Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้คงยังจะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลต่อเนื่องไปตลอดปี 2553 ถ้ารัฐบาลยังไม่มีแนวกรอบคิดใหม่ๆ ในการบริหารจัดการกับปัญหา

ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้คงยังจะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลต่อเนื่องไปตลอดปี 2553 ถ้ารัฐบาลยังไม่มีแนวกรอบคิดใหม่ๆ ในการบริหารจัดการกับปัญหา แม้จะมีการยืนยันหลายต่อหลายครั้งจากปากผู้รับผิดชอบโดยตรง นั่นก็คือ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกว่า การแก้ปัญหาได้เดินมาถูกทางแล้ว

เหตุผลที่ผู้บัญชาการทหารบกตลอดจนแม่ทัพนายกองมักยกมาประกอบคำยืนยันก็คือ จำนวนครั้งของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้น เป็นความจริงที่ว่าความรุนแรงรายวันหรือเหตุการณ์ฆ่ารายวัน เป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทหารและตำรวจจะต้องหาทางป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น และถือเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่การสรุปว่าการแก้ปัญหาได้เดินมาถูกทาง ด้วยการเน้นย้ำถึงความสำเร็จของการปราบปรามก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไขว้เขว (Misleading) ต่อสถานการณ์และอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

ปัญหาเหตุร้ายรายวันเปรียบเสมือนแผลของคนไข้โรคเบาหวาน ถึงแม้การรักษาแผลเป็นสิ่งสำคัญ แต่การควบคุมน้ำตาลตลอดจนการรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีการต่างๆ ให้หายขาดโดยมุ่งไปที่สาเหตุแห่งโรคต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จ มิใช่การรักษาแผล เหตุการณ์ฆ่ารายวันที่ลดลงเป็นผลจากการปราบปราม กดดัน ไล่ล่า ปิดล้อมหมู่บ้าน ตลอดจนการใช้มาตรการต่างๆ อย่างเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่ภายใต้กฎหมายความมั่นคง ขณะเดียวกันมาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหมู่ประชาชนตามมาอย่างยาวนาน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ ในขณะที่รากเหง้าของปัญหาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงๆ จังๆ

ความสำเร็จของการแก้ปัญหาภาคใต้น่าจะเริ่มต้นจากการมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) อย่างแน่วแน่ของฝ่ายบริหาร โดยสะท้อนออกมาในรูปของการไม่มี่ฝักฝ่าย (non-partisan) ในการแก้ไขปัญหา ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ใหญ่โต หลายมิติ และเรื้อรังเกินกว่าเป็นเพียงแค่ภารกิจของทหารหรือตำรวจหรือข้าราชการฝ่ายปกครอง นอกจากนั้นการทำให้ปัญหาถูกลดทอนลง เหลือแค่ปัญหาทางเทคนิค (ยุทธวิธีการเอาชนะผู้ก่อการร้าย โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดในการ “จัดการ”) จะทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาความชอบธรรม (legitimacy) ในการปกครอง ปัญหาความยุติธรรม และปัญหาทางความคิดภายในสังคมมุสลิมเอง ถูกละเลยทั้งๆทีมันเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ข้อเสนอการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบต่างๆ เป็นต้นว่าข้อเสนอ นครรัฐปัตตานีของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ข้อเสนอ การจัดตั้งทบวงเฉพาะขึ้นมารับผิดชอบโดยตรงของพรรคมาตุภูมิ พ.รบ.ศอ.บต. ของพรรดประชาธิปัตย์ (อยู่ในชั้นกรรมาธิการ) ที่จะยกระดับการทำงานของ ศอ.บต. ตลอดจนข้อเสนอจากนักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน ความสามารถของฝ่ายบริหารในอันที่จะก้าวพ้นความแตกต่างของความเป็นพรรคการเมือง แล้วหยิบเอาข้อเสนอของทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนต่อทิศทาง กระบวนการ และความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การจะทำเช่นนี้ได้ฝ่ายบริหารจะต้องแสดงถึงภาวะผู้นำ (leadership) ที่จะต้องมองให้ไกลไปกว่าความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง

นโยบายการเมืองนำการทหารที่มักจะกล่าวอ้างกัน ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนในการปฏิบัติ เนื่องจากโครงสร้างการบริหารในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายการเมืองเข้าไปมีบทบาทอย่างเต็มที่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นชาวบ้านจึงไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร ไม่มีใครรับผิดชอบต่อประชาชน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งรับผิดชอบโดยตรงตามกฎหมายความมั่นคงก็มิใช่เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความรับผิดชอบ (accountability) ทางปกครอง ดังเช่นองค์กรอื่นๆในระบอบประชาธิปไตย และถ้าเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ประชาชนย่อมสูญเสียความศรัทธา (lost faith) และจะหันไปสู่ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดขั้ว (extremism) ซึ่งรอจังหวะอยู่ก่อนแล้ว เข้าครอบงำ ชักจูง ดังที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แนวคิดสุดขั้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงและสูญเสียความนิยมในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน (ดู ดร.สุริยา สะนิวา การลดความรุนแรงจากการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย http://gotoknow.org/blog/niksof/89940)

ปี 2553 จึงควรจะเป็นปีที่ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการจัดการด้วยกรอบแนวคิดใหม่ๆ โดยมองปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาความมั่นคง พอๆกับเป็นปัญหาทางการเมือง และค่อยๆ ผ่องถ่ายการบริหารจัดการไปสู่ภาคการเมืองและประชาชนโดยที่ยังคงความสำคัญของฝ่ายความมั่นคงในการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนเอาไว้ ถ้าการแก้ไขปัญหาได้เดินมาถูกทางดังที่ ผู้รับผิดชอบได้ออกมายืนยัน ทางนั้นย่อมจะต้องเป็นทางที่นำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยควรจะเป็นทางที่กลับไปสู่สภาพก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net