‘เขาคูหา’ ถึงท่าเรือ ‘ปากบารา’ ปัญหา ‘หิน’ สะเทือนเมกกะโปรเจ็กท์

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเหมืองหินเขาคูหา จ.สงขลา ในการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรระเบิดหิน ผวาผลกระทบ และผลสะเทือนต่อเมกกะโปรเจ็กท์แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล จับตาแหล่งสัมปทานหินก่อสร้างในภาคใต้ สนองโครงการยักษ์

 
 
เขาคูหา
 
 
ภายในเหมืองหินเขาคูหา
 
แหล่งน้ำธรรมชาติที่ลอดใต้เขาคูหาใกล้กับแหล่งสัมปทานของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด
 

 


นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ หนึ่งในแกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา
 
 
หลังจากรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ(EIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปาบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปเมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา ขั้นตอนหลังจากนี้ก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหางบประมาณและผู้รับเหมามาก่อสร้าง เมื่อนั้นสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ก็จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในอีกไม่นานวัน
 
หลังจากนั้นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ที่ต่อเนื่องจากท่าเรือปากบารา รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องก็จะทยอยเกิดขึ้นตามมา ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการก่อสร้างจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะหินก่อสร้างและดินถม ถามว่าทั้งหิน ดินและทรายจะนำมาจากไหน โดยเฉพาะหิน ถ้ามิใช่การระเบิดภูเขาเป็นลูกๆ
 
โดยโครงการก่อสร้างที่จะตามมา ไม่ว่าการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา กับท่าเรือสงขลาสงขลาแห่งที่ 2 ที่คาดว่าจะมีการก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถนนที่ตัดใหม่เชื่อมทั้งสองท่าเรือดังกล่าว การวางท่อขนส่งน้ำมันระหว่างที่ตั้งคลังน้ำมันที่จะสร้างบริเวณบ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล บนพื้นที่ 5,000 ไร่ กับคลังน้ำมันบริเวณตำบลควนรู อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาบนพื้นที่อีก 10,000 ไร่ ซึ่งโครงการที่กล่าวมายังอยู่ระหว่างการศึกษาของภาครัฐ
 
ที่สำคัญคือพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องพัฒนาควบคูกับท่าเรือน้ำลึก ซึ่งในอีไอเอโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราระบุว่า จะตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอละงู จังหวัดสตูล เนื้อที่ประมาณ 150,000 ไร่ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เขต คือ 1.เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งมีทั้งเขตอุตสาหกรรมหนัก เขตอุตสาหกรรมเบาและเขตอุตสาหกรรมสนับสนุนและต่อเนื่องกับท่าเรือ 2. คลังสินค้า และ 3. โครงสร้างพื้นฐาน
 
ในรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 1 (สงขลา) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ปรากฏในเว็บไซด์ http://opim1.dpim.go.th/ รายงานว่า ในปี 2551 มีเหมืองหินปูนสำหรับงานก่อสร้าง 24 แห่ง และเหมืองหินแกรนิตสำหรับงานก่อสร้าง 5 แห่ง จากจำนวนเหมืองแร่ทุกชนิด 67 แห่ง โดยจังหวัดสงขลามีเหมืองหินทั้ง 2 ชนิด 6 แห่ง สตูล 1 แห่ง พัทลุง 1 แห่ง ตรัง 3 แห่ง นครศรีธรรมราช 10 แห่ง และยะลา 6 แห่ง
 
โดยเหมืองหินก่อสร้างในจังหวัดสงขลาและสตูล ซึ่งอาจใช้เป็นแหล่งหินเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการต่อเนื่องมากที่สุด ประกอบด้วย แหล่งสัมปทานของ 1.บริษัท ออลเวย์ส โปรดิวซ์ จำกัด 2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมืองแร่เทียนวิสิส 3.บริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรืองกูลศิลาทอง 5.บริษัท ลิวง ครัชชิ่งแพลนท์ จำกัด 6.บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด 7.บริษัท วี เอส หาดใหญ่ แมชชีนเนอรี่ จำกัด และ 8.บริษัท โรซ่า จำกัด
 
ส่วนที่จังหวัดสตูลคือเหมืองหินและโรงโม่หินของห้างหุ้นส่วนจำกัดทุ่งนุ้ยศิลาทอง ของนายลำพูน กองศาสนะตำบลทุ้งนุ้ย อำเภอ ควนกาหลง จังหวัดสตูล
 
ในรายงานดังกล่าว ยังชี้แนวโน้มว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะมีการผลิตลดลง อาจเนื่องมาจาก แหล่งแร่ที่สมบูรณ์และมีศักยภาพเริ่มน้อยลง บริเวณแหล่งแร่ที่สมบูรณ์ไม่สามารถประกอบการทำเหมืองได้เนื่องจากติดอยู่ในพื้นที่หวงห้ามของทางราชการ ปัญหามวลชน ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปัญหาการขออนุญาตประทานบัตรล่าช้า ฯลฯ
 
ยกเว้นแร่ที่เป็นวัตถุดิบด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ โดยสะท้อนภาพจากมูลค่าผลผลิตหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมซีเมนต์ รวมถึงหินก่อสร้างทุกประเภทที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ปัญหาวุ่นๆ จากเหมืองหินเขาคูหา
 
เขาคูหาเป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ในตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งสัมปทานของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ซึ่งทำเหมืองหินและโรงโม่หินมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว ที่แม้จะถูกระบุประเภทว่าเป็นเหมืองหินที่ใช้ในการก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดสงขลา แต่หินที่ได้ถูกส่งออกไปยังประเทศอินเดีย เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมด้วย
 
ความคัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ตำบลคูหาใต้ กับบริษัท พีรพลมายนิ่ง เริ่มชัดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 เมื่อชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในนามเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา นำโดยว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ ได้ทำหนังสือยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหา บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 และให้ทบทวนประทานบัตรของนายมนู เลขะกุล ที่มีเหมืองหินอยู่ใกล้กันที่จะสิ้นสุดประทานบัตร ในวันที่ 9 เมษายน 2553 เนื้อที่รวม 219 ไร่
 
โดยระบุเหตุผลว่า การทำเหมืองหินเขาคูหามีผลกระทบต่อชุมชนมากว่า 20 ปี มีการประท้วงเป็นระยะๆ ซึ่งมีผู้เดือดร้อนทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งผลกระทบทางเสียงจากเครื่องจักรทั้งกลางวันและกลางคืน เสียงหัวเจาะอัดระเบิด เสียงระเบิด เสียงการคุ้ยหิน เสียงจากการกระแทกหิน เสียงจากการลำเลียงหิน ย่อยหินโม่หิน เป็นต้น
 
โดยเฉพาะเสียงระเบิดหิน ได้ยินไกลถึง 10 กิโลเมตร ได้ยินเสียงทั้งในตำบลคูหาใต้ เขตตำบลกำแพงเพชร ตำบลควนรู ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ บางส่วนของอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
 
ผลกระทบจากฝุ่นซึ่งมาจากการเจาะอัดระเบิด การระเบิดหิน การคุ้ยหินจากยอดเขาให้ตกลงสู่ด้านล่าง ฝุ่นจากการโม่หินย่อย ฝุ่นจากการขนส่งลำเลียงบนถนน โดยอาจก่อให้เกิดโรคซิลิโคซิส หรือโรคปอดฝุ่นใยหิน ซึ่งมีระยะการสะสมฟักตัวประมาณ 20 ปี ผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน ทำให้บ้านเรือนแตกร้าว ทรัพย์สินเสียหาย ที่สำคัญขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ
 
นอกจากนี้ ยังขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ที่กระทบ เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ให้ประสานกับสถาบันการศึกษาที่ชุมชนเชื่อถือศึกษาอีไอเอ รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือ เอชไอเอ (HIA) ตาม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติด้วย
 
รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะอีไอเอทั้งฉบับเก่าและฉบับปัจจุบันที่ใช้ประกอบในการขอประทานบัตรฉบับใหม่ เอกสารการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการขอประทานบัตรครั้งแรกและครั้งปัจจุบัน เป็นต้น
 
อีกทั้งได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 1 (สงขลา)
 
นายเอกชัย อิสระทะ แกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ระบุว่า โครงการเหมือนหินเขาคูหาใต้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนน้อยมาก ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ได้บัญญัติสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ และชุมชนในการอนุรักษ์บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
“จึงต้องการเรียกร้องให้ตัวแทนประชาชน และผู้เกี่ยวข้องชะลอการพิจารณาตัดสินใจการต่ออายุประทานบัตรของบริษัทพีรพลพลายนิ่ง ในครั้งนี้ไปอย่างไม่มีกำหนด และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครองและองค์กรชุมชนประสานกับสถาบันการศึกษาที่เชื่อถือได้เข้ามาร่วมศึกษาอีไอเอ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และเอชไอเอ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติกำหนด และให้จัดเวทีการปรึกษาหารือของประชาชนเพื่อหามาตรการแนวทางการดำเนินการและแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว” นายเอกชัยกล่าว
 
เหมืองหินเขตลุ่มน้ำชั้น 1 บี
 
จนกระทั่งต่อมาในอาทิตย์ ที่ 27 ธันวาคม 2552 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ได้เปิดเวทีการเรียนรู้ โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา ที่โรงเรียนวัดเจริญภูผา (จุ้มปะ) ตำบลคูหาใต้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 1 (สงขลา) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 และชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 5, 7, 9 และ 12 ตำบลคูหาใต้ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหมืองหินเข้าร่วม มีนางพิชยา แก้วขาว เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
แม้จะเป็นเวทีการเรียนรู้ในเรื่องข้อกฎหมายและขั้นตอนการต่ออายุประทานบัตร(อ่านล้อมกรอบด้านล่าง) แต่ก็เป็นเวทีหนึ่งที่ชาวบ้านได้สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างครูคนหนึ่ง เล่าว่า ผลกระทบจากเหมืองหินดังกล่าว มีทั้งผลกระทบด้านเสียง ฝุ่นละออง มีก้อนหินกระเด็นตกใส่หลังคาบ้านจนแตกร้าว พวกเด็กๆ หวาดผวากับเสียงระเบิดที่ดังมาก ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยที่ผ่านมาได้ร้องเรียนไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว แต่ปัญหายังเหมือนเดิม
 
จากนั้นในเวทีมีการหารือถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้และหาแนวทางในการดำเนินการคัดค้านให้ประสบผลสำเร็จก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามในใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตร โดยการใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น การขอติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเสียงประจำ เป็นต้น
 
ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งระบุว่า เคยเห็นข้อมูลอีไอเอฉบับที่จะใช้ต่ออายุประทานบัตร ระบุเพียงว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเพียง 15 หลังคาเรือนเท่านั้น และไม่มีบ้านเรือนชาวบ้านอยู่ใกล้เหมืองหินเลย ถามว่าใช้มาตรฐานอะไรในการพิจารณา และจาการสอบถามชาวบ้านที่ลงชื่อเห็นด้วยกับการต่ออายุประทานบัตรในอีไอเอก็ทราบว่า ไม่เคยลงชื่อในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการต่ออายุประทานบัตร แต่เป็นการลงชื่อในการประชุมในเรื่องอื่น
 
นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ รองนายก อบต.คูหาใต้ ในฐานะแกนนำเครือข่ายฯ ย้ำในเวทีว่า ในการจัดทำอีไอเอ ไม่เคยเห็นบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาถามชาวบ้านในพื้นที่เลย แม้ตนมีตำแหน่งอยู่ในฝ่ายบริหารของ อบต.คูหาใต้ แต่ก็ไม่ใช่สมาชิกสภา อบต.ที่มีสิทธิออกเสียงลงมติคัดค้านการเห็นชอบให้ทำเหมืองหินได้
 
ขณะที่นายพรเทพ จิตต์ภักดี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา บอกว่า เหมืองหินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นการขอต่ออายุประทานบัตรจึงจำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยด้วย
 
แม้ชาวบ้านยืนยันว่า กระบวนการจัดทำอีไอเอและการขอต่ออายุประทานบัตรขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ อบต.คูหาใต้ ก็ได้ลงมติให้ความเห็นชอบให้ทำเหมืองหินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 52
 
ขณะที่นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้รับผิดชอบเรื่องนี้ ก็ระบุในทำนองว่า ตนต้องให้ความเห็นชอบตามความเห็นของ อบต.คูหาใต้ มิฉะนั้นตนอาจถูกผู้ประกอบการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
 
โดยระหว่างการพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่นั้น ทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา จึงพยายามเสนอให้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาทางออกในปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
 
ตัวอย่างผลกระทบบ้านพัง – ไถนาไม่ได้
 
ในขณะที่ทางบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัดเอง ก็ได้เปิดเวทีโรงโม่หินพีรพลพบประชาชนขึ้น เพื่อลดแรงเสียดทานจากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2553 ที่โรงเรียนโรงเรียนวัดเจริญภูผา(จุ้มปะ) ตำบลคูหาใต้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน
 
แม้ในเวทีดังกล่าวจะมีผู้ที่เห็นด้วยกับการต่ออายุประทานบัตรเข้าร่วมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่วายมีผู้ที่ได้รนับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองหินเขาคูหาได้แสดงความเห็นในที่ประชุมด้วย อย่างนายกฤษณรักษ์ จันทสุวรรณ ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลคูหาใต้
 
นายกฤษณรักษ์ บอกว่า บ้านตนตั้งอยู่ห่างจากโรงเหมืองหินคูหาประมาณ 200 – 300 เมตร ได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน โดยทำให้บ้านร้าวจากแรงสั่นสะเทือน ซึ่งบริษัทได้เสนอเงินซ่อมแซมครั้งแรก 3,000 บาท แต่ต่อมาเมื่อช่างมาประเมินความเสียหายแล้ว พบว่าต้องใช้งบประมาณ 150,000 บาท แต่ทางบริษัทยังเพิกเฉย ตนจึงต้องเดินทางไปบันทึกประจำวันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ แต่ทางบริษัทก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ตนจึงขอให้ตำรวจช่วยเร่งให้บริษัทเข้ามาดำเนินการด้วย แต่เจ้าหน้าที่แนะนำให้ตนไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดสงขลา ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยตนเรียกค่าเสียหายไปประมาณ 5 แสนบาท
 
นายกฤษณรักษ์ บอกต่อว่า ก่อนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว ศาลจังหวัดสงขลาได้นัดตนและตัวแทนบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด มาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายแล้ว แต่ทางบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ไม่ยอม ศาลจังหวัดสงขลาจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าวว่าในเวทีถึงผลกระทบที่ได้รับจากการทำเหมืองหินดังกล่าวว่า ตนต้องการว่าจ้างไถนา แต่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าของรถไถ โดยให้เหตุผลว่า บริเวณนาแปลงนั้นมีก้อนหินจำนวนมากที่กระเด็นตกใส่ที่นาจากการระเบิดหิน ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องจักรไถนาได้
 
ด้านนายธม เหมพันธ์ ผู้จัดการบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด บอกว่า ชาวบ้านต้องเลือกระหว่างการมีอาชีพกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถแก้ได้ แต่ถ้าบริษัทฯ ไม่ได้รับการต่ออายุประทานบัตรก็จะมีชาวบ้านที่ต้องตกงาน จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ส่วนปัญหาเรื่องสุขภาพก็ได้ดำเนินการจัดการไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย
 
“ผู้คัดค้านถามว่า 10 ปีข้างหน้าชาวบ้านต้องเป็นโรคอะไรอีก ถามว่าที่ผ่านมา 30 ปีที่มีการทำเหมืองหินมา ก็ยังไม่พบชาวบ้านเป็นโรคจากการระเบิดหิน อีก 10 ปีข้างหน้าก็คงจะไม่เกิดโรคอะไร”
 
เสียงจากฝ่ายหนุน ผลประโยชน์จากโรงโม่
 
ส่วนนายอดุล ขุนเพชร กำนันตำบลคูหาใต้ กล่าวว่า บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ดำเนินการมากว่า 10 ปี มีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีทั้งสภาพอากาศ ระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือน จนได้รับรางวัลการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับดีเยี่ยม ที่สำคัญได้คำนึงถึงความอยู่รอดของชุมชนโดยชาวบ้านได้รับประโยชน์ เช่น จากการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนและนักเรียน ทุนอาหารกลางวัน บริการตรวจสุขภาพแก่ชุมชน ชาวบ้านมีงานทำ
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรณีเมืองหินเขาคูหาจะสะเทือนไปถึงโครงการเมกกะโปรเจ็กส์ที่จะเกิดขึ้นมาอีกมากมายในภาคใต้หรือไม่ คงต้องติดตาม และจับตาดูว่าจะมีการเปิดสัมปทานแหล่งหินใหม่ๆ อีกหรือไม่ เพื่อสนองโครงการยักษ์ อย่างที่มีคนสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 (สงขลา) เปิดเผยข้อมูลออกมาบ้างแล้ว
 

 
เส้นทางสัมปทานเหมืองหินในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 บี
นายพรเทพ จิตต์ภักดี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา อธิบายถึงขั้นตอนในการต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินโดยยกกรณีการขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองหินของบริษัทบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด
 
“ผู้ที่มีอำนาจลงนามอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองหินได้คือ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากเหมืองหินดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย จึงจำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยด้วย
 
กรณีนี้มีขั้นตอนดังนี้ เมื่อผู้ประกอบกิจการทำเหมืองหินยื่นขอต่ออายุประทานบัตรต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อธิบดีฯ จะส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐมนตรีจะสอบถามความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยกระทวงมหาดไทยจะส่งเรื่องมาสอบถามมาที่จังหวัด ทางจังหวัดก็ต้องส่งเรื่องสอบถามมาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นั่นก็คือองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คูหาใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุมสภา อบต.คูหาใต้ ได้มีมติเห็นชอบให้ทำเหมืองหินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บีไปแล้ว
 
จากนั้น อบต.คูหาใต้ ได้ส่งเรื่องไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนจะส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว จึงส่งเรื่องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงนามในใบอนุญาตต่อไป ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก่อนที่จะส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย
 
ขณะเดียวกันในการยื่นคำร้องขอต่ออายุประทานบัตรนั้น ต้องยื่นพร้อมกับอีไอเอ ซึ่งบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ได้ยื่นขอต่อประทานบัตรตั้งแต่ปี 2549 พร้อมกับอีไอเอที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) แล้ว
 
เนื่องจากประทานบัตรทำเหมืองหินของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ได้หมดอายุมาตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ซึ่งตามกฎหมายระบุให้ขอต่ออายุประทานบัตรก่อนวันสิ้นอายุประทานบัตร 180 วัน หากยังไม่ขอต่อประทานบัตรอีกก็สามารถยื่นขอต่อได้หลังจากหมดอายุประทานบัตรในอีก 180 วัน แต่ในช่วงนี้ผู้ประกอบการสามารถระเบิดหินได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยใช้ระเบิดน้ำหนักไม่เกิน 150 กิโลกรัม และไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อหลุม แต่ปัญหาที่พบคือผู้ประกอบการมักลักลอบใช้ระเบิดเกินขนาดในแต่ละหลุม เพื่อให้ได้หินจำนวนมาก
 
เมื่อครบกำหนด 180 วันหลังจากวันสิ้นสุดประทานบัตร ผู้ประกอบการสามารถขอคุ้มครองหินที่ได้จากการระเบิดแล้ว เพื่อขนย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ยังไม่ได้ยื่นขอคุ้มครองแต่อย่างใด โดยบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัดจะครบกำหนด 180 วันหลังจากสิ้นสุดประทานบัตรในวันที่ 25 มกราคม 2553 เมื่อถึงวันนั้นบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัดไม่สามารถทำเหมืองหินต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับการต่ออายุประทานบัตร”
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท