Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.52 โครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ลุ่มแม่น้ำโขง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมกับ องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่อง เส้นทางสู่สันติภาพบนความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ณ ห้องประชุมมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รวมเสวนาโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานที่ปรึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น
 
ความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา คือ การปะทะของชาตินิยมสองชาติ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า เมื่อปี 2551 เคยแสดงความคิดเห็นทางด้านวิชาการเกี่ยวกับเขาพระวิหารไว้ว่า เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาโดยทางประวัติศาสตร์และทางนิติศาสตร์ ซึ่งคนเขมรโบราณสร้างปราสาทหินแต่คนไทยโบราณไม่สร้างปราสาทหิน เมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาประกอบกับคำตัดสินของศาลโลกให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาภายใต้มติเก้าต่อสามในปี 2505 นั้น คดีก็ชัดเจนและจบเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นมีการออกมาเดินขบวนเพื่อต่อต้านคำตัดสินของศาลโลกด้วยความโกรธแค้น จนกระทั่งปี 2550 - 2551 เหตุการณ์ตอนนั้นมันกลับมาอีกครั้ง ทำให้ต้องกลับไปมองเรื่องกระแสชาตินิยมว่า การปลุกกระแสชาตินิยมแบบคับแคบนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งชาตินิยมต้องตีความให้ชัดเจน
 
ชาญวิทย์ ขยายความว่า ชาตินิยม ในพลังบวกที่เป็นความรักสามารถสร้างอะไรได้มากมายในชาติบ้านเมือง แต่สำหรับชาตินิยมแบบคับแคบที่เป็นพลังด้านลบสามารถทำลายได้ทุกอย่าง ซึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีการปกครองนาซีฟาสซิสต์ ดังนั้นชาตินิยมจึงต้องมีกลไกและนักวิชาการนั้นไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนบ้านด้วยโมหะจริต เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อใครเลย

อย่างไรก็ตาม การปิดพรมแดนของกัมพูชาจะไม่สร้างปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารหรือปัจจัยในการครองชาญชีพอื่นๆ ในกัมพูชา เนื่องจากเส้นทางการคมนาคมระหว่างกัมพูชากับเวียดนามนั้นดีกว่าเส้นทางระหว่างไทยกับกัมพูชา ดังนั้นการค้าขายระหว่างกัมพูชากับเวียดนามจึงมีมากขึ้น

 
เขากล่าวต่อว่า กรณีปัญหาเขาพระวิหารนั้นเป็นการปะทะกันของชาตินิยมของสองชาติ เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้วสามครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ.1940 เป็นชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ ที่เรียกร้องดินแดนมณฑลบูรพาซึ่งตอนนั้นไทยชนะคดีที่ต่อสู้กับฝรั่งเศสทำให้ได้ดินแดนมา ในความเป็นชาตินิยมของไทยนั้นมี Royal Nationalism นอกจากนั้นยังมีอำมาตยาเสนาชาตินิยมที่เป็น Military-Bureaucratic Nationalism ในความเป็น Royal Nationalism นั้นจะเป็นเรื่องของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อกลายเป็น Military-Bureaucratic Nationalism ก็จำเป็นต้องมีคำว่า “และรัฐธรรมนูญ” เพิ่มเข้ามา แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการเพิ่ม “และรัฐธรรมนูญ” ไม่ประสบผลสำเร็จจึงกลายเป็น “และคนไทย”
 
ประสบการณ์ที่ผ่านมาของชาตินิยมไทยนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ “และประชาชน” ซึ่งทำให้เกิดคำถาม หลายคนมีประสบการณ์จากพฤษภาคม 2535 นั่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญมากคือหน่วยราชการทหารเติมคำว่า “และประชาชน” เข้าไปใน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และมีข้อความนี้ให้เห็นอย่างชัดเจนที่ประตูทางเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร.เก่าแถวราชดำเนินนอก หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นที่มาของคนไทยไม่ใช่ความจำเป็นอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือชาตินิยมและเรื่องนี้ถูกบรรจุไว้ในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กไทยด้วย ดังนั้นเราจึงเห็นการเสียดินแดนของไทยในบางส่วนแต่ปราศจากเรื่องการได้ดินแดน ในขณะเดียวกันก็กล่าวถึงพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ในยุคนั้นๆ ไว้ด้วย
 
