ถอดความ:กฎหมายหมิ่นฯในเนเธอร์แลนด์กับการปกป้องสถาบันสูงสุด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคดีความมั่นคงของรัฐที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสดๆ ร้อนๆ

โฆษกรัฐบาลกล่าวหลังการประชุมว่า นายกฯ ได้แจ้งต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานว่า ภารกิจหลักของคณะกรรมการฯ คือการให้ “คำปรึกษาตามหลักวิชาการ” แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ ในการพิจารณาดำเนินคดีต่อการกระทำที่ต้องสงสัยว่าเป็นการหมิ่นเบื้องสูง

คณะกรรมการฯ ชุดนี้อาจจะศึกษาการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ การดำเนินการดังกล่าวไม่เพียงถูกกำหนดโดยกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดโดยกฎหมายยุโรป ได้แก่ มาตรา 10 ของอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน(ECHR) ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของเนเธอร์แลนด์กระจายอยู่ใน 3 มาตราของประมวลกฎหมายอาญา ค.ศ.1886 (the Dutch Penal Code of 1886)

มาตราแรกอ้างถึงการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ มาตราที่ 2 มุ่งที่จะคุ้มครองพระราชินีหรือพระสวามี, รัชทายาท  และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  และมาตราที่ 3 ห้ามการเผยแพร่เนื้อหาหรือรูปภาพที่เป็นการดูหมิ่นให้เสื่อมพระเกียรติตามที่อธิบายไว้ในมาตราก่อนหน้านี้ทั้ง 2 มาตรา

ในการนิยามการกระทำที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การกระทำผิดนั้นจะต้องเป็นการดูหมิ่น, หมิ่นประมาท หรือดูถูกเหยียดหยาม และเมื่อมีการพิสูจน์แล้วว่ามีความผิดจริง มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ซึ่งนับว่าสูงเมื่อเทียบกับการหมิ่นประมาทและดูถูกเหยียดหยามตามธรรมดาซึ่งมีโทษจำคุก 6 เดือน และ 3 เดือนตามลำดับ

ในเนเธอร์แลนด์ การดำเนินคดีในคดีหมิ่นฯ กระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องมี “ตัวกระตุ้น” ในรูปของการฟ้องร้องโดยผู้เสียหาย เหมือนในกรณีของบางประเทศในยุโรปที่มีระบบกษัตริย์

ในเนเธอร์แลนด์ การกระทำซึ่งเป็นการหมิ่นฯ โดยทั่วไป และโดยเฉพาะคดีหมิ่นฯ โดยมีเหตุจูงใจทางการเมืองมีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วง 40 ปีมานี้

ประมวลคำพิพากษาของศาลเนเธอร์แลนด์ในคดีหมิ่นฯ ในช่วง 40 ปีหลังมานี้ แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของคำพิพากษาที่มีโทษสถานเบาในกรณีที่ถูกดำเนินคดีจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกดำเนินคดีในทุกกรณี

ยิ่งไปกว่านั้น การลงโทษก็มักจะเป็นการปรับเล็กๆ น้อยๆ เสียค่าปรับไม่กี่ร้อยเหรียญยูโร

นักวิชาการด้านกฎหมายของเนเธอร์แลนด์โต้เถียงกันในประเด็นที่ว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ แต่ละคดีและทุกๆ คดี เป็นไปเพื่อประโยชน์ของราชวงศ์ตามที่เข้าใจกันหรือไม่

เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ในบางกรณีไม่ใช่

และอาจจะเป็นผลลบต่อหรือทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกฎหมายหมิ่นฯ อ้างว่าจะปกป้องด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ เนื่องจากความจริงที่ว่า การดำเนินคดีจะเป็นการดึงดูดความสนใจของสาธารณชนให้หันมาสนใจการกระทำที่เป็นความผิด (ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่ต้องการให้สาธารณชนสนใจ) ตลอดจนการดำเนินการทางศาล ซึ่งคนทั่วไปเห็นว่า ไปด้วยกันไม่ได้กับหลักความเสมอภาคของคนทุกคนภายใต้กฎหมาย อันเป็นหลักการที่สังคมประชาธิปไตยส่วนมากยึดถือ

ด้วยมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญแห่งเนเธอร์แลนด์ ทำให้อนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ค.ศ.1954 กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเนเธอร์แลนด์

นับตั้งแต่นั้นมา มาตรา 10 ของอนุสัญญาแห่งยุโรปที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกก็ได้ส่งผลบรรเทาให้มีการยับยั้งการใช้กฎหมายหมิ่นฯ  ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม  จนกระทั่งถึงปี 1994 ศาลฎีกาเนเธอร์แลนด์จึงได้ดำเนินการอย่างชัดเจนให้มี “กระบวนการทดสอบความจำเป็นของบทลงโทษ (necessity test)” ในคดีหมิ่นฯ คดีหนึ่งซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลฯ  เพื่อพิจารณาว่า การตัดสินลงโทษสิ่งตีพิมพ์ฉบับหนึ่งนั้นมีความจำเป็นและเหมาะสมหรือไม่   เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์พระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์และรัชทายาทซึ่งถือว่าเป็น “การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ(a contribution to public debate)” นั้น เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายของเนเธอร์แลนด์ และอนุสัญญาแห่งยุโรปฯ” และศาลเนเธอร์แลนด์ก็นำเกณฑ์นี้ไปใช้อย่างซื่อตรงและสุขุมรอบคอบ โดยเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของ Mr. Van den Hout เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท