Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
จากการที่ นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้สัมภาษณ์กับนักข่าว เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2553 โดยชี้ว่า “สหภาพแรงงานไทยไม่เข้าใจกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ทำให้แสดงบทบาทเชิงลบมากกว่าสร้างสรรค์ และการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับผู้นำสหภาพมากเกินไปสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมทำให้มีเรื่องการเมืองแทรก”
 
เมื่อได้ยินการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้วรู้สึกผิดหวังและสิ้นหวังเป็นอย่างมาก และอนาคตของแรงงานไทยที่จะหวังพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นกลไก หรือผู้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างยุติธรรม คงเป็นไปได้ยาก แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไร รวมทั้งทำให้เข้าใจถึงแนวความคิดของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคนปัจจุบันว่ายังเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัย เนื่องจากปัญหา สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและเพราะกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ รัฐวิสาหกิจ หรือข้าราชการต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน จากการรัฐประหารของ รสช. ในปี 2534 ได้มีการออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 แยกแรงงานภาคเอกชนออกจากรัฐวิสาหกิจ และหลังการยึดอำนาจของ คมช. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แรงงานภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจก็ถูกแบ่งแยกออกเป็นสีเหลืองสีแดง และอีกหลายสี ถ้าใครไม่เลือกข้างก็จะถูกมองว่าไม่ใช่พวกตนเอง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ใครเป็นคนก่อ
 
ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2500 รัฐบาลได้ประกาศให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ จนต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2520 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ฉบับแรก และมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาเรื่อย แต่ทุกครั้งที่มีการแก้ไขก็เพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ลงทุน รัฐบาลมุ่งเน้นแต่การส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากทั้งทุนภายในและภายนอกประเทศ มีการยกเว้นภาษีนำเข้าและส่งออกเพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้นายทุนต่างๆ มาลงทุนมีการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการผลิตบุคลากรป้อนให้กับระบบอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากภาษีของชนชั้นกรรมาชีพทุกคน แต่คนที่ได้ผลประโยชน์โดยตรงกลับเป็นชนชั้นนายทุน ทุกปีเราจะเห็นได้ว่าทุกบริษัทต่างก็กอบโกยผลกำไรที่เกิดจากหยาดเหงื่อและแรงงานของพี่น้องกรรมกรเราออกนอกประเทศ โดยที่เราในฐานะเจ้าของประเทศหรือในฐานะผู้ลงทุนเบื้องต้นกลับได้รับแค่เพียงค่าแรงถูกๆ ที่ลำพังถ้าทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันก็จะเลี้ยงตัวเองไม่รอด
 
ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลไม่เคยที่จะส่งเสริมสิทธิ์ในการรวมตัวของคนงาน รัฐไม่เคยสนใจว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานจะเป็นอย่างไร รัฐไม่เคยตอบคำถามให้กับคนงานได้สักครั้งว่าทำไมถึงไม่ให้การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิ์ที่จะได้รับในการรวมตัวกันของคนงาน และเรื่องสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐเนื่องจากการเจรจาต่อรองร่วม เมื่อนายจ้างมีการละเมิดกฎหมายแรงงานของไทยรัฐไม่เคยที่จะลงโทษหรือบังคับให้นายจ้างปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย รัฐคอยแต่นั่งดูลูกจ้างถูกกระทำและตายไปทีละคนๆ แต่เมื่อวันใดที่ลูกจ้างลุกขึ้นมาสู้หรือปกป้องตนเองก็จะถูกกล่าวหาว่าทำลายบรรยากาศการลงทุนหรือชอบใช้ความรุนแรง มีใครเคยไปสอบถามคนงานหรือครอบครัวคนงานที่ถูกเลิกจ้างบ้างว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตั้งแต่รับตำแหน่งมาเคยได้แก้ปัญหาอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนงานบ้าง ปัญหาที่อยู่หน้าบันไดบ้านตนเองแท้ๆ เช่น ปัญหาของพนักงานไทรอัมพ์ ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมรอรับการเยียวยาจากผู้มีหน้าที่อย่างท่านแต่กลับเพิกเฉย ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังใครผ่านไปผ่านมาเป็นเรื่องน่าอับอายยิ่งนักว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนงานได้จนคนงานต้องมาผลิตสินค้าขายเองใต้กระทรวงแรงงาน ไม่มีใครหรอกที่อยากไปใช้ชีวิตแบบนั้นแต่ท่านในฐานะที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาแต่กลับไม่แก้ไขอะไรเลย วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ท่านต้องหันมาทบทวนหน้าที่ของตนเอง และเร่งแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ถูกกดขี่อย่างเร่งด่วนต่อไป เพื่อที่ปัญหาต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานจะได้รับการเยียวยา เพื่อว่าแรงงานไทยจะได้มีศักดิ์ศรีและต่างจากความเป็นทาสน้อยลง
 