นอกจากนั้นแล้วจะเห็นว่าเรื่องการเสียดินแดนจะถูกบรรจุไว้ในทุกๆ สื่อที่สำคัญ แม้กระทั่งในหนังสือนำเที่ยว นั่นคือชาตินิยมในการย้ำให้จำเรื่องการเสียดินแดน มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยเสียดินแดนไปถึง  14 ครั้ง หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ก็จะไม่สามารถหลุดออกจากการเป็นชาตินิยมแบบคับแคบได้เช่นกัน
 
ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า การปะทะกันครั้งที่สอง คือการปะทะกันระหว่างไทยกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และครั้งที่สามคือการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ในมติเอกฉันท์ 21 ต่อ 0 ในขณะที่ไทยมองเรื่องชาตินิยมของตนกลับลืมไปว่าชาตินิยมไม่ได้มีแค่ในชาติไทยเท่านั้น หากมองให้ข้ามพรมแดนไปยังกัมพูชาจะพบว่าเขามี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตรย์ และปราสาทหิน” ซึ่งในแผนที่ทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชานั้นมีการแสดงดินแดน นอกจากนั้นในแผนที่ประวัติศาสตร์ของลาวก็มีดินแดนที่เสียให้กับไทยเช่นกัน ในประวัติศาสตร์ของแต่ละชาตินั้นต่างฝ่ายต่างเสียดินแดนไม่มีฝ่ายใดได้ดินแดนเลย
 
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1863 จนกระทั่งปัจจุบัน ในธงชาติกัมพูชาจะมีปราสาทหินปรากฎอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่ในธงชาติเท่านั้นแต่ยังรวมถึง สัญลักษณ์ของสนามบิน ธนบัตร และมีรูปปราสาทเขาพระวิหารกลางเมืองพนมเปญเต็มไปหมด เพราะนั่นคือชาตินิยมกัมพูชา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทำไมการปล่อยข่าวลือกรณีของกบ สุวนันท์ คงยิ่ง เมื่อปี พ.ศ.2546 จึงทำให้เกิดการเผาสถานทูตไทยในกัมพูชาได้
 
“ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์กลับเป็นสิ่งที่ถูกบอกว่าให้จำอันนี้ อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่จำ”
 
สุดท้าย ดร.ชาญวิทย์ เสนอแนะว่า “หากเรารักชาติแบบใจกว้างเราจะรักเพื่อนบ้านได้ แต่หากเรารักชาติแบบใจแคบเหมือนสมัยโบราณ ก็จะสมานฉันท์กันไม่ได้”
 
ไทยไม่ยอมรับการตัดสิน ทั้งที่เพิกเฉยต่อหลักฐานมาโดยตลอด
พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ดำเนินมาด้วยดีทุกด้านทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ อาจจะมีสะดุดบ้างเล็กน้อยช่วงปี 2546 ที่มีข่าวกรณี กบ สุวนันท์ คงยิ่ง แต่สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกัมพูชายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลกัมพูชาและเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับชาวกัมพูชา ซึ่งทำให้กัมพูชามีความนุ่มนวลมากขึ้น
 
จนกระทั่งปี 2551 ที่มีการผลักดันให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ไทยได้ลงนามในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จนกระทั่งรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยังไม่มีการคัดค้านใดๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งสมเด็จฮุน เซน ผลักดันทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และเรื่องปราสาทพระวิหารจึงถูกดึงเข้ามา จากนั้นการตีฆ้องร้องเรื่องปราสาทพระวิหารนั้นกลายเป็นอวิชชาที่ปิดกั้นหนทางในการเจรจาระหว่างสองประเทศ ถ้าหากความเข้าใจของทั้งสองประเทศการเข้าใจข้อมูลคนละชุดปัญหาก็ไม่มีทางแก้ไขได้ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายยอมเจราจาและยอมข้อมูลที่ถูกต้องอันเดียวกันปัญหาก็หมดไป
 
