Skip to main content
sharethis

เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานร่วมกับกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิว คอมมิตตี้ (IRC) องค์กรหน่วยอาสาสมัครอังกฤษ (VSO) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย องค์กรช่วยเหลือเด็กสหราชอาณาจักร (Save the Children UK) เอ็มทีวีเอ็กซิท (MTV EXIT) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ในชื่องานว่า “ก้าวพ้นความต่าง อยู่อย่างเข้าใจ”

โดยองค์กรผู้จัดงานต่างเห็นร่วมกันว่า สังคมไทยยังคงมีความกลัวการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีมายาคติต่อแรงงานข้ามชาติที่มาอยู่ในประเทศไทย จึงเห็นควรมีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และสอดแทรกความบันเทิง ที่เป็นการเปิดพรมแดนทางความคิดให้สังคมไทยร่วมกันคิดมากขึ้นถึงสถานการณ์การย้ายถิ่นและสังคมพหุวัฒนธรรม โดยผลักดันให้เป็นประเด็นสาธารณะเพื่อสร้างพื้นที่รับรู้ของการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรม และการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย

การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, คุณ Arthur Carlson, Chief of Party, Shield Project, องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิว คอมมิตตี และ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวเปิดงาน

คุณนิพนธ์ บุญญภัทโร กล่าวเป็นท่านแรกว่า “ถ้าเรามองไปที่รูปที่ติดอยู่รอบๆ งาน เราจะเห็นว่าเด็กพม่าหน้าตาก็เหมือนเด็กไทยไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะเรามีความใกล้เคียงตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันมาก ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งพม่า เขมร ลาว ต่างก็เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีความใกล้ชิดทางพรมแดนหรือเกือบจะไม่มีพรมแดน ฉะนั้นการเคลื่อนย้ายของคนจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราพบว่าชาวพม่าที่มาอยู่ในบ้านเมืองเรา ถ้าไม่มีเขา เราก็อาจไม่มีปลากิน ในภาคใต้ก็จะไม่มีคนกรีดยาง เพราะแรงงานเหล่านี้ได้เข้ามาทดแทนแรงงานไทยที่คนไทยไม่ทำงานแล้ว เราจึงต่างเป็นมวลมนุษยชาติเหมือนกัน

ในสมัยหนึ่งมีคนเวียดนาม คนเขมร อพยพหนีภัยสงครามมาบ้านเราจำนวนมาก พวกเขาได้รับความลำบาก แต่เรามีพุทธศาสนาเป็นหลักธรรม จึงไม่เคยทอดทิ้ง คอยช่วยเหลือดูแล หรือคนที่เราจัดการให้ไปอยู่ในประเทศที่ 3 ก็ได้รับความสะดวกสบาย รวมทั้งคนไทยเองก็โยกย้ายไปอยู่ที่อื่นก็มี หลายครั้งที่ทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยไปต่างประเทศไปตกระกำลำบาก รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ต้องเข้ามาดูแลมาหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อทำให้เขาได้รับสิทธิ ได้รับความสุข

แม้แรงงานข้ามชาติจะแตกต่างจากพลเมืองในประเทศ แต่เราต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องธรรมดา อย่าคิดว่าพวกเขาเป็นคนต่างด้าวต่างแดน แต่เขาก็คือคนที่ต้องได้รับการปฏิบัติเท่ากับคนไทย เพราะคนเหล่านี้เขาไปไหนไม่ได้ เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น เราจึงต้องร่วมกันดูแล อย่าให้มีการเลือกปฏิบัติ ถ้าถูกละเมิดสิทธิ เมื่อรัฐบาลได้รับการร้องเรียนก็ต้องลงไปดูแลให้เท่าเทียมกับคนไทย เพราะเขาก็คือคนหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องได้รับการปฏิบัติให้ได้ดีเช่นเดียวกัน เพราะเขามาแสวงหาชีวิตใหม่ ไม่ใช่แค่การหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งเป็นปัญหาทางการเมือง เรื่องแบบนี้แต่ละประเทศจึงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน มีความสำนึกร่วมกันว่าแรงงานข้ามชาติก็คือพลเมืองคนหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแล ไม่รังเกียจ และต้องทำให้เขามีความสุขเช่นเดียวกันกับคนไทยในประเทศ”