ละล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553 นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ยินดีที่จะเปิดประตูรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นตลอดเวลาในกรณีปัญหามาบตาพุดหรือมีปัญหาเรื่องการลงทุน”ฟังแล้วทำให้รู้สึกว่าทำไมภาครัฐให้แต่ความสำคัญกับนักลงทุน แต่กับประชาชนของประเทศตนเองกลับไม่ให้ความสนใจ ปัญหาพิพาทแรงงานในภาคตะวันออกมากมายที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มนักลงทุนเพื่อที่จะอาศัยภาวะเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างในการลดบทบาทและอำนาจในการต่อรองของสหภาพแรงงาน การยื่นใช้สิทธิ์ปิดงานจากนายจ้างกรณีที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องยังมีให้เห็นอย่างเกลื่อนกลาดในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทย ใครเคยพูดถึงปัญหาของเขาเหล่านี้ และใครเคยให้การเหลียวแลและเยียวยาครอบครัวของเขาที่ได้รับผลกระทบบ้าง
 
วันนี้รัฐบาลอ้างว่าสามารถแก้ไขปัญหาคนตกงานได้แล้วและมีตำแหน่งงานว่างมากมาย แต่ใครเคยลงไปสอบถามข้อเท็จจริงว่าตำแหน่งงานที่ว่างนั้นเพราะอะไร ส่วนใหญ่ตำแหน่งงานที่ว่างนั้นเป็นตำแหน่งงานที่ไม่มีความมั่นคง และเป็นการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงที่เป็นการจ้างงานราคาถูกรายได้เป็นเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขสภาวะความเป็นจริงของสังคม และรูปแบบการจ้างงานที่ขัดกับกฎหมายและเอาเปรียบคนงาน โดยการทำสัญญาจ้างงานระยะสั้นไม่เกินสามเดือนหรือสิบเอ็ดเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย หรือถ้าจ่ายก็จ่ายให้น้อยที่สุด กลไกของรัฐที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกและปกป้องรักษาความเป็นธรรมให้กับลูกจ้างก็หูหนวกตาบอดหมด เพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าทำลายบรรยากาศการลงทุน หรือไม่สนองต่อนโยบายของรัฐบาล
 
เมื่อกรรมกรต้องการมีสหภาพแรงงานเพื่อเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการต่อรองกับนายจ้าง เขาเหล่านั้นก็จะถูกตั้งข้อหาจากนายจ้างหรือสังคมว่าเป็นพวกหัวรุนแรง แต่สิ่งที่นายจ้างกระทำกลับลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างหรือปิดกิจการหนีโดยไม่จ่ายค่าจ้างหรือค่าชดเชย หรือนายจ้างละเลยที่จะจ่ายค่าจ้างให้ตรงตามเวลาอย่างเช่น บริษัทในเครือรามาชูส์กรุ๊ปในปัจจุบัน พนักงานจำนวนหลายพันคนไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนดระยะเวลาและอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างต้องได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำอะไรบ้างในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลไม่เคยมีการพูดถึงปัญหาของคนงานว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกกดขี่ ทำอย่างไรกระบวนการยุติธรรมจึงจะเป็นขบวนการที่ “ยุติที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง” อย่างเช่นสโลแกนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานว่า “ประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม”
 
แต่เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 ที่ผ่านมาลูกจ้างบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองถูกเลิกจ้างและไปยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานภาค 2 (จังหวัดระยอง) ปรากฏว่าศาลนัดไกล่เกลี่ยครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2553 ถ้าเป็นอย่างนี้สโลแกนที่เขียนไว้มันก็เป็นแค่เพียงตัวหนังสือ เพราะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2533 “มาตรา 37  เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกำหนดวันเวลาในการพิจารณาคดีโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดฯ”  และ มาตรา 45 วรรคสามระบุว่า “เพื่อให้คดีเสร็จโดยรวดเร็วให้ศาลแรงงานนั่งพิจารณาคดี  ติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่สำคัญและศาลแรงงานจะเลื่อนครั้งหนึ่งได้ไม่เกินเจ็ดวัน”แต่วันนี้กฎหมายที่กล่าวถึงเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือที่ถูกเขียนอยู่บนกระดาษเท่านั้นเอง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net