Skip to main content
sharethis

ดูเหมือนว่าดีกรีความร้อนแรงของการเจรจาแก้ปัญหาโลกร้อนที่สวนทางกับอากาศที่หนาวเหน็บที่โคเปนเฮเก้นอยู่ในเวลานี้ กำลังเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกว่า ผลของการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะเป็นเช่นไร


สุดท้ายประเทศยักษ์ใหญ่ที่พัฒนาแล้ว เรารู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน จะมีท่าทีเช่นไร และประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจนจะตกเป็นเหยื่อต่อไปอีกหรือไม่ ทำให้การประชุมเวทีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่
15 ที่จัดโดยสหประชาติ ณ กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์กตั้งแต่วันที่ 7-18 ธันวาคมเวลานี้ ที่มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ จาก 192 ประเทศร่วมประชุม นับเป็นการประชุมเรื่องโลกร้อนครั้งใหญ่ที่สุด เพราะนอกเหนือจากตัวแทนของภาครัฐ ภาคธุรกิจแล้ว ยังมีตัวแทนภาคประชาชน-ประชาสังคมมารวมตัวกันนับหมื่นคน เพื่อติดตามการเจรจาแก้ปัญหาโลกร้อน หรือที่เรียกกันว่า COP 15 ที่ร่างโดยรัฐบาลเดนมาร์ก (Copenhagen Agreement หรือ Danish Text) และโดยหวังว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะไม่ใช่เป็นเวทีที่มีแต่พ่อค้า และนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงประชาชนคนเล็กๆ ด้วยที่จะต้องมีสิทธิ มีส่วนในการตัดสินใจต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน

การประชุมครั้งนี้ สิ่งที่หลายฝ่ายพุ่งความสนใจคือ จุดยืนของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน และมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนบนจุดยืนที่แตกต่างหลากหลายจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่ เพราะขณะนี้ท่าทีหลักๆ ของแต่ละกลุ่มประเทศนั้นไม่เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศยากจน ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกานั้นพยายามหลบเลี่ยงมาตลอดที่จะร่วมลงนามให้ให้สัตยาบันใน พิธีสารเกียวโต ที่มีมาตั้งแต่ปี 2540 ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบางส่วน เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปได้ลงนามไปแล้ว

พิธีสารเกียวโต เกิดขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีการลงนามกันที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 พิธีสารดังกล่าวว่าไปก็เหมือนกฎหมายลูกที่จะบังคับให้ประเทศที่ร่วมลงนามจะต้องปฏิบัติตาม โดยกำหนดให้ประเทศที่ลงสัตยาบัน จะต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ไอน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 5.2 จากระดับที่เคยปล่อย ซึ่งจะต้องดำเนินการให้สำเร็จระหว่างปี 2551-2555


ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้นจะไม่ถูกบังคับให้ต้องลดภาวะเรือนกระจก แต่อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถมีส่วนร่วมให้การทำให้บรรยากาศของโลกดีขึ้นด้วยเข้าร่วมอย่างสมัครใจทำ “กลไกการพัฒนาที่สะอาด” หรือ CDM ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังเป็นคำถามของประเทศกำลังพัฒนาแล้วว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวยังมีลักษณะการค้า และการตลาดมากกว่า เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ หรือที่เรียกกันว่าการซื้อ เครดิตคาร์บอน


จึงอาจกล่าวได้ว่าท่าทีของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนต่อพิธีสารเกียวโตนั้น แม้จะเห็นด้วยกับพิธีสารเกียวโต ในส่วนที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีส่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ก็ไม่เห็นด้วยในเรื่อง กลไกการพัฒนาที่สะอาด ที่ทำให้เกิดการซื้อขายเครดิตคาร์บอน เพราะมองว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เป็นเรื่องของการค้า และการตลาด แต่เป็นเรื่องที่ประเทศที่ปล่อยมลภาวะสู่อากาศต้องแสดงความจริงใจในการรับผิดชอบ และไม่ใช่การโยนภาระให้คนอื่น

 

ในส่วนของการประชุมที่โคเปนเฮเก้น มีตัวแทนประชาสังคมไทยที่เข้าร่วมแสดงจุดยืนของภาคประชาชน-ประชาสังคม ที่อาจจะแตกต่างจากจุดยืนของรัฐบาล ภาคประชาสังคม อาทิ ตัวแทนจากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินต.เขาหินซ้อน เครือข่ายเครือข่ายป่าไม้และปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายชนเผ่า เป็นต้น


จุดยืนของเครือข่ายประชาสังคมไทยที่เสนอต่อรัฐบาล คือ การสนับสนุนท่าทีในกลุ่มจี 77 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ) คือ พยายามรักษาพิธีสารเกียวโตไว้ แต่ต้องกำหนดเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโตด้วยการลดภาวะเรือนกระจกอย่างจริงจังในช่วงพันธะกรณีที่สอง


อย่างไรก็ดีในส่วนของพิธีสารเกียวโตที่ยังต้องติดตาม และทางเครือข่ายประชาสังคมไทยให้ความเป็นห่วงคือ กรณีการซื้อขายเครดิตคาร์บอนนั้น ทางคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ได้ตอกย้ำกับตัวแทนรัฐบาลไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า การลดภาวะก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ใช่การซื้อขายเครดิตอย่างที่เป็นอยู่ แต่จะต้องเน้นกิจกรรมที่จะนำปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย และคำนึงผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และสิทธิของชุมชนที่อยู่ในป่าด้วย

สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนแต่ละประเทศล้วนเต็มไปด้วยการใช้ตลาดเข้ามาเป็นเงื่อนไขกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่แก้ปัญหาที่แท้จริง เช่น REDD CDM นิวเคลียร์ และพลังงานถ่านหิน “สะอาด” มิหนำซ้ำอาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอย่างต่อเนื่อง อยากฝากไปยังรัฐบาลไทย การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการที่มีผลในการทำลงนามข้อผูกพัน ซึ่งอาจจะต้องยึดรัฐธรรมนูญ 190 ก่อนที่จะมีการลงนามด้วย

 

ข้อที่น่าสังเกตของการประชุมโลกร้อนในครั้งนี้ และเป็นอีกเหตุหนึ่งเครือข่ายประชาสังคมไม่ค่อยพอใจคือ การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนของเครือข่ายประชาสังคมไทยมีความเห็นว่า คณะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนไทยมาเข้าร่วมสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาลไทย และร่วมสะท้อนความเห็นประกอบท่าทีและจุดยืนของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านไทยไม่สามารถเข้าไปรับฟังในห้องประชุมใหญ่ได้ เนื่องจากตั้งแต่วันพุธ (9 ..) มีการปิดห้องประชุมใหญ่เป็นระยะๆ ไม่ให้ตัวแทนภาคประชาสังคมเข้า และรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเดนมาร์ค ประธานการประชุมครั้งนี้ยังมีความพยายามจัดการประชุมแบบไม่เป็นทางการกับรัฐบาลบางประเทศในลักษณาการที่คล้ายกับห้องเขียวในการประชุมองค์กรการค้าโลกที่มีการประชุมล๊อบบี้วงเล็กเพื่อผลักดันข้อเสนอของรัฐบาลอุตสาหกรรมซึ่งมีอำนาจมากกว่า น่าแปลกใจว่าการประชุมเพื่อรักษาโลกไม่ให้เดินหน้าสู่หายนะ กลับใช้กระบวนการปิดประตูตีแมวแบบการประชุมองค์กรการค้าโลกที่เป็นเรื่องการแย่งชิงผลประโยชน์การค้าระหว่างกัน โดยที่ก่อนหน้านี้มีการรั่วไหลของร่างข้อตกลงผลการเจรจา COP 15 มีสาระหลักที่ทำลายหลักการสำคัญว่าด้วยความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ ตามพิธีสารเกียวโต ที่พยายามดึงเอาประเทศกำลังพัฒนามาร่วมผูกพันลดก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย และหลายประการมีความโน้มเอียงข้างประเทศอุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนคณะทำงานฯ อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่าแม้ว่าทางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวยนำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะมีความพยายามหลบหลีกจากภาระปัญหาที่ตนเองก่อมาในประวัติศาสตร์ ประชาชนไทยก็หวังอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไทยไม่ตกหลุมพรางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ที่พยายามผลักดันให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องมีพันธะกรณีตามกฎหมาย เร่งขยายตลาดคาร์บอน และนำเอาภาคป่าไม้และเกษตรมาทำคาร์บอนเครดิตขายในตลาด ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยปฏิเสธความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก หากแต่เราต้องมีการตั้งเป้าหมายการลดที่สอดคล้องกับความพร้อม สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความเป็นธรรมในสังคม


คำถาม คือการเจรจาแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเก้นเวลานี้ จะทำให้เกิดการเจรจาที่เกิดความเป็นธรรม และแก้ปัญหาโลกร้อนที่มีพื้นฐานอยู่บนความจริงใจ ไม่ใช่ผลประโยชน์ได้อย่างไร สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความกังวลคือ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศจี 77 คือ ความพยายามในการล้มพิธีสารเกียวโตของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อปัดความรับผิดชอบต่อการเป็นก่อภาวะโลกร้อน ในขณะที่นายบัน ดี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ นั้นกลับตั้งความหวังว่า ที่ประชุมจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองในการจัดทำสนธิสัญญาที่ผูกมัดทางกฎหมายในการลดภาวะเรือนกระจกทั้งของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา และหวังจะระดมเงินให้ได้ 10,000 ล้านดอลลาร์สำหรับช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการลดภาวะเรือนกระจก ก่อนที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2555

 

คงต้องติดตามดูในเวทีการเจรจาของตัวแทนรัฐบาลจากทั่วโลก ในอีกไม่กี่วันนี้ รวมถึงท่าทีของรัฐบาลไทยที่รับข้อเสนอของภาคประชาชน-ประชาสังคมไทยไปแล้ว.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net