คุณ Arthur Carlson กล่าวต่อว่า “ในภาวการณ์ของโลกในปัจจุบัน การย้ายถิ่นข้ามชาติกลายเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นกระจายไปทั่งทุกพื้นที่ทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับหลายประเทศที่พบกับปรากฏการณ์ในลักษณะการย้ายถิ่นข้ามชาติ ทั้งในลักษณะที่เป็นประเทศรับคนข้ามชาติให้มาอยู่ในสังคมไทย ทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้หนีภัยความตาย ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ หรือเป็นประเทศต้นทางของคนข้ามชาติที่เดินทางไปอาศัยยังประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เป็นประเทศที่เป็นทางผ่านให้แก่คนข้ามชาติจากประเทศหนึ่งผ่านไปยังอีกประเทศหนึ่ง

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและโอบอุ้มคนย้ายถิ่นจำนวนมาก และรับพวกเขาเหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ร่วมในสังคมไทย อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย ดังเช่นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนไทยที่เป็นคนที่มีจิตใจเอื้ออารีต่อเพื่อนบ้านมาโดยตลอด

องค์กร IRC ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือสนับสนุนที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของคนข้ามชาติในหลายๆ พื้นที่ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทย ก็ได้พยายามทำหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนข้ามชาติที่ต้องทิ้งถิ่นที่อยู่เดิมเนื่องจากอันตรายในชีวิตและเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ได้เข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ ขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเราเหล่านั้นและผู้คนสังคมที่พวกเขาไปอยู่ร่วมด้วยได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน การดำเนินการที่ผ่านมาก็ได้รับความสนับสนุนด้วยดีทั้งจากรัฐบาลไทย ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมในสังคมไทย

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่อาจจะยังต้องมีการทำงานร่วมกันในสังคมไทยก็คือการสร้างทัศนคติในการอยู่ร่วมกัน ร่วมเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างในด้านต่างๆ ของผู้คน ด้วยทัศนคติที่มองว่าสังคมที่หลากหลาย จะสร้างสรรค์สังคมที่มีความสุขได้ ที่ผ่านมาสิ่งที่ IRC และองค์กรภาคีที่ทำงานร่วมกันได้พยายามทำมาโดยตลอดก็คือ การทำงานเพื่อสื่อสาร และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้คนในสังคมไทย และคนข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย และได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากองค์กรสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ที่ได้สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

การจัดการครั้งนี้จะพูดถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันบนความต่าง อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ จะเป็นก้าวต่อไปที่พวกเราทั้งหลายจะได้เริ่มต้นสร้างพื้นที่ทางสังคมที่จะกระตุ้นให้คนไทย และคนข้ามชาติได้สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยมีสื่อสารมวลชนเป็นเสมือนสะพานที่ทอดเชื่อมผู้คนในสังคมไทยให้เดินเข้าเดินเข้ามาสู่พื้นที่ ที่เปิดกว้างที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนบ้าน ในฐานะสมาชิกของสังคมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อที่เราจะสามารถก้าวข้ามความต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกคนในสังคมไทยต่อไป”

ต่อมา ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ กล่าวเป็นคนสุดท้ายว่า “ผมขอชวนทุกท่าน ลองนึกย้อนอดีตถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวเราในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับภาพที่ท่านเห็นปัจจุบัน ทุกท่านคงตระหนักดีว่า กรุงเทพ ประเทศไทย และทั้งโลก กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากคิดให้ลึกๆ ผมเชื่อว่า แรงขับดันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากสมองและการกระทำของมนุษย์ เพื่อคิดออกแบบและสร้างเครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ เพื่อแสวงหาความสุขให้ตัวเอง การคิด ออกแบบ และสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คงไม่นำความทุกข์มาสู่ตัวเรารวมถึงคนอื่นๆ มากนัก หากถูกควบคุมจำกัดด้วยหลักธรรมที่เคร่งครัดและด้วยกติกาทางสังคมที่เท่าทัน และมีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรม ขณะที่โลก ประเทศ และสังคม กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเราไม่สามารถนำหลักธรรมและการออกแบบกติกาในสังคมมาสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ความทุกข์แสนสาหัสย่อมเกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม ขณะที่คนอีกบางกลุ่มอยู่อย่างสุขสบาย และช่องว่างระหว่างทุกข์กับสุขนี้จะขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ กระทั่งนำมาซึ่งความไม่สงบสุขของสังคม นี้เป็นสัจธรรม ที่ประวัติศาสตร์ซ้ำให้เห็นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

การที่ประเทศไทยมีปรากฏการณ์การดำรงอยู่ของแรงงานข้ามชาตินับล้านคน รวมทั้งคนไร้สัญชาติอีกหลายแสนคน ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความไม่เป็นธรรมของกติกาที่มนุษย์ออกแบบขึ้น เป็นกติกาที่กำหนดขึ้นโดยไม่สามารถเอื้ออำนวยความเป็นธรรมให้กับทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่พยายามแสวงหาโอกาสและสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าในสังคมใหม่ ขณะที่คนไร้สัญชาติเป็นคนที่อยู่บนผืนดินไทยมาหลายชั่วอายุคนแต่กลายเป็นคนไร้สัญชาติ เพราะความบกพร่องของกติกาและกลไกภาครัฐ คนเหล่านี้นับเป็นตัวจักรสำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศนับแสนล้านบาททุกๆ ปี แต่กติกาสังคมที่กำหนดขึ้นกลับส่งผลให้คนกลุ่มนี้ตกอยู่ในวังวนความทุกข์ยากจากการเข้าไม่ถึงบริการทางสังคม เข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพพื้นฐาน ถูกเลือกปฏิบัติจากกลไกรัฐ และถูกซ้ำเติมด้วยมุมมองด้านลบจากคนจำนวนมากในสังคมไทย ซึ่งรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างผิวเผินผ่านสื่อต่างๆ

หากมองให้กว้างออกไปในขอบเขตทั้งโลก เราจะเห็นคนไทยนับล้านไปเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศอื่นๆ เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้จึงเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ประเทศต่างๆ จึงกำหนดกติการ่วมกัน ดังเช่นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่ออำนวยความเป็นธรรมอย่างแท้จริงให้กับมนุษย์ทุกคน

สสส.ตระหนักดีว่า หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคมไทยได้เรียนรู้ความเป็นจริงทุกๆ ด้าน และมีความมุ่งมั่นที่จะอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น เราจะสามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาความทุกข์ยากของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและคนไร้สัญชาติได้อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยั่งยืน เป็นสังคมที่ก้าวพ้นความต่าง อยู่อย่างเข้าใจตลอดไป”

หลังจากที่ทุกท่านกล่าวจบ ต่อมาเป็นกิจกรรมทลายกำแพงอคติ ซึ่งเป็นกำแพงจำลองที่เปรียบเสมือนอคติของคนในสังคมที่มีต่อแรงงานข้ามชาติต้องทลายให้หมดสิ้นไป นอกจากนั้นแล้วผู้เข้าร่วมงานยังได้รับฟังบทเพลงอะคูสติกที่บรรเลงโดยเครือข่ายเยาวชนแรงงานข้ามชาติ และได้รับชมนิทรรศการภาพถ่ายชุด ความรัก ความหวัง และศรัทธา พร้อมทั้งรับชมหนังสั้นสะท้อนชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากเอ็มทีวี
 


ภาพจาก http://cid-b8638928848dff8b.skydrive.live.com/browse.aspx/วันย้ายถิ่นสากล%202552

 

หลังจากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง “ก้าวข้ามความต่าง อยู่อย่างเข้าใจ ระหว่างแรงงานข้ามชาติ และ “พลเมืองไทย” ผ่านมุมมอง “สื่อไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์ รวมทั้งการร่วมกันมองถึงบทบาทของสื่อในการที่จะสนับสนุนให้เกิดทัศนคติทางบวกระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย โดยมีสื่อมวลชนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “คนสื่อ Hard Core ของเมืองไทย” ได้มาร่วมเสวนา คือ คุณอธิคม คุณาวุฒิ นิตยสาร WAY, คุณภัทระ คำพิทักษ์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, คุณชวิดา วาทินชัย สำนักข่าวไทย โดยมีคุณภัทราพร สังข์พวงทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ


คุณอธิคม คุณาวุฒิ: “ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน”

ผมจะขอเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า คนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติคงไม่ค่อยพออกพอใจในสื่อไทยทั้งอดีตและปัจจุบันมากนัก แต่มิใช่เรื่องแปลก ผมเห็นว่าบทบาทของสื่อมักจะสะท้อนที่มาและสังกัดของสื่อนั้นๆ เวลาเราพูดถึงสื่อ ดูใหญ่โต แต่ถ้าจำแนกลงไป สื่อก็คือสถาบันทางสังคมประเภทหนึ่ง เป็นองค์กรทางธุรกิจ หรือบางครั้งก็คือปัจเจกชนที่เป็นเพียงพนักงานบริษัทที่ต้องการความมั่นคงในชีวิต ไม่แตกต่างจากสาขาวิชาชีพอื่นๆ ฉะนั้นสื่อจึงเป็นผลผลิตของสังคมนั่นเอง ไม่ว่าสื่อจะตั้งใจ ไม่มากก็น้อย พลั้งเผลอหรือโดยสัญชาติญาณ จะปกป้องตนเองหรือไม่ก็ตาม เช่น ต้องการระบบเศรษฐกิจที่อยู่ดีกินดี ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องการความรักชาติ ภายใต้ทัศนคติวิธีคิดพื้นฐานเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากที่จะทำงานแล้วไม่ถูกตำหนิ

เวลาพูดถึงเรื่องแรงงานข้ามชาติจึงมีข้อถกเถียงในกองบรรณาธิการของทุกสื่อ เพราะทันทีที่ฝ่ายหนึ่งปักธงด้านสิทธิมนุษยชน อีกฝ่ายก็จะปักธงด้านกฎหมาย ความมั่นคงโดยอัตโนมัติ และแต่ละฝ่ายแต่ละฟากก็จะหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาสนับสนุนธงที่ตนเองได้ปักไว้ เช่น นักข่าวสายทหาร นักข่าวสายเอ็นจีโอก็อยู่คนละข้าง ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีแรงงานเสียชีวิต 54 คน เมื่อนั้นสังคมไทยจะเริ่มสงสาร เข้าใจเรื่องมนุษยธรรม แต่ถ้ามีข่าวในเชิงอาชญากรรมว่าแรงงานพม่าไปทำร้ายนายจ้าง สัญชาติญาณหวงแหน กลัวตาย อันตราย จะบังเกิดขึ้นทันทีและทำให้ข่าวนั้นกลายเป็นข่าวอาชญากรรม และมักเป็นเช่นนี้เสมอๆ

สื่อจึงจำเป็นต้องช่วยกันในการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย เพราะเรามีกำแพงที่ใหญ่มาก ในบรรดาประเทศที่มีพรมแดนที่ติดกับเรา เราเคยมองเขาในแง่ดีบ้างไหม ประวัติศาสตร์ที่เรียนรู้ คือ ประวัติศาสตร์การสู้รบมาโดยตลอด เวลาเรานึกถึงตัวละครเขมร คือ พระยาละแวกที่ทรยศ ลอบกัด พอมองไปที่ฝั่งลาวคือน้อง เราคืออ้าย คือพี่ ซึ่งไม่เคยถามว่าเขาอยากเป็นน้องจริงหรือเปล่า หรือกรณีเจ้าอนุวงศ์ก็ตาม ต่อมาในทางใต้ เราก็มองแบบแปลกแยก ไม่ใช่พวกเดียวกัน

ในวิชาชีพสื่อมีคำ 2 คำที่ควรมาคุยกันให้กระจ่าง คือ คำว่า “แรงงาน” กับ “ข้ามชาติ หรือต่างชาติ” คำ 2 คำนี้ ทำให้ผมนึกถึงวันหนึ่งที่ต้องไปพูดให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามฟัง ระหว่างนั้นได้ไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีน้องพนักงานเสริฟที่ฟังภาษาเราไม่เข้าใจว่าเราสั่งอาหารอะไร ตอนแรกผมคิดว่าเป็นแรงงานต่างชาติ แต่จริงๆ แล้วเธอคือนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวจีน กรณีนี้จึงทำให้ทัศนคติเราเปลี่ยนไปโดยทันที เพราะถ้าเธอเป็นพม่า หรือเขมร หรือลาว คำที่เราจะผุดขึ้นมาในความคิดจะแตกต่างกันไปเลย ระหว่าง “ต่างด้าว” กับ “ต่างชาติ” ถ้าเป็นต่างด้าวเราจะรู้สึกหวาดระแวงไม่ปลอดภัย หรือติดเชื้อโรคหรือเปล่า แต่พอเป็นฝรั่งสะพายกระเป๋าโน้ตบุ๊ก เรากลับไม่ได้รู้สึกเช่นนี้ จึงทำให้เห็นว่าสถานะทางสังคมต่างหากที่มีผลต่อการก่อรูปทางทัศนคติที่แปลกแยก

ผมไม่เห็นด้วยสิ้นเชิงว่าเราทำไปเพราะเรื่องความเมตตา การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดงานบางประเภทที่คนไทยไม่ทำ และพอสังคมเปลี่ยนเศรษฐกิจเปลี่ยนก็ทำให้คนไทยมีช่องทางไปทำมาหากินที่อื่นมากขึ้นด้วย ฉะนั้นแทนที่จะไปคิดว่าเราเมตตาเขา คิดว่าในอีกขาหนึ่งก็จำเป็นต้องพึ่งพาเขา ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน ให้เริ่มต้นจากตรงนี้ และใครสูงส่งกว่าใครก็จะลดลงไปทันที


คุณภัทระ คำพิทักษ์ : “ทำอย่างไรจะเปลี่ยนจากเรื่องสิทธิไปสู่มุมมองใหม่อื่นๆ บ้าง”

สำหรับผมว่าปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับเรื่องโลกาภิวัตน์ เป็นระเบิดลูกใหญ่ลูกหนึ่งในสังคมที่รอเวลาทำงานเหมือนกับปัญหาอื่นๆ ที่ประเทศนี้ยังตกลงยังจัดการไม่ได้ แต่ต้องแข่งกับเวลา ซึ่งมีไม่มากพอนัก เรื่องแรงงานข้ามชาติเกี่ยวพันเป็นระบบที่ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิเพียงอย่างเดียว เช่น ระบบสุขภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ หลายเรื่องที่จัดการไม่ได้ รอเวลาปะทุ

ผมเห็นว่าข่าวแรงงานข้ามชาติมักจะปรากฏใน 2 มิติเท่านั้น คือ เป็นผู้กระทำหรือไม่ก็ถูกกระทำ เช่น ไปทำร้ายนายจ้าง หรือถูกนายจ้างทำร้าย กับอีกมิติหนึ่ง คือ ในเชิงของสภาพปัญหา เช่น สุขภาพ ความมั่นคง แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่ขาดหายไป คือ ความเชื่อมโยงของปัญหาทั้งระบบ ตัวอย่างเช่น กระทรวงแรงงานจะจัดการอยู่เฉพาะขึ้นทะเบียน ไม่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น แต่ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกลับไม่ถูกหยิบยกมาเป็นก้อนหรือขับเคลื่อนเชิงนโยบายร่วมด้วย รัฐบาลก็กองไว้ก่อน หลับหูหลับตาไว้ก่อน เพราะไม่มีคะแนนเสียง มันไม่ปะติดปะต่อ ฉะนั้นเวลาพูดถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติจึงเป็นข่าวแบบชิ้นๆ ไป เช่น กระแสอาชญากรรม หรือกระแสสิทธิก็ว่าไป ขาดความเชื่อมโยงเชิงนโยบาย

ปกติเวลาเราเสนอข่าวก็เสนอว่ามีปัญหา ก็แค่การรับรู้หรือสร้างความกระทบในจิตใจคนเป็นระยะๆ แต่การกระทบเชิงนโยบายจะไม่ค่อยถูกแก้ ผมอยากเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาตั้งแต่เรื่องสัญชาติ การกีดกันทางการค้า ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทย โรคอุบัติใหม่ ปัญหาชายแดนใต้ การค้ามนุษย์ เหล่านี้เชื่อมโยงกับเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างไร เพราะเป็นปัญหาเชิงนโยบาย เกี่ยวพันหลายเรื่อง จึงต้องทำให้เห็นชัด

ผมว่าจริงๆ แล้วในสังคมไทยยังมองเรื่องดังกล่าวนี้ไม่ชัด เช่น แรงงานไทยมีสิทธิอะไรบ้าง แรงงานต่างชาติเห็นสิทธิของตนเองไหม เพราะเขามาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไม่มีใครอยากจากบ้านมา ความแตกต่างทางภูมิภาคดูดคนอื่นมาเป็นแรงงานในบ้านเรา รัฐบาลเห็นไหม เพราะถ้าเห็นก็จะเห็นกลไกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาได้ ผมว่าโทษสื่ออย่างเดียวไม่ได้ ผมไปหลายเวทีแล้วที่เจอการโทษกันแบบนี้ แต่พวกเราควรจะต้องมีส่วนสำคัญในการร่วมกันการแก้ปัญหาด้วยมากกว่า โดยเฉพาะการเชื่อมโยงปัญหาในเชิงนโยบายโดยภาพรวมทั้งหมด ทำอย่างไรจะเปลี่ยนจากเรื่องสิทธิไปสู่มุมมองใหม่อื่นๆ บ้าง


คุณชวิดา วาทินชัย : “สื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าลงมือทำจริงๆ”

ดิฉันคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้คนรู้จักคนไร้สัญชาติหรือแรงงานข้ามชาติมากขึ้น แต่ทัศนคติเดิมๆ ก็ยังคงอยู่ สื่อยังไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติเดิมๆ ที่เป็นลบได้อยู่ แม้ว่าสังคมไทยจะรู้จักคนเหล่านี้แล้วก็ตาม ถ้าใครยังติดลบก็จะติดลบอยู่เช่นนั้น จึงเป็นการยากที่จะปรับทัศนคติในเร็ววัน ในฐานะที่ตนเองเป็นสื่อมวลชนก็โทษตนเองเหมือนกัน เพราะบางทีก็เสนอข่าวฉาบฉวย เราพยายามเปลี่ยนทฤษฎีทำข่าวว่าใครทำอะไรที่ไหน เป็นลักษณะของการนำเสนอปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า เพราะเห็นว่าคนที่กำลังถูกละเมิดสิทธิ คือ คนที่กำลังจะตาย จะทำอย่างไร เพราะนักการเมืองก็มีพื้นที่อยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะไปบอกบรรณาธิการได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ทำแล้วจบ แต่เราต้องตามต่อเอง บางครั้งก็ต้องปะทะกับนักข่าวสายกระแสหลัก ที่ไม่สนใจ ไม่ให้ความร่วมมือก็มีบ่อยครั้ง

ตนเองยังเชื่อมั่นว่าสื่อยังมีอิทธิพลต่อสังคม อยากบอกว่ามนุษย์ทุกคนก็รักชีวิตรักพวกพ้องของตนเอง อย่างตนเองไปญี่ปุ่นเราเองก็ไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติเวลาบอกว่ามาจากประเทศไทย ฉะนั้นไม่อยากให้มนุษย์แบ่งแยกเพราะความแตกต่างแบบนี้ นักท่องเที่ยวเรียกคนต่างชาติ แต่คนแกะกุ้งเรียกแรงงานต่างด้าว ไม่ต่างจากเราไปทำงานต่างประเทศเลย เราก็กระทำกับเขาไม่แตกต่างกัน จะบอกว่าสื่อต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงกันให้เห็นว่าพวกเขามีปัญหาเหมือนกัน กุ้งที่คุณกินก็มาจากมือสกปรกที่คุณกำลังว่าเขาอยู่ สื่อต้องทำหน้าที่ให้คนเห็นภาพเหล่านี้ สื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าลงมือทำอย่างจริงจัง
 

..................................................
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน
เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ) รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น

ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ พรสุข เกิดสว่าง, อดิศร เกิดมงคล, บัณฑิต แป้นวิเศษ และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

เริ่มต้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552

พวกเราเชื่อว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา”

ติดต่อเรา: crossborder.newsagency@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net