Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เรียกร้องแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ระบุใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2553 และต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ แถมค่าใช้จ่ายพิสูจน์สัญชาติสูง หวั่นแรงงานถูกผลักดันกลับประเทศ

 

วันนี้ (18 ม.ค. 53) นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พร้อมผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เจ้าหน้าที่ภาคสนาม โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา กว่า 2 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ซึ่งมีจำนวนกว่า 61,543 คนที่ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยจะหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคม 2553 จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ระบุว่าใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติทุกคนจะหมดอายุลงในปี 2553 หลังจากนั้นแรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเป็นการยืนยันสัญชาติของแรงงานข้ามชาติเป็นครั้งแรกนับแต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 

 “การขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานและนายจ้างมีความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของการพิสูจน์สัญชาติ สร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ อีกทั้งค่าใช้จ่ายของกระบวนการที่ค่อนข้างมีราคาสูงสำหรับแรงงานข้ามชาติและยังไม่มีการควบคุมบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการ ทำให้แรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัว รวมทั้งกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ผู้ร่วมลงนามมีความกังวลว่า แรงงานข้ามชาติจำนวน 61,543 คนที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 20 มกราคม 2553 นี้ และเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับเส้นตายของการพิสูจน์สัญชาติ อาจจะต้องถูกผลักดันกลับตามนโยบายของภาครัฐที่ประกาศว่าจะผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศ ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการนี้ อีกทั้ง มีแรงงานข้ามชาติอีกเป็นจำนวนมากที่ปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว

แถลงการณ์ระบุว่า จากผลกระทบโดยตรงของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่มีต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ผู้ร่วมลงนาม มีความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทยที่จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติต่อใบอนุญาตทำงานได้ในปี 2553หรือขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นเส้นตายของการพิสูจน์สัญชาติ ยังมีความคลุมเครืออยู่ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ประกอบกับได้รับข้อมูลว่า แต่ละจังหวัดมีการดำเนินการเพื่อต่ออายุใบอนุญาตของแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ อย่างไม่เป็นทางการและมีวิธีการที่แตกต่างกันและรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่จะจัดการเรื่องนี้

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นการผ่อนความวิตกกังวล และสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทั้งแรงงาน นายจ้าง/ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้มีการตรวจสอบ สถานการณ์ และมีคำสั่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงนโยบาย และทางปฏิบัติแก่แรงงาน นายจ้าง ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงสาธารณชนในส่วนที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้โดยอาศัยตามกฎหมายฉบับใด และรัฐบาลจะผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศ

โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวจะมีการยื่นต่อนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (18 ม.ค. 53)

 

000

จดหมายเปิดผนึกจากองค์กรและผู้ห่วงใยความมั่นคงและความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

 

ด่วนที่สุด

 

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2553

 

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เนื่องด้วย องค์กรและกลุ่มบุคคลดังมีรายชื่อแนบท้ายมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยและ สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา กว่า 2 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่คิดเป็นจำนวน ร้อยละ 90 ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งแรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาภายในประเทศ และมีจำนวนกว่า 61,543 คนที่ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยจะหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคม 2553 นี้

แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่ มีเอกสารใดๆ แต่ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวและมีสิทธิทำงานชั่วคราวเพื่อรอ การส่งกลับ โดยมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้สามารถอยู่ในประเทศ ไทยได้แบบปีต่อปี เนื่องจากเห็นว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานแทนแรงงานไทยในงานที่คนไทย ไม่ทำและเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ระบุว่าใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติทุกคนจะหมดอายุลงในปี 2553 ซึ่งหลังจากนั้น แรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเป็นการยืนยัน สัญชาติของแรงงานข้ามชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เดิน ทางเข้าสู่ประเทศไทย กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเป็นกระบวนการที่เป็นทางการสำหรับนำเข้าแรงงานข้าม ชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นวันที่รัฐบาลไทยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้น แม้ว่า กระบวนการนี้จะต้องพบกับอุปสรรคมากมาย แรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 90 ที่ต้องพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า แต่จนถึงขณะนี้ มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 10,000 คนเท่านั้นที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

การขาดการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานและนายจ้าง มีความรู้ ความเข้าใจประโยชน์ของการพิสูจน์สัญชาติ สร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ อีกทั้งค่าใช้จ่ายของกระบวนการที่ค่อนข้างมีราคาสูงสำหรับแรงงานข้ามชาติและ ยังไม่มีการควบคุมบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการ ทำให้แรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัว รวมทั้งกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว เนื่องจากพวกเขาต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว ลงในแบบฟอร์มพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่าที่จะต้องกรอกรายละเอียดประวัติส่วนตัวส่งให้กับรัฐบาล ทหารพม่า ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่กระจายว่า ทางการได้เข้าไปเก็บภาษีจากครอบครัวของพวกเขาในประเทศพม่าและการพิสูจน์ สัญชาติมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในปี 2553 นี้ อีกทั้ง กระบวนการยังแตกต่างจากการพิสูจน์สัญชาติของประเทศลาวและกัมพูชา เนื่องจาก แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจะต้องเดินทางกลับไปพม่าเพื่อพิสูจน์สัญชาติ มีแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 1.4 ล้านคนที่ต้องพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 แต่กระบวนการดังกล่าวยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า มีศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศพม่าทั้ง 3 แห่ง แต่ละแห่งสามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานได้ไม่เกินวันละ 200 คนต่อวัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

ผู้ลงนามข้างท้ายมีความกังวลว่า แรงงานข้ามชาติจำนวน 61,543 คนที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 20 มกราคม 2553 นี้ และเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับเส้นตายของการพิสูจน์สัญชาติ อาจจะต้องถูกผลักดันกลับตามนโยบายของภาครัฐที่ประกาศว่าจะผลักดันแรงงานข้าม ชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศ ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการนี้ อีกทั้ง มีแรงงานข้ามชาติอีกเป็นจำนวนมากที่ปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว

จากผลกระทบโดยตรงของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่มีต่อชีวิตของแรงงานข้าม ชาติเหล่านี้ ผู้ลงนามข้างท้าย มีความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทย ที่จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติต่อใบอนุญาตทำงานได้ในปี 2553 หรือขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นเส้นตายของการพิสูจน์สัญชาติ ยังมีความคลุมเครืออยู่ ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ประกอบกับได้รับข้อมูลว่า แต่ละจังหวัดมีการดำเนินการเพื่อต่ออายุใบอนุญาตของแรงงานข้ามชาติที่ใบ อนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 20 มกราคม 2553 นี้อย่างไม่เป็นทางการและมีวิธีการที่แตกต่างกัน และรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่จะจัดการเรื่องนี้

เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นการผ่อนความวิตกกังวล และสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทั้งแรงงานฯ นายจ้าง/ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรและกลุ่มบุคคลดังมีรายชื่อแนบท้ายจึงเรียนมา เพื่อขอให้ท่านตรวจสอบ สถานการณ์ และมีคำสั่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงนโยบาย และทางปฏิบัติแก่แรงงาน นายจ้าง ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงสาธารณชนใน ประเด็นต่อไปนี้ โดยเร่งด่วน

 

1) รัฐบาลมีนโยบายต่อสิทธิอาศัยและสิทธิการทำงานของแรงงานข้ามชาติจำนวน 61,53 คน ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มกราคม 2553 ที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ หรือยังไม่ได้แสดงความจำนงพิสูจน์สัญชาติ หรือไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ อย่างไร เป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด

2) รัฐบาลมีนโยบายต่อสิทธิอาศัยและสิทธิการทำงานของแรงงานข้ามชาติจำนวน 1.4 ล้านคน ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ หรือยังไม่ได้แสดงความจำนงพิสูจน์สัญชาติ หรือไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ อย่างไร เป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด

3) จะมีการออกมติคณะรัฐมนตรีตามมติของคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว และ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 เพื่อขยายระยะเวลาต่อใบอนุญาตให้กับแรงงานข้ามชาติที่แสดงความจำนงเข้าสู่ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ต่อไปอีก 2 ปีหรือไม่ และรัฐบาลจะผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับ ประเทศ เมื่อใด

องค์กรและกลุ่มบุคคลดังมีรายนามข้างท้ายมีความวิตกกังวลต่อทิศทางการ ดำเนินการของรัฐบาลที่จะไม่ผ่อนผันให้มีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และ/หรือผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับ ประเทศ (รวมทั้งผู้ติดตามที่อยู่ในประเทศไทย) เนื่องจากไม่อาจเป็นการแก้ปัญหาและอุปสรรคของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่มี อยู่ได้

ผู้ลงนามด้านท้ายเห็นว่าการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย พึงดำเนินการโดยคำนึงถึง ความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และควรดำเนินการโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงต่อสาธารณะโดยเร็ว เพื่อความเข้าใจร่วมกัน จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

สำเนาถึง

1) ประธานกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.)

2) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

3) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

8) ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

9) ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา

10) ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

11) ประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ผู้ลงนาม

1. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

2. Human Rights Watch (New York)

3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

4. Migrant Forum in Asia (MFA)

5. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

6. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

7. Altsean-Burma

8. Building Wood Workers International (BWI) Asia Pacific Regional Office (Apolinar Z. Tolentino)

9. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติและความเข้มแข็งของสังคมไทย

10. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ

11. สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหรัฐอเมริกา: ประเทศไทย

12. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

13. รัฐบาลผสมแห่งชาติ สหภาพพม่า (NCGUB)

14. สมาพันธ์ขนส่งระหว่างประเทศ :ประเทศไทย

15. สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลในอุตสาหกรรมเคมี พลังงาน เหมืองแร่ และทั่วไป:ประเทศไทย

16. Public Services International/Thailand

17. Women Workers Unity Group

18. เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

19. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

20. มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์

21. มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า

22. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

23. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

24. โครงการพันธกิจคริสตจักรลุ่มน้ำโขง

25. สภาคริสเตียนแห่งเอเซีย

26. สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

27. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

28. สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

29. มูลนิธิเพื่อนหญิง

30. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

31. Tvoyan Womwn's Union (TWU)

32. Women Network for Advancement and Peace

33. Think Centre Singapore

34. Singapore Working Group on ASEAN

35. Chin Students Union

36. Help Without Frontiers

กฤตยา อาชวนิจกุล (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)

เอกชัย ปิ่นแก้ว

Binayak Das

Davidson Solanki

โสภิณ จิระเกียรติกุล (UFR-Sciences Economiques,Montpellier France)

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)        

นางสาวจุฑิมาศ สุกใส (ประชาชน/นักศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิต [สตรีศึกษา] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส.รัตนมณี พลกล้า (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย)

Lily Purba, Indonesia

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล (ประชาชน)

Lance Woodruff

สุนี ไชยรส (ประชาชน)

Febi Yonesta (Public Lawyer The Jakarta Legal Aid Institute, LBH Jakarta)

Christopher Hyram Bowles

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net