Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาพอสรุปได้ว่า ประเทศไทยนั้นใหญ่กว่า มีประชากรมากกว่า กองทัพก็มีศักยภาพสูงกว่า รวมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจก็มากกว่ากัมพูชา ประเทศไทยจึงเป็นเสมือนผู้ใหญ่ ส่วนกัมพูชาก็เหมือนเด็ก ดังนั้น เราต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่ดี อย่าไปท้าตี จะถูกมองว่าไปรังแกเด็ก อย่างไรก็ตาม ต้องระวังอย่าไปหลงกลเด็ก เพราะบางครั้งเด็กก็หลอกผู้ใหญ่ และอาจทำให้ผู้ใหญ่เพลี่ยงพล้ำได้เหมือนกัน โดยอยากให้เชื่อมั่นว่าความชอบธรรมจะอยู่ในสายตาของคนทั้งโลก ซึ่งพวกเขารู้ดีว่า ใครมีความชอบธรรมมากกว่ากัน ดังนั้น ไทยต้องมองกัมพูชาด้วยความเมตาและอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล (1)

แนวคิดเรื่อง “ภราดรภาพ” หรือการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง เป็นอีกประเด็นที่ปรีดี พนมยงค์ ย้ำเสมอ ไม่ว่าในขณะที่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือในขณะที่ทำงานทางการเมือง รวมทั้งที่สะท้อนผ่านนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก(2) ที่รบกับพม่า ก็ยืนยันถึงแนวคิดเรื่องภราดรภาพ สันติภาพ ก่อนเกิดรัฐชาติไทยที่มีอาณาเขตที่แน่นอน(3) โดยปฏิเสธอาการคลั่งชาติอย่างชัดเจน อีกทั้งในหนังสือเรื่อง ‘กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ จากกรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก’(4) อ้างถึง ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งเล่าว่า ในขณะที่ท่านเรียนกฏหมายอยู่กับอาจารย์ปรีดีนั้น สิ่งที่อาจารย์ย้ำอยู่เสมอคือ เรื่องของภราดรภาพ หรือการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง(5)

ความคิดของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จึงแตกต่างจากประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอนว่า ความแตกต่างนี้มีที่มาจากสังคมที่แตกต่างคนละยุคสมัยของทั้งสองคน

อันที่จริง ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยเขียนหนังสือเรื่อง “วิถีสังคมไท ชุดที่ ๑ ภูมิปัญญา กระบวนทัศน์ใหม่ และจินตนาการใหม่" หนังสือเล่มนี้ คือ สรรนิพนธ์ทางวิชาการ เนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ อีกทั้งปรีดีและประเวศ ก็อยู่ภายใต้กระแสชาตินิยม และคลั่งชาติเหมือนกัน

ปรีดีนั้น เรียนจบกฎหมายเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศ เคยดำรงตำแหน่ง รมต.การต่างประเทศ-รมต.การคลังฯลฯ สภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น มีสถานการณ์การเรียกร้องดินแดนคืน ผ่านร้อนผ่านหนาว และได้รับการยกย่องให้เป็น ‘รัฐบุรุษอาวุโส’

ขณะที่ปี 2552 ก็สืบเนื่องกรณีดินแดนใต้ปราสาทเขาพระวิหารเหมือนกัน แต่เป็นยุคสมัยของกระแสคลั่งชาตินิยมที่ปั่นขึ้นจากกลุ่มพันธมิตรฯ-พรรคการเมืองใหม่ (ไม่มีกลุ่มพันธมิตรฯในสมัยปรีดี) และมีรัฐบาลที่ชูนโยบาย ‘ไทยเข้มแข็ง’

ประเวศ เรียนจบด้านการแพทย์ และทำงานด้านช่วยเหลือสังคมแนววัฒนธรรมชุมชน และได้รับการยกให้เป็น ‘ราษฎรอาวุโส’

ระหว่าง ‘ไทยเป็นผู้ใหญ่ กัมพูชาเป็นเด็ก’ ของประเวศ กับแนวคิดเรื่อง ‘ภราดรภาพ’ ของปรีดี
ระหว่าง ‘ราษฎรอาวุโส’ กับ ‘รัฐบุรุษอาวุโส’ จึงน่าสนใจ

แม้คำศัพท์ที่แสดงทัศนะต่อประเทศเพื่อนบ้านของปรีดี กับประเวศ จะแตกต่าง และคำยกย่องที่มีต่อคนทั้งสองก็แตกต่าง และมีนัยสำคัญ แต่บทความนี้ไม่ต้องการวิเคราะห์ ตีความตัวบท และมุ่งโจมตีใคร รวมทั้งประเวศ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า คำสะท้อนข้อเท็จจริงของทั้งสองคนนี้ แสดงความหมายแตกต่างกันชัดเจนอย่างแท้จริง

เพราะในขณะที่ แนวคิดภราดรภาพ คือ ‘ฉันท์พี่น้องอยู่ร่วมกัน’ และช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของชุมชนจินตกรรม (6) ที่เกี่ยวข้องชาติไทย

กรณีศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ที่ถูกกล่าวหาว่า จัดฉากเหมือนภาพยนตร์นั้น ทว่ารัฐบาลไทยกลับไม่คิดแก้ไขปัญหาประเทศความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง มีแต่การวางตัวให้ระวังเด็กรังแก ทำให้คิดว่า แล้วใครจะเป็นเหยื่อคนต่อไป บนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ท่ามกลางความขัดแย้งที่ไม่เคยแก้ไขให้เกิดภราดรภาพระหว่างกัน

 

เชิงอรรถ
1."หมอประเวศ"เตือน"มาร์ค"ทำตัวเป็นผู้ใหญ่อย่าไปตีเด็กระวังหลงกลเขมร
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1258101768&catid=01
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 15:42:16 น. มติชนออนไลน์
2.สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน.กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? : กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก : 215
3.อรรคพล สาตุ้ม ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ สงคราม สันติภาพ ชาตินิยม
http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?p=4079&sid=eb4e0fbe0b29b0644eac9ba584845353
4.กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? : กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก เพิ่งอ้าง และแน่นอนเรายังมีหนังสือ ที่น่าสนใจของปรีดี เช่น วิธีพิจารณาทางรอดของสังคมไทย โดย ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
5.สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน.กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? : กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก : 216 เพิ่งอ้าง
6.ธงชัย วินิจจะกูล “อ่่าน Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น” วารสาร“อ่าน” ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เมษายน-กันยายน 2552
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net