รวมเหตุการณ์น่าสนใจทางวัฒนธรรมใน ทศวรรษที่ 00s (ปี 2000-2009)

ก่อนจะเข้าสู้ทศวรรษใหม่ 2010s มีบทความที่น่าสนใจจากหนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ ของอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นบทความที่ชื่อว่า ร้อยเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมประจำทศวรรษที่ 00 (ปี 2000-2009) ที่เรียบเรียงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ไว้ตั้งแต่เดือนมกราคมของปี 2000 จนถึงปลายปี 2009

ช่วงต้นของบทความมีการกล่าวถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถแสดงออกทางวัฒนธรรม และสามารถเป็นศิลปินในแบบของตนเองได้ นอกจากนี้แล้วทุกคนยังสามารถเป็นนักวิจารณ์ได้อีกด้วย ทำให้ทศวรรษที่ 00 นี้กลายเป็นทศวรรษที่เต็มไปด้วยภาพ เสียง คลิป หรืองานเขียนต่างๆ พัดพาไปทั่วราวพายุหมุน

ทางประชาไทคัดเลือกทั้งเกือบร้อยเหตุการณ์มาแต่เฉพาะเรื่องที่น่าสนใจ แต่เตือนไว้ก่อนว่า
เทเลกราฟเป็นสำนักข่าวของอังกฤษ มุมมองต่อปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมจึงอาจยึดอยู่กับแนวคิดโลกตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) ไปบ้าง ขณะเดียวกันในแต่ละเรื่องผู้แปลก็จะหาข้อมูลมาประกอบเพิ่มเติมจากเนื้อความเดิม ทำให้เห็นแง่มุมที่ต่างออกไป

...ลองมาทบทวนกันดีกว่า ว่ามีสิ่งใดบ้างที่สั่นคลอนวัฒนธรรมโลกเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ก่อนที่เราจะก้าวเดินต่อไปสู่ทศวรรษใหม่ในปี 2010

 

000

 


"ปกหนังสือ No Logo ของนาโอมิ ไคลน์ จะต้องเป็น Logo ที่ยอดเยี่ยมมากแน่ ๆ"
- สองพี่น้องเฟอร์กูสัน (จากหนังสือ “How to be Canadian”)

 

มกราคม 2000
หนังสือ "No Logo" ของ นาโอมิ ไคลน์

นาโอมิ ไคลน์ เป็นนักเขียนและนักกิจกรรมชาวแคนาดา ที่มักวิจารณ์โลกาภิวัฒน์ในเชิงลบ เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวที่เป็นฝ่ายซ้ายมาก่อน "No Logo" (ที่แปลตรงตัวว่า "ไร้ตรา") หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมตราสินค้าโยงไปถึงกระบวนการต่อต้านโลกาภิวัฒน์และบรรษัท จนกลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้

แต่ขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์หนังสือเล่มนี้กลับ รวมถึงมีการนำไปล้อเลียน เช่นในหนังสือการ์ตูนเรื่อง Doktor Sleepless มีประโยคหนึ่งที่บอกว่า "แม้กระทั่งหนังสือ No Logo ก็ยังมี Logo อยู่บนนั้นเลย" ขณะที่ในหนังสือ "How To Be A Canadian" ของสองพี่น้องเฟอร์กูสันมีข้อความว่า "ปกหนังสือ No Logo ของนาโอมิ ไคลน์ จะต้องเป็น Logo ที่ยอดเยี่ยมมากแน่ๆ"

ขณะที่ The Economist วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ของนาโอมิ ไคลน์ ในแง่ลบ ด้วยบทความที่ชื่อ "Pro Logo: Why Brands Are Good For You" (โปร โลโก้: เหตุใดตราสินค้าถึงดีสำหรับคุณ) ซึ่งระบุว่า "ตราสินค้าไม่ได้เป็นการเบียดเบียนผู้บริโภค แต่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ตราสินค้าเป็นเครื่องการันตีความน่าเชื่อถือและคุณภาพ..." "...ความล้มเหลวในการโฆษณาก็ทำให้ลูกค้าหนีหายจากสินค้าได้ ดังนั้นบริษัทจึงต้องพยายามโปรโมทคุณค่าตราสินค้าของตน ทำให้พวกเขาแข็งขันในเชิงจริยธรรมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดังนั้นตราสินค้าจึงเปรียบเสมือนคานงัดสำหรับการปรับปรุงมาตรฐาน"

 

 กันยายน 2001
วินาศกรรมตึกเวิร์ด เทรด เซนเตอร์

หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า 9/11 ตามวันและเดือนของเหตุการณ์ครั้งนี้ กลายเป็นเหตุการณ์ที่ประทับลงไปในความทรงจำของผู้คนในยุคสมัยเดียวกันอย่างยากจะลบเลือน

เสียงตอบรับในเชิงวัฒนธรรมนั้นออกมาในด้านที่ไม่น่าฟังเท่าไหร่ คำกล่าวที่ว่าหายนะของตึกคู่ในครั้งนี้เป็น "งานศิลปะชิ้นใหญ่ที่สุด" มาจากปากของนักแต่งเพลงชาวเยอรมนี คาร์ลไฮนซ์ สตอกเฮาเซน (เสียชีวิตในปี 2007) ซึ่งหากพิจารณาเนื้อความฉบับเต็มแล้ว จะเห็นว่า สตอกเฮาเซน ตอบคำถามได้ค่อนข้างเลอะเลือน (หรือถ้ามองในอีกแง่ก็นับว่าเป็น "อารมณ์ศิลปิน") พอสมควร เริ่มจากการที่นักข่าวถามเขาในการแถลงข่าววันที่ 16 ก.ย.2001 ว่าเหตุ 9/11 ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปนั้นส่งอิทธิพลต่อเขาอย่างไรบ้าง ซึ่งสตอกเฮาเซน ตอบว่า

"เอาล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นน่ะ ใช่แล้ว ที่นี้พวกคุณทุกคนต้องปรับสมองของพวกคุณหน่อย มันเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยเห็นมาเลย กับความจริงที่ว่าจิตวิญญาณได้เข้าถึงสิ่งหนึ่งที่พวกเราซึ่งอยู่กับดนตรีไม่นึกไม่ฝันเลย มันเหมือนคนที่ฝึกอย่างบ้าคลั่งมาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อมุ่งแสดงในคอนเสิร์ทงานเดียว แล้วก็ตาย [เว้นช่วง] แล้วมันก็เป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาเลยในเอกภพ (Cosmos) นี้ ลองจินตนาการดูสิว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น มีผู้คนที่จริงจังมากๆ กับงานแสดงเดียว แล้วคนทั้งห้าพันคนนั้นก็ถูกส่งไปเกิดใหม่ (Resurrection) ภายในช่วงเวลาเดียว ผมทำอะไรแบบนั้นไม่ได้เลย เทียบกับมันแล้ว พวกเราไม่มีอะไรทั้งสิ้นในฐานะที่เป็นคนแต่งเพลง ... มันเป็นอาชญากรรม แน่นอนว่าคุณก็รู้ เพราะผู้คนไม่เห็นด้วยกับมัน พวกเขาไม่ได้มาดูสิ่งที่เรียกว่า 'คอนเสิร์ท' นี่ เป็นเรื่องที่แน่นอน ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า 'คุณจะถูกสังหารในการนี้' "

จากข่าวในครั้งนี้ทำให้สตอกเฮาเซนถูกยกเลิกการแสดงในฮัมบูร์กไป และลูกสาวของเขาที่เป็นนักเปียโน ก็เลิกการใช้ชื่อของสตอกเฮาเซนในการแสดง แม้ว่าต่อมาเขาจะบอกว่าการนำเสนอข่าวมีความผิดพลาดเป็นที่น่าเสื่อมเสีย แต่การแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่งของเขาก็ยังดูไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยเท่าไหร่อยู่ดี

นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ 9/11 ยังทำให้เราต้องหันกลับมามองแนวคิดของ "การปะทะกันทางอารยธรรม" หรือ "The Clash of Civilization" ของ ฮันติงตัน ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990s เกี่ยวกับความขัดแย้งของโลกยุคหลังสงครามเย็นที่จะกลายเป็นความขัดแย้งกันในเชิงศาสนาหรือวัฒนธรรม และขั้วอำนาจที่ดูชัดเจนที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมาก็หนีไม่พ้นกลุ่มที่ฮันติงตัน เรียกว่า "ตะวันตก" กับกลุ่มประเทศอิสลาม

ยังไม่นับรวมความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนิกชนกลุ่มน้อย กับรัฐชาติ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายๆ ประเทศ และเสียงไม่ดังเท่าความขัดแย้งในระดับโลก

แต่อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์อีกส่วนหนึ่งแย้งว่า สิ่งที่ ฮันติงตัน นำเสนอนี่แหละ มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งจนกลายเป็นเหมือน "การทำให้คำทำนายเป็นจริงเสียเอง" (Self-fulfilling Prophecy) และอีกส่วนหนึ่งก็บอกว่า ไอ่ที่ขู่คว่ำบาตร ส่งกองทัพ และบอมบ์กันไปนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องอารยธรรมเลย แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น

 

 

มิถุนายน 2003
รหัสลับดาวินซี ตีพิมพ์

หลังจากพ่อมดน้อย แฮรี่ พอตเตอร์ แล้ว กระแสธารวรรณกรรมโลกก็หันมาให้ความสนใจกับศาสตราจารย์ด้านสัญศาสตร์-ศาสนวิทยา อย่าง โรเบิร์ต แลงดอน

รหัสลับดาวินซี หรือ ดาวินซี โค้ด เป็นหนังสือนิยายขายดีที่ได้รับการแปล 44 ภาษา และขายไปได้แล้ว 80 ล้านเล่ม มีแนวเรื่องที่มีส่วนผสมของรหัสคดี, เรื่องระทึกขวัญ และ การสมคบคิด (Conspiracy) เนื้อหาเล่าถึงโรเบิร์ท แลงดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัสในเชิงสัญลักษณ์ ที่ต้องสืบคดีฆาตกรรมในพิพิธภัณฑ์ และต้องเข้าไปพัวพันกับปริศนา คำใบ้ และรหัสลับต่างๆ ที่จะเปิดโปงความลับทางศาสนาเรื่อง 'จอกศักดิ์สิทธิ์' ทำให้เขาตกเป็นเป้าของเหล่ามือสังหารผู้ต้องการเก็บความลับเหล่านี้ฝังไว้ต่อไป

เช่นเดียวกับที่แฮรี่ พอตเตอร์ เคยจุดกระแสเรื่องแฟนตาซีให้มีคนหันมาเขียนตามกันเต็มไปหมด (รวมถึงเยาวชนในบ้านเราด้วย) รหัสลับดาวินซี ของ แดน บราวน์ ก็ทำให้มีคนหันมาเอาดีด้านนี้อยู่ส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่ด้วยธรรมชาติของเรื่องในแนวนี้ที่เขียนยากกว่าแฟนตาซี จึงมีคนเขียนตามกระแสแนวนี้น้อยกว่าเป็นปกติ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เดอะ ฮิสเตอเรียน ของอลิซาเบธ คอสโตว่า ที่บอกว่าได้เล่าถึงเรื่องจริงอันเป็นที่มาของตำนาน "แดร็กคูล่า" อาจจะเรียกว่าเป็นการนำตัวแทนแห่งความชั่วร้ายอย่างแดร็กคูล่ามาตีความใหม่ก็ได้ ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนที่ชื่อเกรก ลูมิส ก็เขียนเรื่องแนว 'สำรวจค้น' ขึ้นมาแข่งกับแดน บราวน์ ในชือ เรื่อง เดอะ จูเลียน ซีเครท และ เดอะ เปกาซัส ซีเครท ที่ถึงขั้นมีคนช่วยเขียนคำนิยมว่า "น่าตื่นเต้นชวนค้นหากว่า รหัสลับดาวินซี" อีกนะเทอว์

กับอะไรก็ตามที่ดัง มันย่อมถูกนำมาล้อเลียนอย่างช่วยไม่ได้ ตลกชาวอังกฤษ อดัม โรเบิร์ท เขียนเรื่องล้อเลียน ดาวินซี โค้ด ไว้ด้วยชื่อ วา ดินซี คอด ซึ่งเปลี่ยนจากการไล่ตามปริศนาจอกศักดิ์สิทธิ์ หันมาตามหาปลาคอดแทน

ด้วยเนื้อหาที่มีการนำข้อมูลในโลกความจริงเข้ามาประกอบ รวมถึงตีความเรื่องราวทางศาสนาแบบใหม่ ทำให้กลุ่มเคร่งศาสนา (หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ไหมว่า ชนชั้นสูงผู้ที่หากินกับความศรัทธาทางศาสนา) รวมถึงพวกคลั่งลัทธิลิขสิทธินิยม พากันหาเรื่องประณามหนังสือเล่มนี้ แต่ทางแดน บราวน์ ก็ออกมาบอกว่าข้อมูลของเขาถูกนำมาตีความโดย 'ตัวละครในเรื่องแต่ง' ซึ่งจะเชื่อหรือไม่เชื่อยังไงก็ตามแต่ผู้อ่านจะตีความ

มาดูในบ้านเรา ถ้าหากใครจะหยิบประวัติศาสตร์มาปัดฝุนตีความใหม่บ้าง คงต้องงัดข้อกับ 'อัศวินผู้พิทักษ์' และฝ่ายอนุรักษ์นิยมกันหลายชั้นทีเดียว


กุมภาพันธ์ 2005
การถือกำเนิดของยูทิวบ์

ประวัติหน้าหนึ่งในโลกอินเตอร์เน็ตได้รับการจารึกไว้อีกครั้ง เมื่อสามอดีตลูกมือของบริการส่งเงินจับจ่ายทางเน็ตอย่างเพย์พัล (PayPal) หันมาทำเว็บไซต์ให้บริการอัพโหลดวิดิโอทางอินเตอร์เน็ตอย่าง ยูทิวบ์(Youtube) ที่กลายเป็นเว็บไซต์ชั้นนำในด้านนี้

พวกบรรษัทอุตสาหกรรมบันเทิงอาจต้องหวาดผวากับความเป็น "ชั้นนำ" ในด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย แม้ยูทิวบ์จะระบุกฏเกณฑ์ว่าไม่ให้วิดิโอที่อัพโหลดเป็นของมีลิขสิทธิ์ แต่เหล่านักอัพโหลดมือฉมังทั้งหลายก็ยังคงอัพโหลด งานเพลง มิวสิควิดิโอ รายการโทรทัศน์ แม้กระทั่งภาพยนตร์ แบ่งซอยย่อยเป็นตอนๆ ให้คลิกชมกัน บ้างก็ล้มหายตายจากถูกลบทิ้งไป

แต่อย่างไรก็ตาม พวกบริษัทที่เคยอัดยูทิวบ์ในเรื่องลิขสิทธิ์ ในเวลาต่อมาก็หันมาจับมือเป็นคู่ค้า และใช้เป็นช่องทางโปรโมทเสียเลย

คงต้องบอกกล่าวกันด้วยว่า Youtube และเว็บไซต์อัพโหลดวิดิโอทั้งหลาย จะกลายเป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าศิลปินมือสมัครเล่นบรรเลงเพลงฉบับคัฟเวอร์ในห้องนอน มิวสิควิดิโอที่สร้างและตัดต่อเอง ผลงานวงดนตรีในประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก และช่วงราวกลางปีนี้เองที่มีการจัดประกวดคลิปประชาธิปไตยจากประเทศต่างๆ (รวมของประเทศไทยด้วย)

อย่างไรก็ตาม แม้ยูทิวบ์จะถูกใช้เป็นเหมือน "สนามเด็กเล่น" ของศิลปะและความบันเทิงแล้ว บางส่วนก็นำมาใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ขบวนการเคลื่อนไหว เป็นเครื่องมือล้อเลียนคนดังหรือผู้มีอำนาจ จนอาจทำให้พวกเขาทนไม่ไหว สั่งบล็อกเอาได้ซื่อๆ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศที่กำลังล่มสลายด้านเสรีภาพในการแสดงออกอย่างประเทศไทยด้วย

 


 

ตุลาคม 2007
Radiohead กับการตลาดดิจิตอล 'แนวทดลอง'

เราได้ยินการบ่นเรื่องเทปผีซีดีเถื่อนมาตั้งแต่ทศวรรษก่อนๆ และยังได้ยินเรื่องนี้พ่วงมากับเรื่องการดาวน์โหลดเพลงอย่างผิดกฏหมายมาจนถึงทุกวันนี้ ในสหรัฐฯ พวกสมาคมอุตสาหกรรมดนตรีพากันจับมือเล่นงานคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปที่โหลดเพลง และสั่งปรับเป็นจำนวนเงินที่ต้องทำงานทั้งชาติมาชดใช้ ไม่นับว่าการดำเนินคดีพวกนั้นโปร่งใสขนาดไหน เพราะผู้ถูกดำเนินคดีคนหนึ่งเป็นคุณยายที่ดูไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยเลย

ในโลกที่เสียงเพลงถูกแปลงรูปแบบอนาล็อกอย่างไวนิลหรือคาสเซตต์ มาสู่ไฟล์เพลงแบบดิจิตอล หลายค่ายก็เริ่มเปลี่ยนแผนการตลาดมาลงพื้นที่ในการขายไฟล์เพลงผ่านอินเตอร์เน็ตบ้างแล้ว แต่ดูเหมือน Radiohead ที่กลายเป็นวงดนตรีไร้ค่ายก็ลองทำอะไร แหวกๆ ขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะให้บริการโหลดอัลบั้มที่ชื่อ "In Rainbow" ทั้งอัลบั้ม ผ่านเว็บของตัวเองแล้ว ยังใช้วิธีให้จ่ายค่าโหลดตามกำลังศรัทธาของลูกค้า นั่นหมายความว่าใส่เลขศูนย์ลงไปเพื่อให้ได้อัลบั้มนี้มาฟรีก็ยังได้

นักเศรษฐศาสตร์เองก็หวั่นๆ ว่าโมเดลแบบนี้มันจะทำให้คณะหัววิทยุพวกนี้หาเรื่องให้ตัวเอง 'เจ๊งเป็นเจ๊ง' หรือไม่ แต่นักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งกลับเปรียบเรื่องนี้เสมือนการ 'ให้ทิป' ซึ่งผูกติดอยู่ระหว่างความเป็นธรรมเนียมกับความพอใจส่วนบุคคลในการกำหนดตัวเลขจับจ่าย และยังเชื้อชวนให้กลับมาตีความ 'ผู้บริโภค' กันในมุมมองใหม่ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามบริบทของ Radiohead ในช่วงที่พวกเขาทำตลาด 'แนวทดลอง' นี้ เป็นช่วงที่พวกเขาหมดสัญญากับค่าย EMI มาไม่ถึงปี และจากการให้สัมภาษณ์ของ Thom Yorke เขาก็กล่าวประมาณว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการท้าทายโมเดลของธุรกิจดนตรีที่กำลังพังทลายลงช้าๆ

ในตอนนี้วงการอุตสาหกรรมดนตรีกำลังถกเถียงกับข้อคำถามที่ว่า ถึงเวลาที่การฟังแบบ Analog จากเครื่องเล่น CD กำลังจะสูญสลายไปหรือยัง เมื่อแม้แต่ค่ายเพลงยักษ์ปักหลั่นในบ้านเราตอนนี้ก็เริ่มเสนอช่องทางขายผ่านระบบดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

