Skip to main content
sharethis
   
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์กรณีการหายไปของนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ส่งผลต่อคดีสำคัญ เรียกร้องความรับผิดชอบต่อชีวิตความปลอดภัยพยานทั้งหมด โดยระบุว่า นายอาบูคารีได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา เขาเป็นหนึ่งในพยานในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 10 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันซ้อมทรมานลูกความของทนายสมชาย นีละไพจิตร ในคดีปล้อนปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2547 ซึ่งแม้ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็ส่งผลเสียหายต่อคดีและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งของความเชื่อของประชาชนที่ว่า การไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด
 
ทั้งนี้ นายอาบูคารีเป็นพยานอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษมาโดยตลอด และได้เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวมุสลิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และยังไม่ได้เดินทางกลับบ้านพักภายใต้การดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษจนกระทั่งได้มาหายตัวไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งพบว่าการเดินทางไปพื้นที่ภาคใต้หรือภูมิลำเนาไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองพยานซึ่งเป็นระเบียบ ที่ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องรักษาความปลอดภัยให้พยานตามกฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา รายงานว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกรณีมีข่าวว่า นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี อายุ 25 ปี พยานปากคำสำคัญคนดังกล่าวแล้ว พร้อมรายงานด้วยว่าแหล่งข่าวระดับสูงในดีเอสไอระยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีหลักฐานว่าถูกอุ้ม

 
แถลงการณ์
กรณีการหายไปของนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ส่งผลต่อคดีสำคัญ
เรียกร้องความรับผิดชอบต่อชีวิตความปลอดภัยพยานทั้งหมด
 
            มีรายงานข่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552 นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ได้หายตัวไป ขณะที่เดินทางจากร้านน้ำชากลับบ้านพักที่อยู่ไม่ไกลกันนักในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยญาติได้แจ้งความเกี่ยวกับการหายตัวไปของพยานดังกล่าวไว้ที่สถานีตำรวจระแงะ เพื่อให้ติดตามแล้ว
นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารีเป็นหนึ่งในพยานในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งข้อหาและสอบสวนนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 10 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันซ้อมทรมานลูกความของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนที่ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ให้รับสารภาพ โดยขณะนี้สำนวนคดีซ้อมทรมานดังกล่าวอยู่ในระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
            นายสมชาย หอมลออ ทนายความและประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวว่า “จากการติดตามข้อมูลในพื้นที่และจากรายงานข่าว แม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการหายตัวไปของนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ก็ตาม แต่การหายตัวไปของพยานในคดีสำคัญที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง และทั้งยังเป็นพยานที่อยู่ในการคุ้มครองพยานของทางราชการเช่นนี้ จะส่งผลเสียหายต่อคดีและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งของความเชื่อของประชาชนที่ว่า การไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด (Impunity) โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาดำเนินคดีเพื่อรับโทษตามกฎหมายนั้นยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทย”
 คดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีปล้นปืน ได้แก่คดีการถูกบังคับให้หายไปของคุณสมชาย นีละไพจิตร และคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนเพื่อให้รับสารภาพเ ป็นคดีสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่งผลในทางลบต่อหลักนิติธรรมของไทยอย่างร้ายแรง หากรัฐบาลไทยไม่สามารถสะสางคดีดังกล่าวและไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมว่าจะเที่ยงธรรมและรวดเร็ว สามารถให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนไทยทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์ อย่างเสมอหน้ากันไม่เลือกปฏิบัติ โดยเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนได้แล้วนั้น รัฐและสังคมไทยไทยก็คงต้องยอมรับความล้มเหลวและความพ่ายแพ้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
            เมื่อปีพ.ศ.2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรเป็นคดีพิเศษ และต่อมาได้ทำสำนวนคดีผู้ต้องหาคดีปล้นปืนลูกความของทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกซ้อมทรมานส่งให้คณะกรรมกาปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิด ซึ่งอาจจะส่งผลให้นายตำรวจจำนวน 10 นายถูกฟ้องต่อศาลในคดีอาญา ในระหว่างที่ถูกไต่สวนความผิดโดย ปปช.อยู่นี้ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 นายตำรวจระดับนายพลสองท่าน ได้ยื่นฟ้องหนึ่งในพยานคดีดังกล่าว คือนายซูดือรือมัน มาและ หนึ่งในพยานคดีซ้อมทรมานฯ ในข้อหาความผิดต่อเจ้าหน้าที่ ต่อศาลอาญากรุงเทพเป็นสองคดี ศาลอาญากรุงเทพได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายซูดือรือมัน มาและไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนพ.ศ. 2552 อีกคดีหนึ่งศาลอาญากรุงเทพเลื่อนการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องคดีไปเป็นเดือนมีนาคมพ.ศ. 2553 นอกจากนั้นยังปรากฎว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พยานผู้เสียหายจำนวนหลายคนที่เป็นผู้ถูกซ้อมทรมานและครอบครัวอยู่ภายใต้การกดดันข่มขู่ต่อรองและถูกคุกคามตลอดมา
            แม้ว่านายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี จะไม่ได้ถูกฟ้องร้องโดยกลุ่มนายตำรวจระดับสูงดังกล่าว แต่นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี นายซูดือรือมัน มาและ นายมะนาเซ มานะ เป็นกลุ่มพยานที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษมาโดยตลอด นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารีได้เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวมุสลิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และยังไม่ได้เดินทางกลับบ้านพักภายใต้การดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษจนกระทั่งได้มาหายตัวไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งพบว่าการเดินทางไปพื้นที่ภาคใต้หรือภูมิลำเนาไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองพยานซึ่งเป็นระเบียบที่ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องรักษาความปลอดภัยให้พยานตามกฎหมาย
 
นายสมชาย หอมลออ ยังกล่าวต่อไปว่า “ดังนั้นจึงขอเรียกร้องรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยาน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่ทำหน้าที่ไต่สวนคดีซ้อมทรมานที่นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี รอที่จะไปเป็นพยานเบิกความในศาลอยู่หลายปีแล้วจนกระทั่งหายตัวไปดังกล่าวนี้ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยขอให้รัฐบาล กรมสอบสวนคดิเศษ และหน่วยงานความมั่นคงต้องสืบสวนสอบสวนเรื่องการหายไปของพยานรายนี้อย่างเร่งด่วนแล้วแถลงให้ประชาชนทราบ ให้ปรับปรุงและจัดสรรงบประมาณและกำลังคนในการคุ้มครองพยานให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง ให้ ปปช. เร่งรัดการไต่สวนคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนซึ่งค้างอยู่ที่ ปปช.มาสองปีแล้วโดยเร็วเพื่อไม่ให้คดีต้องเสียหายไปมากกว่านี้”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net