ดร.พวงทองได้กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ว่า ปัญหาแรกศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก พิพากษายกแต่ซากปรักหักพังให้กับกัมพูชา ดินแดนยังเป็นของไทย ซึ่งศาลต้องตัดสินเรื่องที่ดินก่อนจากนั้นจึงตัดสินเรื่องสิ่งปลูกสร้าง ปัญหาต่อมาคือไทยยังสงวนสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาเพราะยังมีโอกาสได้ปราสาทพระวิหารคืนมา ซึ่งอายุความของการสงวนสิทธิ์มีระยะเวลา 10 ปี แต่ไทยก็ไม่เคยพยายามที่จะขอทบทวนคดีหรือรื้อคดีเลยจนกระทั่งมีเรื่องนี้เกิดขึ้น หลักฐานสำคัญที่กัมพูชาใช้ในการฟ้องร้องต่อศาลโลกในครั้งนั้นคือแผนที่ภาคผนวก 1 ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมของฝ่ายฝรั่งเศส และเป็นแผนที่ที่ไม่ตรงกับเส้นแบ่งสันปันน้ำแต่ไทยกลับไม่แสดงการคัดค้าน ต่อมาปี ค.ศ. 1934-35 ไทยสำรวจบริเวณนี้ด้วยตนเอง และพบความจริงข้อนี้ และแผนที่ที่ทำขึ้นเองนี้ก็แสดงว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย แต่ไทยยังคงใช้แผนที่ภาคผนวก 1ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตลอดมา ถ้าเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ก็คือ ไทยมีที่ดินผืนหนึ่งแต่ไม่เคยเข้าไปดูแล และให้คนอื่นเข้ามาใช้สิทธ์ครอบครองเป็นระยะเวลา 10 แล้วเขาก็มีสิทธิ์อ้างว่าพื้นที่นั้นเป็นของใคร และไทยก็ยอมรับในสิทธิ์นั้นเป็นเวลาเนิ่นนาน ดังนั้นศาลโลกจึงใช้หลักฐานนี้ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
 
ปัญหาที่สาม พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของไทย ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน จากหลักฐานที่กัมพูชาใช้ ศาลโลกมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ.1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา แต่ไทยก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องได้ต่อไป แต่ต้องตระหนักว่าไทยไม่ได้ถือไพ่เหนือกว่ากัมพูชาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ดังนั้นหากไม่เข้าใจเหตุผลที่แท้จริง ปัญหาก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามาบริหาร ก็ต้องเจอกับกระแสเรื่องนี้แน่นอน
 
พวงทองกล่าวว่า ลัทธิชาตินิยมนั้นถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแบบเรียนที่เป็นความรู้พื้นฐานของการศึกษาไทย ถ้าหากจะแก้ปัญหาก็จำเป็นต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เพราะมันเป็นสิ่งผูกติดอย่างแยกไม่ออกกับลัทธิชาตินิยม เช่น เรื่องการเสียดินแดนจะสร้างความเจ็บปวดมากมาย แต่ถ้าหันกลับมาดูเรื่องการเป็นเอกราชในประเทศเดียวในแถบนี้ ก็จะทำให้คนไทยรู้สึกเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ปิดกั้นไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอดเวลา
 
ดร.พวงทอง กล่าวต่อว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นเรื่องของพายุอารมณ์ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายมองไม่เห็นปัญหาและบทบาทที่แท้จริงของตนเอง นอกจากนั้นทรรศนะของผู้นำทั้งสองชาติก็ต่างกัน สาเหตุที่ผู้นำกัมพูชาเชิญทักษิณเข้าไปเป็นที่ปรึกษานั้นเนื่องจากความโกรธแค้นที่ไทยคัดค้านเรื่องปราสาทเขาพระวิหารมาโดยตลอด ในขณะที่ผู้นำไทยมองว่าปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อกัมพูชาเชิญทักษิณ ชินวัตรเข้าไปเป็นที่ปรึกษา หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขความตึงเครียดก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากจะประนีประนอมกันก็ควรเปิดเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา
 
กดดันกัมพูชาด้านเศรษฐกิจ ไทยเสียผลประโยชน์มากกว่า
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กล่าวว่า สำหรับชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงเปราสาทพระวิหารมองว่าปราสาทไม่ได้สำคัญอะไรเลย หากต้องการก็ไม่รู้จะได้เพื่ออะไร แต่สำหรับชาวกัมพูชามองว่าปราสาทมีความสำคัญกับเขาเป็นอันมาก จากการพูดคุยกับนักวิชาการกัมพูชานั้นเขามองว่า การมองปัญหานี้ต้องมองจากทั้งสองประเทศว่าสาเหตุนั้นมันอยู่ที่ไหนกันแน่ ทางฝั่งไทยนั้นมีการศึกษาประวัติแบบการเลือกเอาเฉพาะอย่าง การเอาตัวเองเป็นที่ตั้งและผิดเพี้ยน เพื่อสร้างคะแนนทางการเมือง จึงต้องหยิบประเด็นบางอย่างขึ้นมาปลุกกระแสนิยมจากนั้นก็ต้องรักษากระแสนั้นเอาไว้ เพื่อไม่ให้คะแนนของตนตกแต่ถ้าหากกระโดดลงจากกระแสนี้ รัฐบาลจะต้องถูกเสือเหลืองกัด ที่กดดันเรื่องการทวงคืนเขาพระวิหารอยู่ในตอนนี้ สำหรับกัมพูชานั้น เรื่องปราสาทเขาพระวิหารทำให้สมเด็จฮุน เซ็นชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี 2551 เพราะนั่นเป็นปีเดียวกันกับการทวงคืนปราสาทพระวิหารและสามารถใช้เรื่องนี้เป็นนโยบายในการเลือกตั้งได้ และสามารถกลบปัญหาเรื่องพื้นที่ที่ติดกับที่ดินไปได้สนิท นอกจากนั้นสมเด็จฮุน เซ็นก็เป็นผู้นำกัมพูชาคนที่สองที่กล้าท้าทายอำนาจของไทยในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร
 
สุภลักษณ์กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันนักวิชาการชาวกัมพูชากล่าวว่า มันจะต้องจบลงด้วยชัยชนะของสมเด็จฮุน เซ็นเหมือนที่สีหนุเคยได้รับชัยชนะมาแล้ว ซึ่งนั่นเป็นความภาคภูมิใจของชาวกัมพูชามาก เพราะปราสาทนั้นไม่ว่าจะแตะไปตรงจุดไหนมันก็เป็นกลิ่นอายของกัมพูชา ไม่มีความเป็นไทยแม้แต่น้อย สำหรับชาวบ้านชาวกัมพูชานั้นมองว่า ทำไมคนไทยถึงต้องการครอบครองปราสาทของเขา จากประวัติศาสตร์แล้วบรรพบุรุษของไทยนั้นไม่ได้สร้างปราสาทไว้ บางครั้งการมาเข้ามาอยู่ทีหลัง ก็จำเป็นต้องยอมรับเพื่อนบ้าน
 
และมีการสำรวจความคิดเห็นเรื่องความขัดแย้งผลแสดงว่า 70-80% ของคนในกรุงพนมเปญนั้นไม่กลัวความขัดแย้ง ยกเว้นคนที่อยู่แถวชายแดน เช่น พระตะบองยังคงเหนื่อยล้าในเรื่องความขัดแย้งอยู่ และชาวกัมพูชายังมองว่าในช่วงชีวิตที่สมเด็จฮุน เซ็นเป็นผู้นำนั้น เป็นช่วงที่ไม่ต้องหนีสงครามแล้ว ดังนั้นสมเด็จฮุน เซ็น จึงเป็นผู้นำที่นำความสงบและสันติภาพมาให้กัมพูชา นอกจากนั้นความขัดแย้งนี้ยังส่งผลประโยชน์บางประการให้แก่การเมืองในกัมพูชาด้วยเพราะนั่นสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้นำกัมพูชาได้มาก
 
ในเมื่อทั้งไทยและกัมพูชาต่างได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ทั้งคู่ แม้ว่าทางฝ่ายรัฐบาลไทยอาจจะเสียเปรียบเล็กน้อยเนื่องจากเป้าหมายที่ตั้งไม่อิงกับผลประโยชน์ของชาติเท่าที่ควร ซึ่งการกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้นต้องอิงกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และรัฐบาลไทยในยุคนี้มีทักษิณเป็นแกนกลางในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศกับกัมพูชาคือการพยายามถอดทักษิณออกจาการเป็นที่ปรึกษาของกัมพูชาและนำกลับประเทศให้ได้ ซึ่งการนำทักษิณกลับมานั้นมันอาจจะไม่มีประโยชน์ทางการเมืองต่อประเทศเลย แต่มันเป็นผลประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประโยชน์ของพันธมิตรฯ และเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เกลียดทักษิณ แต่ในส่วนของคนที่รักทักษิณนั้นอาจมองว่าการเป็นที่ปรึกษาต่างประเทศของทักษิณนั้นเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และไม่มีเหตุผลที่จะต้องนำตัวทักษิณกลับมาเนื่องจากทักษิณช่วยประเทศเพื่อนบ้านในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร สำหรับชาวกัมพูชาเสียงของฝ่ายค้านนั้นเพียงไม่กี่เสียงในสภา ดังนั้นการสร้างความแตกแยกให้แก่กัมพูชาจึงเกิดขึ้นค่อนข้างยาก
 
