Skip to main content
sharethis

 

ภายหลังการประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2551 และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 นั้น ในคำแถลงดังกล่าวได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และการพัฒนาระบบเกษตรกรรมไว้ในหัวข้อที่ 4.2.1.8 ดังนี้

“คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปแบบของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งการพัฒนาการเกษตรในรูปของสหกรณ์การเกษตร”

ต่อมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ติดตามผลการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลกำหนดแนวทางและจัดตั้งกลไกการทำงานร่วม จนกระทั่ง นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งระเทศไทย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/ 2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 และจัดการประชุมครั้งแรกในวันที่ 11 มีนาคม 2552 โดยให้ความเห็นชอบกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา มาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน จำแนกตามประเภทที่ดินตามกฎหมาย โดยมีรัฐมนตรีที่กำกับดูแลที่ดินประเภทต่างๆเหล่านั้น เป็นประธาน นอกจากนี้ ยังรวมถึงคณะอนุกรรมการศึกษานโยบายกระจายการถือครองที่ดินที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธาน มีภาระหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ การศึกษามาตรการทางภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า การศึกษาระเบียบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายการถือครองที่ดิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และการพัฒนาพื้นที่นำร่องเพื่อจัดทำโฉนดชุมชน

เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี ในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล ซึ่งเป็นวาระปกติที่ทุกรัฐบาลต้องมีการแถลงผลงาน และแนวทางนโยบายที่จะต้องดำเนินการต่อไป ในการนี้ ผู้เขียนเห็นว่า นโยบายด้านที่ดิน ถือเป็นมาตรการสำคัญลำดับต้นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาพลังทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลนี้ก็บรรจุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น จึงขอประเมินผลการทำงานของรัฐบาลผ่านนโยบายด้านที่ดิน ในฐานะภาคประชาชนที่มีส่วนโดยตรงในการติดตามปัญหาดังกล่าวนี้

การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยเครือข่ายมีพื้นที่สมาชิกครอบคลุม 27 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 1,200 ชุมชน มีเรื่องพิพาททั้งสิ้น 127 กรณีปัญหา โดยปัญหาที่ดินในเขตป่ามีจำนวนมากที่สุด จากการเจรจาร่วมกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น 6 คณะ โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธาน ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง และเหมืองแร่ พื้นที่ป่าไม้ ที่ สปก. ที่ราชพัสดุ และที่อยู่อาศัยเมือง

จากการแก้ไขปัญหาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยังไม่มีกรณีใดที่สามารถหาข้อยุติได้อย่างสิ้นเชิง และกลุ่มปัญหาที่ไม่มีความก้าวหน้าที่สุดคือ กรณีปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธาน มิหนำซ้ำ ในกรณีกลุ่มปัญหาดังกล่าวนี้ รัฐยังมีการดำเนินการทางกฎหมายกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เช่นในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และจังหวัดน่าน เป็นต้น

มูลเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถหาข้อยุติได้คือ ปัญหาในทางระเบียบ กฎหมายของรัฐที่ไม่เอื้อต่อกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมกับประชาชน ทำให้ข้าราชการกล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า “กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้” ถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งทางนโยบายให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัย ทำกินในพื้นที่พิพาทอย่างปกติสุขไปพลางก่อนก็ตาม นอกจากนี้ รัฐบาลเองไม่กล้าหาญในการใช้อำนาจทางบริหารให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากในหลายกรณี หากรัฐบาลใช้อำนาจที่มีอยู่ โดยการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กรณีเหล่านั้นก็สามารถหาข้อยุติไปได้

ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการแก้ไขปัญหาในทุกกรณี มีเป้าหมายคือ การจัดการที่ดินในรูปแบบ โฉนดชุมชน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธานในการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 แต่อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของร่างดังกล่าวกลับพบว่า มีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักสิทธิชุมชน และไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาพิพาทในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อที่ 10 ที่ระบุว่าระยะเวลาการจัดทำโฉนดชุมชนต้องดำเนินการเป็นคราวๆไป ตั้งแต่ 25 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี และพื้นที่ที่จะดำเนินการตามระเบียบนี้ต้องครอบครองที่ดินมาก่อน 3 ปี นับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งมีปัญหากับพื้นที่พิพาทที่เข้าพื้นที่ภายหลัง เช่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ทั้งๆที่พื้นที่เหล่านี้ มีประวัติศาสตร์การใช้ที่ดิน และผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาแล้ว ว่าชาวบ้านสมควรได้สิทธิในที่ดินดังกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนการผลักดันนโยบายกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม กล่าวได้ว่าไม่มีความก้าวหน้าใดๆ ทั้งสิ้น เช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า การผลักดันมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การแก้ไขระเบียบกฏหมายที่ไม่เป็นธรรม ถึงแม้ว่าจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษา และผ่านความเห็นของคณะอนุกรรมการแล้วก็ตาม

กล่าวโดยสรุป การดำเนินนโยบายด้านที่ดินของรัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ และยังไม่มีการสร้างมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิและความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกรแต่อย่างใด ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลือหลังจากนี้ จึงเป็นช่วงสำคัญที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ตัวเอง ก่อนที่วิกฤตความขัดแย้งจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้


ที่มาภาพ: On The Land

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net