Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ต้องบอกว่าข้อเขียนนี้ไม่ใช่แถลงการณ์ นี่เป็นเพียงข้อเขียนสะท้อนความรู้สึกของเยาวชนกลุ่มหนึ่งต่อปัญหาการจัดการทรัพยากรที่ดินในประเทศไทยที่ล้มเหลวซ้ำซากมาตลอด จนมาถึงจุดระเบิดเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในกรณีครอบครองที่ดินเขายายเที่ยงอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการกล่าวอ้างว่าพล.อ.สุรยุทธ์นั้นไม่มีเจตนา จนนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และนายกฯ อภิสิทธิ์ต้องออกมาพูดว่า “ผมมองไม่เห็นว่าทำไมสังคมต้องมาขัดแย้งกันในเรื่องที่ดินแปลงเดียว”  
 
ในนามของศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (Young Progressives for Social Democracy movement – YPD) ที่สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย และพยายามจะผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการในประเทศไทย ขอเรียนนายกฯ อภิสิทธิ์ด้วยความเคารพว่า “สังคมไทยไม่ได้ขัดแย้งกันด้วยที่ดินแปลงเดียว” แต่สังคมไทยขัดแย้งกันเพราะ “นโยบายการจัดการที่ดินของรัฐไทยที่ล้มเหลวมาตลอดทุกยุคทุกสมัย” เมื่อครั้งที่นายกฯ อภิสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ จำได้ว่านายกฯ เคยพูดถึงการดำเนินนโยบายการปฏิรูปที่ดิน แต่หนึ่งปีผ่านไป นอกจากจะยังไม่เห็นความคืบหน้าของการปฏิรูปที่ดินแล้ว ยังเกิดปัญหาการถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมายของพล.อ.สุรยุทธ์ ขึ้นมาตอกย้ำการเลือกปฏิบัติของรัฐไทยต่อสิทธิในการถือครองที่ดินของคนจนกับคนรวย
 
สังคมไทยไม่เคยขัดแย้งกันเพราะที่ดินแปลงเดียว แต่สังคมไทยขัดแย้งกันตลอดมาเรื่องสิทธิในการถือครองที่ดินของชาวบ้านธรรมดาซึ่งถูกละเมิดโดยทั้งรัฐและเอกชน ที่ดินอุดมสมบูรณ์จำนวนมากในประเทศไทยถูกครอบครองโดยผู้มีฐานะ ในขณะที่ประชาชนธรรมดาและเกษตรกรรายย่อยอีกจำนวนมากยังต้องดิ้นรนไปวันๆ กับการรับจ้างในที่นาของคนอื่น นอกจากนี้ชาวบ้านที่ทำมาหากินปลูกพืชทำไร่อยู่ดีๆ วันดีคืนดีกรมป่าไม้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม้ว่าจะจับจองที่ดินตรงนั้นมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็ต้องกลายเป็นคนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเสียเฉยๆ ถ้าไม่ย้ายออกก็โดนจับ ทางเลือกของคนจนในประเทศที่ขาดนโยบายการจัดการทรัพยากรที่ดีก็อาจจะมีแค่นั้น
 
ที่น่ากลัวกว่าการมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องสิทธิในการถือครองที่ดินกับรัฐคือการพิพาทกับเอกชน ซึ่งอาจจะกลายเป็นการท้าทายผู้มีอิทธิพลโดยไม่รู้ตัว และมักจะจบลงด้วยความตายของนักเคลื่อนไหวอยู่เสมอ อย่างเช่นกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นแทบจะพร้อมๆ กับกรณีที่ดินเขายายเที่ยง คือการสังหาร สมพร พัฒนภูมิ เกษตรกรรายย่อยไร้ที่ดินซึ่งเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในการกระจายที่ดิน ในกรณีการให้สิทธิที่ดิน สปก. 4-01 กว่า 1,000 ไร่ แก่บริษัทจิวกังจุ้ย จำกัด ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุนดำเนินไปจนสุดท้ายเรื่องราวก็จบลงอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี  
 
ก็อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาของบ้านเมืองนี้ไปแล้ว ที่ผู้มีอำนาจถือครองสิทธิเหนือที่ดินอย่างผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ไม่มีความผิดเพราะท่านไม่ได้ตั้งใจ ในขณะนี้ที่คนธรรมดาต้องการที่ดินทำกินเพียงเล็กน้อยกลับต้องใช้ชีวิตเข้าแลก เยาวชนอย่างเราก็อาจจะต้องทำใจ ในเมื่อเลือกเกิดในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการชั้นดี, ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย และเคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ไม่ได้ แต่แม้จะเลือกสถานที่เกิดไม่ได้ แต่เราก็ขออนุญาตมีความหวังว่าเราจะทำให้มันดีกว่าเดิมได้ ดังนั้น ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตยขอเสนอให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ อภิสิทธิ์
 
1. ดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินอย่างเร่งด่วน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และอีก 75 จังหวัดทั่วประเทศไทย กระจายการถือครองที่ดินไปสู่เกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นธรรม บนพื้นฐานความคิดที่ว่าที่ดินคือทรัพยากรที่สำคัญของสังคม หากผู้ใดต้องการถือครองที่ดินเกินกว่าความจำเป็นที่กฎหมายกำหนด ต้องชดเชยส่วนเกินนั้นให้กับสังคมด้วยการเรียกเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ใครมีมากเสียมาก ใครมีน้อยจ่ายตามสัดส่วนลดหลั่นกันไป  
 
2. พิจารณาและปฏิรูปนโยบายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการ ทรัพยากร และการเข้าถึงสิทธิในการถือครองที่ดินของประชาชน อาทิ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.ป่าไม้ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้น 
 
3. ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าถือครองที่ดินจำนวนมากโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
4. เร่งจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนและชาวบ้านในประเด็นข้อพิพาทเรื่องที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าของฝ่ายที่มีอิทธิพลน้อยกว่า
 
5. รัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในการจัดการปัญหาข้อพิพาทในการถือครองที่ดินระหว่างประชาชนกับรัฐในทุกกรณี 
 
หากรัฐไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดในการทำมาหากินของประชาชน และมองว่ากรณีที่ดินเขายายเที่ยงเป็นเพียงปัญหา “ที่ดินแปลงเดียว” แม้ว่าจะต่างบริบทกันอย่างสิ้นเชิง แต่เรื่องเล่าคลาสสิคนั้นมีอยู่ว่า ในปี 1948 นักศึกษาแพทย์ชาวอาร์เจนไตน์คนหนึ่ง ตัดสินใจออกเดินทางไปทั่วทวีปอเมริกาใต้ และได้เห็นความอยุติธรรมอย่างรุนแรงเรื่องสิทธิในการถือครองที่ดินทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาชู ปิชู ประเทศเปรู สิ่งที่ได้พบเจอตลอดการเดินทางครั้งนั้น นอกจากจะเปลี่ยนเด็กหนุ่มไปตลอดกาลแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเด็กหนุ่มยังส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้และทั่วโลก...อย่างที่เรารู้กันดี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net