Skip to main content
sharethis
 
ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพื่อรักษาขากรรไกรยึดติด
 
แม้ความคืบหน้าของคดี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ต้องโทษ 18 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะยังไม่มีอะไรคืบหน้า แต่ก็มีความเคลื่อนไหวอยู่โดยตลอดในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยโรคขากรรไกยึดติดเรื้อรัง  
 
5 พฤศจิกายน 2552 สถานพยาบาล ทัณฑสถานหญิงกลาง ออกใบความเห็นแพทย์ ลงนามโดย นายแพทย์ ปิ่น ลิ้มมีโชคชัย ซึ่งตรวจอาการของดารณีแล้วระบุว่า “ป่วยด้วยปัญหาข้อขากรรไกรยึดติด เรื้อรัง” และ  “ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เห็นสมควรต้องทำ CT scan ดูรอยโรคที่ขากรรไกร เพื่อพิจารณาขั้นตอนและวางแผนในการรักษาต่อไป”
 
ก่อนหน้านั้นหลายเดือน ดารณีกล่าวระหว่างการเยี่ยมว่า การอ้าปากของเธอทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้รับประทานอาหารไม่ทันเวลา และกับข้าวในเรือนจำค่อนข้างแข็งหรือไม่ก็มีรสเผ็ดทำให้รับประทานได้ลำบากมากขึ้น โรงพยาบาลในเรือนจำให้ได้แต่เพียงยาบรรเทาอาการปวด ส่วนการส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำนั้นต้องต่อคิวซึ่งยาวนานข้ามปี สุดท้ายมักจบด้วยการที่ผู้เยี่ยมต้องซื้อนมถั่วเหลืองจำนวนหลายแพ็กฝากไว้ เพราะเป็นอาหารหลักของเธอ
 
ประเวศ ประภานุกูล ก็เคยให้ข้อมูลจากการเข้าเยี่ยมดารณีว่า เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในเรือนจำยืนยันว่าไม่มีอุปกรณ์ที่จะทำการผ่าตัดให้ได้ และยังเคยฝากดารณีว่าหากได้รับการปล่อยตัว ขอให้ช่วยระดมการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เรือนจำด้วย
 
ทนายความเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอปล่อยชั่วคราวเพื่อรักษาหรือผ่าตัดขากรรไกรของดารณี ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์อีกครั้ง  โดยใช้เอกสารความเห็นแพทย์ในเรือนจำประกอบ จากนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกัน โดยระบุว่า
 
“พิเคราะห์แล้ว ข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำอุกอาจ ร้ายแรง เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ลักษณะการกระทำมีผลกระทบความมั่นคงในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำซ้ำในลักษณะเดียวกันหลายครั้ง และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยสูงกระทงละ 6 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี หากปล่อยชั่วคราวแล้วเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี หรือกระทำลักษณะเดียวกันซ้ำอีก ข้ออ้างเกี่ยวกับเหตุเจ็บป่วยของจำเลยว่ามีอการรุนแรงขึ้น ไม่ปรากฏว่าอาการรุนแรงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือการดำรงชีวิตโดยปกติเพียงใด ไม่เป็นการสมควรปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแก่จำเลยและผู้ขอประกันโดยเร็ว” ลงนามโดย นายอำนวย โสภาพันธ์ นายเอกชัย เหลี่ยมไพศาล นายสุพัฒน์ พงษ์ทัดศิริกุล
 
 
 
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กรณีการพิจารณาคดีลับขัดรัฐธรรมนูญ
 
หากยังจำกันได้ ช่วงการพิจารณาคดีของดารณีเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ปีที่แล้วนั้น มีการต่อสู้กันนอกเหนือจากคดีความด้วย นั่นคือ การต่อสู้เรื่องการพิจารณาคดีแบบปิดลับว่าเป็นการสมควรหรือไม่ และในครั้งนั้นได้มีการโต้แย้ง ออกแถลงการณ์จากจำเลยด้วยตามที่เป็นข่าว (อ่านรายละเอียดที่นี่)
 
อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ดารณีได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า
 
1. การที่ผู้พิพากษาศาลอาญาสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ อ้างอำนาจตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เป็นการขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 29 และมาตรา 40 (2) ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องด้วยมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลให้ มาตรา 177 ป.วิอาญา เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้
 
2. การที่ศาลอาญาไม่ส่งคำร้อง คำโต้แย้งของจำเลยว่ามาตรา 177 ป.วิอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 และ 40(2) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ
 
3. มีคำสั่งให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามข้อ 1
 
 
หลังจากนั้น 1 วันคือ วันที่ 28 สิงหาคม 2552 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกดารณี 18 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากความผิด 3 กระทง กระทงละ 6 ปี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป
 
 
 
 
ต่อมา วันที่ 21 ตุลาคม 2552 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งที่ 38/2552 ไม่รับคำร้องของดารณี  โดยเท้าความว่า ในระหว่างพิจารณาคดีนั้น ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ส่งความเห็นของผู้ร้องตามทางการไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และขอให้ศาลอาญารอการพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราวจนว่าจะมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลอาญาสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ มิได้มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของจำเลย เนื่องจากมีทนายความเข้ามาแก้ต่างให้และสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของตนเองและหักล้างพยานหลักฐานของพนักงานอัยการได้ คำโต้แย้งของจำเลย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 211 แห่งรัฐธรรมนูญ ศาลอาญาจึงยกคำร้อง
 
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเบื้องต้นว่าจะรับคำร้องนี้หรือไม่ โดยระบุว่า  ตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ คือ  1) ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  2) บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรรมนูญ 3) ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
 
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “ผู้ร้องยังอาจใช้สิทธิทางศาลตามลำดับชั้นศาลได้ทั้งในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา รวมทั้งยังอาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 212 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 21”
 
ส่วนประเด็นว่าการที่ศาลอาญาไม่ส่งข้อโต้แย้งของผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ไม่ชอบหรือไม่ และประเด็นที่สามที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 212 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 21”
 
“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย” ลงนามโดย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
 
 
ศาลอาญายกฟ้อง กรณีดารณีฟ้องผู้พิพากษา ‘พรหมมาศ ภู่แส’
 
หลังสถานที่ราชการเปิดทำการวันแรกในเดือนมกราคม 2553 ดารณีเป็นโจทก์ฟ้อง นายพรหมมาศ ภู่แส ผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นจำเลย ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยคำฟ้องอ้างอิงถึง มาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
 
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”
 
คำฟ้องสรุปได้ว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2552 จำเลยในฐานะผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีของดารณี และใช้อำนาจสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ตามมาตรา 177 ป.วิอาญา ซึ่งโจทก์ (ในฐานะจำเลยในคดีดังกล่าว) ได้คัดค้านคำสั่งดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะผู้พิพากษาคดีดังกล่าวขอให้รอการพิจารราพิพากษาคดีและส่งเรื่องตามทางการไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า มาตรา 177 ป.วิอาญาขัดกับมาตรา 29 และ 40(2) ของรัฐธรรมหรือไม่ ในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจวินิจฉัยต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับวินิจฉัยเสียเอง จึงเป็นการที่จำเลยกระทำการในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว
 
ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องของโจทก์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน และขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีชั่วคราวรวมทั้งให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยในฐานะผู้พิพากษาคดีดังกล่าวได้มีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอน ให้ยกคำร้อง ตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่จำเลยปฏิเสธไม่ส่งคำโต้แย้งไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับวินิจฉัยเสียเองว่า มาตรา 177 ป.วิอาญา ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งที่ไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงเป็นการที่จำเลยกระทำการในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง
 
ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2553 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้อง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net