วันแรงงานข้ามชาติสากลที่ภูเก็ต "แรงงานทั้งผอง คือพี่น้องกัน"

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 52 เวลา 13.00 น. ณ โรงแรม คาทีน่า ภูเก็ต ได้มีการจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากลขึ้นเป็นปีแรก โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ,สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ จ .ภูเก็ต เปิดงานโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีการแสดงวัฒนธรรมจากแรงงานพม่า, เวทีเสวนาการคุ้มครองสิทธิฯ มีผู้เข้าร่วมงานจากหลายภาคส่วนกว่า 100 คน

นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต  ได้กล่าวรายงานการจัดงานในวันนี้ว่า การจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากลครั้งนี้  เพื่อเป็นการเสริมสร้างการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ แรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย ได้มีการประสานการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ตามหลักสิทธิมนุษยชน”

รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ได้กล่าวเปิดงานว่า “ รู้สึกดีใจและประทับใจเป็นอย่างมากที่เห็นข้อความ ในการจัดงานในวันนี้ 'แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน' ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันของแรงงานไทยและข้ามชาติ รัฐบาลได้มีแนวนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ตามหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาคส่วนไหนต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ดังนั้นรัฐฯ จึงได้ให้โอกาสให้แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อทำบัตรอนุญาตทำงานรวมทั้งผู้ติดตามด้วย เพื่อให้มีการบริหารจัดการแรงงาน และ เพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมหวังว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นสัญณานส่งถึงรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป"

จากนั้นมีการแสดงวัฒนธรรมจากชุมชนแรงงานข้ามชาติ  และ เวทีเสวนา “วันแรงงานข้ามชาติสากล กับหลักการสิทธิมนุษยชน” โดยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ภูเก็ต , สำนักงานสาธารณสุข , นักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน, อาสาสมัครแรงงาน ภูเก็ต, ตัวแทนชุมชนแรงงานข้ามชาติ และ สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ จ.ภูเก็ต

ขณะที่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติประมงทะเล  นายโกอู ได้บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตแรงงานในประเทศไทยว่า “ผมอยู่ประเทศไทย มาแล้ว 22 ปี ผมเคยออกไปร้านตัดผม แต่โดนตำรวจจับ เพราะเดินทางออกนอกสถานที่ทำงานที่ผมทำงานอยู่  ผมมีเงินในกระเป๋าแค่ 1,700 บาท ถูกตำรวจเอาเงินไปหมดเลย แต่ละปีผมต้องเสียค่าทำบัตรอนุญาตทำงานถึง 8,000 บาท ผมเคยทำงานวันละ 20 ชั่วโมง แต่ได้รับเงินเดือนแค่ 6,000 บาท

มีแรงงานอีกหลายคนที่เวลาเจ็บป่วย ต้องซื้อยากินเอง เพราะไม่มีบัตรอะไรเลย เวลาไปหาหมอก็ถูกโดนตำรวจจับ ไปโรงพยาบาลก็ไม่รับ เราเป็นมนุษย์เหมือนกันผมอยากให้มีความเห็นใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าคนไทยหรือพม่าหรือชาติไหนๆ ก็ตาม”

ด้านนายวิจิตร ดาสันทัด ยังได้แสดงความคิดเห็นต่องานวันแรงงานข้ามชาติสากลว่า "ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานไทย เราก็เป็นลูกจ้างเหมือนกัน ผมไม่ได้แบ่งแยกความเป็นแรงงานอยู่แล้ว แรงงานทุกคนต้องมีความเสมอภาค เหมือนข้อความในวันนี้ 'แรงงานทั้งผอง คือพี่น้องกัน' ความจริงแล้วการที่แรงงานไปทำงานในอีกประเทศหนึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไปและทั่วโลก เราก็เห็นว่าแรงงานไทยก็ไปทำงานต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีแรงงานเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยของเราเช่นกัน เราก็อยากให้ประเทศที่รับแรงงานไทย ได้มีการปฎิบัติและดูแลแรงงานของเราเป็นอย่างดี ก็เหมือนกันกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย รัฐบาลก็ควรจะมีการคุ้มครองและดูแลพวกเขาตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้"

วันแรงงานข้ามชาติได้ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปี 2540 โดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักและปกป้องสิทธิจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนต่างๆของโลก ซึ่งองค์กรแรงงานและชุมชนแรงงานข้ามชาติ ทั่วโลกได้มีการจัดงานเป็นประจำทุกปี และในประเทศไทยก็ได้มีการจัดงานในหลายพื้นที่ อาทิเช่น อ.แม่สอด จ.ตาก, จ.เชียงใหม่ จ.สมุทรสาคร, จ.พังงา และ กรุงเทพฯ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท