Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

*ชื่อรายงานเดิม: เราอยากกลับบ้านใจจะขาด แต่เรากลัว เสียงจากผู้ลี้ภัยหนองบัวผู้กำลังจะถูกตัดสินชะตากรรมในวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2553 (ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนฉบับที่ 53 / 24 มกราคม 2553)

 

นับแต่มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ชีวิตของชาวบ้านเล่อป่อเฮอและหมู่บ้านรายรอบในรัฐกะเหรี่ยงก็ต้องเปลี่ยนไป พวกเขากลายเป็นผู้ลี้ภัยในแผ่นดินไทย อาศัยอยู่ในค่ายพักยิ่งกว่าชั่วคราวที่บ้านหนองบัวและอุสุทะ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก 

ค่ายพักหนองบัว คือพื้นที่ว่างหลังสุสานวัดพุทธของหมู่บ้านกะเหรี่ยงไทย ที่อยู่ตรงข้ามหมู่บ้านเล่อป่อเฮอ หลังจากที่พ้นภาวะฉุกเฉินและความกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐที่จะบังคับส่งกลับและสร้างอุปสรรคแก่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเดือนแรก ผู้ลี้ภัยก็ได้รับอนุญาตให้สร้างกระท่อมพักด้วยไม้ไผ่และหลังคาพลาสติก (เพื่อไม่ให้ดูเป็นการ "ถาวร" จนเกินไป)

ผ่านไปเจ็ดเดือน พวกเขากำลังจะถูกผลักดันกลับอีกครั้ง หลังจากที่ทหารไทยในพื้นที่พยายามมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในวันจันทร์ที่ 25 มกราคม มีกำหนดการประชุมระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ทั้งทหารไทย ทหารกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) ทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู องค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือด้านข้าวปลาอาหาร ยูเอ็น

แต่แน่นอน ย่อมไม่มีผู้ลี้ภัยอยู่ในนั้น พวกเขาไม่เคยได้รับการยอมรับให้ได้ส่งเสียงให้ใครฟัง

“พวกเราอยากกลับบ้านตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบแผ่นดินไทยแล้ว แต่เรากลับไม่ได้"

ผู้ลี้ภัยกว่าสามพันคนนี้ไม่ได้อยากเข้ามาพักในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไทย บางคนกลัวด้วยซ้ำที่จะถูกส่งเข้าค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ เพราะทราบดีถึงชีวิตที่ถูกกักขังไร้เสรีภาพ พวกเขาคือมนุษย์ที่ต้องการทำมาหากินเลี้ยงตัวเองอย่างอิสระ ไม่ใช่คนที่อยากงอมืองอเท้ารอ "ของฟรี" อย่างที่ใครบางคนป้ายสี

แต่ถ้าต้องเทียบกับการกลับไปสู่การประหัตประหาร พวกเขาก็ยินยอมที่รัฐไทยจะพาเขาไปที่ใดก็ได้ หลายคนเริ่มมองว่า หากการอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละที่ตั้งมา (ชั่วคราว – ตามนิยามรัฐไทย) นานกว่า 20 ปี จะทำให้ลูกหลานได้เรียนหนังสืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวกว่าโรงเรียนชั่วคราวที่นี่ พวกเขาก็ยินดี

ผู้ลี้ภัยหนองบัวได้รับอนุญาตให้สร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นได้ในเดือนสิงหาคม ด้วยเงินบริจาคจากเพื่อนพ้องและผู้เห็นใจ ทั้งที่เป็นกะเหรี่ยง คนไทย และต่างชาติ ครูที่นี่ก็คือครูที่เคยสอนเมื่อก่อนที่พวกเขาจะลี้ภัยมา บางคนเคยเข้ามาเรียนหนังสือชั้นมัธยมในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ และบางคนก็เป็นคนจากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ หากยินดีอุทิศตัวเป็นครูในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทั้ง ๆ ที่การเป็นครูในค่ายแม่หละ ได้ค่าตอบแทนสูงและอยู่สบายกว่ากันมาก

แต่ผู้ลี้ภัยอุสุทะก็ยังดูเหมือนจะอยู่ในสภาพย่ำแย่กว่า พวกเขาถูกจัดให้อยู่ในไร่ข้าวโพดและห่างไกลจากถนน และถูกควบคุมเข้มงวดกว่า ในขณะที่ค่ายหนองบัวมีโรงเรียนแล้ว คนที่อุสุทะยังอยู่ในระหว่างเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทหารที่คุมพื้นที่

ในหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าสถานการณ์หลบลี้ภัยจะฉุกเฉินชั่วคราวเพียงใด เด็ก ๆ จะต้องมีสิทธิเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือไม่เป็นเพียงการเรียนรู้ แต่เป็นการเยียวยาจิตใจให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ คำสั่งห้ามของรัฐไทยแต่แรก จึงถือว่าขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎหมายระหว่างประเทศที่เราตัดสินใจให้สัตยาบันไปแล้วอย่างชัดเจน

โรงเรียนไม้ไผ่ที่หนองบัว คือสัญลักษณ์แห่งความหวัง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยู่อย่างแห้งเหี่ยวมาสองเดือนกลับมาสดใส และหวังว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปได้ราบรื่นขึ้น

ผ่านไปไม่ถึงเดือน สัญญาณเลวร้ายก็เริ่มเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนเป็นที่ชัดเจนแก่ผู้ลี้ภัยว่า พวกเขาจะไม่ได้รับการต้อนรับ (จากเจ้าหน้าที่รัฐไทย) ที่นี่ และเมื่อมาถึงคำสั่งส่งกลับในมกราคม แม้จะอกสั่นขวัญแขวนแค่ไหน ก็แทบไม่มีใครแปลกใจ

ต้นเดือนกันยายน ขณะที่เสียงปืนและกับระเบิดจากฝั่งพม่ายังได้ยินมาถึงหนองบัวและอุสุทะสม่ำเสมอ นายหม่องจีวินและปูลู ผู้นำผู้ลี้ภัยค่ายอุสุทะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเพื่อจะส่งกลับประเทศพม่า ด้วยข้อหา "เข้าเมืองผิดกฎหมาย"   แม้ในที่สุดจะมีหลายหน่วยงานพยายามช่วยเหลือให้คนทั้งสองไม่ต้องถูกส่งตัวให้แก่กองทัพพม่าหรือกองทัพดีเคบีเอ เหตุการณ์นี้ก็เขย่าขวัญผู้ลี้ภัยให้ทราบว่า พวกเขาจะไม่มีทางได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างไร้ความหวาดกลัวแน่นอน

ตุลาคม สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ผู้ลี้ภัยถูกจำกัดการเข้าออกค่ายอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าค่ายแม่หละ ทำให้คนที่เคยกลัวชีวิตในกรงอย่างแม่หละต้องเปลี่ยนใจ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อฝนตกหนักลงมาจนหลังคา"ชั่วคราว"ที่ทำด้วยผ้าพลาสติกเปิด พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ซ่อมแซมโรงเรียนอีกต่อไป

พวกเขาเพียรถาม ครูหลายคนหมดกำลังใจ แต่ทหารก็ไม่อนุญาต อย่างไม่ทราบเหตุผล

การกีดกันไม่ให้เด็กได้รับการศึกษา ไม่ว่าเด็กนั้นจะมีสถานะใดในประเทศไทย หรือไร้สถานะ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิต่อการศึกษา ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้เช่นกัน

พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นค่ายหนองบัว ยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและกล้องถ่ายรูป และเรียกบรรดาครูมาข่มขู่ไม่ให้ส่งข่าวใด ๆ ออกนอกพื้นที่และไม่ให้ถือโทรศัพท์ ทั้งที่อันที่จริงแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือทำบัญชีอาหารและของบริจาคในค่าย ผู้นำค่ายหนองบัวถูกค้นตัวอย่างละเอียด โดยอ้างว่าเป็นการตรวจค้น "ยาเสพติด"

คำถามง่าย ๆ ก็คือ หากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ลี้ภัย เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมจริงแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องกลัวอะไร

ผลต่อมา ก็คือ ผู้นำหนองบัวคนเดิมต้องยุติบทบาท เปลี่ยนมือเป็นคนอื่น ครูทั้งหลายที่มาจากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละไม่สามารถกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนหนองบัวได้อีก เมื่อเหลือแต่ครูที่ไม่มีไม่มีโอกาสทางการศึกษาสูงมากนัก เด็ก ๆ จึงเรียนหนังสือได้แค่ถึงชั้น ป.2 และแบ่งกลุ่มกันเรียนตามบ้าน เพราะโรงเรียนไม่มีหลังคา

ต้นมกราคม 2553 ผู้ลี้ภัยได้รับอนุญาตให้ซ่อมแซมหลังคาโรงเรียนได้ หลาย ๆ คนอาจแปลกใจ ว่าท่ามกลางบรรยากาศที่แสนกดดันให้กลับบ้าน และผ่านทั้งฝนทั้งหนาวมาแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งได้ซ่อมหลังคาโรงเรียน แต่บางคนก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่า คำอนุญาตนี้จะนี้เกี่ยวข้องกับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม ที่มาถึงพื้นที่ไม่กี่วันหลังจากนั้นหรือไม่

กลางมกราคม เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเดินทางเข้ามาตรวจสอบรายชื่อผู้ลี้ภัย พร้อมถามความสมัครใจให้เลือกที่จะกลับบ้านหรือเข้าค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ แปดครอบครัวสมัครใจกลับฝั่งหมู่บ้านเล่อป่อเฮอ เพราะไม่อยากเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย อันที่จริงในเดือนธันวาคม สองครอบครัวก็ตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ส่งกลับ เพื่อจะย้อนกลับมาและหนีไปอยู่ที่อื่น จำนวนผู้ลี้ภัยกว่าพันลดลงเหลือกว่าเก้าร้อย เพราะการกดดันของทหารไทยได้ผล

ทว่าคนเหล่านี้มิได้หายตัวไปไหน พวกเขายังมีชีวิตอยู่ เมื่อกลับบ้านไม่ได้ ก็แฝงตัวอยู่ ณ ชายแดนนั้นเอง

การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติหยุดชะงัก เมื่อทหารไทยประกาศว่า จะไม่มีทางรับผู้ลี้ภัยเข้าค่ายแม่หละเด็ดขาด เนื่องจาก "ค่ายแออัดเกินไป" ทั้งที่ผู้ลี้ภัยแม่หละนับหมื่นเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแล้ว และปัจจุบันก็มีผู้ลี้ภัยหรือคนย้ายถิ่นจากพม่าที่มิใช่ชนชาวกะเหรี่ยงก็ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในค่ายมากมาย

19 มกราคม สี่วันถัดมา มีการประชุมที่หนองบัว ผู้ลี้ภัยไม่กล้าหวังอะไรมากไปกว่าขอหลบภัยอยู่บนแผ่นดินไทย หากไม่ต้องการให้เขาอยู่ที่ปัจจุบันและไม่ยอมให้เข้าค่ายแม่หละ ขอเพียงอยู่ติดริมน้ำเมยอันเป็นพรมแดนไทย-พม่าก็พอแล้ว

แต่เสียงของเขาไม่มีใครรับฟัง คำยืนยันจากทางการไทยคือ พวกเขาจะต้องกลับฝั่งพม่า

“เราอยากกลับบ้านใจจะขาด แต่เรากลัว"

"หากจะต้องตกอยู่ในความควบคุมของดีเคบีเอจริง ก็อาจจะดีกว่าอยู่ในความควบคุมของทหารไทยอย่างตอนนี้" เสียงหนึ่งบอก บางคนเชื่อว่า หากการเจรจาระหว่างเคเอ็นยูกับดีเคบีเอเป็นผล ฝ่ายดีเคบีเอก็คงจะไม่ทำร้ายประหัตประหารตน "แต่ก็อาจจะสั่งให้เราทำงานให้เขา ใช้แรงงานเรา ก็ต้องอดทน"

ความหวาดกลัวของพวกเขา คือภัย "กับระเบิด" ในการสู้รบที่ผ่านมา กับระเบิดถูกวางไปแล้วทุกที่ ในไร่ในนา บนเส้นทางเดิน และแม้กระทั่งในสนามฟุตบอลของโรงเรียน ผู้ลี้ภัยจากหมู่บ้านไกลออกไป ไม่แน่ใจว่าจะเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยจากกับระเบิด

"เราจะทำไร่ทำนาได้อย่างไร หากกับระเบิดอยู่ในผืนดิน แล้วเราจะเอาอะไรกิน รอบเล่อป่อเฮอก็เป็นกับระเบิด จะมีคนเสียแขนเสียขา เสียชีวิตอีกเท่าไหร่"

หากความพยายามจะลบผู้ลี้ภัยกว่าสามพันออกจากแผนที่ประเทศไทยเพียงเพราะมองว่า "เป็นภาระ" จะหมายถึงชีวิตที่ต้องสูญเสียอีกกี่สิบกี่ร้อย

เราจะยังจะกล้าเอ่ยอ้าง "มนุษยธรรม" อีกหรือไม่

ผู้ลี้ภัยไม่ได้ร้องถามหา"มนุษยธรรม" มีแต่คนไทยด้วยกันเองที่จะระลึกให้ได้ว่า มนุษยธรรม ก็คือสิ่งที่เตือนให้เรายังรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเองได้ ท่ามกลางโลกที่พิกลพิการนี้

ผู้ลี้ภัยไม่ได้ถามว่าใครจะรับผิดชอบกับกี่ชีวิตที่จะถูกทำลาย หากพวกเขาต้องกลับไปฝั่งพม่าก่อนเวลาอันควร มีแต่คนไทยด้วยกันเองที่อาจจะมองหน้ากันแล้วถามว่า

เราจะยังนอนหลับสบายได้อยู่หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net