สุนทรพจน์ 'ฮิลลารี คลินตัน' ว่าด้วยเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

สุนทรพจน์แถลงนโยบายของ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

(ลิ้งก์ไปยังเว็บไซต์ต่างๆ และตัวหนาเพิ่มเติมโดยผู้แปล)
 
----
รัฐมนตรีคลินตัน: ขอบคุณมากค่ะอัลเบอร์โต สำหรับคำแนะนำตัวดิฉันที่กรุณา และขอบคุณความเป็นผู้นำของคุณและเพื่อนร่วมงานของสถาบันที่สำคัญแห่งนี้ ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้มาที่นิวเซียม (Newseum พิพิธภัณฑ์สื่อมวลชนของอเมริกา – ผู้แปล) เพราะนิวเซียมเป็นอนุสรณ์แด่เสรีภาพที่เราหวงแหนที่สุดบางข้อ และดิฉันก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสอภิปรายว่าเสรีภาพเหล่านี้เกี่ยว ข้องกับความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร
 

ถึงแม้ว่าดิฉันจะมองไม่เห็นพวกคุณทุกคน เพราะในสถานที่แบบนี้ ไฟส่องเข้าตาดิฉันและพวกคุณนั่งอยู่ในความมืด ดิฉันก็รู้ว่าในที่นี้มีเพื่อนและอดีตเพื่อนร่วมงานหลายคน ดิฉันอยากเอ่ยชื่อ ชาร์ลส์ โอเวอร์บี (Charles Overby) ซีอีโอของ Freedom Forum ที่นิวเซียมแห่งนี้, วุฒิสมาชิก เอ็ดวาร์ด คอฟแมน (Edward Kaufman) และวุฒิสมาชิก โจ ลีเบอร์แมน (Joe Lieberman) อดีตเพื่อนร่วมงานของดิฉันในสภาสูง ทั้งสองท่านทำงานผลักดันกฎหมายเสรีภาพในการพูด (Voice Act) ซึ่งสะท้อนถึงความทุ่มเทของสภาและชาวอเมริกันทั้งมวลในเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ความทุ่มเทที่ข้ามพรมแดนพรรคและสาขาต่างๆ ของรัฐบาล

นอกจากนี้ ดิฉันก็ได้ทราบว่าวุฒิสมาชิก แซม บราวน์แบ็ค (Sam Brownback), วุฒิสมาชิก เท็ด คอฟแมน (Ted Kaufman), สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โลเร็ตตา ซานเชส (Loretta Sanchez), ตัวแทนจากคณะทำงานทางการทูต (Diplomatic Corps), เอกอัครราชทูต, ทูตานุทูต, ผู้ร่วมโครงการ International Visitor Leadership Program เกี่ยวกับเสรีภาพอินเทอร์เน็ตจากจีน โคลอมเบีย อิหร่าน เลบานอน และมอลโดวา และดิฉันก็อยากเอ่ยชื่อ วอลเตอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) ผู้อำนวยการสถาบันแอสเพน (Aspen Institute) ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งสู่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ (Broadcasting Board of Governors) และเป็นผู้มีบทบาทสูงยิ่งในการสนับสนุนงานเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตที่ สถาบันแอสเพนกำลังทำ

นี่เป็นสุนทรพจน์ครั้งสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญมาก แต่ก่อนอื่น ดิฉันอยากจะพูดอะไรเล็กน้อยเกี่ยวกับไฮติ เพราะในช่วงเวลา 8 วันที่ผ่านมา ประชาชนชาวไฮติและชาวโลกได้ร่วมกันรับมือกับโศกนาฏกรรมที่ก่อความสูญเสีย อย่างใหญ่หลวง ซีกโลกที่เราอาศัยอยู่นั้นได้ประสบกับโศกนาฏกรรมมาพอควร แต่แทบไม่มีครั้งใดที่เทียบเคียงได้กับสิ่งที่เรากำลังเผชิญใน ปอร์ต์-โอ-ปรังซ์ (Port-au-Prince เมืองหลวงของไฮติ – ผู้แปล) เครือข่ายการสื่อสารมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการช่วยเหลือของเรา แน่นอนว่าเครือข่ายนี้พังทลายและในหลายพื้นที่ก็ถูกทำลายอย่างราบคาบ ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว เราทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคเอกชน ก่อนอื่นเพื่อจัดตั้งแคมเปญ “HAITI” ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาจะได้สามารถบริจาค ช่วยเหลือหน่วยกู้ภัยด้วยการส่งข้อความทาง sms แคมเปญนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของ ชาวอเมริกัน และที่ผ่านมาก็ระดมเงินได้แล้วกว่า 25 ล้านเหรียญ

เครือข่ายข้อมูลมีบทบาทในพื้นที่สูงมากเหมือนกัน ตอนที่ดิฉันพบกับท่านประธานาธิบดีเปรวาลในปอร์ต์-โอ-ปรังซ์ในวันเสาร์ เป้าหมายแรกๆ ของท่านคือการฟื้นฟูระบบการสื่อสารให้ใช้การได้ เจ้าหน้าที่รัฐคุยกันไม่ได้ เอ็นจีโอ ภาคประชาชน และกองทัพก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ประชาคมเทคโนโลยีทำแผนที่แบบ interactive เพื่อช่วยเราระบุความต้องการและจัดสรรทรัพยากรให้ตรงจุด ในวันจันทร์ ทีมช่วยเหลือจากอเมริกาดึงเด็กผู้หญิงอายุ 7 ขวบและผู้หญิงอีก 2 คนออกมาจากซากของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ หลังจากที่พวกเขาส่งข้อความขอความช่วยเหลือด้วยโทรศัพท์มือถือ ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ที่กว้างกว่านั้นมาก

การแพร่กระจายของเครือข่ายข้อมูลกำลังสร้างระบบประสาทใหม่ให้กับดาวเคราะห์ ของเรา เวลาที่เกิดอะไรขึ้นในไฮติหรือยูนนาน เราที่เหลือรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเวลาจริง จากคนจริง และเราก็สามารถตอบสนองได้ในเวลาจริงเช่นกัน ชาวอเมริกันที่อยากช่วยหลังเกิดภัยพิบัติ และเด็กที่ติดอยู่ใต้ซากซุปเปอร์มาร์เก็ตคนนั้น เชื่อมโยงกันในทางที่หนึ่งปีก่อนไม่มีใครจินตนาการได้ ไม่ต้องพูดถึงคนหนึ่งรุ่นที่แล้ว หลักการเดียวกันนี้ครอบคลุมมนุษยชาติแทบทั้งมวลในวันนี้ ขณะที่เรานั่งอยู่ที่นี่ ใครก็ตามในหมู่พวกคุณ – หรือน่าจะเป็นลูกๆ ของพวกเราคนใดคนหนึ่ง – สามารถหยิบเอาเครื่องมือที่หลายคนพกติดตัวทุกวันออกมา และส่งสารการอภิปรายนี้ออกไปสู่คนหลายพันล้านคนทั่วโลก
 

ในหลายแง่มุม ข้อมูลไม่เคยฟรีขนาดนี้มาก่อน ตอนนี้เรามีวิธีที่จะกระจายความคิดจำนวนมากกว่า ไปสู่คนจำนวนมากกว่าทุกห้วงยามในอดีตที่แล้วมาทั้งหมด และแม้แต่ในประเทศเผด็จการ เครือข่ายข้อมูลก็กำลังช่วยให้ผู้คนค้นพบความจริงใหม่ๆ และกดดันรัฐบาลให้มีความรับผิดมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ท่านประธานาธิบดีโอบามาไปเยือนประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่านประชุมร่วมกับประชาชนออนไลน์เพื่อเน้นความสำคัญของอินเทอร์เน็ต เมื่อมีคนถามคำถามผ่านอินเทอร์เน็ต ท่านปกป้องสิทธิของผู้คนในการเข้าถึงข้อมูล และบอกว่ายิ่งข้อมูลไหลเวียนอย่างเสรีเพียงใด สังคมก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเพียงนั้น ท่านอธิบายว่าการเข้าถึงข้อมูลช่วยให้พลเมืองบังคับให้รัฐบาลของตัวเองรับ ผิด สร้างความคิดใหม่ๆ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสปิริตของผู้ประกอบการ ความเชื่อของสหรัฐอเมริกาในความจริงพื้นฐานเหล่านั้นคือสิ่งที่นำดิฉันมา อยู่ที่นี่ในวันนี้

เพราะในขณะที่เราเชื่อมโยงกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เราก็ต้องตระหนักด้วยว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่พรที่ไร้ขีดจำกัด มีผู้ฉวยใช้เครื่องมือเหล่านี้ยับยั้งความก้าวหน้าของมนุษย์และลิดรอนสิทธิ ทางการเมือง เราใช้เหล็กกล้าสร้างโรงพยาบาลหรือปืนกลได้ฉันใด ใช้พลังงานนิวเคลียร์มอบพลังงานให้กับเมืองหรือทำลายมันได้ฉันใด เราก็ใช้เครือข่ายข้อมูลสมัยใหม่และเทคโนโลยีที่มันสนับสนุนทำเรื่องดีงาม หรือเลวร้ายได้ฉันนั้น เครือข่ายเดียวกันกับที่ช่วยจัดระเบียบขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพนี้ ช่วยให้อัลกออิดะห์เผยแผ่ความเกลียดชังและก่อความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ เทคโนโลยีที่สามารถเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงรัฐบาลและส่งเสริมความโปร่งใส ก็อาจถูกรัฐบาลปล้นไปใช้ปิดปากผู้ไม่เห็นด้วยและปฏิเสธสิทธิมนุษยชน

เมื่อปีที่แล้ว เราได้เห็นว่าอันตรายต่อการไหลเวียนเสรีของข้อมูลพุ่งพรวด จีน ตูนิเซีย และอุซเบกิสถานเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดมากขึ้น ในเวียดนาม อยู่ดีๆ คนก็เข้าถึงเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์คยอดนิยมไม่ได้ และเมื่อวันศุกร์ที่แล้วในอียิปต์ บล็อกเกอร์และนักกิจกรรม 30 คนถูกทางการจับกุม บาสเซ็ม ซามีร์ (Bassem Samir) สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มนี้ โชคดีที่เขาไม่อยู่ในคุกแล้ว มาอยู่กับเราด้วยในวันนี้ ดังนั้น ถึงแม้จะชัดเจนแล้วว่าการเผยแพร่เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงโลกของ เรา สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิทธิมนุษยชนและสวัสดิการของ ประชากรโลก

เทคโนโลยีใหม่ในตัวมันเองไม่เลือกข้างในการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพและความก้าวหน้า แต่สหรัฐอเมริกาเลือก เรา ยืนข้างอินเทอร์เน็ตเพียงหนึ่งเดียวที่มนุษยชาติทั้งมวลเข้าถึงความรู้และ ความคิดได้เท่าเทียมกัน และเราตระหนักว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของโลกนี้จะเป็นอย่างที่เราและ ฝ่ายอื่นอยากให้มันเป็น ความท้าทายข้อนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ความรับผิดชอบของเราที่จะช่วยรับประกันการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเสรี นั้นถอยไปไกลถึงกำเนิดของสหรัฐ ถ้อยคำในกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเรา (First Amendment) ถูกจารึกลงบนหินอ่อนหนัก 50 ตันจากรัฐเทนเนสซีที่อยู่หน้าอาคารแห่งนี้ ชาวอเมริกันทุกรุ่นตลอดมาทำงานเพื่อปกป้องคุณค่าที่จารึกลงบนหินก้อนนั้น

แฟรงคลิน รูสเวลท์ (Franklin Roosevelt) ต่อยอดความคิดเหล่านี้ตอนที่ท่านกล่าว สุนทรพจน์ “เสรีภาพสี่ประการ” ในปี 1941 ในยุคที่ชาวอเมริกันเผชิญกับวิกฤตหลายระลอกและวิกฤตความเชื่อมั่น แต่วิสัยทัศน์ที่มองเห็นโลกที่คนทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพจากความขาดแคลน และเสรีภาพจากความกลัวนั้น ยิ่งใหญ่เหนือปัญหานานัปการในยุคของท่าน หลายปีต่อมา อีเลนอร์ รูสเวลท์ (Eleanor Roosevelt ภรรยาของแฟรงคลิน – ผู้แปล) วีรสตรีในดวงใจของดิฉันคนหนึ่ง ทำงานหนักเพื่อให้หลักการเหล่านี้ได้เป็นรากฐานของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลักการเหล่านี้กลายเป็นเข็มทิศให้กับคนรุ่นต่อมาทุกรุ่น นำทางเรา ปลุกใจเรา และช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอน

ด้วยเหตุนี้ ขณะที่เทคโนโลยีพุ่งไปข้างหน้า เราจะต้องหวนคิดกลับไปถึงมรดกนี้ เราจำเป็นจะต้องปรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราให้สอดคล้องกับหลักการ ของเรา ตอนที่ท่านได้รับรางวัลโนเบล ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงความจำเป็นที่จะสร้างโลกที่สันติภาพตั้งอยู่บน สิทธิและศักดิ์ศรีของปัจเจกชนทุกคนที่มีโดยกำเนิด และในสุนทรพจน์ของดิฉันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เมืองจอร์จทาวน์ไม่กี่วัน ถัดมา ดิฉันก็พูดว่าเราจะต้องหาทางทำให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นเป็นความจริงให้ได้ วันนี้ เราได้พบกับความเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องเสรีภาพเหล่านี้ ณ พรมแดนดิจิทอลของศตวรรษที่ 21

โลกเรามีเครือข่ายอื่นๆ มากมาย บางเครือข่ายช่วยในการไหวเวียนของผู้คนหรือทรัพยากร และบางเครือข่ายก็ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างคนที่ทำงานเดียวกันหรือ มีความสนใจตรงกัน แต่อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่เพิ่มพลังและศักยภาพให้กับเครือข่ายอื่นๆ ทั้งหมด นั่นคือสาเหตุที่เราเชื่อว่าผู้ใช้เน็ตจำเป็นจะต้องได้รับการคุ้มครอง เสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการ เสรีภาพในการแสดงออกเป็นอันดับแรก เสรีภาพนี้ไม่ได้นิยามจากแค่ประเด็นว่าพลเมืองสามารถเดินเข้าไปในจัตุรัส กลางเมืองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของตัวเองโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแก้แค้น อีกต่อไป บล็อก อีเมล โซเชียลเน็ตเวิร์ค และข้อความ sms ได้เปิดช่องทางใหม่ๆ ในการแลกเปลี่ยนความคิด และก็สร้างเป้าใหม่ให้กับการเซ็นเซอร์ด้วย

ขณะที่ดิฉันพูดกับทุกท่านในวันนี้ เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ของรัฐบาลที่ไหนสักแห่งกำลังเร่งลบถ้อยคำของดิฉันออก จากหน้าประวัติศาสตร์อยู่อย่างขมักเขม้น แต่ประวัติศาสตร์เองก็ได้ประณามยุทธวิธีเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อสองเดือนก่อน ดิฉันไปเยือนเยอรมนีเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 20 ปีแห่งการทลายกำแพงเบอร์ลิน ผู้นำที่มารวมตัวกันในงานนั้นกล่าวสรรเสริญชายและหญิงผู้กล้าหาญที่อยู่อีก ฟากฝั่งของกำแพง ผู้รณรงค์ต่อต้านการกดขี่ด้วยการแอบเผยแพร่ใบปลิวเล็กๆ ทีเรียกว่า ซามิสดัท (samizdat) ใบปลิวเหล่านั้นตั้งคำถามถึงข้ออ้างและเจตนาของระบอบเผด็จการในยุโรปตะวัน ออก และคนมากมายที่เผยแพร่มันก็ต้องจ่ายราคาแพงถึงชีวิต แต่ถ้อยคำของพวกเขาช่วยทะลุทะลวงสายสื่อที่เป็นรูปธรรมและโยงใยของม่านเหล็ก ออกมา

กำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ของโลกที่ถูกแบ่งแยก และเป็นนิยามของยุคทั้งยุค วันนี้ ส่วนที่เหลือจากกำแพงนั้นนอนนิ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในที่ที่มันควรจะอยู่ โครงสร้างที่เป็นสัญลักษณ์แห่งยุคของเราคืออินเทอร์เน็ต แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยก มันเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยง แต่ถึงแม้ว่าเครือข่ายนี้จะกำลังแพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ รอบโลก กำแพงเสมือนก็ผุดขึ้นมาแทนที่กำแพงที่เรามองเห็น

ประเทศบางประเทศได้ก่อตั้งสิ่งกีดขวางอิเล็กทรอนิกส์ที่กีดกันไม่ให้ประชาชนของพวกเขาเข้าถึงบางส่วนในเครือข่ายของโลก พวกเขาลบถ้อยคำ ชื่อ และประโยคต่างๆ ออกจากจอแสดงผลของเสิร์ชเอ็นจิน พวกเขาละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของพลเมืองที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ การกระทำเหล่านี้ละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งบอกเราว่าคนทุกคนมีสิทธิที่จะ “แสวงหา รับ ตลอดจนส่งต่อข้อมูลและความคิดเห็นโดยผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน” วิธีปฏิบัติที่ปิดกั้นของรัฐบาลเหล่านี้ทำให้ม่านข้อมูลกำลังโรยตัวลงมาสู่ พื้นที่หลายแห่งในโลก นอกเหนือจากม่านนี้ ไวรัลวีดีโอ (viral video คลิปวีดีโอสั้นที่ส่งต่อกันได้เร็ว – ผู้แปล) และโพสในบล็อกต่างๆ ก็กำลังกลายเป็นซามิสดัทของยุคเรา

รัฐบาลเผด็จการสมัยนี้ก็เหมือนกับรัฐบาลเผด็จการในอดีตตรงที่พวกเขากำลังพุ่งเป้าไปยังนักคิดเสรีชนที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ ในการประท้วงที่ตามหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ภาพหยาบๆ ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือที่บันทึกการฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่งอย่างทารุณ กลายเป็นคำพิพากษาดิจิทอลที่พิสูจน์ความเหี้ยมโหดของรัฐบาล เราพบรายงานว่าเมื่อชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่นอกประเทศโพสคำวิพากษ์วิจารณ์ผู้ นำอิหร่านออนไลน์ รัฐบาลก็ไปแก้แค้นกับสมาชิกครอบครัวของพวกเขาในอิหร่าน แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างรุนแรง สื่อพลเมืองผู้กล้าหาญในอิหร่านก็ใช้เทคโนโลยีต่อไปเพื่อแสดงให้โลกและ เพื่อนพลเมืองรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศของพวกเขา ชาวอิหร่านสร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกด้วยการออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของ ตัวเอง และความกล้าหาญของพวกเขาก็กำลังสร้างนิยามใหม่ให้กับวิธีที่เทคโนโลยีถูกใช้ เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความจริงและเปิดโปงความอยุติธรรม

สังคมทุกแห่งตระหนักดีว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นมีขีดจำกัดของมัน เราไม่ยอมทนคนที่ปลุกระดมให้คนอื่นก่อความรุนแรง อย่างเช่นสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ขณะนี้กำลังใช้อินเทอร์เน็ตส่งเสริมการ ฆาตกรรมหมู่ผู้บริสุทธิ์ทั่วโลก และคำพูดที่ปลุกเร้าความเกลียดชังต่อเพื่อนมนุษย์ต่างสีผิว ศาสนา เชื้อชาติ เพศ หรือเพศสภาพ ก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ข้อเท็จจริงที่โชคร้ายคือ ประเด็นทั้งสองนี้คือความท้าทายที่กำลังเติบโต เป็นความท้าทายที่ประชาคมโลกจะต้องเผชิญร่วมกัน และเราก็จะต้องรับมือกับประเด็นการแสดงออกอย่างนิรนาม คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรับสมัครผู้ก่อการร้ายหรือเผยแพร่ทรัพย์สินทาง ปัญญาที่ขโมยมานั้น ไม่อาจแบ่งแยกการกระทำออนไลน์ของพวกเขาออกจากตัวตนในโลกจริงได้ แต่อย่างไรก็ดี ความ ท้าทายเหล่านี้จะต้องไม่กลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลใช้ในการละเมิดสิทธิและ ความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทางการเมืองโดยสันติ

เสรีภาพในการแสดงออกอาจเป็นเสรีภาพที่ชัดเจนที่สุดว่ากำลังเผชิญกับความ ท้าทายพร้อมกับความแพร่หลายของเทคโนโลยีใหม่ แต่มันไม่ใช่เสรีภาพเพียงประการเดียวที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ เสรีภาพในการนับถือศาสนาปกติแล้วตั้งอยู่บนสิทธิของปัจเจกในการสื่อสารหรือ ไม่สื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และนั่นก็เป็นช่องทางการสื่อสารช่องทางหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี แต่เสรีภาพในการนับถือศาสนายังพูดถึงสิทธิสากลของมนุษย์ในการรวมกลุ่มกับคน อื่นๆ ที่มีความเชื่อและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับมนุษยชาติร่วมกัน ในประวัติศาสตร์ของเรา การรวมกลุ่มกันเหล่านี้มักเกิดขึ้นในโบสถ์ สุเหร่า มัสยิด และวัด แต่มาวันนี้ การรวมกลุ่มจะเกิดขึ้นออนไลน์ก็ได้

อินเทอร์เน็ตสามารถเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างคนต่างศาสนา ท่านประธานาธิบดีได้พูดไปแล้วที่กรุงไคโรว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นเป็นหัวใจของความสามารถในการอยู่ร่วมกันของ มนุษย์ ขณะที่เราพยายามหาหนทางที่จะขยับขยายวิวาทะระหว่างกัน อินเทอร์เน็ตก็เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากในการนี้ เราได้เริ่มเชื่อมโยงนักเรียนในสหรัฐอเมริกาเข้ากับคนหนุ่มสาวในชุมชนมุสลิม ทั่วโลกแล้ว เพื่อร่วมกันอภิปรายความท้าทายระดับโลก และเราจะใช้เครื่องมือนี้ต่อไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายระหว่างคนที่มา จากชุมชนต่างศาสนากัน

อย่างไรก็ดี บางประเทศได้ฉวยโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการระบุเป้าและปิดปากผู้นับถือศาสนา ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วในซาอุดิอาระเบีย ชายผู้หนึ่งถูกจำคุกนานหลายเดือนเพราะเขียนบล็อกเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชิ้นหนึ่งพบว่ารัฐบาลซาอุปิดกั้นหน้าเว็บ จำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาฮินดู ยิว คริสต์ และแม้แต่อิสลาม บางประเทศซึ่งรวมทั้งจีนและเวียดนามใช้วิธีคล้ายกันในการจำกัดการเข้าถึง ข้อมูลทางศาสนา

เทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องไม่ถูกใช้เพื่อคุกคามหรือปิดปากชนกลุ่มน้อยต่างศาสนา เช่นเดียวกับที่มันจะต้องไม่ถูกใช้เพื่อลงโทษความคิดเห็นทางการเมืองที่ สันติ คำภาวนาของคนเดินทางบนเครือข่ายที่อยู่สูงกว่า แต่เทคโนโลยีเครือข่ายอย่างอินเทอร์เน็ตและเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์คควรส่ง เสริมความสามารถของคนในการภาวนาแบบใดก็ตามที่เขาประสงค์ รวมกลุ่มกับคนอื่นที่นับถือศาสนาเดียวกัน และเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของคนอื่น เราจะต้องทำงานเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการภาวนาออนไลน์ เช่นเดียวกับที่เราส่งเสริมมันในมิติอื่นๆ ของชีวิต
 

แน่นอน คนหลายล้านคนบนโลกนี้ดำรงชีวิตโดยปราศจากประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ ดิฉันเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ในโลกของเรานี้ พรสวรรค์อาจกระจายกันอยู่อย่างเป็นสากล แต่โอกาสไม่กระจายตามไปด้วย และเราก็รู้จากประสบการณ์อันยาวนานว่า การส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศที่ผู้คนไม่สามารถเข้าถึง ความรู้ ตลาด ทุน และโอกาส อาจเป็นงานที่สร้างความอึดอัดใจและบางครั้งก็เปล่าประโยชน์ ในบริบทนี้ อินเทอร์เน็ตช่วยสร้างความเท่าเทียมได้อย่างดียิ่ง เครือข่ายสร้างโอกาสในพื้นที่ที่ไร้โอกาส ด้วยการช่วยให้คนเข้าถึงความรู้และตลาดใหม่ๆ

ตลอดปีที่แล้ว ดิฉันประสบกับเรื่องนี้ด้วยตัวเองในเคนยา ประเทศที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 หลังจากที่พวกเขาเริ่มใช้เทคโนโลยีธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ ในบังกลาเทศ คนกว่า 300,000 คนสมัครเรียนภาษาอังกฤษผ่านมือถือ และในแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ผู้ประกอบการสตรีใช้อินเทอร์เน็ตสมัครเงินกู้ขนาดจิ๋วและเชื่อมตัวเองเข้า กับตลาดโลก

ตัวอย่างความก้าวหน้าเหล่านี้สามารถนำไปทำซ้ำได้สำหรับคนหนึ่งพันล้านคนที่ อยู่ขั้นล่างสุดของบันไดเศรษฐกิจโลก ในหลายกรณี อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยีเชื่อมโยงอื่นๆ สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในทำนองเดียวกับที่การปฏิวัติเขียว กระตุ้นการเติบโตของภาคเกษตร คุณสร้างผลตอบแทนมหาศาลได้จากปัจจัยผลิตเพียงน้อยนิด งานวิจัยของธนาคารโลกชิ้นหนึ่งพบว่าในประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 1 ถ้าเรามองเรื่องนี้ในบริบท นั่นหมายถึงรายได้เพิ่มกว่า 10,000 ล้านเหรียญต่อปีสำหรับอินเดีย

การเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายข้อมูลโลกเหมือนกับการทะยานขึ้นสู่ความเป็นสมัยใหม่ ในยุคแรกของเทคโนโลยีเหล่านี้ หลายคนเชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะตัดแบ่งโลกระหว่างคนมีกับคนไม่มี แต่ความเชื่อนั้นไม่เกิดขึ้นจริง ปัจจุบันทั่วโลกมีโทรศัพท์มือถือ 4 พันล้านเครื่อง ในจำนวนนี้จำนวนมากอยู่ในมือของพ่อค้ารถเข็น คนขับสามล้อ และคนอื่นๆ ที่เคยไร้การเข้าถึงการศึกษาและโอกาส เครือข่ายข้อมูลกลายเป็นเครื่องสร้างความเท่าเทียมชั้นยอด และเราก็ควรใช้มันร่วมกันเพื่อช่วยดึงผู้คนออกจากบ่วงความจนและมอบเสรีภาพ จากความขาดแคลนให้กับพวกเขา

เรามีเหตุผลพร้อมมูลที่จะมองโลกในแง่ดีว่า คนเราทำอะไรได้บ้างถ้าพวกเขาใช้เครือข่ายการสื่อสารและเทคโนโลยีการเชื่อม โยงเป็นคานงัดเพื่อสร้างความก้าวหน้า แต่อย่าเข้าใจผิด – บางคนจะใช้เครือข่ายข้อมูลโลกต่อไปด้วยเป้าหมายที่ดำมืด คนสุดขั้วที่ชอบใช้ความรุนแรง แก๊งค์มาเฟีย อาชญากรทางเพศ และรัฐบาลเผด็จการล้วนอยากฉวยใช้เครือข่ายโลกเหล่านี้ ผู้ก่อการร้ายฉวยโอกาสใช้สังคมเปิดของเราก่อการตามแผน คนสุดขั้วหัวรุนแรงก็ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างความแตกแยกและความหวาดกลัว ขณะที่เราทำงานเพื่อขยับขยายเสรีภาพ เราก็จะต้องทำงานต่อต้านคนที่ใช้เครือข่ายการสื่อสารเป็นเครื่องมือก่อกวน และก่อความกลัว

รัฐบาลต่างๆ และพลเมืองจะต้องมั่นใจได้ว่าเครือข่ายที่เป็นหัวใจของความมั่นคงแห่งชาติ และความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นมั่นคงและยืดหยุ่น นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของแฮกเกอร์มือบอนที่เปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ ความสามารถของเราในการใช้บริการธนาคารออนไลน์ ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญามูลค่าหลายพันล้านเหรียญล้วนเป็นเดิมพันที่เรา อาจสูญเสีย ถ้าหากเราไม่สามารถพึ่งพาความมั่นคงของเครือข่ายข้อมูลของเราได้

การก่อกวนระบบเหล่านี้ต้องตอบโต้ด้วยมาตรการที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลทั้งมวล ภาคเอกชน และประชาคมโลก เราต้องมีเครื่องมือมากขึ้นที่จะช่วยให้หน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมาย สามารถร่วมมือกันข้ามเขตอำนาจ เวลาที่อาชญากรไซเบอร์และแก๊งค์มาเฟียโจมตีเครือข่ายเพื่อประโยชน์ทางการ เงิน เราจะต้องทำแบบเดียวกันเพื่อจัดการกับปัญหาสังคม อย่างเช่นการอนาจารเด็กและการล่อลวงและค้าผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งกางหราออนไลน์ให้โลกเห็น สร้างโอกาสให้คนแบบนี้ทำกำไร เรายกย่องความพยายามอย่างเช่นของสภาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของยุโรป ที่สนับสนุนการร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินคดีเหล่านี้ เราอยากใช้ความพยายามมากกว่าเดิมเป็นทวีคูณ

เราได้ดำเนินการทั้งในระดับรัฐบาลและในระดับกระทรวงที่จะหากระบวนการทางการทูตที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับความมั่นคงของโลกไซเบอร์ มีคนมากมายในกระทรวงต่างประเทศที่กำลังทำเรื่องนี้ พวกเขาจับมือกัน และเราก็ก่อตั้งกรมใหม่เมื่อ 2 ปีก่อนที่จะประสานนโยบายต่างประเทศในไซเบอร์สเปซ เราพยายามรับมือกับความท้าทายข้อนี้ในองค์การสหประชาชาติและเวทีระหว่าง ประเทศอื่นๆ และกำหนดให้ความมั่นคงของโลกไซเบอร์เป็นหนึ่งในวาระของโลก ประธานาธิบดีโอบามาเพิ่งแต่งตั้งผู้ประสานงานนโยบายไซเบอร์สเปซระดับชาติ เขาจะช่วยเราทำงานอย่างใกล้ชิดกว่าเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเครือข่ายของ ทุกคนจะฟรี ปลอดภัย และไว้ใจได้

รัฐ ผู้ก่อการร้าย และใครก็ตามที่ยอมเป็นตัวแทนของพวกเขาจะต้องรู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะปกป้องเครือข่ายของเรา ใคร ก็ตามที่กีดขวางการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลในสังคมของเราหรือสังคมอื่นใดก็ตาม เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของเรา รัฐบาลของเรา และภาคประชาสังคมของเรา ประเทศหรือปัจเจกที่โจมตีทางไซเบอร์ควรได้รับการลงโทษและการประณามจาก ประชาคมโลก ในโลกที่เชื่อมถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ต การโจมตีเครือข่ายของประเทศใดก็ตามอาจเท่ากับการโจมตีทุกประเทศ การตอกย้ำสารนี้จะช่วยให้เราสร้างธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างรัฐ และส่งเสริมความเคารพในสาธารณสมบัติโลกที่เชื่อมกันเป็นเครือข่าย

เสรีภาพประการสุดท้ายที่อาจฝังแน่นอยู่ในสิ่งที่ทั้งท่านประธานาธิบดีรู สเวลท์และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคิดและเขียนถึงหลายสิบปีที่แล้ว คือเสรีภาพที่สืบเนื่องมาจากเสรีภาพ 4 ประการที่ดิฉันได้กล่าวถึงไปแล้ว – เสรีภาพในการเชื่อมโยง ความคิดที่ว่ารัฐบาลไม่ควรปิดกั้นไม่ให้คนเชื่อมต่อถึงอินเทอร์เน็ต ถึงเว็บไซต์ หรือถึงกันและกัน เสรีภาพในการเชื่อมโยงนั้นเหมือนกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพียงแต่เรารวมกันในไซเบอร์สเปซ มันทำให้ปัจเจกสามารถเข้าสู่โลกออนไลน์ ได้พบปะรวมกลุ่มกัน และเราก็หวังว่าพวกเขาจะร่วมมือกัน เมื่อคุณอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้ว คุณก็สร้างผลกระทบมหาศาลต่อสังคมได้โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักธุรกิจขาใหญ่ หรือดารานักร้อง

ปฏิกิริยาของภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดหลังเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงมุมไบ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยเด็กชายอายุ 13 ปี เขาใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คจัดการมหกรรมรับบริจาคเลือดและทำหนังสือบันทึกความ เสียใจสำหรับคนทุกศาสนาเล่มมหึมา ในโคลอมเบีย วิศวกรตกงานคนหนึ่งระดมคนกว่า 12 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง 190 เมืองทั่วโลก ให้ออกมาประท้วงต่อต้านขบวนการก่อการร้าย FARC – มันคือการประท้วงต่อต้านการก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และในช่วงเวลาหลายสัปดาห์หลังจากนั้น องค์กร FARC ก็ประสบกับภาวะสมาชิกลาออกและวางอาวุธมากกว่าที่เคยเผชิญในทศวรรษก่อนหน้า นั้นที่ทำปฏิบัติการทางทหาร และในเม็กซิโก อีเมลเพียงชิ้นเดียวจากพลเรือนที่รับไม่ได้แล้วกับความรุนแรงที่เกี่ยวกับยา เสพติด ขยายวงกระเพื่อมจนกลายเป็นขบวนการประท้วงขนาดใหญ่ใน 32 มลรัฐ – ทุกมลรัฐของเม็กซิโก ในกรุง เม็กซิโก ซิตี้ เพียงเมืองเดียว ประชาชน 150,000 คนออกมาประท้วงกลางถนน เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตสามารถช่วยให้มนุษยชาติรวมพลังกันต่อต้านคนที่ส่งเสริมความ รุนแรง อาชญากรรม และการกระทำสุดขั้วต่างๆ

ในอิหร่าน มอลโดวา และประเทศอื่นๆ การจัดการออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการส่งเสริมประชาธิปไตยและ ช่วยให้พลเมืองประท้วงผลการเลือกตั้งที่น่าสงสัย และแม้กระทั่งในประชาธิปไตยที่หยั่งรากลึกแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เราก็ได้เห็นพลังของเครื่องมือเหล่านี้แล้วในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ พวกคุณบางคนคงยังจำการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 ที่นี้ได้ (หัวเราะ)

เสรีภาพที่จะเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มันก็สำคัญมากสำหรับปัจเจกชนเหมือนกัน เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันรู้สึกสะท้อนใจมากกับเรื่องราวของแพทย์คนหนึ่ง – ดิฉันจะไม่บอกว่าเขามาจากประเทศอะไร – แพทย์ผู้นี้ดิ้นรนหาทางวินิจฉัยโรคหายากที่ลูกสาวของเขาเป็น เขาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกว่า 24 คน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ แต่ในที่สุดเขาก็ค้นพบว่าลูกสาวป่วยเป็นโรคอะไร และพบวิธีรักษาเธอ ด้วยการใช้เสิร์ชเอ็นจินในอินเทอร์เน็ต นี่เป็นเหตุผลข้อเดียวในหลายข้อที่อธิบายว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีเสิร์ชเอ็น จินโดยไม่ถูกปิดกั้นนั้นสำคัญเพียงใดต่อชีวิตของผู้คน

หลักการที่ดิฉันกล่าวถึงในวันนี้จะนำทางวิธีการที่เราใช้ในประเด็นเสรีภาพ อินเทอร์เน็ตและการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ดิฉันอยากอธิบายว่าเราจะประยุกต์ใช้หลักการเหล่านี้ในทางปฏิบัติอย่างไร สหรัฐอเมริกาจะทุ่มเททรัพยากรด้านการทูต เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการขยับขยายเสรีภาพเหล่านี้ เราเป็นประเทศที่ประกอบด้วยผู้อพยพจากทุกประเทศและทุกกลุ่มผลประโยชน์ทั่ว โลก นโยบายต่างประเทศของเราตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ไม่มีประเทศใดที่จะได้ประโยชน์จากการร่วมมือกันข้ามชาติระหว่างประชาชนและ รัฐต่างๆ เท่ากับอเมริกาอีกแล้ว และก็ไม่มีประเทศใดที่มีภาระอันหนักหน่วงเท่า เวลาที่ความขัดแย้งและความเข้าใจผิดทำให้ประเทศต่างๆ แตกแยกกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยู่ในจุดที่ดีที่จะฉวยโอกาสที่มาพร้อมกับการเชื่อมโยงถึงกัน และในฐานะบ้านเกิดของเทคโนโลยีเหล่านี้หลายชิ้น รวมทั้งอินเทอร์เน็ตเอง เราก็มีความรับผิดชอบที่จะดูแลให้คนใช้มันในทางที่ดีงาม ก่อนที่จะทำอย่างนี้ได้ เราจะต้องพัฒนาสมรรถภาพในสิ่งที่เราในกระทรวงต่างประเทศเรียกว่า การบริหารรัฐกิจในศตวรรษที่ 21

ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้นโยบายและลำดับความสำคัญต่างๆ ของเราสอดคล้องกัน แต่การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ตอนที่เครื่องโทรเลขถูกใช้เป็นครั้งแรก มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนในวงการทูตหลายคนรู้สึกหวั่นเกรง เพราะโอกาสที่จะได้รับคำสั่งรายวันจากเมืองหลวงนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาปรารถนานัก แต่ในที่สุดนักการทูตของเราก็ใช้โทรเลขอย่างเชี่ยวชาญได้ วันนี้พวกเขากำลังทำแบบเดียวกันเพื่อหาทางใช้ศักยภาพของเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้

ดิฉันภูมิใจที่กระทรวงต่างประเทศกำลังทำงานในประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ถูกรัฐบาลปิดปาก เรากำลังทำให้ประเด็นนี้เป็นวาระเร่งด่วนที่องค์การสหประชาชาติเช่นเดียวกัน และเราก็ใส่เสรีภาพอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมฉบับแรกที่เรา เสนอ หลังจากที่กลับไปเป็นสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้ เรากำลังสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยให้พลเมืองใช้สิทธิในการแสดงออกด้วยการหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ที่มี วาระซ่อนเร้นทางการเมือง เรากำลังให้เงินอุดหนุนกลุ่มต่างๆ ทั่วโลกเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือเหล่านี้จะไปถึงมือคนที่ต้องการใช้มันใน ภาษาท้องถิ่น และพวกเขาจะได้รับการอบรมที่จำเป็นต่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย สหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือโครงการเหล่านี้มาสักพักใหญ่แล้ว โดยเน้นไปที่การลงมือปฏิบัติให้มันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงเท่าที่จะ ทำได้ ชาวอเมริกันและทุกประเทศที่เซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตควรเข้าใจว่ารัฐบาลของเรา ทุ่มเทให้กับการช่วยส่งเสริมเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

เราอยากมอบเครื่องมือเหล่านี้ให้กับคนที่จะใช้มันผลักดัน ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ต่อกรกับภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและโรคระบาด กระตุ้นการสนับสนุนระดับโลกสำหรับเป้าหมายของประธานาธิบดีโอบามาที่จะสร้าง โลกไร้อาวุธนิวเคลียร์ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่ยกระดับชีวิตของผู้คนที่ระดับฐาน ราก

นั่นคือเหตุผลที่วันนี้ดิฉันมาประกาศว่าตลอดทั้งปีในปีหน้า เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อก่อตั้งโครงสร้างเชิงสถาบันที่จะใช้พลังของเทคโนโลยีการเชื่อมโยงและ ประยุกต์มันเข้ากับเป้าหมายทางการทูตของเรา เราจะพึ่งพาอาศัยโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมทำแผนที่ และเครื่องมือใหม่ๆ ในการมอบอำนาจให้กับพลเมืองและใช้วิถีการทูตดั้งเดิมของเราเป็นคานงัด เราเติมเต็มข้อบกพร่องในตลาดนวัตกรรมปัจจุบันได้

ดิฉันอยากยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง สมมุติว่าดิฉันอยากจะเขียนโปรแกรมสำหรับโทรศัพท์มือถือที่จะทำให้คนสามารถ ให้คะแนนกระทรวงต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งกระทรวงของเรา ในด้านความรวดเร็วในการตอบสนองและประสิทธิภาพ และให้คนช่วยสืบเสาะและรายงานคอร์รัปชั่น ฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นต่อการทำความคิดนี้ให้เป็นรูปธรรมอยู่ในมือของผู้ใช้หลายพันล้านคนแล้ว ซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้ก็มีต้นทุนค่อนข้างถูกในการพัฒนาและกระจาย

ถ้าคนใช้เครื่องมือนี้ มันก็จะช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายของการจ่ายเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ ปรับปรุงชีวิตของผู้คน และส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศในประเทศที่มีรัฐบาลที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักพัฒนาโปรแกรมบนมือถือไม่มีเงินสนับสนุนที่จะทำโครงการนี้ด้วยตัว เอง และกระทรวงต่างประเทศก็ขาดกลไกที่จะทำให้มันเกิด แต่โครงการริเริ่มที่ดิฉันพูดถึงจะช่วยแก้ปัญหานี้และสร้างผลตอบแทนระยะยาว จากเงินลงทุนด้านนวัตกรรมเพียงนิดเดียว เราจะทำงานกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาโครงสร้างที่ดีที่สุดสำหรับโครงการนี้ และเราจะต้องใช้พรสวรรค์และทรัพยากรของบริษัทเทคโนโลยีและองค์กรไม่แสวงกำไร เพื่อนำส่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุดภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ฉะนั้น ดิฉันขอให้พวกคุณทั้งหลายในห้องนี้ที่มีพรสวรรค์หรือความเชี่ยวชาญแบบนี้คิด ว่านี่เป็นคำเชิญให้มาช่วยเรานะคะ

ในระหว่างนั้น บริษัท ปัจเจก และสถาบันจำนวนมากก็กำลังทำงานเกี่ยวกับความคิดและโปรแกรมที่สามารถผลักดัน เป้าหมายทางการทูตและการพัฒนาของเรา กระทรวงต่างประเทศจะเปิดการประกวดนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้งานนี้เดินได้เร็ว ขึ้น เราจะขอให้ชาวอเมริกันส่งความคิดที่ดีที่สุดเข้ามา ความคิดเกี่ยวกับโปรแกรมและเทคโนโลยีที่ช่วยทลายกำแพงภาษา ก้าวข้ามภาวะไม่รู้หนังสือ เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับบริการและข้อมูลที่พวกเขาจำเป็นต้องมี ยกตัวอย่างเช่น บริษัทไมโครซอฟท์ได้พัฒนาโปรแกรมแพทย์ดิจิทอลนำร่อง ซึ่งอาจช่วยส่งมอบบริการทางการแพทย์ให้กับชุมชนที่อยู่ในชนบทห่างไกล เราอยากเห็นความคิดแบบนี้อีก และเราจะทำงานกับผู้ชนะการประกวด ให้เงินอุดหนุนเพื่อทำให้ความคิดของพวกเขาขยายขนาดได้

โครงการเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมงานสำคัญๆ ที่เราได้ทำไปแล้วในรอบปีที่ผ่านมา ในแง่ของการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการทูตและการต่างประเทศ ดิฉันได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์มารวมกันเป็นทีมที่จะนำเรื่องการ บริหารรัฐกิจในศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านมาทีมนี้ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อช่วยให้รัฐบาลและกลุ่มต่างๆ ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเป็นคานงัด พวกเขาได้ก่อตั้ง “โครงการภาคประชาสังคม 2.0” (Civil Society 2.0 Initiative) เพื่อช่วยให้องค์กรฐานรากเข้าสู่ยุคดิจิทอล พวกเขากำลังริเริ่มโครงการในเม็กซิโกที่จะช่วยลดความรุนแรงที่เกี่ยวกับยา เสพติดด้วยการเปิดให้ประชาชนรายงานไปยังแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยไม่ ต้องกลัวว่าจะถูกใครแก้แค้น พวกเขานำธนาคารผ่านมือถือไปยังอัฟกานิสถาน และตอนนี้ก็กำลังริเริ่มเรื่องเดียวกันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในปากีสถาน ทีมนี้ได้สร้างเครือข่ายมือถือสังคมเครือข่ายแรกในประเทศ ชื่อ “เสียงของเรา” (Our Voice) ซึ่งได้ผลิตข้อความ sms หลายสิบล้านข้อความ เชื่อมโยงหนุ่มสาวชาวปากีสถานที่อยากลุกขึ้นต่อต้านการกระทำของนักกิจกรรม สุดขั้วหัวรุนแรง

ในช่วงเวลาสั้นๆ เราคืบหน้าไปมากในการแปลงศักยภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นผลลัพธ์ที่ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แต่เราก็ยังต้องทำงานอีกมาก ระหว่างที่เราทำงานร่วมกับภาคเอกชนและรัฐบาลต่างชาติเพื่อเผยแพร่เครื่องมือ บริหารรัฐกิจในศตวรรษที่ 21 เราก็ต้องรำลึกถึงความรับผิดชอบที่เรามีร่วมกัน ความรับผิดชอบที่จะพิทักษ์เสรีภาพที่ดิฉันกล่าวถึงในวันนี้ เรา เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าหลักการอย่างเช่นเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ ได้เป็นแค่นโยบายที่ดี ไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่เชื่อมโยงกับคุณค่าที่ประเทศเรายึดถือ หากเป็นหลักการที่เป็นสากล และเป็นหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจด้วย

ถ้าจะใช้ภาษาของตลาด หุ้นของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในตูนิเซียหรือเวียดนามที่ทำธุรกิจในสภาพแวดล้อมแห่งการเซ็นเซอร์จะซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าบริษัทที่ เหมือนกันในสังคมเสรีเสมอ ถ้าผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารระดับโลก นักลงทุนก็จะมีความมั่นใจน้อยลงในการตัดสินใจของพวกเขาในระยะยาว

ประเทศที่เซ็นเซอร์ข่าวสารและ ข้อมูลจะต้องตระหนักว่า จากมุมมองทางเศรษฐกิจ การเซ็นเซอร์การแสดงออกทางการเมืองกับการเซ็นเซอร์การแสดงออกเชิงพาณิชย์ นั้นไม่มีความแตกต่างกันเลย ถ้าธุรกิจในประเทศของคุณถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

บริษัทอเมริกันกำลังให้น้ำหนักมากขึ้นต่อประเด็นเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและ เสรีภาพของข้อมูลในการตัดสินใจทางธุรกิจ ดิฉันหวังว่าคู่แข่งของพวกเขาและรัฐบาลต่างชาติจะสนใจแนวโน้มดังกล่าวมากขึ้น สถานการณ์ล่าสุดเรื่องกูเกิล ดึงดูดความสนใจคนจำนวนมาก เราหวังว่ารัฐบาลจีนจะทบทวนการบุกรุกไซเบอร์ที่ส่งผลให้กูเกิลประกาศจุดยืน อย่างละเอียด และเราก็หวังด้วยว่าทั้งการสืบสวนและผลการสืบสวนนั้นจะดำเนินไปอย่างโปร่งใส

อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นแหล่งผลิตความก้าวหน้ามหาศาลของจีนไปแล้ว และมันก็วิเศษมาก ชาวจีนจำนวนมากตอนนี้ออนไลน์ แต่ประเทศที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรีหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสุ่มเสี่ยงว่ากำลังสร้างกำแพงกันตัวเองออกจากความก้าว หน้าในศตวรรษหน้า ตอนนี้สหรัฐอเมริกาและจีนมีมุมมองที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ และเราตั้งใจที่จะรับมือกับความแตกต่างนั้นอย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอ ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างเราที่เป็นไปในเชิงบวกและร่วมมือกันอย่างครอบ คลุมทุกด้าน

ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพของข้อมูล หากเป็นประเด็นที่ว่าเราอยากเห็นโลกแบบไหน และเราจะอยู่ในโลกแบบไหน มันเป็นประเด็นว่า เรา อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีอินเทอร์เน็ตเพียงหนึ่งเดียว ประชาคมโลกเพียงหนึ่งเดียว และองค์ความรู้ร่วมกันที่สร้างประโยชน์และสมานสามัคคีระหว่างเราทั้งมวล หรือดาวเคราะห์ที่แตกออกเป็นส่วนเสี้ยว การเข้าถึงข้อมูลและโอกาสขึ้นอยู่กับว่าคุณอาศัยอยู่ที่ไหน และขึ้นอยู่กับอำเภอใจของเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์

เสรีภาพของข้อมูลส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงที่เป็นรากฐานของความก้าว หน้าระดับโลก ประวัติศาสตร์บอกเราว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลนั้นเป็นสาเหตุหลัก ข้อหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างรัฐ เวลา ที่เราประสบกับความขัดแย้งที่รุนแรงหรือเหตุการณ์อันตราย เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามของปัญหาจะ สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงและความเห็นชุดเดียวกัน

สถานการณ์ในเวลานี้คือ ชาวอเมริกันสามารถพิจารณาข้อมูลที่รัฐบาลต่างชาติเป็นฝ่ายนำเสนอ เราไม่ปิดกั้นความพยายามของคุณในการสื่อสารกับประชาชนในสหรัฐอเมริกา แต่พลเมืองในสังคมที่มีการเซ็นเซอร์นั้นไม่มีโอกาสได้รับฟังมุมมองของคนนอก ยกตัวอย่างเช่น ในเกาหลีเหนือ รัฐบาลพยายามโดดเดี่ยวประชาชนออกจากความคิดเห็นภายนอกอย่างสมบูรณ์แบบ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลในการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มทั้งแนวโน้มความขัดแย้ง ทั้งความเป็นไปได้ว่าความไม่ลงรอยกันเล็กๆ น้อยๆ จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ดังนั้น ดิฉันจึงหวังว่ารัฐบาลที่รับผิดชอบทั้งหลายที่สนใจเรื่องความมั่นคงระดับโลก จะทำงานร่วมกับเราในการจัดการกับความไม่สมดุลเหล่านี้

สำหรับบริษัทต่างๆ ประเด็นนี้เป็นมากกว่าแค่การอวดอ้างว่ามีจุดยืนทางศีลธรรมเหนือกว่าคนอื่น มันเป็นเรื่องของความไว้วางใจระหว่างบริษัทกับลูกค้า ลูกค้า ทุกหนแห่งอยากมั่นใจได้ว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตที่พวกเขาพึ่งพาจะสามารถ ผลิตผลลัพธ์การค้นหาที่ครบถ้วน และพิทักษ์ข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาอย่างรับผิดชอบ บริษัทที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าในประเทศเหล่านั้นและให้บริการแบบนี้จะเจริญ รุ่งเรืองในตลาดโลก ดิฉันเชื่อมั่นจริงๆ ว่าบริษัทที่สูญเสียความเชื่อมั่นดังกล่าวจากลูกค้าจะต้องสูญเสียลูกค้าใน ที่สุด ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่แห่งหนใด ผู้คนอยากเชื่อว่าอะไรก็ตามที่พวกเขาใส่เข้าไปในอินเทอร์เน็ตจะไม่ถูกใช้ เพื่อเล่นงานพวกเขา

นอกจากนี้ ไม่ควรมีบริษัทใดจากประเทศใดก็ตามยอมรับการเซ็นเซอร์ ในอเมริกา บริษัทอเมริกันควรยึดมั่นในจุดยืนอย่างมีหลักการ จุดยืนนี้จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ยี่ห้อ’ ของประเทศเรา ดิฉันเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคทั่วโลกจะตอบแทนบริษัทที่ทำตามหลักการเหล่านี้

เรากำลังฟื้นฟูทีมงานเฉพาะกิจด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ตโลก (Global Internet Freedom Task Force) ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นช่องทางรับมือกับอันตรายต่อเสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และเราก็กำลังกระตุ้นให้บริษัทสื่อในอเมริกามีบทบาทนำในการท้าทายรัฐบาลที่ เรียกร้องให้เซ็นเซอร์และสอดส่องประชาชน ภาคเอกชนมีความรับผิดชอบ ร่วมกันในการช่วยพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออก และเมื่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะลิดรอนเสรีภาพข้อนี้ พวกเขาก็จะต้องพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ดูว่าอะไรจะทำกำไรได้เร็วเท่านั้น

เราได้รับแรงกระตุ้นจากงานที่กำลังทำผ่านโครงการเครือข่ายโลก (Global Network Initiative) – โครงการอาสาสมัครของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่กำลังทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงกำไร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม เพื่อตอบโต้ข้อเรียกร้องของรัฐบาลต่างๆ ที่ให้เซ็นเซอร์ โครงการนี้ไปไกลกว่าการแถลงหลักการเฉยๆ แต่ติดตั้งกลไกที่ส่งเสริมความรับผิดและความโปร่งใสอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งของความทุ่มเทของเราที่จะสนับสนุนภาคเอกชนที่รับผิดชอบเรื่อง เสรีภาพของข้อมูลคือ กระทรวงต่างประเทศจะจัดการประชุมระดับสูงเดือนหน้า โดยมีปลัดกระทรวงสองท่านคือ โรเบิร์ต ฮอร์แมทส์ (Robert Hormats) และ มาเรีย โอเตโร (Maria Otero) เป็นประธานร่วม การประชุมครั้งนี้จะชุมนุมบริษัทต่างๆ ที่ให้บริการด้านเครือข่าย ให้มาคุยกันเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต เพราะเราอยากมีพันธมิตรในการรับมือกับความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 ข้อนี้

ดิฉันเชื่อว่าการขยับขยายเสรีภาพที่พูดถึงในวันนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ดิฉันก็เชื่อด้วยว่ามันเป็นเรื่องที่ฉลาด การผลักดันวาระนี้จะทำให้เราปรับหลักการ เป้าหมายทางเศรษฐกิจ และลำดับความสำคัญทางกลยุทธ์ให้ตรงกัน เราจะต้องทำงานเพื่อสร้างโลกที่การเข้าถึงเครือข่ายและข้อมูลทำให้ผู้คนได้ ใกล้ชิดกันมากขึ้นและขยายนิยามของประชาคมโลก ระดับของความท้าทายที่เรากำลังเผชิญหน้าแปลว่าเราต้องอาศัยคนทั่วโลกให้รวบ รวมความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งเดียว เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา เอาชนะลัทธิสุดขั้วหัวรุนแรงทั้งหลาย และสร้างอนาคตที่มนุษย์ทุกผู้นามจะสามารถบรรลุศักยภาพภายในตัวเขาหรือเธอที่ พระผู้เป็นเจ้าประทานให้

ฉันอยากปิดท้ายสุนทรพจน์นี้ด้วยการขอให้พวกคุณจดจำเด็กหญิงตัวน้อยๆ คนนั้น คนที่ถูกดึงออกมาจากซากปรักหักพังเมื่อวันจันทร์ในปอร์ต์-โอ-ปรังซ์ เธอรอดชีวิตมาได้ ได้กลับไปหาครอบครัว และจะมีโอกาสได้เติบโตเพราะเครือข่ายเหล่านี้จับเสียงที่ถูกฝังและเผยแพร่ มันไปสู่โลก ไม่มีประเทศใด กลุ่มใด หรือบุคคลใดที่สมควรถูกทิ้งอยู่ภายใต้ซากแห่งการกดขี่ เราไม่อาจยืนดูอยู่เฉยๆ ระหว่างที่ผู้คนถูกกีดกันออกจากครอบครัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกำแพงแห่งการ เซ็นเซอร์ และเราก็ไม่อาจนิ่งเงียบเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพียงเพราะเราไม่ได้ยิน เสียงร้อง

ดังนั้น ดิฉันขอให้เราทุ่มเทให้กับพันธกิจนี้อีกครั้งหนึ่ง ขอให้เราทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นพลังแห่งความก้าวหน้าที่แท้จริงทั่วโลก และขอให้เราก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันเพื่อรณรงค์เสรีภาพเหล่านี้สำหรับยุคของ เรา สำหรับหนุ่มสาวของเราที่สมควรได้รับโอกาสทุกโอกาสที่เรามอบให้กับพวกเขาและ เธอได้

ขอบคุณทุกคนมากค่ะ (ปรบมือ)

 

*เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.onopen.com/open-special/10-01-22/5229

สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนส์ (แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท