Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรากฏการณ์’เขายายเที่ยง’ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่ชอบธรรมในการครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะที่ประชาชนผู้ยากไร้บริเวณเดียวกันกลับถูกจับกุมคุมขังในการเข้าใช้พื้นที่

แท้จริงแล้ว รากเหง้าความขัดแย้งในการจัดการป่า มีสาเหตุเชิงโครงสร้าง นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 คือ ระบบการรวมศูนย์อำนาจของรัฐต่อการจัดการป่า โดยผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ 2484, พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2504, พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ 2507, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535, พระราชบัญญัติสวนป่า 2535  ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

ประการแรก การนิยามว่า ‘ป่า’ คือ พื้นที่ดินว่างเปล่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นป่าตามความหมายเชิงนิเวศ หรือเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่อาศัยโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ตาม ก็ถูกเหมารวมว่า เป็นป่าของรัฐ ที่รัฐสามารถใช้อำนาจเข้ามาจัดการได้เต็มที่ ซึ่งมีประชาชนนับล้านครอบครัวที่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศพื้นที่ของรัฐ และรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายจับกุมคุมขังชาวบ้านโดยอ้างว่าผิดกฎหมาย  ผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์พิสูจน์สิทธิ์ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด

ประการที่สอง  การกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์ โดยใช้อำนาจของรัฐตามลำพัง ตามพื้นที่ที่ถูกนิยามว่าเป็นป่าตามกฎหมาย ซึ่งรัฐกำหนดเขตต่างๆ เหล่านี้ เพื่อควบคุม จัดระเบียบในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จตามวัตถุประสงค์ของรัฐ

ประการที่สาม  การใช้ระบบสิทธิต่อการจัดการป่าเชิงเดี่ยวและเบ็ดเสร็จอยู่ที่ภาครัฐ และเปิดช่องให้รัฐใช้ดุลพินิจให้นายทุนเอกชนในการแสวงประโยชน์จากป่า  เช่น การให้สัมปทานป่า หรือรับรองสิทธิการใช้พื้นที่ป่าและทรัพยากรอื่นๆ ในป่าของนายทุนภาคเอกชน แต่ปฏิเสธสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าตามวัฒนธรรม ประเพณี จึงมีการใช้พื้นที่ป่าของนายทุนเอกชน ทำรีสอร์ท สนามกอฟล์ บ้านพักตากอากาศ  และอื่นๆ ในพื้นที่ป่าจำนวนมากมาย

ที่สำคัญ ประการที่สี่  การให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กรมป่าไม้ในการควบคุมจัดการในพื้นที่ที่เป็นป่าตามกฎหมาย โดยไม่เปิดช่องให้เกิดการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น ส่วนราชการอื่นๆ และภาคประชาสังคมในวงกว้าง และมักเปิดช่องทางให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชน กลุ่มนายทุนนักการเมืองอิทธิพลต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เช่น การเช่าพื้นที่ทำสวนป่าระยะยาว สัมปทานโรงโม่หิน ฯลฯ 

กล่าวโดยสรุป ตราบใดที่ปล่อยให้รัฐผูกขาดอำนาจในการจัดการป่าเพียงฝ่ายเดียว ย่อมนำมาสู่การเบียดขับคนจน และปล่อยให้มีการฉ้อฉลของกลุ่มนายทุนอิทธิพล กลุ่มอภิสิทธิ์ชนต่างๆ ได้ประโยชน์ เหมือนเช่น กรณีเขายายเที่ยงนี้... ใช่หรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net