"คอมมิวนิสต์"ใน"พิพิธภัณฑ์" และ"งานรำลึก": รายงานจากวงเสวนา

 

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. เวลา 13.30 น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดงานเสวนาเรื่อง “ความทรงจำของสหาย” ขึ้น ณ ห้อง 407 ชั้น 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถ.บรมราชชนนี โดยแบ่งการเสวนาออกเป็นสองช่วง โดยช่วงแรกพูดหัวข้อ “ความทรงจำของสหายจากงานศึกษาความทรงจำ” วิทยากรได้แก่ อาจารย์อังกูร หงส์ครานุเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เจ้าหน้าที่โครงการทักษะวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ช่วงที่สองพูดในหัวข้อ “ความทรงจำของสหายผ่านการจัดแสดง” วิทยากรได้แก่ อาจารย์สมประสงค์ มั่งคะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้งผางวิทยาคม จังหวัดตาก ผู้ริเริ่มดูแลพิพิธภัณฑ์สงครามประชาชน และ บุษกร จีนะเจริญ ภัณฑารักษ์สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ผู้ร่วมจัดตั้งอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน ดำเนินรายการโดย วัฒนชัย วินิจจะกูล เจ้าหน้าที่อุทยานการเรียนรู้

 

พิธีรำลึกสถูปและการสร้างความทรงจำในหมู่สหาย

อาจารย์อังกูร หงส์ครานุเคราะห์ กล่าวถึงการศึกษาหัวข้อ “เรื่องเล่าจากสหายรูปแบบและการปรากฏตัวของความทรงจำร่วมจากชุมนุมอดีตแนวร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์” ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบและเงื่อนไขการเกิดขึ้นของความทรงจำ รวมทั้งสัมพันธภาพทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ในอดีตของชาวบ้านในชุมชนบ้านโคกเขา ตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยใช้งานพิธีรำลึกวีรชนประชาชนอีสานใต้หรือที่เรียกว่า งานรำลึกสถูป ที่เกิดขึ้นในช่วงวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปีเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้ได้ยังได้เข้าไปเก็บข้อมูลด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาด้วยการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก

พิธีรำลึกสถูป ประกอบไปด้วยกิจกรรมงานพิธีต่างๆ ทั้งที่มีความสัมพันธ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์ เช่น อนุสรณ์สถานหรือตัวสถูป ศาลาสหาย หินจารึกปฏิวัติและงานพิธีรำลึก และที่ไม่มีความสัมพันธ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์ เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอีสานใต้ งานสมโภช ศาลาหลวงปู่เกาะ งานวันเด็ก ร้านค้าต่างๆ ซึ่งทั้งส่วนที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์นี้ ได้สร้างความทรงจำให้กับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่สัมพันธ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์มาก่อน การสร้างความทรงจำให้เกิดขึ้นผ่านอนุสรณ์สถานฯ หรือโอกาสให้ได้รับรู้ถึงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์

ขณะเดียวกันข้อมูลจากการบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในแต่ละช่วงเวลาได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับบริบทปัจจุบันที่มีต่อการเกิดความทรงจำและส่วนของความทรงจำจากคำบอกเล่าที่มีความแตกต่างก็มิได้ส่งผลให้สัมพันธภาพทางสังคมเกิดความแปลกแยกขึ้นภายในหมู่บ้าน หากแต่มันกลับทำให้เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์และภาพชุมชนในอดีตปรากฏขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับความทรงจำว่าเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้เห็นถึงเหตุการณ์ในอดีตไม่ใช่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ดังนั้นการศึกษาความทรงจำจึงไม่ได้เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเหตุการณ์หนึ่งๆ เท่านั้นหากแต่ยังทำให้เกิดความเข้าใจถึงบริบททางสังคมที่มีต่อเจ้าของความทรงจำด้วย ดังนั้นความทรงจึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมหรือกำหนดทิศทางให้กับคนในสังคมปัจจุบันด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับอดีตอีกทางหนึ่ง

 

ความทรงจำแห่ง “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม กล่าวถึงการศึกษาเรื่อง “การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอน การศึกษากิจกรรมจากความทรงจำกรณีถังแดง” โดยพยายามวิเคราะห์ความทรงจำร่วมและความทรงจำปัจเจกของคนที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเจ็บปวดในช่วงปี 2514-2516

จุฬารัตน์กล่าวว่า ช่วงเวลาดังกล่าว รัฐได้ใช้นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เคลื่อนไหวของผู้ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว

กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ เป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์เป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในกรณีชุมชนลำสินธุ์มีผู้ต้องสงสัยถูกเผาลงถังน้ำมันกว่า 200 คนต่อมาถูกเรียกว่ากรณีถังแดง

การจับผู้ต้องสงสัยมาเผาลงถังแดงได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก ชาวบ้านชาวบ้านบางส่วนต้องหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากปี 2523 ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยออกจากป่าและเริ่มใช้ชีวิตปกติ อย่างไรก็ตามความทรงจำในอดีตนั้นไม่ได้เลือนหายไปกับกาลเวลา แต่มันกลายเป็นฝันร้ายที่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านตลอดมา คำถามสำคัญคือ ชาวบ้านมีกระบวนการสร้างและจัดการกับประสบการณ์ในอดีตอย่างไร จนกลายเป็นความทรงจำทั้งของชุมชนและปัจเจก

ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ถังแดงถูกสะท้อนออกมาในรูปลักษณ์ของอนุสาวรีย์ที่มีชื่อว่า อนุสรณ์สถานถังแดง และถูกทำให้มีความหมายจากการตัดงานรำลึกถังแดงในเดือนเมษายนของทุกปี โดยมีการคณะกรรมการซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสหายภาคใต้ที่เคยเข้าป่าเป็นผู้จัดงาน

ขณะเดียวกันชาวบ้านในชุมชนลำสินธุ์ได้ก่อตั้งองค์กรชุมชนชื่อว่า เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่หลายประการ เช่น เป็นผู้ร่วมก่อสร้างอนุสรณ์สถาน เข้าร่วมกิจกรรมท้องถิ่น และที่สำคัญคือการพัฒนาโครงการต่างๆของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยใช้กรณีถังแดงเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานด้านต่างๆ ของเครือข่ายฯ

จุฬารัตน์กล่าวต่อว่า การศึกษาความทรงจำเกี่ยวกับถังแดงใช้วิธีสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง และจากบันทึกต่างๆ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับถังแดงทั้งในระดับชุมชนและส่วนบุคคล ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีเพียงมิติเดียว แต่มีมิติจากหลายแง่มุม ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษานี้อธิบายว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ถูกตีความและจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่างได้อย่างไร การศึกษานี้จึงชี้ให้เห็นวิธีที่ความทรงจำถูกนำมาใช้ ผ่านเรื่องเล่าของชุมชนและปัจเจก นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นวิธีที่ความทรงจำสัมพันธ์กับอดีตและสร้างความหมายให้กับปัจจุบัน

 

 

พิพิธภัณฑ์ที่ ‘สหาย’ ไม่ได้สร้าง และ ‘ราชการ’ เพิกเฉย

สมประสงค์ มั่งคะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้งผางวิทยาคม กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์อุ้งผางสร้าง ที่ จ.ตาก เกิดขึ้นเพราะต้องการให้คนในพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนและเห็นว่าเรื่องราวของอุ้งผางนี่น้อยคนมากที่จะเข้าไปถึงหรือรับรู้ได้ อุ้งผางอยู่ในเขตงาน 401 ที่พี่น้องประชาชนเข้าไปตั้งกองกำลัง การสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามประชาชนนั้นสร้างจากทุนทรัพย์ส่วนตัวทั้งหมด ทั้งตัวอาคารและสิ่งของทั้งหมดที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ นอกจากนั้นการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ไม่ได้เกิดจากความร่วมมือของอดีตสหายหรือคนในพื้นที่แต่อย่างใด แต่สร้างขึ้นเพราะต้องการให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เท่านั้น แม้ว่าการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือนักเรียนส่วนใหญ่ในแถบนั้น เขาจะไม่ต้องการทราบประวัติศาสตร์หรือไม่ต้องการเรียนรู้การต่อสู้ของประชาชนแล้วก็ตาม

หลายครั้งที่ถูกทางการกล่าวหาสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐด้วยการมีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ซึ่งอาวุธสงครามที่ทางการกล่าวหานั้นเป็นเพียงอาวุธปืนและลูกระเบิดที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ที่เคยเป็นของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาก่อน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วกลับมองว่าสิ่งของเหล่านี้ควรมีไว้เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมตำราแพทย์ขนาดเล็กที่ได้มาจากครอบครัวชาวลั๊วะครอบครัวหนึ่งในพื้นที่ และบันทึกต่างๆของสหาย นอกจากนั้นยังรวบรวมเครื่องมือแพทย์ เช่น หลอดแก้ว ขวดยา เข็มฉีดยา และอื่นๆ อีกมากมายที่ตนเอาออกมาจากถ้ำในพื้นที่ เนื่องจากนักเรียนในโรงเรียนที่ตนเองสอนอยู่นั้นไปพบเข้าจึงมาแจ้ง และการแจ้งข่าวของนักเรียนก็ตรงกับข้อมูลที่ตนเองค้นคว้าด้วยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้นายอำเภอเคยกล่าวถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์กับตน แต่ก็เงียบหายไปและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เหมือนจะถูกปิดหลายครั้งแล้ว ดังนั้นจึงเป็นกังวลเป็นอันมากว่าตนจะเกษียณใน 5 ปีข้างหน้า พิพิธภัณฑ์จะเป็นยังไงต่อไป

 

ภัณฑารักษ์สวน ‘เปรม’ กับงานสร้างอนุสรณ์สถาน ‘คอมฯ’

บุษกร จีนะเจริญ ภัณฑารักษ์สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ผู้ร่วมจัดตั้งอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน กล่าวว่า อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ จ.น่าน นั้นเกิดจากการปรึกษาหารือของคณะกรรมการที่เป็นอดีตสหายที่เคยเข้าป่า ที่มีมติสร้างอนุสรณ์สถาน นอกจากการเป็นอนุสรณ์สถานแล้วยังเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ไปในตัวด้วย สาเหตุที่สร้างอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ขึ้นมาเนื่องจากเมื่อก่อนภูพยัคฆ์เป็นแดงซ้ายเข้มและเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหมือนเมืองอีกเมืองหนึ่งที่อยู่นอกเขตปกครองของรัฐไทย นอกจากนั้นยังพื้นที่แห่งความผูกพันของสหายในเมืองที่เข้าไปและพี่น้องในพื้นที่ด้วย ซึ่งยังคงมีสายใยต่อกันอยู่จึงก่อให้ก่อเกิดแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น

นอกจากนั้นความมันคงในหน้าที่การงานและชีวิตของอดีตสหายก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลับไปรำลึกถึงที่ที่เคยอยู่และร่วมกันต่อสู้ ซึ่งการก่อสร้างอนุสรณ์นั้นเริ่มขึ้นในปี 2548 แต่ในความเป็นจริงมีการปรึกษาหารือกันอยู่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว นอกจากสหายในเมืองแล้วสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ยังมาจากสหายในพื้นที่และพี่น้องชาติพันธุ์ที่ร่วมกันบริจาคมา ซึ่งล้วนแต่เป็นของใช้ที่ใช้ในฐานที่มั่นทั้งสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท