การเมืองเรื่องพื้นที่ป่าไม้: กรมป่าไม้อย่าฉวยโอกาส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กรณีการถือครองที่ดินบนเขายายเที่ยงของ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ได้นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตต่อปัญหาการถือครองที่ดินของสังคมไทย รวมทั้งจุดยืน และท่าทีการแก้ไขปัญหาของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้กำกับดูแลพื้นที่โดยตรง ว่าจะมีมาตรการอย่างไร

กระทั่งล่าสุด นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ได้ใช้โอกาสดังกล่าวนี้ เพื่อจัดการปัญหาที่ดินในเขตป่าทั่วประเทศกว่า 5 ล้านไร่ โดยการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมป่าไม้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบการถือครองที่ดินทั่วประเทศ กำหนดภายใน 60 วัน และเตรียมชี้ขาดกรณีที่ดินเขายายเที่ยงภายใน 7 วัน ภายหลังได้รับสำนวนจากอัยการ

ส่วนปัญหาการถือครองที่ดินทั่วประมาณกว่า 5 ล้านไร่ จะตั้งกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา โดยจะนำกรณีเขายายเที่ยงมาเป็นกรณีนำร่อง และให้เวลา 60 วัน ในการเสนอแนวทาง ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่ถูกทำลายอย่างรุนแรง 190 จุด ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามี 20 พื้นที่เป้าหมายที่ต้องเข้าควบคุมพื้นที่โดยด่วนโดยเข้าควบคุมพื้นที่ไม่ให้ขยายการบุกรุก จากนั้นจะประกาศให้ผู้เข้าครอบครองมาแสดงตนตามระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มา ก็จะเข้ารื้อถอน และดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ป่าวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ เขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ สวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ป่าแก่งกรุง จ.สุราษฎร์ธานี ป่าแม่สลอง กิ่วทับยั้ง จ.เชียงราย และป่าชายเลนในจังหวัดพังงา ชุมพร สตูล เป็นต้น

จากมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าของกรมป่าไม้ ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตและกังวลต่อแนวทางของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะฉวยโอกาสนี้ดำเนินมาตรการขับไล่ประชาชนที่เขาถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อนการประกาศเขตป่าไม้ และมีเรื่องพิพาทและโต้แย้งสิทธิกับหน่วยงานรัฐอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่จำแนกแยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นชาวบ้านที่ควรได้รับสิทธิ หรือบรรดานายทุนที่เข้ามาซื้อสิทธิ์ในภายหลัง

ยกตัวอย่างให้ชัดเจน เช่นกรณีสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่อธิบดีกรมป่าไม้อ้างว่าเป็นพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องเข้าควบคุม ในทางเป็นจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านเคยถือครองทำกินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 กระทั่งปี พ.ศ. 2516 รัฐได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ซึ่งชาวบ้านหลายรายได้แจ้งการครอบครองที่ดิน แต่ป่าสงวนแห่งชาติยังประกาศทับเหมือนเดิม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขสัมปทานตัดไม้ โดยการปลูกยูคาลิปตัส และขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่

การดำเนินการของกรมป่าไม้และ ออป. ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวบ้านได้ต่อสู้คัดค้านมาโดยตลอด แต่ ออป.ได้จ้างผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นข่มขู่ คุกคาม กระทั่งต้องออกจากพื้นที่ในที่สุด โดยมีบุคคลที่ออกรายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2529 แต่ก็มีกระบวนการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งคณะทำงานร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้มีมติว่าสวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของราษฎรจริง และให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่เกษตรกรผู้เดือดร้อน ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 พร้อมกันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ ก็มีมติเช่นเดียวกับมติคณะทำงานข้างต้น แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไม่ดำเนินการใดๆ กระทั่งปัจจุบัน มิหนำซ้ำยังฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ภายหลังชาวบ้านเข้าพื้นที่พิพาทในช่วงกลางปีที่ผ่านมา

ข้อพิพาทที่ดินในเขตป่าเช่นเดียวกับสวนป่าคอนสาร เกิดขึ้นโดยทั่วทุกภาคของประเทศไทย และยืดเยื้อเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ มีเป้าหมายหลักคือ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศให้ได้ร้อยละ 40 จำแนกเป็นป่าเพื่อการเศรษฐกิจร้อยละ 25 และป่าอนุรักษ์ร้อยละ 15 ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่ป่าในประเทศมีประมาณร้อยละ 28 โดยมีมาตรการต่อเนื่องมาคือ การส่งเสริมภาคเอกชนปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม และการปราศเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนที่มีสภาพป่าสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวหาได้ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าแต่อย่างใดไม่ กลับสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐ นายทุน กับประชาชนอย่างรุนแรงขึ้นอีก เช่น โครงการ คจก. ในพื้นที่ภาคอีสาน ช่วงรัฐบาลเผด็จการ รสช. เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะแนวคิดการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐไทย ไม่กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การกำหนดแนวเขตเพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาประกาศเขตป่า ทำให้ทับซ้อนที่ดินชาวบ้านเป็นจำนวนมาก แล้วมากล่าวหาว่าเขาบุกรุกในภายหลังไปจนถึงการอพยพ ขับไล่เขาออกจากพื้นที่ และต้องแร้นแค้นขัดสนในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ก็เอื้อประโยชน์ให้กับบรรดานายทุน เจ้าของโรงงานเยื่อกระดาษ สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนได้ในราคาถูก และระยะเวลายาวนาน โดยในหลายพื้นที่เอาที่ดินชาวบ้านที่เขาเคยถือครองทำกินอยู่นั่นแหละ ซึ่งหากพิจารณาอย่างถึงที่สุดคือ การปล้นที่ดินชาวบ้านไปให้นายทุนเช่าโดยถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง เรื่องทำนองนี้มีกรณีตัวอย่าง เช่น ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

คำถามเช่นกรณีข้างต้นคือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะใช้มาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไร ควรหรือไม่ที่จะใช้บรรทัดฐานเดียวกับกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในเขตป่ามีมายาวนาน มีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง ทุกรัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย แต่ทำอะไรได้ไม่มากนัก โดยมีอุปสรรคสำคัญคือ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่มีความเป็นธรรม ประกอบกับข้าราชการประจำต้องการหวงกันอำนาจไว้ที่ตัวเองฝ่ายเดียว หากฝ่ายบริหารไม่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจทางนโยบาย ก็เข้าทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เท่านั้นเอง

ดังนั้น ในโอกาสเช่นนี้ รัฐบาล ประชาชน ทั้งคนเสื้อแดง และเสื้อสีต่างๆ ควรพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างจำแนกแยกแยะ แล้วกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม หาไม่แล้วจะเข้ากับภาษิตที่ว่าเตะหมูเข้าปากหมา ซึ่งหมาตัวนั้น อ้าปากรอรับชิ้นเนื้ออยู่แล้ว อีกทั้ง ประชาชน สังคม จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จากการเปิดโปงกรณีเขายายเที่ยง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท