Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีที่เสื้อแดงเสนอ “สัญญาสี” ในการสงบศึกโดยยื่นเงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือฉบับที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมาประกาศใช้ 2.ยุบสภา และ 3.มีการเลือกตั้งใหม่ โดยทุกสีต้องให้สัตยาบันยอมรับผลการเลือกตั้ง

ผมไม่สนใจวิเคราะห์ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเกมการเมืองที่เสนอขึ้นมาเพราะเชื่อว่าฝ่ายตนจะได้เปรียบ  เพราะธรรมชาติของการเมืองเป็นเรื่องปกติที่แต่ละฝ่ายจะเดินเกมเพื่อให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบอยู่แล้ว สำคัญอยู่ที่ว่าการเดินเกมนั้นอยู่บนหลักการหรือกติกาประชาธิปไตยหรือไม่

หากพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นว่า  ไม่มีข้อเสนอใดขัดหลักการหรือกติกาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอยู่แล้ว การยุบสภาเป็นการปฏิบัติตามกติกาอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย และการยอมรับผลการเลือกตั้งยิ่งเป็นการปฏิบัติตามกติกาขั้นพื้นฐานที่สุดในระบอบประชาธิปไตย
 
ข้อเสนอของฝ่ายเสื้อแดง จึงเป็นข้อเสนอซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกติกาที่ขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย
 
จริงอยู่ “เสียงส่วนใหญ่” อาจมีความบกพร่องได้ เช่น เสียงส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนตัดสินหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอาจตัดสินผิดพลาดได้เนื่องจากมีอคติบางอย่าง การขาดข้อมูลที่ดีพอ ขาดการใช้เหตุผลอย่างเที่ยงตรง และอื่นๆ เช่น กรณีที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวเอเธนส์ตัดสินให้ประหารชีวิตโสเครตีสด้วยการให้ดื่มยาพิษ หรือกรณีที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวเยอรมันเลือกฮิตเลอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นต้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นความผิดหรือข้อบกพร่องของ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่”

ในระบอบประชาธิปไตยเรายอมรับความบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่  แต่ต้องถือว่า “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” เป็นสิ่งถูกต้องอย่างสมบูรณ์ (absolute) หากเราเห็นตรงกันเช่นนี้ เมื่อเราพบความบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่ เช่น การถูกโน้มน้าวด้วยข้อมูลและเหตุผลที่ผิดๆ การซื้อด้วยเงิน ฯลฯ สิ่งที่เราควรทำคือให้ข้อมูลหรือเหตุผลที่ถูกต้อง สร้างกติกา ระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันการซื้อเสียง ฯลฯ ไม่ใช่ทำรัฐประหาร
 
การทำรัฐประหารโดยอ้างข้อบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่ นอกจากไม่ได้แก้ข้อบกพร่องนั้นแล้วยังเป็นการทำลาย “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” และเนื่องจากกติกานี้เป็นสิ่งถูกต้องอย่างสมบูรณ์ การทำรัฐประหารจึงเป็นสิ่งผิดอย่างสมบูรณ์ด้วย
 
เมื่อรัฐประหารเป็นสิ่งผิดอย่างสมบูรณ์ และถ้าแม้แต่การอ้างข้อบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่อาจทำให้รัฐประหารมีความชอบธรรมขึ้นมาได้แล้ว การอ้างเรื่องอื่นๆ เช่นการคอร์รัปชันของรัฐบาล ความไม่จงรักภักดี ฯลฯ ยิ่งห่างไกลที่จะทำให้รัฐประหารมีความชอบธรรม
 
ความผิดพลาดสำคัญของฝ่ายเสื้อเหลืองคือ แทนที่จะหาทางให้ข้อเท็จจริงและใช้เหตุผลโน้มน้าวให้เสียงส่วนใหญ่เลิกสนับสนุน  หรือหาทางกดดันตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ฝ่ายตนกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน แต่กลับสมคบคิดกับฝ่ายศักดินา อำมาตย์ และพรรคประชาธิปัตย์หาทางโค่นรัฐบาลทักษิณจนนำไปสู่รัฐประหารครั้งล่าสุด
 
รัฐประหารไม่ได้แก้ปัญหาข้อบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่ แต่ได้ทำลาย “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” ลงไปแล้ว และนั่นจึงเป็นการนำสังคมการเมืองไทยเข้าไปสู่วิกฤตความขัดแย้งจนยากจะหาทางออก
 
เราไม่อาจสร้างสมานฉันท์ได้ด้วยการให้ทุกอย่างย้อนกลับไปมีสภาพเหมือนเดิมเช่นก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะฝ่ายเสื้อเหลืองบอกว่าทักษิณต้องมาติดคุกตามคำพิพากษาของศาลก่อน เขาจะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ แต่ฝ่ายเสื้อแดง (หรือผู้ไม่สังกัดสี) อาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมฝ่ายที่สนับสนุนและทำรัฐประหารที่ทำลายกติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกติกาพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยจึงต้องไม่รับผิดฐานล้มล้างประชาธิปไตย ทำไมคนเหล่านี้ถึงอยู่เหนือกฎหมายได้?
 
ไม่ใช่ข้อเสนอให้ย้อนหลังกลับไปเหมือนเดิมจะเป็นไปได้ยากยิ่งเท่านั้นหรอก แต่ความจริงคือความขัดแย้งทางการเมืองได้เดินทางมาไกลมากแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ทั้งที่สังกัดและที่ไม่สังกัดสีใดๆ (น่าจะ) ได้รู้ข้อดีข้อด้อย โอกาส และข้อจำกัดของทุกฝ่ายมากพอแล้ว ผมเชื่อว่า (เน้น “เชื่อ”) คนส่วนใหญ่ต้องการให้ทุกฝ่ายเคารพกติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่
 
ในเมื่อรัฐบาลสมัครรัฐบาลสมชายก็มีข้อขอครหาเรื่องข้อบกพร่องของเสียงส่วนใหญ่ (เช่นมีความพยายามจะใช้เสียงส่วนใหญ่เพื่อช่วยคุณทักษิณให้พ้นคดี) และรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีปัญหาเรื่องใช้เล่ห์กลไปแย่งเอาเสียง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยมาแล้วตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนขององคมนตรี ทหารหรือเหล่าอำมาตย์ ทางแก้จึงต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการกลับไปใช้ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” นั่นคือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
 
และไม่ว่าผลของการเลือกตั้งจะออกมาเช่นใด ทุกคนในสังคมไทยต้องยอมรับผลของการเลือกตั้ง และทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยต่อไป
 
ผมมองเห็นแต่ทางเลือกเช่นนี้เท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย และอาจเป็นทางออกจากความขัดแย้ง และความรุนแรง (ที่อาจเกิดขึ้น) ได้!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net