Skip to main content
sharethis

เปิดตัวรายการวิทยุ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” 12 คลื่น 3 เว็บไซต์ สะท้อนมุมมองต่อสันติภาพ ความมั่นคงและชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

นางโซรยา จามจุรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเสียงจากผู้หญิงในครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้ได้เปิดโอกาสและพัฒนาให้ผู้หญิงจากชุมชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ 4 คน ทั้งมุสลิม พุทธ และแกนนำผู้หญิงอีก 2 คน ซึ่งเป็นนักวิจัยในโครงการ มาเป็นนักสื่อสารสาธารณะ โดยการจัดรายการวิทยุ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น ผ่านมุมมองของนักวิจัยในชุมชนที่เป็นผู้หญิง ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ทุกคนต่างเผชิญและต้องร่วมก้าวข้ามให้ได้
 
นางโซรายา เปิดเผยต่อว่า การเปิดโอกาสดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีรายการที่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบและผู้หญิงในชุมชน ได้สะท้อนเรื่องราวและมุมมองต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางในการสร้างสันติภาพ และความมั่นคงของชีวิตและชุมชน ผ่านสถานีวิทยุ 13 แห่ง และเว็บไซต์อีก 3 เว็บไซต์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มเผยแพร่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2553
 
นางโซรยา เปิดเผยอีกว่า สำหรับชุมชนที่ศึกษาวิจัย และประเด็นสำคัญของแต่ละชุมชน ที่มีการนำเสนอทางรายการวิทยุและการศึกษาวิจัยในโครงการนี้ ประกอบด้วย
 
1.หมู่บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ผู้วิจัยคือ แยน๊ะ สะแลแม จะสะท้อนบทบาทที่เปลี่ยนไป จากแม่ที่มีลูกเป็นจำเลยในคดีตากใบ และสูญเสียสามีในเหตุรุนแรงรายวัน มาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคนกลางที่เชื่อมประสานระหว่างรัฐกับประชาชน การเป็นชุมชนชายแดนและมายาคติที่เกี่ยวกับชุมชนชายแดน ความมั่นคงและสันติภาพที่ต้องมาจากความยุติธรรม
 
2.หมู่บ้านพ่อมิ่ง ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ผู้วิจัย คือมาริสา สมาแห ผู้สูญเสียสามี ที่เป็นอส.ในเหตุการณ์ไม่สงบ จะสะท้อนถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนในชุมชนและคนในปอเนาะ ที่ต่างต้องเผชิญกับเหตุรุนแรงรายวัน และความหวาดระแวงต่อกัน การพยายามรักษาอัตลักษณ์ และศาสนาของคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในชีวิตและชุมชน
 
3.หมู่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ผู้วิจัยคือ คอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียพ่อในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนที่เคยถูกลืมจากการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธมุสลิม และบทบาทที่เปลี่ยนไป สู่การเป็นคนกลาง และนักพัฒนาของหมู่บ้าน รวมทั้งความมั่นคงของจิตใจและชุมชน ที่เกิดจากกการก้าวข้ามความโกรธแค้น การมีการศึกษา และชุมชนปลอดยาเสพติด
 
4.หมู่บ้านเฑียรยา ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ผู้วิจัยคือ ดวงสุดา นุ้ยสุภาพ ผู้สูญเสียพ่อและปู่จากเหตุรุนแรง สะท้อนมุมมองการก้าวข้ามความโกรธเกลียดทางศาสนา ที่จะนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคง ผลกระทบจากการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของป่าสันทราย ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของชุมชน
 
5.หมู่บ้านตันหยงลูโล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ผู้วิจัยคือยะห์ อาลี จะสะท้อนประเด็นปัญหาของอาชีพและทรัพยากรที่กำลังจะเสื่อมสลายไป ทั้งนาเกลืออายุกว่า 400 ปี และปลาในอ่าวปัตตานี รวมทั้งความมั่นคงและสันติภาพ ที่เกิดจากการยอมรับในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
 
