Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
นอกจากการปรับปรุงโครงการไทยเข้มแข็งและการรวมระบบหลักประกันสุขภาพเป็นหนึ่งเดียวที่ได้นำเสนอในฉบับที่แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นเร่งด่วนอื่นๆที่ รมว.สธ.และทีมงานน่าจะนำไปพิจารณา ได้แก่
 
เรื่องที่ 3 การสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนที่รอพิสูจน์สถานะ หลายคนคงจำเด็กชายหม่อง ทองดี นักร่อนเครื่องบินกระดาษได้เป็นอย่างดี กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความไม่เข้าใจของระบบราชการไทย เด็กชายหม่องมีโอกาสเรียนหนังสือฟรี โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่เด็กชายหม่องไม่สามารถรับวัคซีนที่จำเป็น หรือรักษาพยาบาลอื่นๆ เพราะไม่มีสัญชาติไทย เรามีเด็กเช่นเด็กชายหม่องอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 60,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งเด็กเหล่านี้เรียนหนังสือปะปนกับเด็กไทย หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลที่ดีย่อมสามารถนำโรคร้ายต่างๆเข้ามาติดเพื่อนๆ
 
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ตกหล่นจากการสำรวจ ทำให้ไม่ได้สิทธิในการรับการรักษาพยาบาล ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์สถานะอีกนาน ไม่รู้เมื่อไหร่ เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติต่อความเป็นมนุษย์ อคติเชิงชาติพันธุ์ ต้องการแรงผลักดันจากรมว.สาธารณสุขคนใหม่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี
 
เรื่องที่ 4 การแก้ไขปัญหาโรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ปี 2545 องค์การอนามัยโลกได้ศึกษาพบว่าโรคเรื้อรังได้คร่าชีวิตคนไทยกว่า 245,000 คน คิดเป็นร้อยละ 59% ของสาเหตุการตายของคนไทยทั้งหมด หากพิจารณาเป็นรายโรค อาทิ โรคเบาหวาน ในปี 2547 มีคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 3.2 ล้านคน มีเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน และที่สำคัญมีเพียง 380,000 คนเท่านั้นที่ได้รับการดูแลรักษา โรคเรื้อรังจึงเป็นปัญหาที่เร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง
 
หากย้อนอดีตกลับไปสมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นรมว.สาธารณสุข ตอนนั้นโรคเอดส์กำลังระบาดในประเทศไทย คุณชวนได้ลงมือผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติมาดูแลเรื่องนี้ แม้คุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังมาสละเวลามาเป็นประธานในการประชุม จนทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก บทเรียนนี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของพรรคประชาธิปัตย์ ให้ประวัติศาสตร์วงการสาธารณสุขได้บันทึกเรื่องดีๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ไว้อีกสักครั้ง
 
เรื่องที่ 5 การกระจายบริการทันตกรรม เรื่องทันตกรรมยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในระบบสาธารณสุข ทั้งการขาดแคลนบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และงบประมาณในการรักษาและป้องกัน คนไข้จำนวนมากต้องรอคิวรับการรักษา (waiting time) เป็นเวลานาน เช่น การรักษารากฟัน การทำฟันปลอม ที่ต้องรอคิวเป็นแรมปี สิทธิประโยชน์บางอย่างก็ไม่ครอบคลุม ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยทันตกรรม ดังนั้นกระจายการให้บริการด้านทันตกรรมให้ทั่วถึงเป็นเรื่องจำเป็นและทำได้ไม่ยาก เช่น การซื้อเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น unit ทำฟัน ก็สามารถใช้งบจากโครงการไทยเข้มแข็ง การผลิตบุคลากรก็สามารถตั้งเป็นโครงการเฉพาะใช้เวลา 3-5 ในการผลิตบุคลากรด้านทันตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของงบประมาณรัฐบาลก็สามารถจัดงบประมาณสำหรับงานทันตกรรมโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวัน มีการแยกงบประมาณสำหรับทันตกรรมโดยเฉพาะ (ประมาณ 8% ของค่ารักษาพยาบาลทั่วไป) ทำให้มีงบประมาณดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกินความสามารถแต่ประการใด หากรัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจัง
 
เรื่องที่ 6 การลดความแออัด หากลองไปดูห้องตรวจผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่งจะเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คือมีคนไข้มารับบริการจำนวนมาก คนไข้ต้องเสียเวลาทั้งวันเพื่อมาพบแพทย์ไม่ถึง 5 นาที นี่เป็นอีกหนึ่งความทุกข์ของคนไข้ที่ไม่มีทางเลือกทั้งหลาย ในส่วนของแพทย์เองก็เหนื่อยที่ต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก ไม่มีเวลาที่จะตรวจคนไข้ให้ดี หากพลาดพลั้งก็มีปัญหาฟ้องร้องตามมา ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากระบบบริการปฐมภูมิของเราไม่เข้มแข็ง จึงจำเป็นที่จะต้องวางรากฐานระบบบริการปฐมภูมิ ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ทำได้อยู่ 3 ส่วน คือ 1) การสร้างโรงพยาบาลทั่วไป ที่มีแพทย์เฉพาะทางในอำเภอขนาดใหญ่ เพื่อกระจายการบริการออกจากโรงพยาบาลจังหวัด 2) เร่งผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (family doctor) รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้อยู่ในพื้นที่ และ 3) การผลิตพยาบาลเวชศาสตร์ครอบครัว (family nurse) เพื่อดูแลคนไข้ในพื้นที่ที่ไม่สามารถหาแพทย์ไปอยู่ประจำได้ หากเรามีบุคลากรเหล่านี้พอเพียง การจัดการโรคเรื้อรัง การควบคุมป้องกันโรคระบาดต่างๆ ก็จะทำได้โดยง่าย อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณสาธารณสสุขในระยะยาวได้อีกด้วย
 
เรื่องที่ 7 การกระจายอำนาจ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ปี 2542 ได้กำหนดให้โอนงบประมาณร้อยละ 35 ให้กับอปท. และยังจะต้องโอนหน่วยบริการ เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลไปสังกัด อปท. ตั้งแต่ปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้ถ่ายโอนสถานีอนามัยจำนวน 28 แห่งไปอยู่กับอบต. ซึ่งผลการประเมินผลการถ่ายโอนสถานีอนามัยเหล่านี้ค่อนข้างดี ในปี 2553 นี้มีอบต.กว่า 400 แห่งแสดงความจำนงที่ขอรับสถานีอนามัยไปดูแล รวมทั้งล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการประสานการถ่านโอนอำนาจ มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นประธาน เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าการกระจายอำนาจการให้บริการสาธารณสุขจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่ทว่าในฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่คงไม่มีหน่วยงาน หรือบุคลากรคนใดอยากไป ซึ่งย่อมจะก่อให้เกิดแรงต้านจากบุคลากรภายในกระทรวง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ รมว.สธ. ต้องตั้งหลักให้ดีว่าจะทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบสาธารณสุขและประชาชน
 
เรื่องที่ 8 การเข้าถึงยาราคาแพง ปัจจุบันคนไทยยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น ยาบางชนิดมีราคาแพง น้อยคนนักที่จะทราบว่าคนไทยต้องใช้ยาแพงกว่าคนอเมริกันหรือคนตะวันตกในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิทธิบัตรของยา การกำหนดราคายาที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งการที่อุตสาหกรรมการผลิตยาของเราเองไม่เข้มแข็ง และด้วยวงเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้คนไทยอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น ไม่เพียงเท่านั้นการประกาศ CL ในยาบางชนิดของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมากำลังจะหมดอายุลง จำเป็นจะต้องต่ออายุเพื่อให้สามารถหายาราคาถูกให้กับผู้ป่วยต่อได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายฝีมือของรัฐมนตรีคนใหม่เป็นอย่างยิ่งว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
 
เรื่องที่ 9 ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 การระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ 2009 ณ เวลานี้ ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นไม่น่าเป็นห่วง แต่ทว่าที่ผ่านมาการเตรียมมาตรการรองรับการระบาดของโรคนี้ในปีที่ผ่านมามีปัญหาในการบริหารจัดการค่อนข้างมาก ขาดแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ หากเปรียบเทียบกับการจัดการการระบาดของโรคไข้หวัดนกในอดีต ภายใต้การทำงานของพรรคไทยรักไทย ต้องยอมรับว่าห่างกันคนละชั้น ดังนั้นรมว.สธ.จำเป็นต้องวางมาตรการการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้รัดกุม ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับสถานการณ์การระบาดในปีต่อไป รวมทั้งยังจำเป็นต้องเตรียมการสั่งซื้อวัคซีนเชื้อตายสำหรับกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมในปีหน้า และต้องสนับสนุนการผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถมีวัคซีนที่เพียงพอและปลอดภัยหากมีการระบาดใหม่อีกครั้ง
 
เรื่องที่ 10 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในปัจจุบันมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ป่วยและแพทย์อย่างมาก ส่งผลถึงขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งทำให้แพทย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนไม่กล้าผ่าตัด ต้องส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก จำนวนบุคลากรและหน่วยบริการไม่พอเพียง การแพทย์เชิงธุรกิจที่มุ่งแต่แสวงหากำไร และความคาดหวังของประชาชนต่อการรับบริการที่มีสูงขึ้น แต่ในบางกรณีก็อาจไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดของใคร เช่นกรณี คนไข้นับสิบคนที่ตาบอดจากการผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเศร้าสลดเรื่องหนึ่งของวงการสาธารณสุขไทย พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจึงเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ให้บริการได้รับหลักประกันและมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องนี้ รวมทั้งช่วยบรรเทาความกังวลและสร้างขวัญกำลังใจต่อผู้ให้บริการอีกด้วย
 
ท้ายที่สุดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องเร่งด่วนทั้ง 10 ประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์ในการบริหารงานของรมว.สาธารณสุขคนใหม่ และคงไม่ทำให้พรรค รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่หวังจะเห็นอะไรดีๆจากรัฐบาลต้องผิดหวัง
 
 
 
 
หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์ Postotday วันที่ 20 มกราคม 2553
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net