Skip to main content
sharethis
 
 
ชื่อเดิม: เกือบ 2 ทศวรรษ แรงงานข้ามชาติ เด็กต่างชาติในประเทศไทย
ยังถูกละเลย เพิกเฉย ถูกคุกคามสิทธิความเป็นมนุษย์
 

"A World on the Move: Human Rights for Migrants"
โลกจักขับเคลื่อนเต็มพลัง แรงงานสร้างสรรค์สังคมไทย :
สิทธิแรงงานข้ามชาติ คือ สิทธิมนุษยชน
  
วันที่ 18 ธันวาคม ปี 1990 องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ.1990 (INTERNATIONAL CONVENTION ON THE PROTECTION OF THE RIGHTS OF ALL MIGRANT WORKERS AND MEMBERS OF THEIR FAMILIES 1990) ขึ้นมา เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และการเป็นแรงงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกและประเทศต่างๆ
 
ในทุกวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์กรที่ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงแรงงานข้ามชาติ และครอบครัวผู้ติดตาม ซึ่งเป็นประชากรผู้ย้ายถิ่นจากประเทศต้นทาง ได้จัดกิจกรรมเชิงรณรงค์ สร้างความเข้าใจ ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวันดังกล่าว ที่จะเป็นเวทีสะท้อนถึงปรากฏการณ์ปัญหาที่แรงงานเผชิญจากสภาพการทำงาน การเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ ข่มแหง กระทั่งถูกค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
 
 
ทำอย่างไรสังคมไทย หรือคนในสังคมโลก จะตระหนักรู้ รับผิดชอบร่วมกัน ให้การคุ้มครองแรงงานทุกคนที่ย้ายถิ่นเพื่อการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า มีความต้องการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน การบริการที่ดีจากรัฐ การได้รับคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน
 
นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ประเทศไทย คุ้นชินกับคำว่า “แรงงานต่างด้าว” หรือ “แรงงานข้ามชาติ” ที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า กัมพูชา และลาว นอกจากนั้นยังมี จีน เวียดนาม ปากีสถาน เนปาล เป็นต้น แต่เรื่องราวที่จะนำเสนอหลักๆ จะเป็นปรากฏการณ์ สถานการณ์ปัญหาที่มาจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านข้างต้น
 
นับย้อนไปในแต่ละปีย้อนหลังประมาณ ปี 2547 เป็นต้นมาที่รัฐบาลไทยมีนโยบายแบบก้าวหน้าเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติ บุตร และผู้ติดตาม สามารถจดทะเบียนราษฎรต่างด้าว (ทร. 38/1) กับกระทรวงมหาดไทย สำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถขอใบอนุญาตทำงานต่อกระทรวงแรงงานได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ และซื้อประกันสุขภาพ จากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนบางแห่งที่เข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ( 30 บาทรักษาทุกโรค) ได้ แรงงานข้ามชาติทุกคนที่มีนายจ้าง เกิดสภาพการจ้าง ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีการปรับปรุงใหม่ในปี 2551 และภายหลังวันที่ 5 เดือนมิถุนายน 2551 กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ก็ประกาศใช้ ซึ่งมีผลครอบคลุมคนทุกคนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก สตรี ที่อยู่ในและนอกราชอาณาจักรไทย ได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายนี้ รวมรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังมีแนวปฏิบัติร่วมกันหรือมีบันทึกข้อตกลงร่วมกันในภูมิภาคของประทศไทย และ ประเทศเพื่อนบ้านด้านการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 รัฐบาลไทยมีแนวปฏิบัติการจัดการศึกษาแก่เด็กไร้สัญชาติ เด็กต่างชาติทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนของรัฐบาลได้
 
 
นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) เพียงแค่จำนวน 14 ฉบับ จากจำนวนทั้งสิ้น 188 ฉบับ ทำให้หลายองค์กร หลายหน่วยงาน อาทิ องค์การสภาลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย , องค์การสภาลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย , องค์การสภาลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์แห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย , สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าฯ , สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย , กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก , กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ , สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ ยานยนต์แห่งประเทศไทย (TEAM) , เครือข่ายสหภาพแรงงานสากลในประเทศไทย (UNI-TLC) , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมไปถึงสหภาพแรงงาน , องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน , สภาองค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงานต่างๆ ได้พยายามที่จะผลักดัน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลัก 2 ฉบับ ในทั้งหมด 8 ฉบับ ที่ประเทศสมาชิกของ ILO ต้องให้สัตยาบันรับรอง (Core Labour Standard) อนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของพวกเราพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวร่วมเจรจาต่อรอง แต่รัฐบาลไทยยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากนัก ต้องขับเคลื่อนผลักดันต่อไป
 
ทั้งหมดทั้งปวง ของกฎหมายไทยด้านการคุ้มครอง และสัตยาบันอนุสัญญาต่างๆ ที่สำคัญยังประโยชน์สูงสุดให้กับแรงงานทุกคนในประเทศ รัฐไทยจะให้ความสำคัญแค่ไหน อย่างไร ซึ่งต้องหันกลับมาดูว่า โดยนโยบายรัฐจะคุ้มครองแรงงานในทางปฏิบัติตามเจตนาหรือไม่ เมื่อแรงงานประสบปัญหา การถูกละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และความปลอดภัยในการทำงาน ได้พยายามแก้ไขปัญหาและบังคับใช้กฎหมายไปยังผู้กระทำผิดกฎหมาย อาทิ นายจ้าง ผู้ประกอบการ นายหน้ารับเหมาช่วง นายหน้าเหมาค่าแรงงาน นายหน้าคนไทย และต่างชาติที่คอยแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ ได้จริงแท้ อย่างไร
 
 
ดังนั้น ปัญหาเดิมๆ ที่ย่ำรอยเดิม แรงงานข้ามชาติต้องถูกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้รัฐบาลไทยต้องฉุกคิดว่า วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายอะไรบ้าง เริ่มจาก
 
1) การเปิดรับทำประวัติเด็กต่างชาติ และผู้ติดตาม โชคดีที่รัฐบาลไทย ปัจจุบันอนุญาตให้ทำประวัติบุตรคนต่างด้าว แต่โชคร้ายคือยังไม่ได้คลอบคลุมกลุ่มเด็ก ผู้ติดตามทั้งหมด จึงเกิดช่องว่างให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายแสวงหาผลประโยชน์ คุกคาม จับกุมเด็กต่างชาติ ทั้งๆ ที่ทราบว่าเด็กเหล่านี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทำประวัติกับกระทรวงมหาดไทย เพราะหากไม่ดำเนินการเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะถูกเพ่งเล็งเรื่องการใช้แรงงานเด็ก หนำซ้ำเป็นเด็กที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ให้การรับรองมากขึ้น กรณีนี้ รัฐพึงต้องคุ้มครองคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายรัฐ รัฐบาลไทยต้องปกป้องดูแลเทียบเท่า หรือใกล้เคียงกับประชากรไทยทั้งปวง
 
2) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังไม่ครอบคลุมกับกลุ่มเด็กต่างชาติ แม้ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะรับรู้ปัญหาตลอดมา พยายามผลักดันให้เกิดการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Health for All) แต่ก็ไม่ได้ผลักดันเป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าที่ควร ในทางปฏิบัติสถานพยาบาลบางแห่ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีอคติเชิงลบ มองเด็กต่างชาติ แรงงานข้ามชาติเป็นบุคคลที่รัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เป็นผู้นำพาโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย หากรัฐไทยไม่สามารถบริหารจัดการให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการการตรวจสุขภาพ การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ อุบัติการณ์โรคต่างๆ ก็ย่อมไม่สามารถป้องกันได้ในอนาคต ตัวอย่างอย่างง่ายคือ โรควัณโรคที่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นเพราะเราไม่สามารถเข้าถึงการแก้ไขปัญหาได้จริงๆ จังๆ
 
3) แรงงานเด็กต่างชาติที่มาแทนแรงงานเด็กไทย ก็ยังปรากฏภาพให้เห็นทุกวัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงทะเล ในกิจการขนาดเล็ก เช่น ในงานขนถ่ายสนค้า แพปลา ล้งต่างๆ กระทรวงแรงงานตระหนักเรื่องนี้ดี เพราะมีประเด็นเรื่องการกีดกันสินค้าจากอมริกาตั้งแต่ปี 2551 มีรายงานการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ในกิจการประมง กิจการต่อเนื่องจากประมง ทำให้ต้องมารณรงค์ป้องกันการใช้แรงงานเด็ก ให้ความสำคัญในอนุสัญญาฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการมใช้แรงงานเด็ก (Worst Forms of Child Labour Convention, 1999) ที่สำคัญผู้ประกอบการจะตระหนักรับผิดชอบหรือไม่ ต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
 
 
4) แม้ว่าเด็กต่างชาติจะมีโอกาสเข้าเรียนในระบบโรงเรียนของรัฐตามนโยบายที่ดีของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า โรงเรียนของรัฐหลายๆ แห่ง และโรงเรียนในสังกัดหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ก็ไม่ได้ใส่ใจยอมรับ ซ้ำยังมีทัศนคติเชิงลบต่อบุตรแรงงานข้ามชาติ ไม่ประชาสัมพันธ์ ไม่ทำงานเชิงรุก เข้าถึงการคุ้มครองเด็กเท่าที่ควร หรืออยากเข้ามาทำงานส่งเสริมโอกาสเด็กต่างชาติให้ได้เรียนในระบบโรงเรียน ส่งผลให้เด็กต่างชาติจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องหันหลังกลับไปสู่สภาพการเป็นแรงงานเด็กต่อไปตามสภาวะความแร้นแค้น ขัดสนรายได้ที่เพียงพอของครอบครัว แต่ก็ชื่นชมโรงเรียนบางแห่งที่รับเด็กต่างชาติเรียนร่วมกับเด็กไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติ
 
5) สิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่กล่าวอ้างถึงกันบ่อยครั้งว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะดูแลทุกคนที่เป็นแรงงานเท่ากันหมดไม่เลือกสัญชาติ เชื้อชาติ แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติยังถูกขีดเส้น กำหนดให้ไม่ให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ กระทั่งการเปลี่ยนย้ายงาน ก็ไม่สามารถทำได้โดยอิสระ ต้องให้นายจ้างคนเดิมแจ้งออกให้ จึงจะสามารถเปลี่ยนงานได้ ซึ่งถือได้ว่า เป็นเจตนาที่จะควบคุม ไม่คุ้มครองตามกฎระเบียบของรัฐ หากแรงงานถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากแหล่งใดๆ ได้ เขาเสมือนผู้ที่ถูกควบคุมจากนายจ้างโดยปริยาย สิทธิต่างๆ ย่อมถูกกระทำให้เลือนหายไป
 
6) แรงงานข้ามชาติ ขาดการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ ถูกมองว่า เป็นแรงงานราคาถูก ตั้งให้อยู่ในอาชีพกรรมกร ในประเภทกิจการต่างๆ และคนรับใช้ในบ้านเท่านั้น การเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านอื่นๆ มีน้อยมาก ทัศนะของนายจ้างคือ การลงทุนน้อย สร้างผลกำไรมาก กดขี่ข่มแหงไว้ไม่ให้มีปากเสียง สกัดการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง เจรจาต่างๆ บ่อยครั้งที่นายจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมจัดการโดยการจับกุม ส่งกลับไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน ดังนั้น การส่งเสริมบทบาทให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองก็เป็นประเด็นสำคัญ ไม่ต่างกับการส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติรวมกลุ่มสร้างสรรค์เข้าสู่การเป็นสมาชิกภาพในสหภาพแรงงาน หรือจำเป็นถึงเวลาที่จะให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสภาพแรงงานของตนเองได้ เพราะสถานประกอบการบางแห่ง มีแรงงานข้ามชาติเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกรอบของกฎหมาย
 
7) แรงงานข้ามชาติ ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งด้านแรงงาน ผู้หญิง และเด็กมากขึ้น ในขณะที่มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านการป้องกันการถูกหลอกลวงแรงงาน การถูกค้ามนุษย์อยู่เนืองๆ แต่ด้วยกระบวนการที่เข้าข่ายการเป็นองค์กรอาชญากรรม ความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น กระบวนการนายหน้าแสวงหาผลประโยชน์ทำกันเป็นเครือข่ายโยงใยทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างชาติสมรู้ร่วมคิดกัน ปัญหาด้านการค้ามนุษย์จึงไม่ได้ลดลง ผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ต้องใช้กระบวนการที่ยาวนาน แรงงานไม่ได้ส่งเสริมให้ทำงานได้ระหว่างการคุ้มครอง ดำเนินการเอาผิดจากผู้กระทำผิดอย่างเป็นรูปธรรม แรงงานหลายคนจำต้องหลบหนีไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ ประเด็นนี้ก็สำคัญยิ่งที่รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการดังกล่าวตามที่เขียนไว้ในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2551 ที่ให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถทำงานได้
 
8) การพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 และวันที่ 9 ธันวาคม 2551 เพื่อเป็นการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังหลังเดือนกรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีตัวแปรหลายประการ อาทิ แรงงานข้ามชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ (มอญ กระเหรี่ยง ทะวาย ไทยใหญ่ ฯลฯ) หรือแรงงานที่เป็นสัญชาติพม่าโดยแท้บางคนไม่ต้องการเข้าสู่ระบบนี้ เพราะไม่ต้องการการตรวจสอบจากรัฐบาลพม่า ไม่แน่ใจว่าทางการพม่าจะคุ้มครองประชากรของตนเองอย่างไร ประเด็นปัญหาต่อมาคือ การดำเนินการบางขั้นตอนต้องไปใช้บริการบริษัทนายหน้าที่เรียกรับการจัดการที่ราคาสูงเกินจริง นายจ้าง หรือนายหน้าในบริษัททำงานของแรงงานบางแห่งกึ่งบังคับหักเงินโดยแรงงานข้ามชาติไม่สมัครใจ จึงเกิดปรากฏการณ์ในจังหวัดสมุทรสาครว่า แรงงานข้ามชาติจำนวนมากทยอยเดินทางกลับประเทศต้นทาง นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลไทยได้ขีดเส้นตายว่า ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 หากแรงงานคนใดไม่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ต้องถูกผลักดันกลับ ในขณะที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติทางฝั่งประเทศพม่า 3 จุด สามารถดำเนินการได้เพียงจุดละ 200 คนต่อวัน ดังนั้น ไม่มีทางว่าจะสามารถดำเนินการได้หมดทุกคน ข้อเสนอคือ รัฐบาลต้องปรับนโยบายใหม่เรื่องการพิสูจน์สัญชาติ หรือ การปรับสภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาถูกกฎหมายใหม่ และให้แรงงานข้ามชาติมีทางเลือกมากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ปัญหาเก่ายังสะสางไม่เสร็จ (ผู้ตกการจดทะเบียนแรงงานไม่ทันในรอบที่แล้ว) ปัญหาใหม่เข้ามาท่วมตัว แรงงานข้ามชาติจึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในเวลานี้ การขยายเวลาออกไปอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การสร้างทางเลือกที่กำหนดโดยรัฐบาลไทย และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม หน่วยงานพัฒนาเอกชน กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ แรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาน่าจะเป็นแนวทางการแสวงหาความร่วมมือที่ดี
 
สุดท้าย การพัฒนาความร่วมมือระดับอาเซียนยังคืบคลาน เชื่องช้า เพราะยังไม่ได้กล่าวถึงกันมากนักว่า จะคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายของประเทศปลายทางได้อย่างไร ส่วนใหญ่จะพูดถึงแรงงานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะสามารถขยับขับเคลื่อนประเด็นที่เปราะบาง อ่อนไหว อย่างไรต่อไป ส่วนใหญ่แต่ละประเทศจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมในภูมิภาค แต่ไม่พูดถึงการคุ้มครองแรงงานมาก เหนือส่งอื่นใดที่ละเอียดอ่อนคือ ประเด็นการทับซ้อนเรื่องการเมืองในและนอกประเทศของกันและกัน ในเวลานี้จึงไม่ขอคาดหวังในระดับอาเซียนมากนัก ขอแค่ว่า วันนี้เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล หรือวันแรงงานย้ายถิ่นสากล หรือวันไหน ขอให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติทุกคน เด็กต่างชาติมีตัวตน มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงสิทธิ แสดงวัฒนธรรม ห่วงแหนประเพณีงดงามของตนเอง รัฐต้องเปิดกว้างเพื่อทำให้สามารถบริหารคุ้มครองแรงงานได้อย่างเป็นระบบ ไม่ถูกละเลย เพิกเฉย และถูกคามสิทธิความเป็นมนุษย์ ในฐานะที่แรงงานข้ามชาติเป็นฟันเฟืองใหญ่ในการพัฒนาเมืองไทยในยุคของความขัดแย้งทางการเมืองของคนไม่กี่คน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net