6.หมู่บ้านบูเก๊ะ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา ผู้วิจัย คือนิเด๊าะ อิแตแล สะท้อนการก้าวข้ามของกลุ่มผู้หญิงและชุมชน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ความมั่นคงที่มาจากการมีกลุ่ม เครือข่าย สวัสดิการ อาชีพ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและคนในชุมชน
 
นางโซรายา กล่าวด้วยว่า หรับการจัดรายการวิทยุ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” ครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติการหรือกิจกรรมหลักในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเสียงจากผู้หญิงในครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ประสบการณ์การก้าวข้ามและการเยียวยา การเปลี่ยนแปลงบทบาทผู้หญิงภายหลังเกิดสถานการณ์ การสื่อสารถึงมุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงของชีวิตและสันติภาพ
 
รวมทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้หญิง และศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้รายการวิทยุ เป็นสื่อเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งให้แก่ผู้หญิง ภายใต้วิกฤติความขัดแย้ง โดยรายการวิทยุมีระยะเวลาการออกอากาศตั้งแต่ 15 มกราคม 2553 และสิ้นสุดการออกอากาศประมาณเดือนพฤษภาคม 2553
 
นางโซรยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 7 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งต้องกลายเป็นผู้แบกรับภาระทุกอย่างที่เกิดขึ้น เมื่อมีการสูญเสียหัวหน้าครอบครัวเกิดขึ้น
 
นางโซรยา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะความยากลำบากและปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงมีผู้หญิงจากครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้หญิงแกนนำในชุมชน ที่พยายามก้าวข้ามวิกฤติของชีวิตและชุมชน ลุกขึ้นมามีบทบาทในทางสาธารณะ เช่น เป็นนักเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ นักพัฒนาในหมู่บ้าน นักสันติวิธี นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคนกลางที่เชื่อมประสานสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อการบอกเล่า และแบ่งปันให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเปิดรายการวิทยุดังกล่าวขึ้น
 
 

 
รายชื่อสถานวิทยุที่ออกอากาศ
 
เริ่ม 15 มกราคม 2553 ทาง 15 Channel พร้อมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ทุกวัน
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี                                                   F.M.107.25 MHz เวลา 18.25 – 18.35 น.
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันปัตตานี                   F.M.91.50 MHz เวลา 15.10 – 15.20 น.
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันยะลา                       F.M.96.25 MHz เวลา 15.10 – 15.20 น.
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันนราธิวาส                F.M.105.50 MHz เวลา 15.10 – 15.20 น.
สถานีวิทยุ CommSci Radio                                         F.M. 105.5 MHz เวลา 09.00 – 09.10 น.
วิทยุชุมชนคนนิบง                                                           F.M.107.50 MHz เวลา 14.00 – 14.10 น.
สถานีวิทยุ คลื่นฟ้าใสหัวใจเรียนรู้                                 F.M.100.75 MHz เวลา 17.30 – 17.40 น.
สถานีวิทยุชุมชนเมืองนราธิวาส                                     F.M. 107 MHz เวลา 21.00 – 21.10 น.
สถานีวิทยุสูงาฆอเลาะ ในรายการ “มุสลิมะห์ทอล์ก”      F.M.91.5 MHz ช่วงเวลา 15.00 – 16.00 น.
สถานีวิทยุเมอนารอ ในรายการ “มุสลิมะห์ทอล์ก”          F.M. 105.5 MHz ช่วงเวลา 15.00 – 16.00 น.
 
ทุกวันอังคาร
สถานีวิทยุ สวท.ยะลา ในรายการ “ผู้หญิงสร้างสันติภาพ” F.M. 95.0 MHz ช่วงเวลา 10.00 – 11.00 น.
 
ทุกวันเสาร์
สถานีวิทยุ ม.ก. สงขลา                                          A.M.1,269 kHz ช่วงเวลา 17.00 – 17.30 น.
 
เว็บไซต์
http://exten.pn.psu.ac.th
http://www.voicepeace.org
http://www.deepsouthwatch.org
 
สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net