันที
“สิทธิเกิดได้ แต่ปัญหาคือจะได้เท่าไหร่ รัฐจะให้เท่าไหร่ ต้องมีกฎหมายกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญจะไม่เขียนหรอก มันต้องมีกฎหมายมากำหนดว่าเท่าไหร่ ซี่งถ้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่กำหนดซักทีหนึ่ง เวลาไปฟ้องศาล ศาลอาจจะกำหนดให้ได้ สมมติให้หนึ่งพันบาทไปก่อน แล้วเวลามีกฎหมายกำหนดก็ว่าไปตามกฎหมาย ใน case แบบนั้นศาลก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่ชั่วคราวไปก่อน เพื่อทำให้ตัวสิทธิบังคับไปได้”
 
ไม่เรียกว่ากระบวนการ
“ไม่ใช่ เป็นรายละเอียดของการบังคับตามสิทธิ แต่อันนี้เป็นเรื่องขั้นตอนการขอออกใบอนุญาต เป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถ้าไม่ทำก็คือผิดขั้นตอน ซึ่งส่งผลให้การอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ แต่ว่าฟังแล้วหน่วยงานของรัฐอาจจะตัดสินใจอย่างเดิมก็ได้ กฎหมายบอกให้ฟัง ผมก็ฟัง แต่ฟังแล้วความเห็นไม่มีน้ำหนัก คนอนุญาตก็อนุญาตไป ใครจะมาฟ้องว่าผมอนุญาตไม่ชอบเพราะไม่ฟังไม่ได้ ก็ต้องไปฟ้องว่าผมอนุญาตไม่ชอบเพราะโครงการนี้มันกระทบรุนแรง เจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบหรือไม่สุจริต ไปประเด็นพวกนั้น ก็ต้องไปตีความเอา ซึ่งก็เป็นเรื่องการประเมินเรื่องเทคนิคสิ่งแวดล้อม แต่จะมาฟ้องว่าผมอนุญาตโดยไม่ได้ฟังคุณไม่ได้ เพราะผมฟังแล้ว แต่ฟังแล้วผมอนุมัติแบบนี้”
 
“อีกประการหนึ่งต้องไม่ลืมว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นพวกใบอนุญาตต่างๆ ถ้าผู้รับคำสั่งเขาสุจริต ไปเพิกถอนคำสั่ง เขาเสียหาย เขาฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ รัฐจะจ่ายไหวไหม”
 
“เพราะฉะนั้นที่กำหนดเอาไว้พวกนี้มันเป็นเรื่องขั้นตอน ซึ่งอย่างที่ผมบอก ถ้าถามความเห็นผม ฝ่ายบริหารสามารถทำระเบียบใช้บังคับไปพลางก่อนในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีในเรื่องนี้ก็เรียกร้องให้ออกระเบียบพวกนี้ แล้วก็ให้ไปทำตามระเบียบก่อน แต่เขาขอว่าตอนนี้ให้ระงับโครงการเลย แต่ผมเห็นว่าดำเนินการก่อสร้างไปได้ แล้วก็ทำตามขั้นตอนการรับฟังไปพร้อมกันตามระเบียบชั่วคราวที่อาจจะกำหนดขึ้นตามนัยมาตรา 67 วรรคสอง ก่อนเดินเครื่องจักร
 
แต่ถ้ามัน extreme ถึงขั้นที่กฎหมายบอกว่าคุณต้องเอาประชาชนมาลงประชามติ อันนั้นอาจจะไม่ได้เลยใช่ไหม
“ถ้าอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองไม่ได้เรียกร้องแบบนั้น แต่ทีนี้มันก็มีปัญหาไงว่า รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ใครบ้าง มันต้องไปเขียนในพระราชบัญญัติ องค์กรเอกชนจะเอากี่คน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาจะเอากี่คน เอาของรัฐหรือของเอกชนด้วย อันนี้ต้องเป็นกฎหมายกำหนด แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการรับฟังแล้วเราจะบอกว่า เฮ้ย ดำเนินโครงการไม่ได้เลย คุณลองนึกดู

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net