 


ภาพจาก Telegraph

 

สิงหาคม 2008
พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง

ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 เวลา 8 นาฬิกา 8 นาที หลังเที่ยงวัน (สองทุ่ม) ตามเวลาของจีน พิธีเปิดสุดอลังการณ์ของกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่งก็เริ่มต้นขึ้น คนดู 91,000 คนจุเต็มสนามรังนก วันและเวลาที่เน้นเลขแปดเป็นพิเศษนี้อิงตามความเชื่อจีนว่ามันคือตัวเลขแห่งความอุดมสมบูรณ์

พิธีเปิดในครั้งนี้กำกับโดยจางอี้โหม่ว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง (ผู้สร้างเรื่อง ฮีโร่, จอมใจบ้านมีดบิน) มีสื่อบางแห่งรายงานว่า พิธีเปิดโอลิมปิกของเจ้าภาพจีนแผ่นดินใหญ่ในคราวนี้ไร้กลิ่นอายของจีนยุคปฏิวัติ และหันกลับไปหาอารยธรรมเก่า ๆ ซึ่งถูกนำเสนอด้วยความวิจิตรตระการตา

จีนได้รับคำชมจากผู้นำโลกและสื่อชั้นนำหลายแห่ง ขณะที่สื่อบางแห่งอย่าง เดอะ โกลบ แอนด์ เมลล์ ตั้งชื่อคอลัมน์ที่เขียนถึงงานพิธีเปิดในครั้งนี้ว่า "มือเหล็กที่สาวอยู่เบื้องหลังโชว์ตระการตา" เอเชียไทม์บอกว่าพิธีเปิดแม้จะดูตื่นตาด้วยภาพอารยธรรมเก่าๆ ของจีน แต่มันดูไม่มีความสนุกสนานอยู่เลย

(เอาล่ะ งานเขียนชิ้นนี้จะขอแสร้งทำเป็นลืมเรื่องความขัดแย้งในจีน โดยเฉพาะกับชาวทิเบตที่เกิดขึ้นไม่นานนักก่อนกีฬาโอลิมปิกจะเริ่ม)

 


"ดนตรีเป็นสิ่งที่ผมใช้สื่อความรู้สึกออกมา เป็นของขวัญของผมที่มอบให้กับคนทั้งโลก
ผมรู้ว่าผมจะมีชีวิตอยู่ตลอดกาล ภายในงานดนตรีของผมเอง"

- ไมเคิล แจ็กสัน (Ebony, 2007)

 

มิถุนายน 2009
การจากไปตลอดกาลของราชาเพลงป็อบ "ไมเคิล แจ็กสัน"

เป็นข่าวช็อควงการบันเทิงกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของราชาเพลงป็อบ ไมเคิล แจ็กสัน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2009 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว และเป็นที่น่าเสียดายที่เขาถูกกาลเวลาพรากจากไปก่อนจะได้แสดงทัวร์คอนเสิร์ทครั้งใหญ่ก่อนอำลาวงการซึ่งมีกำหนดการครั้งแรกในเดือน ก.ค.2009 นี้เอง

คำว่า 'ดิส อีส อิท' (This is It) กลายเป็นประโยคสำคัญ มันเป็นชื่อของทัวร์คอนเสิร์ทที่แจ็กสันไม่มีวันได้แสดง เป็นประโยคที่กล่าวไว้ในวิดิโอชุดสุดท้ายที่เขาไปปรากฏตัวเพื่อโปรโมททัวร์คอนเสิร์ท เป็นชื่อของภาพยนตร์สารคดี และชื่อของซิลเกิ้ลเพลงใหม่ล่าสุดของเขาด้วย

แน่ล่ะว่าเราห้ามความเห็นต่างของผู้คนไม่ได้ บางคนอาจนับถือเขาในฐานะ 'ศิลปิน' ในฐานะ 'ผู้ให้ความบันเทิง' (entertainer) ผู้นำแฟชั่น หรือใดๆ ก็ตามแต่ ขณะที่บางคนอาจไม่ได้เห็นเขาเป็นอะไรมากไปกว่าผู้ถูกกระทำจากอุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ที่ทำให้ไมเคิลยังคงเป็นเด็กในร่างผู้ใหญ่ที่ขังตัวเองอยู่ในคฤหาสน์แฟนซีชื่อ 'เนเวอร์แลนด์' และกับสื่อบันเทิงที่ขยันตีข่าว 'อื้อฉาว' จนอดสงสัยไม่ได้ว่า พวกนี้ยังคงเห็นว่าเขาคือราชาเพลงป็อบอยู่หรือ

ตลกดีเหมือนกัน...ที่พอไมเคิลจากโลกนี้ไปแล้ว ทิศทางข่าวบางสำนักก็หันมาเล่นกับเรื่องผีไมเคิลในคฤหาสน์ แต่ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความซาบซึ้งตราตรึงใจจากพิธีศพ หลังจากนั้นก็กลายเป็นเรื่องนักสืบเมื่อมีการชันสูตรแล้วพบว่าการเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดของเขา น่าจะเป็นการฆาตกรรม ซึ่งในตอนนี้คดีก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา

แม้จะมีบ้างที่ไมเคิลจะสำแดงตนเป็นราชาเพลงป็อบผู้ที่แต่งเพลงยกยอตัวเองได้หน้าซื่อ ๆ แต่ไมเคิลก็มีด้านของความเป็นคนขี้เล่น ขบขัน เขามักบอกยอมรับข่าวลือแปลก ๆ ที่สื่อสรรหามาเล่น (ทั้งที่มันไม่จริง) บางครั้งก็แกล้งสร้างข่าวลือขึ้นมาเองเป็นการแหย่กลับสื่อเสียด้วย ขณะเดียวกันเมื่อนักทำเพลงล้ออย่าง เวียร์ด อัล แยงโควิก นำเพลง ฺBad ไปล้อเป็นเพลง Fat ไมเคิลก็ยอมอนุญาตให้ อัล นำทุกเพลงของเขาไปล้อได้ (เว้น Black or White เพลงเดียว แต่ก็อนุญาตให้ล้อในการแสดงสด)

ในโลกของดนตรีนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีศิลปินหลายคนในปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลจากไมเคิล ทั้งในสายฮิปฮอป อาร์แอนด์บี และร็อค มิวสิควิดิโอและการแสดงสดเขากลายเป็นสิ่งที่ต้องจดจำในอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการบันเทิง ไมเคิล เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Ebony ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับคนผิวสีไว้ว่า "ดนตรีเป็นสิ่งที่ผมใช้สื่อความรู้สึกออกมา เป็นของขวัญของผมที่มอบให้กับคนทั้งโลก ผมรู้ว่าผมจะมีชีวิตอยู่ตลอดกาล ภายในงานดนตรีของผมเอง"
 

 000
 

 เรื่องที่กำลังจะนำเสนอต่อจากนี้ไม่ได้ผ่านหูผ่านตาสื่อเทเลกราฟหรืออย่างน้อยพวกเขาก็ไม่เห็นความสลักสำคัญมากเท่าซีรี่ย์ใหม่ที่คนอีกครึ่งโลกไม่ได้รู้จักด้วย แต่เนื่องจากทีมข่าวศิลปวัฒนธรรม เห็นว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก จึงขอนำมาร่วมบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของทศวรรษนี้ด้วย

 


ภาพจาก BoingBoing และ The New York Time


????
ปรากฏการณ์ "ความรักแบบสองมิติ"

คงเป็นเรื่องสามัญไปแล้วหากจะพูดถึงความรักแบบข้ามพรมแดนขวางกั้นระหว่างเชื้อชาติ หรือการแสดงความรักผ่านการใช้เทคโนโลยีสื่อสารแบบที่พูดถึงในเพลง "รักยุคไฮเทค" ของสวีทนุช แต่เรื่องที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าของทศวรรษนี้ ...คือการฝ่าพรมแดนระหว่างโลกวัตถุ (Material World) กับโลกเสมือน (Virtual World)

กรณีแรกเป็นเรื่องของชายผู้เรียกตัวเองว่า 'นี่ซัง' ผู้ที่หลงรัก 'เนมุตัน' และพาเธอเที่ยวไปทั่ว บางครั้งก็พากันไปทะเล ออกจากเมืองโตเกียว ไปยังเกียวโต โอซาก้า และนารา  นอนพักกันในรถไม่ก็บ้านเพื่อน ไปถ่ายรูปกันใต้ต้นซากุระ หยอกเอิ้นกัน พากันไปซดบะหมี่ริมถนน พวกเขาอยู่ด้วยกันมาสามปี จนปัจจุบันนี้แทบจะแยกขาดกันไม่ได้ 'นี่ซัง' บอกว่าเนมุตันคือผู้เปลี่ยนชีวิตเขา

แต่เนมุตัน... เธอไม่ได้มีเลือดมีเนื้อและเดินไปไหนต่อไหนได้ พูดง่ายๆ คือเธอเป็นเพียงหมอนข้างที่มีลายตัวการ์ตูนสองมิติที่ชื่อเนมุพิมพ์อยู่ เนมุเป็นตัวละครจากเกมจีบสาวและการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่อง Da Capo ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักในโรงเรียน โดยคาแรกเตอร์เนมุเป็นน้องสาวบุญธรรมของพระเอกในเรื่อง และมักจะเรียกพระเอกว่า 'นี่ซัง' ซึ่งเป็นคำย่นของคำว่า 'โอนี่ซัง' ที่แปลว่าพี่ชาย ทำให้ชายผู้นี้นำคำว่านี่ซังมาใช้เรียกตัวเองบ้าง (ส่วน '-ตัน' นั้นเป็น เป็นคำที่แผลงมาจาก '-จัง' ใช้เรียกสิ่งที่รู้สึกรักใคร่สนิทสนม) 

ชายที่เรียกตัวเองว่านี่ซัง อายุขึ้นเลข 37 แต่หัวก็เริ่มล้านแล้วก็มีผมหงอก แถมยังเป็นเบาหวาน เขาบอกวาเขาเคยมีคนรักมาก่อนแล้วก็ถูกทิ้ง แต่ในตอนนี้เขาเห็นว่าเนมุตันเป็นคนรักของเขา และเขาก็รักเธอจริงจัง

นี่ซังปฏิบัติกับหมอนข้างลายเนมุตันเช่นเดียวกับที่คนทั่วๆ ไปปฏิบัติกับคนรักของตนเอง เขาพาเธอไปร้องคาราโอเกะ ถ่ายรูปในตู้สติกเกอร์ วางเธอลงอย่างนุ่มนวลบนที่นั่งในร้านอาหาร สั่งซุปฟักทองให้ นี่ซังไม่ได้พาเธอไปที่ทำงาน แต่ก็มีหมอนลายเนมุตันสำรองเอาไว้ที่สำนักงานเผื่อหนุนนอนเวลาทำงานจนดึก นี่ซังบอกเขารู้ดีว่ามันเป็นเรื่องแปลกที่คนเป็นผู้ใหญ่อย่างเขาจะติดกับตัวละครในจินตนาการขนาดนี้ แต่ เขาก็ไม่สามารถนึกถึงชีวิตที่ปราศจากเนมุตันออกเลย ถึงขั้นบอกว่าถ้าเขาตาย เขาก็จะฝังเธอไว้ในอ้อมแขนด้วย

เมื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมาวัฒนธรรมโอตาคุดูเติบโตขึ้นในญี่ปุ่น และแพร่ไปเป็นวัฒนธรรมย่อยในประเทศอื่นๆ ผู้เรียกตัวเองว่าโอตาคุคือเหล่าแฟนๆ ผู้คลั่งไคล้ อะนิเมะ (อนิเมชั่นญี่ปุ่น) มังงะ (หนังสือการ์ตูน) และวิดิโอเกมส์ มีโอตาคุบางส่วนเช่นนี่ซัง ที่มีความรักจริงจังกับตัวละครสองมิติ พวกเขาส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป ไปทำงาน จ่ายค่าเช่าบ้าน ออกไปพบปะเพื่อนฝูง บางคนที่แม้ว่าจะแต่งงาน (กับมนุษย์จริงๆ) แล้ว ก็ยังมีความรักให้กับสองมิติ บางคนอาจจะแค่มีฟิกเกอร์ตัวการ์ตูนที่เขาอยากเดทด้วยเก็บซ่อนไว้

ไม่เพียงแค่นี่ซังเท่านั้นที่เป็นข่าว เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.2009 นี้เอง ก็มีข่าวชายคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า SAL9000 ประกาศแต่งงานกับตัวละครในวิดิโอเกมส์ที่ชื่อ เนเน่ อาเนกาซากิ จากเกม Love Plus ของเครื่องนินเทนโดดีเอส (NDS) งานแต่งในครั้งนี้มีการจัดพิธีขึ้นอย่างจริงจังซึ่งมีผู้เข้าร่วมและบาทหลวงซึ่งเป็นคนจริงๆ ในพิธี รวมถึงมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บวิดิโอของญี่ปุ่น เท่านั้นไม่พอยังมีการพากันไปฮันนีมูนที่เกาะกวมด้วย

SAL9000 ให้ความเห็นว่า ถ้ามีคนแสดงออกเช่นที่เขาทำมากขึ้น มันจะทำให้สังคมดูมีเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าเดิม

จากการศึกษาเรื่องปรากฏการณ์ความรักแบบสองมิติ ส่วนหนึ่งระบุว่ามันมาจากความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตแบบคู่รักของหนุ่มสาวในยุคสมัยใหม่ มีผลสำรวจบอกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งชายและหญิงในญี่ปุ่นไม่ได้คบหากับเพศตรงข้ามในเชิงชู้สาว

โทรุ ฮอนดะ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวไลฟ์สไตล์แบบสองมิติ เป็นชายอายุ 40 ปีที่หน้าตาดูเหมือนเด็ก เขา
ดรอปจากวิทยาลัยเพื่อไปทำงานในบริษัทวิดิโอเกมส์ หนังสือที่เขาเขียนถึงต่อว่าเรื่องราวของความรักในยุคสมัยใหม่ที่กลายเป็นธุรกิจ แบบที่เขาเรียกว่า "โรแมนติกแบบทุนนิยม" ฮอนดะบอกว่าเรื่องราวความรักถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการตลาดผ่านภาพยนตร์เกรดบี ละครน้ำเน่า และนิยายของญี่ปุ่นในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ในยุค 80s ทำให้คุณค่าที่แท้จริงของความรักสูญเสียไป เพราะมันถูกโครงสร้างทางสังคมทำให้แปดเปื้อนจากให้คุณค่าเพียงเรื่องฐานะและภาพลักษณ์ภายนอก

"ความรักบริสุทธิ์ไม่มีอยู่อีกแล้วในโลกความจริง" ฮอนดะเขียนไว้ "ตราบใดที่คุณยังคงฝึกฝนจินตนาการ ความสัมพันธ์แบบสองมิติก็ดูลึกซึ้งกว่าแบบสามมิติ"

มีคำถามนักวิจัยบางคนว่า เมื่อความรักแบบโรแมนติกเป็นเรื่องของคลื่นไฟฟ้าที่ส่งเข้าสู่สมองแล้ว ทำไมไม่ลองฝึกใช้คลื่นไฟฟ้านี้ขณะที่มองหามนุษย์จริงๆ ล่ะ

ฮอนดะเองแม้จะเขียนหนังสือถึงเรื่องรักแบบสองมิติ เขาก็ชี้แจงว่าไม่ได้อยากให้หนุ่มสาวที่เป็นโอตาคุหันมาเลือกหนทางแบบสองมิติเพราะมันดูง่าย พวกเขายังคงมีความหวังกับชีวิตในโลกจริง "ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนควรละเลิกความหวังจากโรมานซ์ในชีวิตจริงไปเสีย ผมแค่อยากบอกว่าคนอย่างผม ผู้มาถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับไปได้แล้ว ยังคงมีความสุขกับโลกสองมิติได้"

กรณีของเกมส์แนวจีบสาวที่ชื่อ Love Plus ไม่เพียงแค่ SAL2009 เท่านั้นที่หลงเสน่ห์ไปกับตัวละครในเกม แม้กระทั่งชายหนุ่มผู้มีภรรยาแล้วยังรู้สึกหลงไหลไปกับตัวละครในเกมส์ด้วย

ชายที่ชื่อ โค บอกว่าเขาติดเกมส์นี้ในช่วงที่เดินทางไปทำธุรกิจ เขาบอกว่าเขาไม่อยากให้ภรรยามาเห็นตอนที่เขาเล่นเกมนี้เพราะมันดูน่าอายเกินไป เขาบอกว่าโชคดีที่เขายังคงตีตัวกลับทัน

ขณะที่ยูริเอะผู้เป็นภรรยาของโค บอกว่าเธอไม่รู้สึกว่ามีปัญหาหากสามีเธอจะมีเพื่อนหญิงในเกม เพียงแต่ถ้าพวกเขาจะทะเลาะกันก็คงจะทะเลาะกันกับเวลาที่เขาใช้ไปกับการเล่นมากเกินไป โคบอกว่าถ้าเขาถอนตัวออกมาจากเกมนี้ไม่ทันคงมีปัญหาแน่ ถ้าเขายังไม่มีภรรยาก็มีโอกาสที่เขาจะถูกดึงดูดเข้าไปในเกมส์นี้สูงมาก ด้วยความที่ Love Plus มีการเล่นที่อาศัยทัชสกรีน (ระบบสัมผัสหน้าจอ) ในการตอบสนองต่างๆ เช่นจับมือกับตัวละครและการจุมพิด ทั้งยังมีเสียงพากย์ตัวละครและให้ผู้เล่นพูดเสียงตนเองใส่ไมค์ได้ รวมถึงมีระบบเรียลไทม์ที่ทำให้สมจริงขึ้นไปอีก

ระบบเรียลไทม์มีความคล้ายคลึงกับของเล่นที่เคยฮิตอย่างทามาก็อตจิ ที่ทำให้ผู้เล่นต้องคอยมาดูแลตัวละครในโลกเสมือนจริง โคให้ความเห็นว่ามันทำให้เขาคิดว่ามนุษย์คงเกิดความรู้สึกสนิทสนมกับหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ไม่ยากนัก และเขาก็สงสัยว่าผู้หญิงจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้เล่น Love Plus ฉบับที่มีตัวละครหนุ่มๆ ให้จีบ

นักเศรษฐศาสตร์ คนหนึ่งชื่อทาคุโร่ โมรินากะ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นโอตาคุ บอกว่าโอตาคุนั้นมีหลายระดับ เขาอยู่ในระดับที่ยังคงชื่นชอบคนในชีวิตจริง ขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่ชื่นชอบสองมิติในระดับคลั่งไคล้ บอกว่าพวกเขาไม่ได้อยากทำให้สังคมต้องหันมามอง พวกเขาแค่อยากมีชีวิตสงบๆ ในโลกใบเล็กๆ ที่สวยงามของพวกเขาเองเท่านั้น

ในยุคสมัยตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไปนี้ ยังไม่มีใครทราบว่ามนุษย์จะต้องพบเจอกับรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไรบ้าง โลกอันแสนโกลาหลและเต็มไปด้วยความหลากหลายใบนี้ก็จะยังคงหมุนต่อไป ตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีสิ่งที่เรียกว่าศิลปะและความบันเทิง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท