Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การต่อสู้เพื่อนิรโทษกรรมทักษิณเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคม และจะยังคงอยู่จนกว่าการต่อสู้ทางการเมืองในบ้านเราจะดำเนินไปถึงจุดที่สามารถตัดสินแพ้-ชนะได้เด็ดขาด หรือไม่ก็ถึงจุดที่ชนชั้นนำสามารถประนีประนอมกันได้ (และน่าจะเป็นการประนีประนอมในเงื่อนไขที่มวลชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายพอจะยอมรับได้ด้วย)

อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับทัศนะพื้นฐานเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” และ “รัฐประหาร” ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิวาทะทางวิชาการในบ้านเราตลอด 3-4 ปีมานี้ ซึ่งผมอยากชวนให้ลองทบทวนกันอีกครั้ง
หนึ่งในนักวิชาการที่เห็นว่า การนิรโทษกรรมทักษิณมีความชอบธรรม คือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

เขาให้เหตุผลว่า

“ทักษิณ ถูกรัฐประหาร (ที่โทษประหารชีวิต) ล้มไป ทักษิณ เป็นนายกฯที่ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบธรรมคนสุดท้าย
การนิรโทษกรรมให้ทักษิณ จะถือว่า "ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง" ได้อย่างไร?
แล้วไอ้ "คดีความต่างๆ" ที่ว่า ทักษิณโดนอยู่น่ะ มันมาจากอะไร ไม่ใช่จาก รปห.หรือ?
รู้จัก "กระบวนการยุติธรรม" due process หรือเปล่า?

ในประเทศเจริญแล้ว ต่อให้สมมุติว่า จนท. จับใครมาขึ้นศาล ถ้าด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีหมายค้น, ไม่อ่าน "คำเตือน" ("คุณมีสิทธิไม่ให้การ คุณมีสิทธิมีทนายได้...") อย่างนี้ ต่อให้ "สังคม" "เชื่อ"ว่า คนที่ถูกจับมานั้น ผิด ศาลยังต้องสั่งให้คดีเป็นโมฆะเลยครับ

คุณยอมรับให้ "คดีความต่างๆ" ที่มาจากวิธีรัฐประหาร ใช้เล่นงานทักษิณได้ ก็คือคุณยอมรับการรัฐประหาร (รบ. ที่ รปห.ล้ม จะ"คอร์รัปชั่น" จริง ไม่จริง มากน้อย แค่ไหน ไม่เคยเป็นประเด็นเลย คนที่ทำรัฐประหาร ไม่มีสิทธิแม้แต่น้อยในการทำ รปห.เลย ถ้ามีการ คอร์รัปชั่น ของ รบ. ประชาชน จะหาทางจัดหารตามวิถีทาง ประชาธิปไตย
เอง)

การที่ รปห.ล้ม รัฐบาลไป ประชาชน ไม่เพียงมีสิทธิ แต่ยังเป็นหน้าที่ด้วย ที่จะ defend คนที่ถูกรัฐประหารไป ไม่ว่า คนนั้น จะถูกข้อหาอะไร (คอร์รัปชั่น, ฆ่ากษัตริย์ ฯลฯ)
ทักษิณ (ถ้า) โกง คือ การ(สงสัยว่า) ทำผิด กม. คมช.ล้ม รธน. คือ การเลิกกฎหมาย (กฎหมายสูงสุด) ด้วย นี่มันต่างกันโว้ย คุณทำผิด กม. ผิดใช่ แต่การไม่มีกฎหมายเลย เลิกกฎหมายเลย อันนี้แหละ เขาถึอว่าผิดกว่า และต้องเลิกสิ่งที่ตามมาจากการทำผิดลักษณะนี้

นี่คือเหตุผลเบื้องหลัง กรณี x ที่ยกให้ดู และประเทศไหนๆ ที่เป็นประชาธิปไตย เขาก็ทำกัน คือ ถ้า ตำรวจ ฯลฯ ไปทำผิด due process คือเท่ากับไปเลิกกฎมาย เท่ากับไม่มีกฎหมายแล้ว ใครเห็นว่าใครทำผิดก็จับเอาได้ตามใจชอบ เหมือนการ รปห. เลิก รธน. ดังนั้น เขาจึงปล่อย x และเลิก กระบวนการเล่นงาน x ทั้งหมด

...ถ้าสิ่งที่ต่างๆที่ได้มาจากการละเมิด due process ในคดีย่อยๆ ไม่อาจรับได้ สิ่งที่ได้มาจาก รปห. ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย ควรเป็นข้อสรุป โดยอัตโนมัติของปัญญาชน ของคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยไม่ต้องคิดเลยด้วยซ้ำ”
(เก็บความจากความเห็นท้ายบทความ “รัฐบาลอภิสิทธิ์กลัวอะไร?” โดย นักปรัชญาชายขอบ,ประชาไท,sat,2010-0102 22:24)

ในทัศนะของสมศักดิ์ ประชาธิปไตยและรัฐประหารมีค่าทางจริยศาสตร์แบบ absolutism คือมีค่าถูกและผิดในตัวของมันเองอย่างตายตัว ไม่ขึ้นกับบริบทใดๆ ฉะนั้น รัฐประหารล้มกติกาประชาธิปไตยจึงผิดอย่างสัมบูรณ์ กระบวนการที่กระทำสืบเนื่องหรือผลที่ตามมาจากรัฐประหารจึงต้องผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่ยังมีทัศนะที่ตรงกันข้าม เช่นความเห็นของยุค ศรีอาริยะ (เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจบจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับสมศักดิ์) ที่ว่า 

“อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นรัฐประหารของผู้อาวุโส เพราะบรรดาคนที่อยู่เบื้องหลังล้วนแต่เป็นคนที่มีอายุมากแล้วทั้งนั้น ท่านจึงดำเนินการได้อย่างรอบคอบ…รัฐประหารครั้งนี้หมายถึงการสิ้นสุดลงของระบอบทักษิณ ที่มีคุณทักษิณเป็นผู้นำ…หลังจากนี้ ขบวนการตุลาการภิวัตน์คงเคลื่อนตัวไปอย่างเต็มรูป ใครถูก ใครผิด ใครโกงกินบ้านเมือง จะถูกลงโทษไปตามกฎหมาย ขบวนการนี้คงส่งผลโดยตรงต่อการสกัดกระแสคอรัปชั่นทางการเมืองที่แพร่ระบาดจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของนักการเมือง ของข้าราชการได้ในระดับหนึ่ง

...อุปสรรค (ของประชาธิปไตย-ผู้เขียน) ที่ใหญ่กว่าเรื่องความเป็นทหาร คือ เรื่อง“อวิชชา” หรือความเชื่อกันอย่างผิดๆมาตลอดในเรื่องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น ความเชื่อว่า “ประชาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญ” จะสร้างประชาธิปไตยได้ก็ต้องให้นักกฎหมาย(หน้าเก่าๆ) ไปช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ความเชื่อที่สองคือ “ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง และรัฐสภา” ถ้าจัดให้มีการเลือกตั้ง และมีสภา ก็มีประชาธิปไตยแล้ว…ผมชี้ว่า ระบอบที่มีรูปแบบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยเสมอไป โดยทั่วไปเรามักจะ “หลง” รูปแบบภายนอก ถ้ารูปแบบเป็นอะไร ก็หลงเชื่อกันว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างนั้น

…เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องรูปแบบเท่านั้น จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เราต้องเข้าใจเรื่อง “วัฒนธรรมการเมือง” ซึ่งเป็นหัวใจ และพื้นฐานของระบอบการเมือง คำว่า “วัฒนธรรมการเมือง” นี้คือ แบบแผนในการปฏิบัติทางการเมืองที่เป็นจริง รวมทั้งค่านิยม ความเชื่อ ความคิด และจิตวิญญาณของชนชั้นนำ และประชาชน ที่มีชีวิตอยู่ในระบอบการเมืองนั้น

ระบอบการเมืองไทยที่ผ่านมาดำรงอยู่ด้วย วัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง 2 แบบ

แบบแรกคือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม วัฒนธรรมนี้มีความเป็นมายาวนาน และสืบทอดแนวคิดมาจากยุครัฐโบราณ มีรากมาจากความเชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ และการจัดการปัญหาโดยการใช้ความรุนแรง แบบที่สองคือ วัฒนธรรมโกงกิน และความเจ้าเล่ห์(หลอกลวง)แบบศรีธนญชัย วัฒนธรรมนี้แพร่ระบาดในหมู่นักการเมือง และข้าราชการ โดยมีความเชื่อว่า การเข้ามามีอำนาจคือที่มาแห่งความร่ำรวย …วัฒนธรรมทั้ง 2 แบบนี้ถูกกระตุ้นเสริมอย่างแรงด้วยความเชื่อ และวัฒนธรรม (แบบที่สาม-ผู้เขียน) ความกระหายอยากในความมั่งคั่งที่ไร้ขอบเขตจำกัด หรือที่พูดกันว่า “ความรวยคือ ความถูกต้อง และความดีงาม”
             
...อะไรคือ จิตวิญญาณของระบอบทักษิณ? ผมก็จะนำเอา 3 แบบวัฒนธรรมข้างต้น มาเชื่อมกับความหลงอำนาจของคุณทักษิณ เมื่อเราเอาทั้ง 4 เรื่องมาผสมกัน เราก็จะเข้าใจชัดว่า อะไรคือ ระบอบทักษิณ ในแง่จิตวิญญาณ และวัฒนธรรม วันนี้ คุณทักษิณสิ้นอำนาจไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ระบอบวัฒนธรรมทักษิณจะสิ้นสุดลง วัฒนธรรมแบบทักษิณยังคงอยู่คู่ฟ้าแผ่นดินไทย และพร้อมจะฟื้นกลับ แล้วพัฒนาขยายตัวขึ้นเมื่อไรก็ได้” (ผู้จัดการออนไลน์,29/9/2006)

ในทัศนะของยุค ศรีอาริยะ ประชาธิปไตยและรัฐประหารมีค่าทางจริยศาสตร์แบบ contextualism คือมีค่าถูกและผิดขึ้นอยู่กับบริบท ฉะนั้น การใช้กติกาประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ (means [ทักษิณก็เคยพูดว่า “ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิถี”]) ให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือให้อยู่ในอำนาจรัฐได้นานเพื่อเป้าหมาย (end) คือคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งที่ผิด และรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลเช่นนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูก

ทัศนะของสมศักดิ์ ชัดเจนว่าปฏิเสธรัฐประหารโดยสิ้นเชิง และหากจะ defend ประชาธิปไตยก็ต้องปฏิเสธกระบวนการและผลทุกอย่างที่ตามมาจากรัฐประหาร ฉะนั้น การนิรโทษกรรมทักษิณเป็นการยกเลิกรัฐประหารจึงเป็นการกระทำที่ชอบธรรม

ส่วนทัศนะของยุค ศรีอาริยะ ชัดเจนว่ายอมรับรัฐประหารภายใต้บริบทบางอย่าง เช่นรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลคอร์รัปชัน และเชื่อว่าเป็นไปได้ที่รัฐประหารอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการส่งผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังที่เขาเขียนว่า “รัฐประหาร กับการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน อาจจะไปด้วยกันได้ ถ้าผู้นำรัฐประหารเข้าใจ หรือมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาจริงๆ และมีฐานภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมช่วยสร้างฐานประชาธิปไตยกันอย่างเต็มกำลัง” (อ้างแล้ว)

แต่ยังมีอีกมุมมองที่วิจารณ์ “ข้อเท็จจริง” ของประชาธิปไตยและรัฐประหารแบบไทยๆในแบบที่ชวนให้เรามองปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น มุมมองของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ว่า

“ความแตกต่างกันระหว่าง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งคณะที่ลงมือเองและให้การสนับสนุน กับคณะบุคคลที่ครองอำนาจด้วยวิธีเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ก็เหมือนความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือมีส่วนต่างกันอยู่บ้างในเรื่องที่มาและเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่ไม่ได้ต่างกันถึงขั้น ขาวล้วน ดำล้วน ดังที่บางฝ่ายพยายามบอกเรา

...บทเรียนที่เกิดขึ้นมีความผิดพลาดจากการที่กลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ที่ขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการใช้อำนาจโดยแยกออกจากฉันทามติทางวัฒนธรรมมากเกินไป หรือที่เรียกว่า "ลุแก่อำนาจ" ทำ ให้ได้รับการต่อต้านจากคนจำนวนมาก เรื่องความชอบธรรมของการใช้อำนาจว่า 1.ต้องมีที่มาที่ชอบธรรม 2.ต้องมีจุดหมายที่ชอบธรรม และ 3.วิธีการใช้อำนาจต้องชอบธรรมด้วย ไม่ใช่ที่มาชอบธรรมแล้วทำอะไรก็ได้

...ปัญญาชนนักวิชาการที่ผิดหวังกับรัฐบาลเลือกตั้งจึงไม่คัดค้านการรัฐประหารทั้งที่เขาก็ไม่อยากได้เผด็จการแต่อย่างใด ในทางรัฐศาสตร์ สิ่งนี้เรียกว่า "วิกฤตฉันทานุมัติ" ...อันที่จริงวิกฤตฉันทานุมัติในประเทศไทยแก้ไขได้ ถ้าเรารู้จักเก็บบทเรียนโดยเสริมสร้างความระมัดระวังในการออกแบบระบอบการเมืองไม่ให้เป็นแค่เวทีของ "ชนชั้นนำ" บางกลุ่มซึ่งมักปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ และของ "มวลชนชั้นล่าง" ในเวลาเดียวกัน” (มติชนออนไลน์,14/12/2007)

ผมเองเห็นว่า ทัศนะต่อประชาธิปไตยและรัฐประหารแบบ absolutism กับ contextualism เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันได้ไม่รู้จบ เพราะทุกฝ่ายต่างก็มีเหตุผล (arguments) ของตัวเอง ส่วนมุมมองเรื่อง “วิกฤตฉันทานุมัติ” และทางออกที่เสกสรรค์เสนอเป็นเรื่องที่น่าจะนำไปคิดต่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม หากจะยืนยันว่า การนิรโทษกรรมทักษิณเป็นสิ่งที่ชอบธรรมเพราะเป็นการเลิกรัฐประหาร ผมเห็นว่าการกระทำเพียงเท่านี้ยังไม่ชอบธรรมพอ ถ้าจะให้ชอบธรรมอย่างสมบูรณ์จะต้องต่อสู้ให้นิรโทษกรรมทักษิณด้วย และให้นำ คมช.ขึ้นศาลด้วย

เพราะถ้าทำเพียงแค่นิรโทษกรรมทักษิณ ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก (และรัฐบาลลุแก่อำนาจคอร์รัปชันจะไม่เกิดขึ้นอีก)

เพราะทำรัฐประหารก็ไม่ต้องรับผิด (เป็นรัฐบาลลุแก่อำนาจ/คอร์รัปชันก็ไม่ต้องรับผิด ตอนอยู่ในอำนาจใครก็ทำอะไรไม่ได้ ถูกรัฐประหารแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ และยังสามารถใช้พรรคการเมืองของตัวเองออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองได้ด้วย) ถ้าเป็นเช่นนี้ระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราก็เป็นเพียง “เวที” รองรับการเล่นเกมชิงอำนาจของชนชั้นนำอย่างไม่รู้จบสิ้น!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net