Skip to main content
sharethis

22 ธ.ค. 52 โรงแรมรามาการ์เดนส์ วิภาวดีรังสิต สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดเวทีผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมปี 2552 โดยมีเครือข่ายผู้บริโภคฯ จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 600 คน

ในงานมี จอน อึ๊งภากรณ์ มาปาฐกถาพิเศษในเรื่อง 'พลังผู้บริโภคกับการพิทักษ์ประโยชน์ชาติในกิจการโทรคมนาคม' โดย กล่าวถึงการที่รัฐมีหน้าที่ทำให้คนยากจนหรือผู้อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการด้านโทรคมนาคมได้เท่าเทียมกับคนในเมืองหรือคนมีเงิน และควรให้สัมปทานในระดับที่รัฐยังควบคุมได้ เพราะโทรคมนาคมถือเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับ รถไฟ แต่ก็ต้องเอื้อการแข่งขันโดยไม่ให้มีการผูกขาด นอกจากนี้ยังต้องรณรงค์เรื่องเสรีภาพในเนื้อหา และเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วย

ปาฐกถาพิเศษ “พลังผู้บริโภคกับการพิทักษ์ประโยชน์ชาติในกิจการโทรคมนาคม”  โดย จอน อึ๊งภากรณ์
อันที่จริงผมไม่ค่อยมั่นใจในการคุยเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เรื่อง แต่อย่างไรก็ยังรู้สึกสบายใจ เพราะมองรอบตัวเห็นเพื่อนเก่าๆ หลายคน คงให้อภัยผม เวลาผมปล่อยไก่ เมื่อสักครู่ผมถามคุณสารีว่า เดือนหนึ่งเสียค่าโทรศัพท์มือถือเท่าไร เพราะเขาอยู่กับโทรศัพท์ทั้งวัน เขาบอกว่าเดือนละ 900 บาท ผมก็ตกใจเพราะใช้เครือข่ายเดียวกัน และใช้น้อยกว่าเขา ผมจึงมีข้อสังเกตว่าเรามักคิดไม่ทันแพคเกจมือถือ ดังนั้น เวลาบิลมา บิลนี้ควรบอกด้วยว่า ถ้าผมเลือกแพคเกจอื่น ผมจะเสียเท่าไร ผมจะได้รู้ว่าผมเลือกผิด

สิ่งที่ตั้งใจบอกว่าวันนี้คือ บริการด้านโทรคมนาคมต้องถือเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งมีหลักการว่าเมื่อมันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตคนเราในยุคสมัยนี้ ทุกคนก็ต้องเข้าถึง เมื่อทุกคนต้องเข้าถึง รัฐมีหน้าที่ที่จะเอื้ออำนวยให้เข้าถึงได้โดยทั่วถึง หมายความว่ารัฐต้องมีระบบอุดหนุน หรือการช่วยทำให้คนที่ยากจนหรืออยู่ไกลมีโอกาสเท่าเทียมกับคนที่อยู่ในเมืองหรือคนมีเงิน ตอนนี้คนจนมีรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี แต่ไม่มีมือถือฟรี บริการอินเตอร์เน็ตฟรี โดยเฉพาะโทรศัพท์บ้านในชนบทยังไม่ทั่วถึง ทั้งที่มีความสำคัญเพราะมันเป็นทางเลือกจากโทรศัพท์มือถือ ก่อให้เกิดการแข่งขันข้ามประเภทของสื่อ

ประเด็นต่อมา  เมื่อรัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและรัฐต้องเป็นเจ้าของด้วย ระบบสัมปทานต้องไม่ทำให้เอกชนคุมโครงสร้างนั้นได้  เอกชนสามารถเปิดบริการแข่งขันกันได้บนพื้นฐานที่เป็นบริการสาธารณะ เหมือนรางรถไฟต้องเป็นของสาธารณะ แต่สำหรับผมถ้าจะมีเอกชนจัดบริการรถไฟแข่งขันกันเหมือนสายการบิน มีโปรโมชั่น ราคาถูก ก็เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้บริโภค แต่หากรางรถไฟเป็นของเอกชนเมื่อไร เสร็จเมื่อนั้น เหมือนกับที่อังกฤษผิดพลาดมาแล้ว สมัยนายกรัฐมนตรี มากาเร็ต แทตเชอร์ ที่ให้สัมปทานไปหมดจนระยะหลังเกิดรถไฟอุบัติเหตุบ่อยและราคาแพงด้วย

อย่างไรก็ตาม  การเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันต้องเป็นไปโดยเสรี ซึ่งประเด็นนี้ก็มีการเถียงกันเยอะสมัยผมเป็นส.ว.ต่อต้านทุนต่างชาติ แต่ผมเห็นว่าทุนไทยกับทุนต่างประเทศขูดรีดได้เหมือนกัน ดังนั้น อย่าเอาความเป็นชาตินิยมมาเป็นตัวกำหนด เรื่องนี้อาจมีหลายคนเถียงและเห็นว่าไม่เข้าท่าก็ได้ แต่ผมมองว่าต้องเปิดการแข่งขันให้มากที่สุด

นอกจากการแข่งขั้นแล้วเราต้องกีดกัน  ป้องกันการผูกขาดทุกรูปแบบ  การผูกขาดอาจไม่ใช่ในบริการเดียวกันแต่ผูกขาดข้ามบริการก็ได้ เช่น ระบบ 3G ที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่คู่กันคือ Content Provider เช่น ภาพยนตร์ เพลง เป็นต้น เราควรป้องกันไม่ให้บริษัทที่จัดบริการกับบริษัทที่จัดเนื้อหา กลายเป็นบริษัทเดียวกันหมด

ผมคิดว่าพลังผู้บริโภคจะเกิดขึ้น เมื่อสถาบันที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านต้นทุนได้ กทช. ต้องมีข้อกำหนดด้านราคาที่เป็นธรรม และต้องพยายามป้องกันวิธีการต่างๆ ที่เอาเปรียบ สิ่งสำคัญ คือ สังคมไทยต้องสร้างทางเลือกหลายๆ ทางในการสื่อสาร และไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีใหม่ต้องนำหน้าเสมอ เพราะบางทีมันราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่เทคโนโลยีเก่าอาจทำให้คนเข้าถึงการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วถึงมากกว่า จึงอยากให้พลังผู้บริโภคกดดันว่า รัฐจะต้องจัดสายโทรศัพท์พื้นฐานทุกบ้าน เพราะมันหมายความว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตราคาถูกน่าจะเกิดขี้นได้  และจะทำให้เด็กวัยรุ่นไม่ต้องใช้มือถือมากเท่าปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นรายจ่ายหลักของครอบครัวอีกอย่าง

ใครจะเป็นผู้ผลักดันถ้าไม่ใช่คนที่นั่งอยู่ในห้องนี้

เรื่องการสื่อสารทางโทรคมนาคม  อาจแบ่งเป็นประเด็นโครงสร้างและเนื้อหา พวกเราอาจไม่ค่อยได้ทำเรื่องเนื้อหาเท่าไร แต่ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญที่พวกเราต้องรณรงค์ด้วยคือ เสรีภาพในเนื้อหา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ต่างๆ ความหลากหลายของข้อมูล ความรู้ ขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่จำกัดเสรีภาพ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และมาตรา 112 ผมไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีความผิดในการหมิ่นสถาบัน แต่ความผิดนั้นต้องมีระดับเดียวกับการหมิ่นบุคคล ไม่ใช่แค่การแสดงความเห็นทั่วไปก็ผิด หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net