เหล้า บุหรี่ กฎหมาย และความชอบธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เหล้า

ราวๆ ช่วงปลายเช่นนี้ของปีที่แล้ว (2551) ผมไปยังห้างค้าปลีกข้ามชาติขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ต่างอำเภอเพื่อหาซื้อเบียร์ยี่ห้อนอก (สักหนึ่งลัง) ตระเตรียมสำหรับงานเลี้ยงที่บ้านเพื่อนร่วมงานในค่ำคืนนั้น ผมถึงห้างประมาณบ่ายสี่โมง และพบว่ายังไม่สามารถจะซื้อเบียร์ได้จนกว่าจะพ้นเวลา 17.00 น. ไปแล้ว ผมได้ทราบจากปากคำของพนักงานขายเอง ระหว่างที่รอนั่นเองที่ทำให้เกิดความตั้งใจที่จะควานหา ‘ต้นตอ’ ของข้อห้ามนี้ให้รู้แน่ชัด เช่น เป็น ‘กฎหมาย’ หรือไม่? หากเป็น มาจากพระราชบัญญัติฉบับใด? และเริ่มใช้บังคับกันมาตั้งแต่เมื่อใด?

และก็เป็นเรื่องน่าเศร้าและรู้สึกเสียศักดิ์ศรีสิ้นดี เมื่อผมได้มารู้ภายหลังว่าข้อห้ามที่ใช้กันเอิกเกริกอย่างอยู่ทุกวันนี้เอามาจาก ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 (ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร) ข้อ 2 “ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุรา... หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราดังกล่าวจำหน่ายสุราทุกชนิดในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 นาฬิกาถึงเวลา 14.00 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกาถึงเวลา 24.00 นาฬิกา…” โดย ข้อ 4 กำหนดว่า “ผู้ใดฝ่าฝืน... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

แน่นอนว่าต้องถือเป็น ‘กฎหมาย’ จริงๆ ล่ะครับ หากใช้แนวความคิดประชาธิปไตย ‘แบบไทยๆ’ มาอธิบาย [1] สวนทางกับแนวคิดในเชิงประชาธิปไตย ‘สากล’ ซึ่งเขาไม่ยอมรับกัน [2] ดังเช่นที่ ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen, 1789) ซึ่งประกาศหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในฐานะเอกสารประวัติศาสตร์ ‘ประชาธิปไตย’ ชิ้นสำคัญของโลก ข้อที่ 6 ระบุว่า “กฎหมายคือการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ร่วมกัน” (Article VI - The law is the expression of the general will.) เมื่อกล่าวโดยทั่วไป ปวงชนสามารถจะแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวได้โดยวิธีการลง ประชามติ หรือทำโดย ผ่านรัฐสภา ซึ่งสมาชิกทุกคนของรัฐสภาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร (ตัวเน้นหลังนี้เป็นคำพูด ‘ย้ำ’ ของปรีดี พนมยงค์)

ความข้างต้นคงเป็นแค่หนึ่งในหลายร้อยหลายพันตัวอย่างของข้อห้ามที่ผู้ต้อง ‘ถูก’ กฎหมายใช้บังคับให้ทำตามสารพัด (อย่างเราๆ ท่านๆ) น้อยคนนักจะรู้ถึง ‘ที่มา’ อัน มิ ‘ชอบธรรม’ (legitimacy) ของมัน ยังมิพักเอ่ยถึง ‘กฎหมาย’ อีกมากมายที่แม้นไม่ได้มาจากคณะรัฐประหารต่างๆ โดยตรง ทว่าเป็น ‘กฎหมาย’ ที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารเป็นคนแต่งตั้ง ในชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แทนอีกทอด อย่างเช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เพิ่งตกเป็นประเด็นให้สื่อ ‘เลือก’ หยิบมาเล่นข่าวกันใหญ่โต กรณีกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับบริษัทเจ้าของปฏิทินเบียร์ลีโอ ชุดบอดี้เพนท์ โดยยก มาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยที่ไม่ใช่การให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม กับ มาตรา 30 (5) ที่ห้ามการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยการแจก แถม ให้ ขึ้นมากล่าวอ้างนั้น ก็เพิ่งจะออกมาในสมัยของ สนช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อภายหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ 49
 

บุหรี่

สำหรับประเทศไทยแล้ว หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาสำคัญในทาง ‘กฎหมาย’ ก็คือ ‘การบังคับใช้’ (enforcement) เรื่องใกล้ตัวเช่น แม้กระทั่งผมเองก็ขับรถยนต์ด้วยความเร็วเกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมงอยู่เป็นประจำ ทั้งๆ ที่ก็รู้เต็มอกว่านั่นน่ะผิดกฎหมายแน่ๆ (ซึ่งน้อยคนนักที่จะไม่เคยทำผิดกฎหมายข้อนี้) [3] คงไม่ต่างกับที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมากยังใช้โทรศัพท์ขณะกำลังขับขี่ (ไม่เว้นแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์) แบบสบายใจเฉิบนั่นเอง [4] ฯลฯ

ผมจึงแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อพบว่ามาตรการห้ามสูบบุหรี่ใน “สถานที่สาธารณะ” ที่ได้ขยายขอบเขตไปจนครอบคลุมถึงสถานที่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มด้วย [5] สามารถทำได้อย่างจริงจังทันที โดยเฉพาะกับร้านเหล้า กระนั้น มาตรการดีๆ อย่างนี้กลับต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ผลงานของ สนช. ซึ่งสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เป็นคนแต่งตั้งให้เสร็จสรรพ หลังการรัฐประหารครั้งก่อน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 อีกเช่นเคย

ถึงอย่างไรก็ตามแต่ ประเทศไทยก็ถือว่าก้าวหน้ามากในเรื่องนี้ ขณะที่เยอรมนี กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร บาร์ และคาเฟ่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2008 (พ.ศ.2551) มานี่เองถามว่าทำไมเยอรมนีจึงเพิ่งมีกฎหมายทำนองนี้ (ตามหลังประเทศไทยถึงกว่า 15 ปี) สามารถตอบอย่างรวบรัดได้ว่าเพราะคนเยอรมันไม่อาจยอมรับในกฎหมายที่เป็นผลพวงจากระบอบเผด็จการได้ (เหมือนๆ สังคมไทย) นั่นเอง

กล่าวคือ อดอฟล์ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมันนั้นเป็นคนไม่ชอบการสูบบุหรี่ เมื่อเขาเรืองอำนาจจึงมีการออกกฎหมายห้ามคนเยอรมันสูบบุหรี่ในที่สาธารณะสำคัญ ทั้งในรถประจำทาง ที่ทำการไปรษณีย์ โรงละคร โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ไปจนถึงสำนักงานใหญ่ของนาซี เยอรมนีจึงเป็นประเทศที่เคยก้าวหน้ามากในเรื่องการต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างที่จะหาประเทศตะวันตกอื่นตามทัน กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะของเยอรมนีที่บังคับใช้ในปี 1941 (พ.ศ.2484) จึงนับว่ามีวิสัยทัศน์มาก เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง คนเยอรมันจึงหันกลับมาสูบบุหรี่อย่างจริงจังอีกครั้งหลังกฎหมายได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการล่มสลายของพรรคนาซี สำหรับเยอรมนี การสูบบุหรี่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพด้วยมีนัยยะของการต่อต้านคำสั่งฮิตเลอร์โดยตรง [6]


กฎหมาย และความชอบธรรม

เหตุการณ์รัฐประหารแทบทุกครั้ง ย่อมนำไปสู่การ ‘แต่งตั้ง’ สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ให้เข้ามาทำหน้าที่ออกกฎหมายต่างๆ ท่ามกลางความกังขาเรื่องความชอบธรรมในการใช้อำนาจดังกล่าว กฎหมายมากมายถือกำเนิดในช่วงหักเหสำคัญทางการเมืองนี้ แน่นอนว่าจำนวนมิใช่น้อยๆ มีเนื้อหาที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งขอเดินสวนทางกัน กฎหมายโดยมากในห้วงนี้ใช้เวลาพิจารณาอย่างรวดเร็ว และมักผ่านด้วยองค์ประชุมอันน้อยนิดทั้งสิ้น

การที่หลายฝ่ายดาหน้ากันออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมาย (ทุกๆ ฉบับ/ทุกลำดับศักดิ์) โดยมองข้ามประเด็น ‘ความชอบธรรม’ (และ ‘ความเป็นธรรม’) ของมันไป ขณะที่ฟากฝ่ายผู้เสียหายเองก็พร้อมยอมรับโดยดุษฎี และยกข้อกฎหมายขึ้นสู้แทนการปฏิเสธกระบวนการที่ฉ้อฉลทั้งหมดนั้น ย่อมสะท้อนถึงการ ประนีประนอม ระหว่างสองฝั่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันสุดขั้ว ระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” ในสังคมไทย เปรียบเป็นเหมือน สองคนในร่างเดียว ดังชื่อเพลงยอดนิยมเพลงหนึ่งในอดีต แน่ละ ถ้าสังคมไทยยังเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย (หรืออยากเป็นอยู่) จะต้องไม่สมยอมกับปัญหานี้เป็นอันขาด

กล่าวให้ถึงที่สุด แม้โทษภัยของเหล้าบุหรี่นั้นมีมากมาย และส่งผลรอบด้าน แต่หนทางต่อสู้ (จำกัด/กำจัด) กับสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้นที่สำคัญที่สุด คือ คำนึงถึงกระบวนการที่ ‘ถูกต้อง’ ตามครรลองประชาธิปไตยด้วย มิฉะนั้นก็คงจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เคยใช้คำว่า “สร้างคนดีภายใต้กฎที่เลว”  [7] อธิบายเอาไว้

 

........................................
[1] ที่มา (แรกเริ่ม) ของ “ความชอบธรรม” ของคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติรัฐประหารเกิดจากศาลฎีกา ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติให้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ” และคำพิพากษาดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นฐานในการรองรับการใช้อำนาจในการออกกฎหมายของคณะรัฐประหารเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ อ้างถึงใน นันทวัฒน์ บรมานันท์, “อย่างนี้ถึงจะเรียกตุลาการภิวัตน์!!!,” บทบรรณาธิการ (ครั้งที่ 226) ใน http://www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=1406

[2] คงเป็นอย่างที่ นันทวัฒน์ บรมานันท์ เล่าว่า “…ผมยังจำได้ว่าสมัยที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี พ.ศ.2525–2530 ผมได้อ้างประกาศของคณะปฏิวัติฉบับหนึ่งไว้ในวิทยานิพนธ์ด้วย ซึ่งก็มีปัญหาอย่างมากเมื่อแปลคำว่าประกาศของคณะปฏิวัติออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศส อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ไม่ยอมเข้าใจเรื่องดังกล่าว อธิบายอย่างไรก็ถูกโต้ตลอด จนกระทั่งในที่สุดก็ต้องเขียนคำอธิบายเอาไว้ด้วยว่าประกาศของคณะปฏิวัติมีสถานะอย่างไร…” ใน เรื่องเดียวกัน.

[3] พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67 “ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง...” ซึ่งตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2524) กำหนดไว้ดังนี้ "…สำหรับรถยนต์ทั่วไป หรือรถจักรยานยนต์ ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ 90 กิโลเมตร"

[4] พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (9) “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น”

[5] เป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2550 เรื่อง กำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ รวมทั้งกำหนด สภาพ ลักษณะ และมาตรฐานของเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ (ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์)

[6] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, “ฮิตเลอร์ บุหรี่ และเสรีภาพในการพ่นควัน (ตามรัฐธรรมนูญ)” ใน ชาติ ศาสนา ซาชิมิ, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊กส์, 2551), หน้า 197-205.

[7] โปรดดู พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, “การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการทำให้พลเมืองกลายเป็นไพร่” ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับพิเศษ รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 82.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท