Skip to main content
sharethis
 
 
ให้กำลังใจ -Mr.Oystein Aslaksen ประธานสาขาแรงงานรถไฟ ITF (คนกลางแถวนั่ง)
พร้อมคณะและสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่
ชูมือแสดงพลังและให้กำลังใจระหว่างลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริง
กรณีพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย 6 คน ถูกไล่ออก
 
 
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะผู้แทนสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ หรือ ITF จาก 5 ประเทศคือ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย นอรเวย์ และอังกฤษ ลงพื้นที่เข้าพบกับกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยสาขาหาดใหญ่ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 6 พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ถูกไล่ออก
 
โดยคณะทั้งหมดได้เยี่ยมชมบริเวณโรงรถจักรหาดใหญ่ ภายในย่านสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ โดยมีนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายวิรุฬห์ สะแก้คุ้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ 1 ใน 6 พนักงาน รฟท.ที่ถูกไล่ออกเป็นผู้นำชม จากนั้นได้พบปะกับตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่
 
จากนั้นเวลา 13.00 น. ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ คณะผู้แทน ITF ได้แถลงถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการไล่ออก 6 พนักงานรถไฟดังกล่าว โดยนายออยสเตน อาสลาคเซน ประธานสาขาแรงงานรถไฟ ITF (ระดับสากล) ระบุว่า การกระทำของพนักงานรถไฟทั้ง 6 คนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการที่การรถไฟและผู้ที่เกี่ยวข้อมีคำสั่งไล่ออกพนักงานทั้ง 6 คนเป็นสิ่งที่ผิด พร้อมกับเรียกร้องให้การรถไฟฯรับทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงานโดยเร็วที่สุดและไม่มีเงื่อนไขใดๆ รวมทั้งจะต้องถอนฟ้องพนักงานรถไฟฯในทุกๆ คดีทั้งคดีอาญาและการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
 
“คณะ ITF จะรอฟังมติของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะมีการประชุมชี้ขาดพนักงานรถไฟฯทั้ง 6 คนว่าจะไล่ออกหรือไม่ในวันที่ 15 มกราคม 2553 หากไม่ได้รับความเป็นธรรมทาง ITF และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังองค์แรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ทันที และทาง ITF พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางที่จะช่วยพนักงานทั้ง 6 และรวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสหภาพรถไฟฯไทยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม” นายออยสเตน กล่าว
 
“ที่สำคัญจากการตรวจสอบประวัติ 6 พนักงานงาน มีประวัติการทำงานที่ดีเยี่ยมไม่เคยทำผิดระเบียบแม้แต่ครั้งเดียว ผลการประเมินการปฏิบัติงานสูงมาก จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่มาถูกไล่ออกเพราะการเรียกร้องความปลอดภัย รวมถึงพนักงานคนอื่นๆที่อาจจะถูกไล่ออกตามมาซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ทาง ITF ต้องการเรียกร้องให้การรถไฟฯเร่งปรับปรุงระบบความปลอดภัยและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในองค์กร และหยุดความพยายามที่จะทำลายสหภาพรถไฟฯ” นายออยสเตน กล่าว
 
นายออยสเตน กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ดูระบบการให้บริการรถไฟของไทย ในภาพรวมพบว่า มีปัญหาโดยเฉพาะปัญหาด้านการลงทุนเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งการรถไฟฯ จะต้องสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยที่โปร่งใส และต้องให้พนักงานมีส่วนร่วมในการรายงานปัญหาที่พบ และต้องได้รับการชมเชยไม่จะการลงโทษหรือถูกกลั่นแกล้ง
      
นายออยสเตน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าพนักงานรถไฟฯถูกบังคับให้ขับรถจักรที่มีปัญหาระบบความปลอดภัย โดยเฉพาะระบบวิจีแลนด์หรือระบบเตือนสติคนขับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และประเทศอื่นไม่มี ซึ่งหากจะให้คะแนนระบบความปลอดภัยรถไฟไทยอยู่ในระดับ 1 หรือ 2 จากคะแนนเต็ม 10 เพราะหัวรถจักรเกือบทั้งหมดมีปัญหาและอยู่ในสภาพเก่า นอกจากนี้จะต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยการเดินรถไฟใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งพนักงานและผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้น
 
นายออยสเตน เปิดเผยด้วยว่า จะทำรายงานข้อเท็จจริงกรณี 6 พนักงานรถไฟถูกไล่ออกไปยังสมาชิกสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศทั่วโลกให้รับทราบด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากระบบความปลอดภัยของรถไฟเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการให้บริการรถไฟทั่วโลก เพราะหมายถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร และการเคลื่อนไหวของพนักงานรถไฟไทยควรได้รับรางวัลและคำชมเชยแทนการถูกไล่ออก เพราะเป็นสิทธิที่พนักงานรถไฟจะไม่ปฏิบัติหน้าที่หากไม่ปลอดภัย
 
นายออยสเตน เปิดเผยต่อว่า เหตุการณ์ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ซึ่งมีการรวมตัวเคลื่อนไหวของพนักงาน ทั่วโลกรับรู้และแรงงานรถไฟทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะประเด็นหลักคือสิทธิของพนักงานที่จะไม่ทำงานเพื่อไม่ปลอดภัย และหนทางที่จะนำไปสู่การปรับปรุงความปลอดภัย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความร่วมมือ 3 ฝ่ายคือ นายจ้าง ลูกจ้าง และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ
 
นายมัสซา ทากาฮาชิ ผู้แทนสหภาพแรงงานรถไฟตะวันออกแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การปลดพนักงานทั้ง 6 คนออกเป็นการปลดก่อนแล้วหาเหตุผลมาสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องและเป็นปัญหาทางการเมืองที่พยายามทำลายองค์กรของสหภาพฯ ที่สำคัญรายงานของผู้บริหารการรถไฟฯ ที่ลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงไม่ตรงกับความเป็นจริง และขัดแย้งกับข้อมูลในพื้นที่ และคำสั่งไล่ออกมีการระบุจำนวนคนที่ทำผิด ซึ่งหน้าหน้าแต่ไม่มีการระบุชื่อ ที่สำคัญกรณีที่การรถไฟฯระบุว่าสูญเสียรายได้จากการที่มีการหยุดเดินรถ สวนทางกับความเป็นจริงเพราะรายได้ส่วนใหญ่ของรถไฟมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนและเมื่อเปิดเดินรถประชาชนก็กลับมาใช้บริการตามปกติ จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
 
“ทั้งนี้ ในวันแรงงานรถไฟโลกในช่วงเดือนเมษายนของปีนี้ จะมีการหยิบยกประเด็นการต่อสู้ของพนักงานรถไฟไทยที่เรียกร้องเรื่องความปลอดภัยแล้วถูกไล่ออกไปเป็นประเด็นหลักให้สหภาพแรงงานรถไฟทั่วโลกรับทราบ และหาแนวทางแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ” นายมัสซา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net