Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การต่อสู้ทางการเมืองในสมัยปัจจุบัน  เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปลักษณ์ต่างๆ และที่สำคัญคือ มีสงครามทางความคิดอุดมการณ์ ที่ไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อยึดอำนาจเท่านั้น แต่มุ่งยึดพื้นที่ทางความคิดในหัวสมองของประชาชน ว่าจะเห็นด้วยกับฝ่ายใด

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางหลักการความคิดระหว่างประชาธิปไตยกับความคิดอำมาตยาธิปไตย หาได้มีเพียงมิติการต่อสู้การเมืองด้านกว้างระดับบนเพียงอย่างเดียวไม่ ยังมีหลากหลายมิติทั้งระดับปัจเจกชน และระดับการจัดการองค์กร ว่าเป็นไปในลักษณะประชาธิปไตย หรืออำมาตยาธิปไตยหรือไม่? อย่างไร?

หนึ่งในทั้งหมด  มีกรณี องค์กรประชาชนอีสาน 17 องค์กร ทำจดหมายทวงถามถึงความไม่ชอบธรรม ความไม่โปร่งใส ในการพิจารณางบโครงการด้านประชาสังคม เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) ได้ให้คณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อีสาน ทำหน้าที่เป็นกลไกพิจารณาจัดสรรงบประมาณ

และองค์กรประชาชนอีสาน 17 องค์กรมองว่า เกิดความไม่เป็นธรรมในการพิจารณา โดยกล่าวหาว่า เป็นการเล่นพรรคเล่นพวก เป็นการรวมศูนย์อำนาจ และกีดกันประชาสังคมส่วนอื่น และให้ความสำคัญกับคนในร่มเงาการครอบงำของ กป.อพช. เท่านั้น

พวกเขามองว่า งบประมาณใน พอช. นั้น เป็นภาษีประชาชน ไม่ใช่ของ กป. อพช. 

พวกเขามองว่า พวกเขามีสิทธิ ต้องการมีส่วนร่วม แม้ไม่ใช่พรรคพวกของ กป.อพช. ก็ตาม

พวกเขาจึงทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ถามถึงความโปร่งใสหรือหลักการแนวคิดธรรมาภิบาล หรือ Good Governance เหมือนเช่น ประเวศ วะสี และอานันท์ ปันยารชุน ที่เอ็นจีโอทั้งหลายเคารพนับถือเคยชูธงถามถึง ไม่ใช่ ตั้งกันเอง กินเอง ชงเอง และชื่นชมกันเอง (โปรดดูแถลงการณ์ องค์กรประชาชนอีสาน 17 องค์กร)

กล่าวถึงที่สุดแล้ว กระบวนการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ เป็นวิธีคิดวิธีการทำงานแบบอำมาตยาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นเพียงประชาธิปไตยแต่เพียงลมปากเท่านั้นเอง

วิธีคิดแบบประชาธิปไตยนั้น ต้องเชื่อว่า คนเราเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม และแบ่งปันกัน

กระบวนการประชาธิปไตยนั้น  กระบวนการจัดองค์กรต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ต้องยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วม วิพากษ์วิจารณ์ได้

แต่วิธีคิดแบบอำมาตยาธิปไตย  ชอบลัทธิพรรคพวก ไม่นิยมหลักการ แต่เน้นหลักกู ใช้ระบบอาวุโส เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เน้นศรัทธามากกว่าคิดเองเป็นเอง กลัวเสียหน้าหากมีการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดทั้งชอบรวมศูนย์อำนาจไม่กระจายอำนาจ และชอบลำดับขั้นสูงต่ำกว่าความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

วิธีคิดแบบอำมาตยาธิปไตย จึงเป็นภาพสะท้อนกระบวนการทำงานของเหล่าขุนนางเอ็นจีโอทั้งหลาย และย่อมตรงข้ามกับวิธีคิดแบบประชาธิปไตย

ความคิดแบบอำมาตยาธิปไตย หรือความเป็นขุนนางเอ็นจีโอนั้น บำรุง บุญปัญญา นักคิดของเอ็นจีโอภาคอีสาน เคยให้นิยามความหมาย ไว้ในบทสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา โดยวิพากษ์การเมือง...ขุนนาง NGO-9 แกนนำอัปลักษณ์ ไว้ว่า
 
“ในส่วนขบวนการเคลื่อนไหว ก็ต้องปรับ ต้องวิพากษ์ตัวเองเช่นกัน เพราะมันเกิดขุนนางเอ็นจีโอกับพวกทรยศอุดมการณ์เพื่อพี่น้องประชาชน พวกขุนนางเอ็นจีโอ ก็คือพวกเหยียบหัวพี่น้องประชาชนขึ้นไป เสวยตำแหน่ง ได้เงินค่าตอบแทน”
 
ส่วนพวกทรยศอุดมการณ์  บำรุงสรุปได้เป็นลักษณะอัปลักษณ์  9 ประการ คือ

1) เมื่อมีชื่อเสียงแล้วอิสตรีห้อมล้อมก็พัง
2) เคลื่อนไหวเพื่อให้เป็นข่าว
3) เห็นลาภ หลงลาภ ถูกชักจูงไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
4) ชาล้นถ้วย ไม่รับฟังถือว่าตัวรู้ดีหมดแล้ว
5) ผู้นำหมาหางด้วน หรือผู้นำหัวหลุด ทำอะไรไม่ปรึกษามวลชน
6) ติดลมบน ลงไม่เป็น (ลงได้แต่ไม่ยอมลง) ย้ายที่ใหม่เมื่อไม่ได้สิ่งที่หวัง
7) ไม่ยอมรับการสามัคคีวิจารณ์
8) ไม่ทันโลก ไม่ทันสังคม ยังชูป้ายเก่าหากิน และ
9) ไม่มีกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อเป็นผู้สร้าง

จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่พวกเขาขุนนางเอ็นจีโอจำนวนไม่น้อย นิยมชมชอบรัฐประหาร อนุรักษ์นิยม ร่วมประท้วงเขาพระวิหาร และชอบอะไรเหลืองๆ 

เพราะรากเหง้าทางความคิดเขาเป็นเช่นนั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net