สุภลักษณ์มองว่าหลายประเด็นที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายผิดพลาด เช่น เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นรัฐบาลเรียกทูตไทยในกัมพูชากลับและฝ่ายกัมพูชาก็เรียกทูตกัมพูชากลับเช่นกัน ซึ่งมันเสมอกันแต่ทำให้การติดต่อระหว่างประเทศต้องอาศัยอุปทูตและเลขาฯทูตดำเนินการแทน นอกจากนั้นการใช้มาตรการในทางเศรษฐกิจสามารถทำลายเศรษฐกิจของชาติในส่วนที่กว้างขึ้น ได้แก่ การทบทวน MOU ไทย-กัมพูชาปี 2544 ซึ่งรัฐบาลทึกทักว่าทักษิณได้ผลประโยชน์มากมายจาก MOU แต่ทักษิณไม่ใช่องค์สำคัญในสนธิสัญญานี้ ดังนั้นการยกเลิก MOU จึงไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ต่อทักษิณเลย ซึ่งทำให้เสียเวลา เสียโอกาส และเสียเศรษฐกิจ
 
นอกจากนั้นยังมีเรื่องสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,400 ล้านที่รัฐบาลไทยมีทีท่าว่าจะยกเลิกแต่สมเด็จฮุน เซ็นกลับยกเลิกสัญญาก่อน เนื่องจากเงินกู้ของไทยมีเงื่อนไขคือ ไทยต้องได้สัมปทานและต้องซื้อสิ้นค้าไทยไม่ต่ำกว่า 80% และทำให้สมเด็จฮุน เซ็นหันไปกู้เงินจากจีนแทน ซึ่งทำให้ไทยเสียผลประโยชน์เนื่องจากนั่นไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข และเสียผลประโยชน์จากการเก็บดอกเบี้ย ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยต่อกัมพูชาไม่ได้ผล เนื่องจากกัมพูชามีตัวเลือกมากมายในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กรณีที่ทักษิณจะเป็นที่ปรึกษาให้กับฮุนเซ็น สำหรับประเทศอื่นๆ ก็มีผู้นำต่างชาติเป็นที่ปรึกษาเช่นกัน
 
สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า สมเด็จฮุน เซ็น เคยกล่าวว่า ไทยและกัมพูชาจะคืนดีกันได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์หมดอำนาจ และมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาทำงาน เมื่อนั้นเราจะเริ่มส่งทูตกันใหม่ ส่วนการจะให้อาเซียนไกล่เกลี่ยความขัดแย้งให้นั้นสำหรับไทยคงไม่มีทางเกิดขึ้น
 
“เมื่อวานคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) กล่าวว่า คงต้องปล่อยให้เป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ ผมแทบจะจบข่าวเลยครับ” สุภลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย
 
ประเทศไทยมีโฆษณาชวนเชื่อเต็มไปหมด
จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงไม่ได้รู้มากนักเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่พอมีอารมณ์ร่วมกับประเด็นความขัดแย้งไทยกับกัมพูชาอยู่บ้าง ประเด็นแรกคือ เหมือนเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอายที่จะต้องมาทะเลาะกันไปมาแบบนี้ ต่อมาประเด็นที่สอง มองว่าประเทศไทยเปิดพื้นที่ให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพเอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในเวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเด็นต่อมา มองว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ควรจะขอโทษเพื่อนบ้าน ในตอนนี้เป็นยุคแห่งการขอโทษกัน เช่น รัฐบาลออสเตรเลียก็ขอโทษเด็กๆ ผิวสีที่ถูกพรากจากอกพ่อแม่ไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง เพื่อทำให้เขากลายเป็นคนที่มีวัฒนธรรมแบบคนขาว ประเด็นต่อมาคือ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับไทย กัมพูชา แต่เป็นปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง เพราะเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารนั้น หากไม่มีประเด็นทางการเมืองภายในไทยคงไม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา
 
จอน เสนอว่า หากใครได้รับอีเมลลูกโซ่ที่ส่งมาเกี่ยวกับเรื่องการเป็นสมาชิก Hotmail นั้นจะเห็นได้ว่าสำหรับประเทศไทยตอนนี้มีโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางสื่อกระแสหลักที่ชูประเด็นโฆษณาชวนเชื่อ เขาตั้งคำถามว่า เราควรจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และเราควรทำอย่างไรเพื่อให้มีสื่อทางเลือกที่เข้มแข็ง นั่นเป็นสิ่งที่ควรปรึกษาหารือกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net